Atukkit Sawangsuk
9h ·
ห้างสรรพสินค้าเสียภาษีน้อยลง
(จากเดิมที่ใช้ภาษีโรงเรือนที่ดิน)
ร้านค้าเสียภาษีมากขึ้น
Voice TV
11h ·
ภาษีที่ดินกำลัง "อุ้มคนรวย ซ้ำเติมคนจน ?" : 'ท้องถิ่น' ส่งเสียงเตือน
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ถูกตั้งคำถามว่า ‘อุ้มเจ้าสัว รีดเลือดชาวบ้าน’ หรือไม่ ต่อไปนี้คือเสียงจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จาก 3 จังหวัด 3 ภูมิภาค เพื่อชำแหละปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในกฎหมายภาษี
ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากฝั่งการเมือง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการจัดเก็บภาษีจาก 10 % เป็น 100 % หลังฝ่าวิกฤตโควิดในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ส่งสัญญานว่าเศรษฐกิจไทยดีแล้ว จึงจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเต็มระบบ
แต่ข้อเท็จจริงด้านสภาพสังคมที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤต แม้ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 ที่ผ่านมายังไม่ถึง 1% แต่เสียงสะท้อนผ่านปากชาวบ้าน ทั้งข้าวยากหมากแพงทั้งแผ่นดิน ถาโถมด้วยผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ก็คล้ายก็ภูเขาไฟที่รอวันระเบิด
คำถามคือพ้นไปจากสถานการณ์ที่เห็นด้วยตาเปล่าแล้ว ภายใต้กฎหมายภาษีที่ดิน มีอะไรน่ากังวล
วอยซ์ คุยกับนายกเทศมนตรีจาก 3 จังหวัด เพื่อหามูลเหตุ-ผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หากรัฐยังเดินหน้าเก็บภาษีตามตัวบทกฎหมายเต็มเพดาน รวมไปถึงข้อเสนอที่สมเหตุสมผลก่อนวิกฤตระลอกใหม่จะซ้ำเข้ามา
เหลียวมองฟันเฟืองเคลื่อนท้องถิ่น
ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ซึ่งดูแลพื้นที่คราคร่ำไปด้วยห้างสรรพสินค้าและตึกสูง ฉายภาพ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกกำหนดมาเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีโรงเรือน ซึ่งข้อปฏิบัติเดิมมอบอำนาจให้ผู้ประเมินอัตราการจ่ายภาษีสูงมาก ส่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน
จึงเป็นที่มาของภาษีที่ดินฉบับปี 2562 ซึ่งมีฐานคำนวณตามหลักการมูลค่าของทรัพย์สินที่ดินและมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลดการจ่ายภาษีอยู่ที่ 10 % ทว่าแนวโน้มและข่าวของการจัดเก็บภาษีแบบ 100 % ได้กลับมาอีกครั้งในปี 65 สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาของที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงว่าภาระในการจัดเก็บภาษี ควรกำหนดไว้อย่างไร
“ภาระตรงนี้จะส่งผลไปยังพื้นที่ว่างเปล่า หากเป็นสถานประกอบการจะมีอัตราตามมูลค่าของที่ดินและมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ที่ดินว่างเปล่าประชาชนเคยเสียตามอัตราภาษีบำรุงท้องที่ จากเกณฑ์ประเมินเมื่อปี 2521-2524 ยกตัวอย่างเช่น 1 ไร่ จ่ายภาษีไม่เกิน 700 บาท แต่ภาษีที่ดินฉบับใหม่ กำหนดให้ที่ดินว่าเปล่าต้องจ่าย 0.3% ของมูลค่าที่ดิน ทำให้ค่าภาษีออกมาสูงมาก”
ในส่วนข้อครหาเรื่องภาษีที่ดินอุ้มเจ้าสัว แต่ชาวบ้านต้องจ่ายเพิ่ม นายกเทศมนตรีนครรังสิตชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขที่ผู้คนตั้งคำถาม เนื่องจากข้อกำหนดภาษีระบุให้ผู้ทำการเกษตรมีอัตราเริ่มต้นที่ 0.01% จึงทำให้ผู้มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์เนรมิตที่ดินเป็นผืนเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีที่สูง
“เราเข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเรื่องเศรษฐกิจและโควิด ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องรายได้และธุรกิจ สิ่งที่รัฐบาลปรับเพดานจัดเก็บภาษีก็มีผลกับตัวเทศบาล จากรายได้ที่น้อยลง เกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการ แต่เรื่องปากท้องชาวบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากรัฐบาลถ่ายโอนงบกลางเข้ามาช่วยเหลือท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องดี”
“ทางผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยบริหาร แต่หัวเรือใหญ่อย่างภาครัฐเองก็ต้องช่วยฟันเฟืองเล็กๆ อย่างท้องถิ่นด้วย” นายกเทศมนตรีนครรังสิต ให้ความเห็น
ลักลั่นบนความทุกข์ของประชาชน
ฟากโซนภาคเหนือ โชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ชวนมองไปยังบริบทของการเก็บภาษีในปัจจุบัน พบว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับที่กฎหมายฉบับเก่า
เขานิยามว่าเดิมทีเรียกว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยการจัดเก็บจะประเมินตามรายได้ เช่นโรงแรมหรือตึกแถว หากทำรายได้เท่าไหร่จะคิดตามอัตราส่วนของแต่ละแห่งต่างกันไป แต่ปัจุบันเรียกว่า ภาษีทรัพย์สิน โดยยึดตามราคาของราคาที่ดินหรืออาคารที่ถือครอง รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า
