วันพุธ, มกราคม 28, 2558

รัฐธรรมนูญใหม่ ระบอบใหม่ ฉบับมะม่วงสุก


ไปดูเขากระตู้วู้กันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ ระบอบใหม่ ฉบับมะม่วงสุก

ตามที่ท่านประธานกรรมาฯ ยกฯ ร่ายไว้ในจุลสารการปฏิรูป เหนาะๆ ๑๓ ข้อ

https://sway.com/oIAAe_cU-GCC8X1P

ที่ซึ่ง สศจ. (Somsak Jeamteerasakul) วิเคราะห์บวรศักดิ์ไว้จะจะ ว่า

“ที่แน่ๆ คิดว่า ทั้งการแบ่งเขตและระบบนับคะแนน จะทำให้ไม่มีพรรคไหน ได้เสียงชนะข้างมากทิ้งห่างพรรคอื่นมากๆ (แบบสมัยเพื่อไทย) อีก”

“คิดว่า ภาพรวมโดยสรุป ก็เหมือนกับที่ผมเคยเขียนไปคือ คสช พยายามสร้างระบบคล้ายๆสมัยเปรม (ประชาธิปไตยครึ่งใบ) คือมี ‘เลือกตั้ง’ แต่ให้บทบาทจำกัด เลือกมาก็คงตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเสียงข้างมากที่เข้มแข็งไม่ได้ และก็คงเอา ‘คนนอก’ มาเป็นนายกฯ (ในแง่นี้ แม้แต่ ปชป. เอง ก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่)”

ลองเข้าไปไล่เรียงอ่านเอาเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเป็นอย่างไร’ ของศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้วเห็นแจ้งเลยว่าเขาสอดลูกเล่นไว้มากมาย

เริ่มแต่ ๑.๑-๑.๒ นั่นเลยไง ทั้ง ‘สมัชชาพลเมือง (ระดับพื้นที่)’ ไว้ “ปลูกฝังความเป็นพลเมือง” และ ‘สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ' สำหรับ “พิทักษ์คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของนักการเมือง”

จัดว่ากำหนด ‘ธรรมา’ เอาไว้ล้วนๆ ส่วนว่า ‘ทำไป’ อย่างไรภายหน้าไม่รู้

ถึงข้อ ๓ นี่หัวใจเลยทีเดียว เขาจัดวางโครงสร้างทางการเมือง ‘ที่ดี’ หนีไม่พ้น “ต้องผนวกรวม (Inclusive) ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าไว้ในโครงสร้าง โดยไม่จำต้องจำกัดอยู่ที่เรื่องของจำนวนหรือเรื่องของที่มา" จึงได้ให้มีสองสภา

สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน ๔๘๐ คน... เป็นสภาซึ่งบริหารโดยอาศัยหลักเสียงข้างมาก (Majoritarian Chamber) “ที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน" ดังนี้

๖.๑ อ้างว่าที่ผ่านมา ‘ไม่สะท้อน’ เจตนารมณ์ที่แท้จริง (จึงนำเยอรมันโมเดลมาใช้) กำหนดอัตราส่วนของ บัญชีรายชื่อกับประเภทแบ่งเขตไว้ตายตัว ๔ ต่อ ๕ เมื่อสัดส่วนตามจำนวนประชากรเวลานี้ได้ตัวแทนทั้งสิ้น ๔๕๐ ก็จัดแจงให้ตัวแทนในบัญชีอยู่ที่ ๒๐๐ ตน กับตัวแทนจากเขตอีก ๒๕๐ เขต (อันนี้ สศจ. คอมเม้นต์ว่าลดไปจากครั้งเก่าถึง ๑๒๕ น่ะ) จากนั้นขีดเส้นเพดานปริมาณตัวแทนทั้งสิ้นอยู่ที่ ๔๘๐

คราวนี้แหละที่เยอรมันโมเดล comes in to play ที่เขาให้อัตถาธิบายว่า มันเป็นระเบียบ ‘เติมเต็ม’




นั่นคือคำนวณสัดส่วนคะแนนนิยมจากบัตรที่แต่ละพรรคแต่ละพวกได้รับเป็นอัตราร้อยละ แล้วแปลงเป็นตัวเลขผู้แทนที่ควรเป็นตามเปอร์เซ็นต์ จากนั้นดูที่จำนวนผู้ได้รับเลือกตามเขตว่าขาดไปเท่าไร จึงเติมเต็มด้วยรายชื่อตัวแทนที่เรียงไว้

ดูตามตัวอย่าง (ภาพที่สี่)

ตานี้มาถึงอีกสภา ที่รู้จักกันทั่วๆ ไปว่า ‘วุฒิ’ แต่ในระบอบใหม่ของ ‘ไข่’ คสช. เรียกว่า ‘พหุนิยม’

ให้มีจำนวนกึ่งหนึ่ง ของสภาตัวแทนที่ประชาชนได้เลือก (คือไม่เกิน ๒๐๐ ตน) ได้มาอย่างหลากหลาย ๕ ประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทต่าง ‘เลือกกันเอง’ เข้าไป โดยเฉพาะพวก ‘ทรงคุณวุฒิ’ ให้สรรหามาก่อนด้วยจำนวนเท่าตัว แล้วจึงคัดเลือกออกเหลือจำนวนที่ต้องการไม่เกิน ๑๐๐ บุคคล

อ้า นี่เขาเรียกว่าระบบ ‘เลือกตั้งทางอ้อม’

รวมความตามที่เข้าใจ เป็นอันว่าระบอบใหม่ (ที่ขอเรียกในที่นี้ว่า ระบอบ ‘ไข่ คสช.’) ซึ่ง สศจ. บอกว่าเป็น ‘ครึ่งใบ-ไข่เปรม’ ตามรัฐธรรมนูญฉบับมะม่วงสุกที่คณะกรรมาธิการยกฯ กำลังบ่มกันอยู่นั้น

คือระบบสองสภา ที่มีสมาชิกทั้งหมดราว ๖๕๐ ถึง ๖๘๐ ซึ่งประชาชนจะมีโอกาสได้เลือกราว ๒๕๐ นอกนั้นอ้อมๆ เอา

ปิดท้าย ๑๒.๑ เรื่องนายกฯ ตรงกลาง

"นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๒ มาตรการนี้ก็เพียงพอทำให้มั่นใจได้ว่า ในภาวะปกติผู้เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เปิดให้ในภาวะวิกฤต สามารถนำคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้แก้ภาวะวิกฤตชั่วคราวได้

โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”

น่าจะติ่งติดไว้นิดว่า “ส่วนถ้ามีการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยการยึดอำนาจ ให้กลับไปเริ่มปฏิรูปใหม่อีกครั้ง”