เที่ยงวันตะวันตรงศรีษะ ผมเดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
เหมือนเช่นทุกครั้งที่มาที่นี่ วันนี้ (17-05-59) บรรยากาศเหมือนทุกๆวัน
ผู้คนยังคงสัญจรเป็นปกติ ไม่มากไม่น้อย…..สำหรับวันนี้ผมเลือกตีเยี่ยม
บุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จนทำให้เขากลายมาเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งนี่ ร่วมกับเพื่อนๆ ของผมอีกหลายคน
เรื่องราวของบุรินทร์ สำหรับผมเป็นเรื่องราวที่ขาดตอน
ไม่สามารถเข้าใจความนึกคิดของเขาเกี่ยวกับการเมืองได้ชัดเจนนัก
เพราะจากการร่วมกิจกรรมกันมาเพียงสองครั้ง ผมเคยเห็นเขาครั้งล่าสุดคือเหตุการณ์ที่เขาถูกจับใน
สน.พญาไท ขณะอยู่ในห้องสอบสวนพร้อมกับผม
วันนี้ผมจึงได้หาโอกาสคุยกับเขาเพื่อทำความรู้จักกันมากกว่านี้
ในช่วงเวลาที่รอเข้าเยี่ยมในรอบเยี่ยมที่ 10 คือเวลา 12.30 น. ผมทราบว่า จนท. FFA อีกท่านก็กำลังดูแลแม่ของคุณณัฏฐิกาที่เรือนจำหญิง
ซึ่งคนละส่วนกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่ผมรอเยี่ยมอยู่ ในเวลาเดียวกันที่คุณพ่อของปอนด์
หฤษฏ์ นั่งอยู่ที่ม้านั่งตัวเดิม เหมือนวันก่อนหน้า บริเวณริมทางเดินเข้าสู่ส่วนเยี่ยมญาติเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
คุณพ่อของปอนด์ชื่อพ่อกฤช หากมองผิวเผินเขาก็คงเป็นเพียงชายสูงอายุคนหนึ่งที่มานั่งรอเยี่ยมญาติที่เรือนจำ
ก็เท่านั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่นๆ เลย แต่สำหรับผมและหลายๆ คน พ่อคนนี้เป็นพ่อที่แข็งแกร่งที่สุดที่ผมสัมผัสมา
ผมกล่าวเช่นนี้เพราะสิ่งที่ผมรับรู้มาจากปากของคุณพ่อ และ จนท. ของ FFA ที่ตามดูแลคุณพ่อมาตลอด
ที่สำคัญจากที่ผมสังเกตพูดคุยด้วยตนเองได้ข้อมูลว่า คุณพ่อเลือกที่จะอาศัยอยู่ใน
กรุงเทพเพียงลำพังในห้องเช่าเล็กๆ พอให้หลับนอนได้ ตามแหล่งพักพิงราคาประหยัดคืนละ
80-120 บาท
คุณพ่อทำเช่นนี้ เพื่ออะไร?…. คำตอบคือ เพื่อต้องการพบหน้าลูกชายในทุกๆ
วันที่ทางเรือนจำให้เยี่ยมผู้ต้องขังได้ ทั้งที่จริงคุณพ่อเป็นคนบ้านฝาง
จังหวัดขอนแก่น หากวันนี้ลูกชายยังคงใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติ
คุณพ่อก็คงนอนรับลมร้อนอยู่ที่บ้านในต่างจังหวัด
รออาศัยเงินรายเดือนที่ลูกชายส่งให้ใช้บ้าง และยังมีเบี้ยยังชีพคนชรา 600 บาทต่อเดือนให้ได้กินได้อยู่บ้างก็เพียงพอสำหรับคนวัย 60 กว่าปี
อดีตนายก อบต. คนนี้มีส่วนที่ทำให้ลูกชายมีความสนใจทางด้านการเมือง
พ่อบอกกับผมว่าสมัยปี 2540
– 2548 คุณพ่อเป็นนายก อบต. บ้านฝาง ช่วงนั้นปอนด์ก็มีส่วนช่วยงานการเมืองท้องถิ่นของคุณพ่ออยู่บ้าง
คุณพ่อใช้ชีวิตในเมืองกรุงในยุคสมัยนี้อย่างไร?
