มาแล้วไง สงสัยจะเป็น ‘ที่เด็ด’ ตีนปลายปิดท้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ ภูมิธรรม
เวชยชัย เลขาธิการพรรคเคยใบ้ไว้นานแล้ว ปรากฏออกมาในคลิป ๑ นาฑีเรื่อง ‘หวยเงินออม’ “ให้พี่น้องมีเงินใช้ยามเกษียณ”
เรียกชื่อทางการว่านโยบาย ‘สลากการออมแห่งชาติ’ หรืออย่างสั้น ‘หวยบำเหน็จ’ ที่ Art Suriyawongkul เอามาชื่นชมว่า “กราบคนคิด...เปลี่ยนเงินซื้อหวยเป็นเงินออม
เงินไม่หาย รางวัลได้เหมือนเดิม คนจะเข้าระบบออมมากขึ้น
ส่วนเงินรางวัลก็เอามาจากดอกเบี้ยนั่นแหละ
จริงๆ โดยไอเดียมันก็คือการสบทบกองทุน แต่เพิ่มเรื่องเสี่ยงโชคเงินก้อนใหญ่ (ไม่มาก)
ขึ้นมา ให้เข้ากับพฤติกรรมคนไทย” เขาเทียบเคียงกับ ‘หวยใบเสร็จ’ ของไต้หวัน
“แบบรางวัลสลากออมสิน
เงินฝากก็อยู่เหมือนเดิม” ซึ่ง @ben_mwong เม้นต์ว่า “ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
แต่หยิบมานำเสนอได้ตรงจริตกลุ่มเป้าหมายนางมากๆ ดูแล้วว้าวเลยอะ”
แต่ก็นั่นละ
จะมีคนไปออกเสียงเลือกเพื่อไทยมากแค่ไหน สูงสุดก็ได้ ส.ส. ๒๕๐ เสียงเต็มพิกัด
จะตั้งรัฐบาลเองต้องพึ่งพรรคเล็กพรรคน้อยปลาซิวปลาสร้อย
ที่ถึงจุดนี้ค่อนข้างแน่ว่ายินดีร่วมหัวจมท้ายด้วย ได้แก่ประชาชาติ (ของวันนอร์กับทวี
สอดส่อง) เสรีรวมไทย (ของเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส) และ เพื่อชาติ (ของจตุพร
พรหมพันธุ์)
ซึ่งทั้งสามพรรคดูแล้วยากที่จะได้ ส.ส.
รวมกัน (ทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) ถึง ๑๒๖
เสียงที่ต้องการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ๒ สภา ๓๗๖ เสียง ขณะที่พรรค คสช.
ยังไม่ได้เลือกตั้งมีสำรองอยู่แล้ว (อย่างสูง) ๒๕๐ เสียงของ สว. ตั้งเอง
ว่ากันตามตรงในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคที่ตั้งมั่นกันแล้วว่าไม่เอาพวกสนับสนุนคณะรัฐประหาร
ความหวังเติมเต็มอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาขี่กระแสโด่งเด่นลิ่ว
แต่แล้วดูเหมือนจะเกิดพลิกผัน ทาง อนค.ออกตัวบ่อยๆ ว่าไม่ใช่ฝ่าย ‘ทักษิณ’
ที่ต้อง ‘ผลักมิตรไปเป็นศัตรู’ อย่างนั้นน่าจะเป็นเพราะถูกฟากเผด็จการและอำมาตย์พยายามยัดเยียดให้เป็น ‘กิ๊ก’ ของพวกตระกูลชิน ก็เลยต้องออกตัวเพื่อรักษากระแสเสียงคนรุ่นใหม่ที่
‘ไม่แดง’ ไม่เพียงเท่านั้นดูเหมือนมันจะเลยเถิดไปถึงว่า
จะร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้
ก่อนจะถึงจุดนั้นมันมีพัฒนาการสองสามอย่าง
เริ่มจากโพสต์ของ อมรรัตน์ Chokepamitkul
ผู้อำนวยการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ตอบคำถามของ ‘อจ.หวาน’ สุดา รังกุพันธุ์ ที่กดดันให้ อนค.แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกับใคร
