ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558
มั่นใจ
มิได้มั่นใจอย่างธรรมดา หากเป็นความมั่นใจอย่างยิ่ง มั่นใจอย่างถึงที่สุดและมั่นใจอย่างสิ้นเชิง
"ถอดถอน" ได้แน่
ไม่ว่าจะเป็นกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนันท์ ไม่ว่าจะเป็นกรณี นายนิคม ไวยรัชพานิช ไม่ว่าจะเป็นกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่รอด
ขณะที่ซีกทางด้านอดีต "กลุ่ม 40 ส.ว." มากด้วยความมั่นใจ ซีกทางด้าน สนช."สายทหาร" กลับกบดานอยู่ในที่ตั้ง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ให้เป็นที่ปรากฏ
เรียกตามสำนวนอีสานก็ "มิดอิมซิม"
การยึดครอง "พื้นที่" เป็นของฝ่ายที่เรียกร้องต้องการให้ "ถอดถอน" ส่งเสียงดังไม่ว่าบนสื่อกระดาษ ไม่ว่าบนสื่อกระจก
กลายเป็น "กระแส" ครอบงำ "สังคม"
ประเมินผ่านประสบการณ์และความจัดเจนของการเคลื่อนไหวในลักษณะ "มวลชน"ต้องยอมรับว่าฝ่ายของ "กลุ่ม 40 ส.ว." ฝ่ายที่ต้องการถอดถอน
เก่งกว่า ชำนาญกว่า
ไม่เพียงแต่เก่งกว่าฝ่ายของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ฝ่ายของ นายนิคม ไวยรัชพานิช
หากเก่งกว่า สนช. "สายทหาร" หลายขุม
ขณะเดียวกัน สนช. "สายทหาร" เองก็มีความโน้มเอียงอยู่แล้ว เพราะโดย พื้นฐานก็เห็นชอบกับกระบวนการรัฐประหาร
ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เป้าหมายเมื่อเดือนกันยายน 2549 อาจเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป้าหมายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อาจเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ก็ล้วนแต่ "ชินวัตร" เหมือนกัน
จึงไม่ยากที่ "กลุ่ม 40 ส.ว." จะขับเคลื่อน จึงไม่ยากที่จะโน้มน้าวให้เกิดความเอนเอียงมายืนอยู่ในซีกเดียวกัน ความแข็งขันอันเคยแสดงผ่าน พล.อ.นพดล อินทปัญญา หรือแม้กระทั่ง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ก็เริ่มจางจากหายไป
จั่งซี่ต้อง "ถอด" จังซี่ต้อง "ถอน" สถานเดียว
หากมองอย่าง "ตัดตอน" เหมือนกับว่ารัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กับ รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่คนละส่วน
อาจจะจริงเมื่อดูที่ "นายกรัฐมนตรี"
เพราะนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 2549 คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพราะนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2557 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ถ้าดูรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะประจักษ์ในการเคลื่อนไหวหลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็จะประจักษ์ในการปราบปรามเมื่อเดือนเมษายน 2552 และเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
ใครกันเล่าที่มีบทบาท
เป็นบทบาทจากยุคของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต่อเนื่องมายังยุคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แท้จริงแล้ว 2557 คือความต่อเนื่องของ 2549
ภารกิจยังเป็นเหมือนเดิม คือ ขจัดสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ"
เพียงแต่หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อาศัย คตส.อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ขณะที่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็น สนช. เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558
"อนาคต" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึง "เสี่ยง"
เส้นทางของ นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คืออะไร
1 คือ ความเมตตาปรานีจาก คสช.จากรัฐบาล ขณะเดียวกัน 1 คือ ความเมตตาปรานีของ สนช.สายทหาร ตำรวจและข้าราชการ
คือ ความเป็นธรรมอันมาจาก "ความเมตตา"