ในทุกวันที่เยี่ยมลูกชายได้คุณพ่อจะรีบตื่นแต่เช้า
ทำธุระส่วนตัวก่อนนั่งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง มาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อตีเบอร์เยี่ยมลูกชายของเขา
และแน่นอนผู้ต้องขังการเมืองและความคิดมักได้ห้อง 8 หรือ 9 เสมอๆ
เมื่อเยี่ยมลูกชายเสร็จ
คุณพ่อจะซื้อของเยี่ยมลูกชายเองโดยมักจะไม่เอ่ยปากรบกวนใครคนอื่นเลย ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่เหลือเงินไว้ใช้แล้วก็ตาม
จนระยะหลังๆ ทาง FFA ได้กำชับกับคุณพ่อให้นำใบเสร็จมาเบิกจากกองทุนของสมาคมเพื่อเพื่อน
ซึ่งอธิบายให้คุณพ่อเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เงินของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเงินของประชาชนที่ช่วยเหลือมาเพื่อเพื่อน
เพื่อมนุษยธรรม จนคุณพ่อสบายใจและรับการดูแลจาก FFA อย่างต่อเนื่อง
ผมชวนคุณพ่อทานข้าวก่อนจากกันในบ่ายหลังเยี่ยม
คุณพ่อทานแต่เพียงน้ำเปล่า สายตาคุณพ่อดูกังวล
ผมเข้าใจว่ายังมีเรื่องไม่สบายใจหลายๆเรื่องในใจของชายแก่คนนี้
ผมเอ่ยปากถามด้วยความอยากรู้เผื่อจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ผมถามคุณพ่อว่า “น้องสาวของปอนด์เป็นอย่างไรบ้าง”
คุณพ่อตอบผมว่า “น้องปอนด์เป็นผู้หญิงเข้มแข็งมาก เขาดูแลตัวเองได้
พ่อห่วงแต่ตอนนี้ที่ไม่มีปอนด์ส่งเสีย เพราะเขากำลังเรียนปี 1จะขึ้นปี 2 ปกติก็ปอนด์เป็นคนส่งเสียน้องกับพ่อ”
ผมถามต่อว่า “มีใครยื่นมือมาช่วยบ้างหรือยังนอกจากพวกผม”
“ก็มีบ้าง แต่ผมให้ลูกสาวเอาไปไว้จ่ายค่าเทอมและใช้จ่ายช่วงปอนด์ไม่ได้ส่งให้” พ่อตอบอย่างเห็นได้ชัดว่าเขากำลังกังวลทั้งเรื่องของลูกชาย
และลูกสาว
เราใช้เวลาคุยกันนานพอสมควร และคงคุยกันด้วยเรื่องทุกข์สุขอย่างไม่ต้องปิดบังอะไรกัน
จนทราบว่าตอนที่คุยกันอยู่นี้คุณพ่อเหลือเงินติดตัวเพียง 80 บาท สำหรับค่าเช่าห้องราคาประหยัดนอนหนึ่งคืนเท่านั้น
ก่อนจากกันผมได้มอบเงินจาก FFA ช่วยเหลือคุณพ่อไป 2,000
บาท พร้อมคำถามที่ว่า….“หากประกันตัวไม่ได้ พ่อจะทำอย่างไรต่อ จะกลับหรือจะมาเยี่ยมทุกวันแบบนี้”
พ่อผู้แข็งแกร่งคนนี้ตอบผมทันทีว่า “เยี่ยมทุกวันที่เขาให้เยี่ยม
จะให้ผมกลับโดยไม่มีลูกกลับด้วยผมทำไม่ได้”
ปิยรัฐ จงเทพ 18-05-16