เธอก็ตอบโดยสรุปจากคลิปของธนาธรว่า
"ให้ปิดชื่อพรรคไว้ก่อน อย่าดูชื่อพรรค ถ้ามีหลักการร่วมกัน ๓ ข้อก็ร่วมได้หมด”
แม้นว่าอมรรัตน์เองได้ทำความเข้าใจกับสุดา “ว่าจริงแล้วไม่ร่วม พปชร. แน่ แต่กับ
ปชป. ร่วมได้”
ต่อมา กรณ์ จาติกวนิช แกนนำประชาธิปัตย์อีกคนไปออกรายการของ
ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ ก็พูดว่า ปชป.ร่วมกับอนาคตใหม่ได้เพราะนโยบายไม่เอาประยุทธ์
แต่เอาพลังประชารัฐเหมือนกัน
นอกจากนั้น เชาว์ มีขวด รองโฆษกพรรค ปชป. “เผยถึงกรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)
ออกมาเรียกร้องให้พรรคประกาศจุดยืนว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ” ด้วย
แต่คุณช่อเคยพูดไว้เองว่าร่วมกับ
พปชร.ได้ถ้าไม่เอาประยุทธ์ ไม่เอา คสช. สืบทอดอำนาจ รองโฆษก ปชป. จึงย้อนให้ว่า “ด้วยหลักการเดียวกันนี้
พรรคอนาคตใหม่หวังใช้ พปชร. ดันหัวหน้าพรรคตัวเอง เป็นนายกฯ ด้วยใช่หรือไม่
เพราะพร้อมร่วมรัฐบาลกับ พปชร.”
นั่นเลยเป็นต้นเหตุให้ อจ.หวาน
ออกรายการสดยูทู้บเกือบสองชั่วโมงเมื่อ ๑๖ มีนา หัวข้อ “คิดกันอย่างไร หาก #อนาคตใหม่ อาจจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ #ประชาธิปัตย์”
หลักๆ ก็ทำนองตัดพ้อว่า “พวกเราไม่เคยมองเขาเป็นอื่น มองเป็นพวกเดียวกัน
แต่เขาพยายามไม่เป็นพวกเรา”
สุดายังปรารภอีกว่า “เราไม่รู้เขาคิดอะไร
เขาอาจคิดว่าเวลานี้กระแสเขาเท่า ปชป.แล้ว ต้องการจะตั้งรัฐบาลเอง (กับ ปชป.)
ไม่ขอร่วมกับ ‘ทักษิณ’...คุณอาจไม่ชนะเพื่อไทย
แต่คุณอาจมากพอไปรวมกับ ปชป. และปลาไหล งูเห่า เพื่อตั้งรัฐบาลแบบที่เคยเกิดแล้วหรือ”
ตอนนี้ก็เลยเป็น ‘ไดเล็มม่า’ ของพรรคการเมืองฝ่ายหัวเด็ดตีนขาดไม่เอา
คสช. และการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่รู้จะไปกันอย่างไรดี ชนิดที่ Atukkit
Sawangsuk เห็นว่าเป็นการ ‘จ้องเอาเป็นเอาตาย’
ของกองเชียร์ทักษิณต่ออนาคตใหม่
“อนาคตใหม่แม้ธนาธร-ปิยบุตรอยู่บนหลักการประชาธิปไตย
แต่องค์ประกอบของพรรคก็มาจากผู้คนหลากหลาย และค่อนข้างหลวม คนใหม่ๆ
ที่ไม่ได้ลึกซึ้งกับการต่อสู้สิบกว่าปี ความไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพรรค
เมื่อมาเจอกับกระแสพุ่งกระแสตก กระแสสูงปรี๊ดที่ยากจะรับมือ
ทำให้บางคนหลงกระแสเหลิงกระแส”
อธึกกิตเขียนไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขา
พยายามที่จะบอกว่า “ยอมรับกันไหมล่ะ ว่าการมีสองพรรคดีกว่าพรรคเดียว
ถ้ามีแต่เพื่อไทย หรือต่อให้ ทษช.ไม่ถูกยุบ คุณชิงกระแสคนตรงกลางๆ หรือคนรุ่นใหม่ ได้เท่าอนาคตใหม่ไหม”