เรื่อง ‘แตงโม’ นี่ออกทะเลไกลมาก ได้ลมโหมปั่นไปกันใหญ่ แถมมีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม กำลังจะกลายเป็นซีรี่ส์เล่นกันอีกหลายภาคตอนให้เสพติด จนกรมสุขภาพจิตเป็นห่วง นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษาแนะอย่าดราม่ามากถกเถียงกันให้เกิดอารมณ์
ไม่ทันไรไปแล้ว หนุ่มจากศรีสะเกษ ‘อิน’ กับโชคชะตาของแตงโมมากเสียจนเครียด “เถียงเพื่อน #คดีแตงโม สู้ไม่ได้ โวยวายทำลายข้าวของ ก่อน #กระโดดตึก ชั้น ๔ เสียชีวิต” ตามข่าวช่อง ๗ เผยว่าผู้ตายวัย ๒๐ ปี สภาพศพคางแตก ขาหัก
เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๓ มีนา ชายนายนี้เดินทางไปหาเพื่อนที่อะพ้าร์ตเม้นต์ในซอย ๔๘ แยก ๓ ถนนลาดพร้าว เขตห้วยขวาง เพื่อปรับทุกข์เรื่องการเสียชีวิตของดาราสาว นิดา พัชรวีระพงษ์ จากการตกเรือแล้วจมน้ำ กลายเป็นการโต้เถียงเกิดคลุ้มคลั่ง
“ฝ่ายเจ้าของห้องต้องหนีเข้าไปขังตัวเองในห้องน้ำ ก่อนอาบน้ำระงับสติอารมณ์ พอสิ้นเสียงเอะอะโวยวายออกจากห้องน้ำมา ก็พบว่าผู้ตายกระโดดจากระเบียงหลังห้องร่างกระแทกพื้นเสียชีวิตไปแล้ว” ขณะเขียนนี่ยังไม่ทราบคืบหน้าว่าผู้ตายมีโรคจิตหรือเปล่า
ถึงอย่างไรสภาพสังคมไทยเวลานี้ดูจะมีอาการจิตเวทอยู่แล้วละ คิดดูแล้วกันการเสียชีวิตของดาราสาวคนหนึ่ง แน่ละเธอเป็นดาราที่ได้รับความนิยมสูง และเคยผ่านเหตุการณ์ระทึกในชีวิตมาหลายครั้ง พอการเสียชีวิตเต็มไปด้วยปริศนา ความสนใจยิ่งเพิ่มพูน
ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แม้กระทั่งล่าสุดเกิดการตั้งข้อสงสัยว่าผู้เป็นแม่ที่กำลังซู่ซ่าอยู่หน้าจอขณะนี้ ใช่มารดาโดยสายเลือดของ 'แตงโม' หรือเปล่า รูปคดีถูกนำมาตีแผ่บนหน้าสื่อ เสียจนกลายเป็นประเด็นความสะเทือนใจรวมหมู่
แต่สิ่งที่สังคมได้รับ (ต่างกรรมต่างวาระ) กลับเป็นเรื่อง ‘สิทธิสตรี’ (ชนิดพิเศษ) สำหรับบางกลุ่มบางชนชั้น ซึ่งไม่ต้องใช้สรรพนามนำหน้าชื่อเป็นนางหรือนางสาว แต่ได้รับพระราชทานสมัญญานามว่า ‘ท่านผู้หญิง’ หรือ ‘คุณหญิง’ ต่อนี้ไปยกเว้นไม่ต้องมีสถานะสมรสก็ได้
ไม่เท่านั้น ปัญหาปากท้องประชาชน การทำมาหากินฝืดเคือง ไม่เพียงจากผลของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายไวรัสโควิด ตลอดกว่าสองปีที่ผ่านมา หากแต่เป็นเพราะความไร้สมรรถภาพทางการบริหารกิจการบ้านเมืองของผู้ปกครองเป็นต้นตอสาเหตุ
หนึ่งในตัวหัวโจกของคณะผู้ปกครองออกมาบอกว่า “ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยประกาศใหม่จะ ๘ ปีให้หลังการยึดอำนาจปกครอง ว่าได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขึ้นแล้ว
เรียกชื่อย่อว่า ศจพ. ในความหมายว่าเป็นศูนย์อำนวยการแก้ความจนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดเป้าหมายไว้สองอย่าง หนึ่งคือการแก้ปัญหาแบบ “มุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” สอง เป็นการ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” (ก็คงหมายถึง ‘พอเพียง’ นั่นแหละ)
ทั้งนี้มีการจัดตั้ง ทีมพี่เลี้ยง ขึ้นมาสำหรับนำข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่ มาออกแบบบูรณาการความช่วยเหลือต่างๆ แจกแจงได้เป็น ๕ มิติ เรียกชื่อเก๋ไก๋ว่า “๕ เมนูแก้จน” คือเจาะเข้าไปในเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ
ตานี้พอถึงทีคนที่จะเป็นตัวจักรของโครงการ คือปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เลยคุยโตว่านอกจากงานนี้เป็นภาระหน้าที่ของตนซึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วยังเป็น “งานส่วนตัวในฐานะคนที่อยากทำสิ่งที่ดี”
โดยที่เป็นงานในเป้าหมายเดียวกัน ว่า “ภายใน ๓๐ ก.ย. ๖๕ คนจนจะหมดไป” ฮ้า จริงรึ ภายในเวลา ๖ เดือนกว่าๆ เท่านั้น แต่ทั่นปลัดฯ ยืนยัน “เราจะทำให้พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ด้วยวิธี “น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
มุ่งเน้นทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเรามีภารกิจไม่ใช่แค่ทำให้คนอยู่รอด แต่ต้องทุ่มเทพละกำลังทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเอง เพื่อขึ้นมาดูแลตัวเองได้” อย่างนี้ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘tall orders’ คือตั้งความหวังสูงปรี๊ดเสียจนมองไม่เห็นความสำเร็จ
แต่ก็เนอะ บริหารด้วยจินตนาการ และวาทกรรม มันเป็นอย่างนี้มา ๗ ปีกว่า ยังไม่เคยเห็นผล อาจจะเห็นหลังวันที่ ๓๐ กันยา เมื่อมีการเลื่อนชั้นเพิ่มขั้นเงินเดือนสำหรับทั่นปลัดฯ น่ะ
(https://aec10news.com/contents/news/politics/151568/ และ https://news.ch7.com/detail/554185MIo)