วันอังคาร, มกราคม 27, 2558

ผู้ช่วย รมว. ต่างประเทศสหรัฐบอกอะไรกับไทย



จากปาฐกถาเมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ มกราคม ๒๕๕๘ ของนายแดเนียล อาร์ รัสเซิล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ แผนกกิจการเอเซียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิค อันเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลย์เซีย และกัมพูชา

จากข่าว บีบีซี หัวข้อ รัฐประหารประเทศไทย :ตัวแทนการทูตสหรัฐกระตุ้นให้มี การเมืองที่บริบูรณ์มากขึ้น (Thailand coup: US envoy urges 'more inclusive' politics
http://www.bbc.com/news/world-asia-30978016

“เขา (นายรัสเซิล) บอกว่าการลงมติของสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทำการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง”

“กระทรวงต่างประเทศสหรัฐแจ้งว่า เขา (นายรัสเซิล) ได้บอกกับ พล.อ. ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศว่า ความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะยังไม่คืนสู่ปกติ ตราบเท่าที่ประชาธิปไตยยังไม่ได้รับการรื้อฟื้น

“เขา (นายรัสเซิล) ยังเตือนด้วยว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอนโดยผู้กุมอำนาจที่โค่นล้มเธอ ประชาคมนานาชาติเหลืออยู่ทางเดียวที่จะเกิดความเข้าใจได้ว่า การกระทำเหล่านั้นเป็นไปโดยจุดมุ่งหมายทางการเมือง” สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน

จากปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ http://www.state.gov/p/eap/rls/rm/2015/01/236308.htm
 
คำแปลภาษาไทย (ตอนหนึ่ง) โดยสถานทูตสหรัฐ ณ กรุงเทพมหานคร http://thai.bangkok.usembassy.gov/012615_as_russel_remarks.html

ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย  สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย  เราเชื่อว่าประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางกฎหมายของตน  ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองขณะนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย  ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว  กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง

นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย

นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ  ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อ รัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย

การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม คือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคสวนอย่างแท้จริง ซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย”

ช่วงตอบคำถาม

ถาม เป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานนี้เพราะข้าพเจ้าเคยเป็นศิษย์เก่าจุฬาเช่นกัน คำถามของข้าพเจ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ท่านได้พูดถึงความ ไม่จำเป็นของกฏอัยการศึก ท่านพูดถึงการประนีประนอมและระเบียบกฏหมาย และข้าพเจ้าเดาว่าท่านได้พูดกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเช้านี้ด้วย ดังนี้ข้าพเจ้าอยากทราบว่าท่านรัฐมนตรีมีท่าทีอย่างไรกับประเด็นเหล่านั้น และถึงตอนนี้ท่านประเมินได้อย่างไร จากซ้ายไปขวา ตอนนี้เราอยู่ที่จุดไหน

ผู้ช่วย รมว. ตอบ ...

ผมไม่ลังเลที่จะบอกคุณว่า ผมคิดว่าผมได้รับทราบเรื่องราวสำคัญทีเดียว ผมมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐ ทั้งเพื่อรับฟัง ฟังรัฐบาลของท่าน ฟังผู้นำการเมือง ฟังประชาสังคม และฟังท่านทั้งหลาย กับมาเสนอแนวคิดของเรา และความคาดหวังต่อประเทศไทย และผมได้แจ้งแก่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่แจ้งแก่ผู้นำทางการเมือง และแก่ท่านในปาฐกถาวันนี้ ว่าสหรัฐมีความใส่ใจอย่างใหญ่หลวงในความสำเร็จของประเทศไทย

ความเข้มแข็ง รุดหน้าทางเศรษฐกิจ ทรงอิทธิพลและมั่นคงทางการเมืองของประเทศไทย เป็นองค์ประกอบอันจำเป็นต่อการเติบโตก้าวหน้าของภูมิภาค เรามีความเชื่อว่าการขีดวงกั้นสิทธิมนุษยชน การจำกัดขอบข่ายสิทธิมหาชนสากล อาทิ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม ไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นคงเลยในระยะยาว

เราเชื่อว่าการดำเนินการโดยเร็วที่จะยุติกฏอัยการศึก เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยครรลองแห่งนิติธรรมและสันติ กับส่งเสริมกระบวนการอันบริบูรณ์ที่ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง จะก่อให้เกิดสถาบันและผลลัพท์ที่ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมมีความเชื่อมั่นว่าตนมีส่วนร่วม

และมันมีความสำคัญสำหรับพลเมืองทุกผู้ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เพื่อพวกเขาจะได้มีความไว้วางใจและนับถือในสถาบันทางการเมืองและตุลาการ...”