ที่มา Voice TV
ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก แม้มีแนวทางแก้ไขแต่ยังเป็นนามธรรม เห็นได้ชัดจากผู้ใช้แรงงานที่ยังขาดโอกาสเรื่องรายได้และการศึกษา
"ความเหลื่อมล้ำ" ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหารือในหลายเวทีเสวนา ล่าสุด ในเวที "ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง : สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ครั้งที่ 2" ของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในหัวข้อ“ประชาสังคมเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”
ศาสตราจารย์สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ปัญหานี้ ฝังรากลึกมายาวนาน มีต้นตอมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัด คนที่มีเงิน จะมีโอกาสและอำนาจมากกว่า สามารถซื้อตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งบาปบุญคุณโทษได้ ทำให้คนจน และคนมีความรู้น้อยกว่า ถูกเอาเปรียบ อีกทั้งระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ก็เอื้อประโยชน์ให้คนรวย มากกว่า คนจน
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า แม้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ ว่า จะต้องลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ยังถือเป็นนามธรรม ภาคประชาสังคม จึงต้องร่วมกันผลักดัน โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงเรื่องสุขภาพ หรือ สวัสดิการส่วนบุคคล รวมทั้งการศึกษา ที่จะส่งผลให้ความยากจนของคนลดลง
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงาน เป็นกลุ่มที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องรายได้ และการศึกษา อีกทั้ง ข้อเรียกร้อง ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการภาครัฐจึงต้องมีกลไก ดูแลผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิที่เหมาะสม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น