ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558
หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
มติชนสุดสัปดาห์ 16-22 มกราคม 2558
นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่สูญหายไปจากโลก
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สูญหายไปจากโลก
นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังคงอยู่ อดีตผู้นำหลายคนแม้เสียชีวิตไป ก็ยังมีชื่อ มีผลงาน มีความดีความเลวให้คนรุ่นหลังได้จดจำ และวิพากษ์วิจารณ์ บางคนมีข้อตำหนิ บางคนได้รับคำชม แต่มีบางคนอยู่ในใจของผู้คนอย่างยาวนาน ยังมีคำกล่าวขานถึงความดีแม้ยามหมดอำนาจ ทุกคนที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะผู้ปกครองและบริหารประเทศ จะมีผลงานปรากฏออกมาทั้งด้านที่คนชื่นชม และไม่พอใจ (แม้ในเรื่องเดียวกัน)
แต่ความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้ ขยายไปถึงขั้น...มีความเห็นต่างกัน ต้องบรรลัย ตายไปเสียข้างหนึ่ง ถึงจะดี...การที่คนบางกลุ่มอยากเห็นบางคนสูญหายไปจากโลก จึงเกิดขึ้น และถ้ายังคงอยู่ก็จะต้องตามล่าตามล้างกันต่อไป แต่ผลที่ตามมาคือ สถานการณ์แบบ 10 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548-2557
ตอนนี้ก็รู้แล้วว่า เพราะชาวบ้านนี่แหละทำให้มันไม่ง่ายอย่างที่คิด
สูตรเดิมของการทำรัฐประหาร2549โดยหวังจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ มีคนตัดสินใจทำแบบง่ายๆ เพราะคิดว่าปีเดียวปัญหาก็จบ โดยเดินตามแผนบันได 4 ขั้นคือ
ขั้นที่ 1 รัฐประหารโค่นทักษิณยึดอำนาจรัฐไว้ ผลักดันทักษิณให้ออกนอกประเทศ
ขั้นที่ 2 ยึดทรัพย์ทักษิณเพื่อตัดกำลังเงินและดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ทักษิณกลับมาเล่นการเมือง
ขั้นที่3ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามกรรมการบริหารและนักการเมืองเล่นการเมือง 5 ปี เพื่อตัดกำลังคน และสลายองค์กร รอรับนักการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว
ขั้นที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่ ทำให้ชนะ แปลงกายเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
แต่แนวทางที่เดิน กลับสร้างปัญหามากมายให้กับตนเองและประเทศ
เมื่อแผนแรกพลาด ก็ใช้แผนสองแก้ ยิ่งผิด ยิ่งแก้ ความขัดแย้งยิ่งขยาย ก็ใช้แผนสามแก้อีก ทุกแผนล้วนเป็นแนวทางเดิม
ปี 2551 กลุ่มอำนาจเก่าใช้ม็อบกดดันอีกครั้ง คราวนี้ถึงกับยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรคพลังประชาชน ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร หลังจากนั้นปีกว่าก็ถูกแก้เกมด้วยม็อบเสื้อแดงขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจบลงด้วยความตาย และรอยร้าวก็กลายเป็นความแตกแยก แต่ก็หนีการเลือกตั้งไม่พ้น
ปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะ ได้ยิ่งลักษณ์ น้องสาวนายกฯ ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตำนานการโค่นนายกฯ ยิ่งลักษณ์...
ยากลำบาก และยืดเยื้อยาวนาน
คล้ายหนังเรื่องเก่าสร้างใหม่ คือใช้ม็อบเขย่ารัฐบาลและตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ ทุกแผนล้วนเป็นแนวทางเดิม
ขั้นที่ 1 กดดันด้วยม็อบ ปี 2556 กลุ่มอำนาจเก่ายังพยายามใช้ม็อบกดดันรัฐบาล เริ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยม็อบแช่แข็งจากนั้นก็มีม็อบตากแห้ง กองทัพประชาชน และสารพัดม็อบ
ถ้าจะให้จำชื่อกลุ่มต่างๆ ที่มาร่วมกดดันรัฐบาลคงไม่มีใครจำได้หมด เพราะเปลี่ยนชื่อแยกกลุ่ม ย้ายกลุ่ม เปิดหน้ากากใส่หน้ากาก
หลังการเลือกผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มที่อยากโค่นรัฐบาลก็รู้ว่า กำลังสนับสนุนที่เลือกข้าง มีมากพอเมื่อโอกาสเปิดตอน พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย ก็ถูกระดมออกมา มีหลายช่วงเวลาที่มวลชนออกมามากจนแกนนำ กปปส. คิดอยากจะยึดอำนาจด้วยตนเองจริงๆ
แกนนำบางคนที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลัง รีบโดดขึ้นเวที เพราะคิดว่าอีกไม่เกิน 3 วัน ชนะแน่นอน
แต่เป้าหมายของมวลชนส่วนใหญ่คือคัดค้านการนิรโทษกรรมสุดซอย พอเปลี่ยนไปไล่รัฐบาล คนน้อยก็ลง และโดนแก้เกมด้วยการยุบสภา
9 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาผู้แทนราษฎร และเป็นนายกฯ รักษาการ
ขั้นที่ 2 ห้ามมีเลือกตั้งใหม่ เพราะถ้ายอมให้มีเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญก็แพ้ยิ่งลักษณ์ แน่นอนวันนั้นคนจำได้ว่า เธอลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของเพื่อไทย แต่จำไม่ได้แล้วว่า พรรคเพื่อไทย เบอร์ 15 จำได้แต่ว่า ปชป. บอยคอต ไม่ลงเลือกตั้ง มีการปิดล้อมสถานที่รับสมัคร และหน่วยเลือกตั้ง มีการปะทะ มีคนตาย มีตำรวจเตะระเบิด
ผลคือทำให้บางหน่วยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ 20.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 48 แต่...