“ปัญหาที่ตามมาอาจจะเกิดจากผู้ร่างกฎหมายไม่ได้ลงมาดูข้อเท็จจริงจากผู้ปฏิบัติ เลยทำให้การทำงานติดขัด”
เขาอธิบายเพิ่มว่า อีกปัจจัยสำคัญคือการบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม เช่น การตีราคาบ้านหลังแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น บ้านในราคา 50 ล้านบาท ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่สามารถถือครองบ้านราคาสูงขนาดนั้นได้ ดังนั้นไม่ควรที่จะกำหนดราคาที่มูลค่าสูง เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงประโยชน์
ส่วนกรณีผู้ที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถเก็บภาษีผู้ถือครองที่ดินจำนวนหลายหมื่นไร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผู้มีเงินทุนสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ด้วยการนำที่ดินว่างเปล่าปลูกสวนมะนาวหรือปลูกกล้วยแทน
“ความลักลั่นทางกฎหมาย เห็นได้จากห้างสรรพสินค้า เดิมทีเสียภาษีค่อนข้างสูง พอตีราคาเป็นตัวอาคารก็ทำให้เสียภาษีน้อยลง แต่ร้านค้าขนาดเล็กต้องเสียภาษีมากขึ้น บางรายขายของได้วันละ 500-600 บาท ต้องมาเสียภาษีต่อปีราว 10,000 บาท ขณะที่บทลงโทษผู้ไม่เสียภาษีค่อนข้างสูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก”
ข้อเสนอที่เห็นหัวคน
ส่วนการแก้ปัญหา นายกเทศมนตรีเมืองแพร่เสนอให้แยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ให้จัดอยู่ในภาษีโรงเรือน ส่วนการแก้ปัญหาอัตราภาษีที่อยู่อาศัย ควรลดเพดานราคาบ้านหลังแรกลง ส่วนอาคารพาณิชย์ ต้องกำกับให้ชัดว่าเพื่อการค้าขายหรือที่อยู่อาศัย
“ปัญหาที่ดินว่างเปล่าคือประเด็นสำคัญ ต้องไม่ตีความว่า 100 ไร่ เทียบเท่ากับ 10,000 ไร่ เพราะประชาชนทั่วไปแม้มีที่ดิน แต่ก็ไม่มีเงินที่จะปลูกสวนหรือพัฒนา แถมต้องมาเสียภาษีในอัตราสูง ดังนั้นควรจะมีขั้นต่ำในการถือครอง เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีผู้ถือครองที่ดินต่ำกว่า 3 ไร่ หรือ กำหนดให้ผู้ถือครองที่ดิน 500 ไร่ขึ้นไป แม้ว่าจะดัดแปลงเป็นสวนเกษตรแล้ว แต่ต้องพิจารณาการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม”
สำหรับการเพิ่มอัตราภาษีที่มีแนวโน้มจะกลับมาเป็น 100 % นายกฯ โชคชัย เรียกร้องให้ภาครัฐขยายเพดานขึ้นรอบละ 10 % เนื่องจากประชาชนกำลังตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ผนวกกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมา หากรัฐบาลไม่รับฟังเสียง เขากังวลว่าอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนหนักขึ้น
“การเก็บภาษีสูงจะเป็นผลดีต่อท้องถิ่น แต่ทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็มีความละอายใจที่จะได้เงินบนความเดือดร้อนของชาวบ้าน” นายเทศมนตรีเมืองแพร่ ย้ำ
อย่าเพิ่มภาระประชาชน
เช่นเดียวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาเดียวกันที่ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เห็นและสำทับประเด็นผลกระทบกับท้องถิ่น คือ แม้นโยบายภาครัฐต้องการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ลดการถือครองที่รกร้าง
แต่ในมุมกลับ คนที่มีทุนทรัพย์ ก็หาช่องทางในการหลีกเลี่ยงจ่ายภาษี เช่น การปลูกกล้วย ขณะที่ประชาชนไร้เงินทุนเพียงพอ ต้องมาแบกรับปัญหาเพิ่มขึ้น
“เมืองยะลาเป็นเมืองที่มีห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยทั่วไป ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น แต่คนที่เป็นเจ้าของหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายภาษี ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากช่องทางกฎหมาย”
ขณะที่การเก็บภาษีเต็ม 100% ได้สร้างแรงผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เขาเสนอว่าควรจะมีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่่วนใหญ่เจอให้มากที่สุด
เขาบอกต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดคำถามว่า "อุ้มคนรวย ซ้ำเติมคนจน" เพราะอำนาจท้องถิ่นมาจากการเลือกของประชาชน
"ถ้ามันเกิดขึ้นจริง จะเป็นภาพที่ดูไม่ดี ต้องปรับปรุงสิ่งจะสร้างปัญหา เพื่อให้เป็นธรรมต่อผู้จ่ายภาษีทุกฝ่าย” นายกเทศมนตรีนครยะลา ชี้ทางออก
การจัดเก็บภาษีแบ่งออกเป็น ดังนี้
ที่ดินประกอบเกษตรกรรม เช่น ทำนา คิดอัตราภาษี 0.1%
ที่ดินที่อยู่อาศัย คิดอัตราภาษีอยู่ที่ 0.02%
ที่ดินใช้ประโยชน์อื่น เช่น ปล่อยเช่า คิดอัตราภาษีที่ 0.3%
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 0.3%
อ่านบนเว็บไซต์
https://www.voicetv.co.th/read/69ERuschw
#VoiceOnline