โรดแมปเลือกตั้ง-ไหนบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”
Fri, 2017-04-07 20:35
ทีมข่าวการเมือง
ที่มา ประชาไท
ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช่ว่าการเลือกตั้งทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และการลงจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล คสช. จะเกิดขึ้นในเร็ววัน "ประชาไท" อ่านรัฐธรรมนูญ 2560 สำรวจโรดแมป โดยพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นช้าสุดไม่เกินปลายปี 2561 รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. นับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันเลือกตั้ง อาจจะมีระยะเวลารวมกว่า 4 ปี 6 เดือน
เป็นเรื่องที่แน่ชัดแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วในวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่างก้าวต่อไปของการเมืองไทยคือการเดินหน้ากลับสู่การเลือกตั้ง และกลับสู่ภาวะเสมือนการเมืองปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู สำหรับประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถึงที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ผ่านการเห็นชอบโดยคะแนนเสียง 16,820,402 เสียง ต่อ 10,598,037 เสียง (61.35% ต่อ 38.65%) นอกจากนี้มียังบัตรเสีย และผู้ที่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนอีก 936,209 คิดเป็น 3.15% จากจำนวนผู้มาออกเสียงทั้งหมด 29,740,677 คน
อย่างไรก็ตามภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช่ว่าการเลือกตั้งทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และการลงจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารจะเกิดขึ้นในเร็ววัน "ประชาไท" อ่านรัฐธรรมนูญ 2560 สำรวจเส้นทางการเดินไปสู่สิ่งเหล่านั้น โดยพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นช้าสุดไม่เกินปลายปี 2561 รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. นับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อาจจะมีระยะเวลารวมกว่า 4 ปี 6 เดือน
8 เดือน
เมษายน 2560 ถึง ธันวาคม 2560
จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ
นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นช่วงเวลาสำหรับการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ แม้จะร่นระยะเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งให้เร็วกว่าเดิมได้โดยการเร่งจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับให้เสร็จก่อน แต่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า หลังจากวันที่ 18 เม.ย. 2560 ที่จะมีการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหลังจากนั้น กรธ. ก็จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีก 6 ฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่า หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทาง กกต. และพรรคการเมืองต่างๆ จะได้มีเวลาเตรียมสู่การเลือกตั้งได้
จากนั้นจะนำเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เข้าสู่ที่พิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็น 2 อันดับสุดท้าย
2 เดือน
มกราคม 2561 ถึง กุมภาพันธ์ 2561
สนช.พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ภายหลังจากมีการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายเข้าสู่การพิจารณา สนช. จะมีระยะเวลาพิจารณากฎหมายไม่เกิน 60 วัน
1 เดือน
มีนาคม 2561
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ประมาณ 30 วัน นับจากวันที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้าย ประกาศเป็นกฎหมาย จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าตรงตามเจตรมณ์แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
3 เดือน
เมษายน 2561 ถึง มิถุนายน 2561
นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ
นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งความเห็นกลับมาว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายไม่เป็นปัญหา หรือหากมีปัญหาและได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน
5 เดือน
กรกฎาคม 2561 ถึง พฤศจิกายน 2561
จัดการเลือกตั้งทั่วไป
นับจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เป็นกฎหมาย ให้ดำเนินการเลือกตั้งภาย 150 วัน