วันจันทร์, เมษายน 13, 2563

นี่ขนาดทหารเรือ ‘ยอมเจ็บ’ ประชาชนเจ็บกว่า "ต้องร้องขอสิทธิก่อน รัฐถึงจะให้สิทธินั้น”


นี่ขนาดทหารเรือ ยอมเจ็บยืดเวลาซื้อเรือดำน้ำ ๒-๓ ลำออกไปแล้วนะ ประชาชนยังเจ็บกว่า ไม่เพียงที่ อจ.Kasian Tejapira เขียนกลอนสะท้อนอกตรม “คนไทยทนเจ็บมาห้าหกปี ทักท้วงแต่ละทีโดนกล่าวหา...บัดนี้คราวคับขันแบ่งปันไทย แค่คืนลาภมิควรได้เท่านั้นเอย”

ต่อการที่ ระบบคัดกรองของโครงการเยียวยาพิษโควิด ขวิดเอาคนยากไร้ผู้ใช้แรงงานและ ไทยอองเตรอเปรอนัวร์อาชีพอิสระ กระเด็นออกไปจากคุณสมบัติรับเงิน ๕ พันบาท เกิดเสียงบ่นและร้องเรียนระงม ทั้งจากแค้ดดี้ แด๊นเซอร์ ช่างเย็บผ้า ช่างทำเล็บ ฯลฯ

มันจึงช่วยไม่ได้ต้องมีคนบ่นแรงๆ อย่างรายนี้ที่ไปโพสต์ไว้บนเพจ ดราม่าแอ๊ดดิคส์ว่า “อายุ ๕๓ แล้ว มันบอกเป็นนักเรียน มั่วมากค่ะจ่า ยิ่งนานยิ่งเห็นความทุเรศจากการทำงานของรัฐ ที่ไม่ได้มีความจริงใจช่วยเหลือประชาชน”

ตัวอย่างอีกราย “ทำอาชีพค้าขายอยู่บ้าน ไม่ได้เป็นเกษตรกร มีใบประกอบการพาณิชย์ถูกต้อง แต่ระบบบอกว่าเราเป็นเกษตรกร ไม่ได้รับสิทธิ์ มันเอาฐานข้อมูลอะไรมาตัดสิน เอไอห่าเหวอะไรของมัน”

เช่นกันกับรายนี้ “เราก้อ ไก๊ด์ค่า ๑๐ ปีแล้วเสือกเรียนต่ออยากได้ปริญญาแบบคนอื่น บอกกูเป็นนักศึกษา ไม่ให้ซะงั้น #เราไม่ทิ้งกัน #ทิ้งกูซะแล้ว”
 
แรกๆ ระดับรัฐมนตรีปัดสวะพ้นตัวผลักความผิดพลาดไปที่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอครั้นพอใครต่อใครแย้ง ไฮ้ ใช่เหรอ จึงได้มีความพยายามอธิบายตามจริง สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย คนหนึ่งละ

เขาเป็นหนึ่งในทีมดูแลระบบลงทะเบียนของเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน ยอมรับว่าไม่ใช่เอไอแน่ แต่เป็นกระบวนการที่กระทรวงคลังผู้กำหนด “ไปตรวจสอบกับข้อมูลภาครัฐอื่นๆ ตามเงื่อนไข ซึ่ง...อาจไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

จึงเข้าทางของ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล บอกว่า “ในที่สุด ความจริงก็กระจ่าง รัฐบาลสร้าง Fake News เรื่อง AI เอา AI มาเป็นแพะ เพราะตัวเองไม่สามารถบริหารจัดการให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยา ๕,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลเองเป็นผู้กำหนด”
 
ทางคลังแจงบ้าง โดย ลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลัง พยายามอธิบายถึงเหตุว่าทำไมผู้ที่กรอกแบบคำร้องแล้วถูกระบบตีตก จัดให้ไปอยู่ในสาขาอาชีพเกษตรกรเสียเยอะ เพราะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้เป็นราย ครอบครัว

ฉะนั้นใครที่อยู่ในครอบครัวแต่ไปประกอบอาชีพส่วนตัวอะไรๆ อายุเท่าไรแล้ว ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นเกษตรกรอยู่วันยันค่ำคืนยันรุ่ง ดังนั้นทั่น ผอ.สศค.บอกว่าใจเย็นๆ เดี๋ยวจะมีมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกรออกมาเร็วๆ นี้

ถ้อยแถลงนั้นไม่ได้ช่วยให้ความเจ็บปวดลดลงเท่าไหร่ ก็ต้องชั่งโปเตโต้ละ ในเมื่อทั่น ผอ.ขยายผลต่อไปว่า “ไม่ต้องตกใจ” ผู้ที่ถูกระบบปฏิเสธถ้ามั่นใจได้แจ้งความจริงว่าเดือดร้อนจากผลโควิดละก็ คลังจะเปิดให้มีการ อุทธรณ์ ได้


ก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดความสบายใจอยู่ดี ในเมื่อระบุแต่ผู้ที่เป็นเกษตรกรเท่านั้น พวกอาชีพอิสระจริงๆ อย่างหมอนวด (แผนโบราณ) กะหรี่ (แผนปัจจุบัน) พริตตี้ หรืออื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายเกษตรกรล่ะ คิดถึงกันบ้างหรือเปล่า ถ้าคิดไม่ถึงก็มีคนที่คิดได้บอกไว้แล้วนะ
 
เลขาธิการพรรคประชาชาติพูดถึงปัญหาของโครงการที่กลายเป็น #เราทิ้งใครบางคน ว่าทำไมต้องให้ประชาชนไปลงทะเบียนด้วยล่ะ รัฐบาลนี้ใช้เงินเป็นแสนๆ ล้านบาทจัดตั้งระบบ บิ๊กดาต้า ก็ใช้ระบบนั้นสิ เสาะหาและแจกจ่ายแก่ประชาชนที่เข้าข่าย

ข้อมูลพื้นฐานของประชาชนมีอยู่แล้วในหน่วยราชการต่างๆ กรมการปกครอง สรรพสามิต ขนส่งทางบก ส่งเสริมสุขภาพ บริการสุขภาพ และ ส.ป.ส.ช. เป็นต้น “นำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมา Cross-check ระหว่างกันก็ไม่ใช่เรื่องยาก”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ชี้ว่ามันไม่ควรอย่างยิ่งที่ “ประชาชนต้องร้องขอสิทธิก่อน รัฐถึงจะให้สิทธินั้น” เขาแนะให้กลับไปพิจารณาและทำความเข้าใจกับหลัก รัฐสวัสดิการที่ว่า “สวัสดิการเป็นสิทธิของประชาชน รัฐต้องจัดให้เสมอกัน ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ ยากดีมีจนอย่างไร”