เชลดอน ซิลเวอร์ ประธานสภาแห่งมลรัฐนิวยอร์คที่ถูกดำเนินคดีคอรัปชั่น |
ถ่ายทอดคำจากบทความบนหน้าบล็อกของสำนักข่าวรอยเตอร์เรื่อง 'American
corruption is exceptional, too.' เขียนโดย แทร์รี่ กอลเวย์
หมายเหตุ :ข้อเขียนนี้แม้จะไม่เกี่ยวข้องอย่างใดๆ
กับกรณีที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายแดเนียล รัสเซิล ไปพูดในประเทศไทยระหว่างการเยือนอย่างทางการสองวัน
อันเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความไม่พอใจจากผู้นำและรัฐบาลไทย
พร้อมด้วยสมาชิกบางคนในสภานิติบัญญัติ อันล้วนแต่มาจากการจับตั้งโดยอำนาจรัฐประหารหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากเด็ดขาดในการเลือกตั้ง
หากแต่ผู้ถอดความบทคุยนี้พบว่าการตอบโต้กลับต่อสหรัฐที่ออกมา มิได้มีลักษณะอันน่ารับฟังเทียบเคียงได้กับข้อตำหนิและเสนอแนะที่ผู้ช่วย
รมต. ต่างประเทศสหรัฐฝากไว้เท่าใดนัก การอ้างว่าสหรัฐไม่เข้าใจไทยบ้าง
แทรกแซงกิจการภายในบ้าง รายหนึ่งถึงกับเลือกใช้คำว่า ‘เสือก’ ท่ามกลางการประชุมอภิปรายในองค์กรที่เรียกว่าสภา
ยิ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือ หรือ credibility ของคณะผู้ปกครองประเทศไทยยิ่งหดถอยลงไป
ภาพล้อเลียนคำพูดของประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สนช. |
ปะเหมาะพอดีกับที่มีการตีพิมพ์บทความของนายกอลเวย์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงข้อบกพร่องทางการเมืองในสหรัฐเองเกี่ยวกับการคอรัปชั่น
โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาด (shortcomings) ในแวดวงของผู้ทรงอิทธิพลทางการปกครอง ที่เกิดขึ้นได้ทั่วทุกหัวระแหง
ทั้งแห่งที่มีการจัดระเบียบอยู่ร่วมกันอย่างโลกยุคใหม่ และในถิ่นที่กำกับควบคุมความเป็นรัฐชาติอย่างดึกดำบรรพ์
แต่การจัดการ (manage) หรือแก้ไข (remedy) ปัญหาคอรัปชั่นนั่นสิเป็นความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีระเบียบการอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาคและพอใจของคนส่วนใหญ่
ซึ่งเรียกว่าประชาธิปไตย กับประเทศที่ยังล้าหลังงมงายในระเบียบสังคมที่อาศัยอำนาจข่มขู่ให้คนส่วนใหญ่เกรงกลัวยอมรับการชี้นำและเอาเปรียบโดยศิโรราบ
ข้อเขียนเช่นนี้ชี้ถึงการมีแนวคิดอย่างบริบูรณ์ทุกกระบวน อันสามารถเรียกว่าสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มปากคำ
ระยิบ เผ่ามโน
นายกอลเวย์เริ่มบทความของเขาด้วยเรื่องราวอื้อฉาวในวงการเมืองระดับสูงของมลรัฐนิวยอร์คขณะนี้
ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๕๘ นายเชลดอน ซิลเวอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนิวยอร์ควัย ๗๐ ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาคอรัปชั่นมากมายหลายกรณี
(Allegedly
used official position to obtain $4 billions in bribes and kickbacks.) ที่ทำให้เขาร่ำรวยมหาศาลและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของมลรัฐ
อย่างชนิดไม่เคยปรากฏต่อสายตาสาธารณะชนมาเลยเป็นเวลาเนิ่นนาน
คอรัปชั่น อาชญากรรมที่นายซิลเวอร์ถูกดำเนินคดีนี้
มิใช่เป็นกรณีจำเพาะเจาะจงของวงการเมืองมลรัฐชื่อดังแห่งนี้ หรือในสหรัฐเองโดยรวม ระบบการเมืองและทางปฏิบัติอาจแตกต่างกันไปจากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่ง
จากคาบสมุทรหนึ่งไปยังอีกคาบสมุทรหนึ่ง แต่คอรัปชั่นเป็นสากล เหมือนกันหมด พลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากคดีคอรัปชั่นตั้งแต่เบจิงถึงคาบุล
หรือจากมอสโคว์ถึงเม็กซิโกซิตี้ แน่นอนย่อมจำใส่ใจในถ้อยโจษจรรที่ว่า
'อำนาจย่อมฉ้อฉล อำนาจสูงสุดยิ่งคดโกงเหนืออื่นใด'
“แต่นี่ความแตกต่างระหว่างสหรัฐและประเทศที่ไร้ขื่อแปทางกฏหมายหลายแห่ง
ที่บังเอิญขณะนี้เป็นดินแดนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ
นักการเมืองอเมริกันที่คดโกงมักถูกจับได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บางครั้งเพราะว่าพวกเขาเหลิง บางคราวเนื่องจากฝีมือของอัยการที่มุ่งมั่นสร้างผลงาน
