เสร็จแล้วเหตุเลื่อนเลือกตั้งไปหลังสิ้นปี ๖๐ ของใครๆ ก็สู้ไทยโพสต์ สื่อปฏิกิริยาของระบอบทักษิณไม่ได้สักราย
สุรชัย เลี้ยงบุญ ณ สนช. ว่างานเยอะ ต้องออกกฎหมายเป็นร้อยๆ ขอเป็นกลางปี ๖๑ ผบ.ทบ. บอกยังเดินตามโร้ดแม็พเดิม ถึงจะเลื่อนก็แค่สองสามเดือน บักดอนว่า เถอะน่า ฝรั่งมังค่าไม่สนใจกันแล้วถ้าเลือกตั้งช้า
แต่ไม่มีรายไหนชงัดเท่า ‘ผักกาดหอม’ จอมส่อเสียด “พวกพรรคเพื่อไทยที่เอาแต่จะไปเลือกตั้ง โดยไม่ดูกาลเทศะ มันสมควรแล้วหรือ”
กาละเทศะที่ว่าของเขาก็คือ “ปลายปีนี้จะมีงานพระบรมศพ...พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
(ขอบคุณ Thanapol Eawsakul ที่แนะนำ และขออภัยลิ้งค์ใช้การไม่ได้)
ถ้างั้นมาดูไทม์ไลน์ให้จะจะ ในหลวง ร.๙ สวรรคต ๑๓ ตุลา ตามธรรมเนียมปฏิบัติและบางครั้งพระราชประเพณี มักตั้งศพไว้อย่างน้อย ๑ ปี จากนั้นก็จะมีราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่
ดูทีว่าพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ จะไปลงที่เดือนพฤศจิกาหรือธันวาปีนี้เหมาะเจาะ และถ้าจะวัดจากการที่องค์มกุฏกุมารฯ ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อ ๑ ธันวาคม ก็น่าจะมีพระราชพิธีราชาภิเษกในเดือนธันวาหรือมกราก็ได้
ดังนั้นการเลือกตั้งภายในสองสามเดือนต้นปี ๒๕๖๑ คงไม่ต้องลุ้น อาจถึงกลางปีอย่างที่พวก สนช.กระสันต์ ได้ไม่ยาก
ไม่เชื่อลองมาฟังทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมายจัดให้ “คิดว่า สนช.คงไม่พูดอีกแล้ว เพราะเมื่อพูดก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด”
แล้วแจกแจงว่า “มีกำหนดการเป็นไปตามกรอบของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเริ่มจากเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง ๑๐ ฉบับจะต้องแล้วเสร็จภายใน ๒๔๐ วัน
จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน ๒ เดือน หากสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกับ กรธ. และอาจจะขยายเวลาไปได้อีก ๑ เดือน
และเมื่อเสร็จแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ และพระราชวินิจฉัยใน ๙๐ วัน เมื่อประกาศใช้ก็เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งมีเวลา ๕ เดือน แล้วแต่จะเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้”
“การพิจารณากฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องไปพิจารณาเวลาเอาเอง เพราะรัฐบาลได้เพิ่มจำนวน สนช.ให้แล้ว...
นอกจากนี้ อยากให้ผู้สื่อข่าวไปถาม กรธ.ว่าเหตุใดจึงไม่สามารถออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้
เพราะ กรธ.ระบุว่ามี ๒ ฉบับ เช่น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่ทำท่าจะออกไม่ได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ แม้จะยังอยู่ใน ๒๔๐ วัน แต่ก็ช้ากว่าที่วางไว้ จึงอยากให้ กรธ.อธิบาย เพราะวันนี้มีแต่การพูดถึงปลายเหตุ ไม่พูดถึงต้นเหตุ
(http://www.matichon.co.th/news/417964)
ตานี้มาดูว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ได้เมื่อไหร่ คำตอบ -ไม่รู้
เพราะรัฐบาล คสช. “ได้ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คิดว่าน่าจะได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงมาในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ แล้วประกาศใช้ต่อไป
ถ้าเป็นอย่างนั้นการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้ในปี ๒๕๖๐ แต่บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก”
ถึงอย่างไร ในทางพฤตินัยได้มีในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ แล้วตั้งแต่ทรงรับขึ้นทรงราชย์เมื่อ ๑ ธันวา ๕๙ จะไม่สามารถพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาจนกว่าจะผ่านพ้นราชพิธีราชาภิเษกปลายปีนี้ (๖๐) หรือต้นปีหน้า (๖๑) ละหรือ
เช่นนั้น ไทม์ไลน์การเลือกตั้งจะมีได้หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ พระราชทานรัฐธรรมนูญกลับลงมาในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมปีหน้าเป็นอย่างช้า การเลือกตั้งจึงจะมีได้วันใดวันหนึ่งภายใน ๕ เดือนหลังจากนั้น
เอ๊ะ อย่างนี้ พวก สนช. ก็รู้ดีกว่าใครๆ น่ะสิ แต่ไม่ยักยกเหตุผลให้สมจริง อ้างโน่นอ้างนี่ไม่ได้เรื่อง เทียบไม่ติดคอลัมนิสต์ไทยโพสต์ ‘ฟันธง’