หรือจากนักข่าวที่เสาะสืบเข้าไปขุดคุ้ยเอามาเปิดโปง”
ในนิวยอร์คหลังสงครามกลางเมืองไม่มีใครทรงอิทธิพลเท่าวิลเลี่ยม
ทวี้ด สุดยอดแห่งกลไกการเมืองของแทมมานี่ฮอล
เขามีเส้นสายอยู่ในคลังหลวงที่สามารถหลนผลประโยชน์ให้จนเหลิง
ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำเอาไปสอดให้หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทม์เปิดโปงในปี
ค.ศ. ๑๘๗๑ ทวี้ดถูกจับและตัดสินความผิดส่งเข้าคุก เขาตายในคุกอย่างคนสิ้นไร้เมื่ออายุ
๕๕ ปี
วิลเลี่ยม เมซี่ ทวี้ด |
“ต้องขอบคุณบรรดานักหนังสือพิมพ์ที่กล้าหาญ และอัยการที่ปฏิเสธการคดโกง
รายชื่อพวกรับสินบาตรคาดสินบนในสหรัฐที่ถูกจับได้และตัดสินผิด มียาวเหยียด”
ในคดีของซิลเวอร์ อัยการพรี้ท แบฮาราราส แถลงคำฟ้องอันแหลมคมเปรียบเปรยทางปฏิบัติเน่าเฟะของนครอัลบานี่ย์
(เมืองหลวงของนิวยอร์ค) ประณามสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ขาดความโปร่งใส
ไร้ซึ่งมาตรการรับผิด (accountability) และปราศจากหลักการ’
เป็นที่รู้กันว่าสิ่งที่เขาโจมตีอัลบานี่เหล่านี้ใช้ได้กับเมืองหลวงของมลรัฐอื่นๆ
อีก ๔๙ แห่งอย่างสบาย
นักวิจารณ์การเมืองที่ช่ำชองพยายามที่จะชี้ชัดว่ามลรัฐไหนบ้างที่หมักหมมกับคอรัปชั่นมากกว่ากัน
อิลลินอยส์มีผู้ว่าการรัฐสองคน จ๊อร์จ ไรอัน พรรครีพับลิกัน กับร็อด แบลโกเจวิช
พรรคเดโมแครท ถูกส่งเข้าคุกตอนต้นศตวรรษที่ ๒๑ นี่เอง นิวเจอร์ซี่ย์ ก็ไม่น้อยหน้า
นายกเทศมนตรีสามคนโดนคดีฉ้อฉลไม่ซ้ำแบบใคร เชื่อหรือไม่เรื่องเด่นอันหนึ่งคือ ‘ขายตับ’
“เมื่อศูนย์วิจัยไม่ฝักฝ่ายใดเพื่อความสัตย์ซื่อสาธารณะทำการสำรวจจริยธรรมและมาตรการรับผิดในมลรัฐต่างๆ
ทั้ง ๕๐ แห่ง พบว่ามีเพียงสองรัฐที่ได้เกรดบีหรือสูงกว่า อีกเจ็ดแห่งเกรดเอฟ
สอบตกไม่เป็นท่า”
“คอรัปชั่น จากพวกที่เงินซื้อได้ง่ายไปถึงพวกยิ่งใหญ่ไพศาล
เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อนาทางการเมืองอเมริกันที่มักถูกนำไปเทียบเคียงเป็นครั้งคราวกับประเทศด้อยพัฒนา
(ดู 'Is the U.S. as corrupt as the third world?') ซึ่งการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาและการเรียกค่าป่วยการเป็นวิถีทางทำธุรกิจที่ยอมรับกันเป็นของธรรมดา...”
ร็อด แบลโกเจวิช |
“แต่ว่าการสรุปอย่างเย้ยหยันเช่นนั้น
ละเลยประเด็นสำคัญอันหนึ่งไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว (กรณีอย่าง) แบลโกเจวิชก็ต้องเจอกับการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่
และถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดแห่งกระบวนการยุติธรรม (ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย บ็อบ)
แม็คดอนเนิลล์ ถูกตัดสินความผิดฐานคอรัปชั่น และสั่งจำคุก ๒ ปี แม้เขากำลังวางแผนอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ก็ตาม
(อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯ รัฐนิวยอร์ค ไมเคิล) กริมม์ ยอมรับสารภาพและกำลังรอคำตัดสินลงอาญา
คดีของซิลเวอร์แม้จะเพิ่งเริ่มต้น
แต่ว่าเขาก็จำต้องลาออกจากตำแหน่งอันเป็นที่มาของอำนาจอันยิ่งยง
นั่นคือประธานสภาผู้แทนของมลรัฐนิวยอร์ค ทว่ามันไม่ได้เป็นไปในแบบเดียวกันหรอกนะในประเทศที่สหรัฐพยายามเข้าไปสร้างอิทธิพล
กอลเวย์อ้างถึงกรณีอาฟกานิสถาน ที่พลเมืองครึ่งหนึ่งของประเทศยังคงถูกบังคับให้ต้องส่งส่วยให้แก่ผู้กุมอำนาจการเมืองในท้องที่ก่อนจะได้รับบริการสาธารณะ
นี่ตามรายงานของหน่วยงานสหประชาชาติ
ในประเทศที่ทำให้สหรัฐเกิดความใส่ใจในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๑ นี้ น้อยนักจะมีคนแบบอัยการพรี้ทของนิวยอร์คที่จดจ้องกับการรักษาผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
แล้วจัดการนำตัวคนโกงมาดำเนินคดี
“สหรัฐอาจไม่มีทางไปถึงที่สุดแห่งการบริหารงานสาธารณะโดยผุดผ่องเยี่ยงผลงานโดดเด่นแบบสแกนดิเนเวีย
(ดู 'The
ten least corrupt countries in the world.') เนื่องจากมีแรงเหนี่ยวรั้งจิตใจใหญ่หลวง
เหตุเพราะมีเงินทองข้องเกี่ยวอยู่มหาศาล ดังปรากฏให้เห็นในคดีของนายซิลเวอร์ (๔
ล้านดอลลาร์)