21 มีนาคม พ.ศ.2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียว (สมัยนายกฯ ทักษิณ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็แผนนี้ บอยคอต แล้วก็ล้มการเลือกตั้ง แถม กกต. ติดคุก แต่ก็ไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะรัฐประหารก่อน)
แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ยังเป็นนายกฯ รักษาการอยู่เหมือนเดิม
ส่วนม็อบ กปปส. เมื่อไปขัดขวางการเลือกตั้งใหม่ คนยิ่งน้อยลงไปอีก
สุดท้ายก็คิดจะจบด้วยการปิดกรุงเทพฯ ปิดถนน ปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ เลียนแบบกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดสนามบิน
แต่ปฏิบัติการ Shut Down ดูเหมือนจะปิดฝ่ายตนเองไปด้วย จากวันที่คนสนับสนุนมากมาย หันไปสำรวจอีกครั้ง ก็พบว่าคนที่แขวนนกหวีดเหลือน้อยมากแล้ว การยึดอำนาจด้วยตนเองคงเป็นไปไม่ได้
ขั้นที่3กลับมาใช้แผนเดิม ตุลาการภิวัฒน์ ต้องใช้องค์กรอิสระ, วุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญทำการปลดนายกรัฐมนตรีหรือปลด ครม. ทั้งคณะ เช่น เรื่องการย้ายเลขาฯ สมช. เพื่อให้เกิดช่องว่างในอำนาจการบริหาร ขณะที่อำนาจนิติบัญญัติ มีการยุบสภาผู้แทนฯ เหลือเพียงวุฒิสภาซึ่งยังมีอำนาจในการถอดถอนนายกฯ หรือประธานรัฐสภา
7 มีนาคม ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
10 มีนาคม ส.ว.สรรหา นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ สืบเนื่องจากการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ฝ่ายตรงข้ามปรึกษากันแล้วว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้ยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ
ที่จริงยิ่งลักษณ์ถูกแซะจากตำแหน่งนายกฯ มาหลายรอบ โดยฝ่ายตรงข้าม หวังจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง เผื่อจะมีโอกาสตั้งนายกฯ ม.7
คดีเดิม ที่คาราคาซังอยู่ คือ ป.ป.ช. กำลังจะชี้มูลว่านายกฯ ผิดในคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่เรื่องนี้นายกฯ ก็แค่หยุดปฏิบัติหน้าที่ รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งก็สามารถมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้
แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯเพราะคดีย้ายถวิลอาจทำให้ ครม. ทั้งคณะต้องพ้นไปด้วย ก็จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ตามที่ กปปส. ต้องการ ส่วนการถอดถอน โอกาสที่จะสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 ของ ส.ว. ทั้งหมด
แผนใช้ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ...ชิง รัฏฐาธิปัตย์ จึงเห็นผลเร็วกว่า คือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องวินิจฉัยสถานภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถ้าสำเร็จ จะเปิดทางให้มีนายกฯ คนกลาง ซึ่งจะต้องให้ประธานวุฒิสภาจะเป็นคนนำชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะปลด นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มาทำหน้าที่แทน จึงมีการยื่นเรื่องถอดถอนนายนิคม กับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ข้อหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ให้มาจากเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเรื่องยืดยาวมาจนถึงทุกวันนี้
2 เมษายน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญรับลูกทันทีมีมติเอกฉันท์รับคำร้องให้นายกฯ ยื่นแก้ต่างภายใน 15 วัน
5 เมษายน กลุ่มที่วางแผนคาดว่านายกฯ ถูกปลดแน่ จึงสรุปว่า...จะเกิดช่องว่างของอำนาจรัฐ กปปส. ที่ขณะนั้นดูเข้มแข็งที่สุด ลุงกำนันประกาศต่อม็อบว่าจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งสภานิติบัญญัติของประชาชน จะออกกฎหมายยึดทรัพย์ จับกุมลงโทษ ฯลฯ ปฏิรูปการเมืองการปกครอง จากนั้นมีการนัดมวลชน กปปส. มาชุมนุมใหญ่หลังสงกรานต์ ในช่วงที่ศาลและองค์กรอิสระจะมีการชี้มูลความผิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ครม.
ส่วนชื่อนายกฯ ม.7 ก็ถูกเผยมาหลายชื่อ แต่ไม่มีใครกล้าและยอมรับอย่างเปิดเผยว่าจะเป็นนายกฯ ด้วยวิธีพิเศษ
เหตุผลสำคัญที่หลายคนไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ เพราะรู้ว่าไม่เพียงสีเหลือง สีแดง สีฟ้าจะเป็นปัญหา แต่สีเขียวก็ไม่แสดงท่าทีสนับสนุน ไม่สนับสนุน แม้แต่ชื่อเดียว ใครกันแน่ที่จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์
จากม็อบแช่แข็ง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงการปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส. ประมาณ 15 เดือน ทำไมผู้หญิงที่หลายคนกล่าวหาว่า ไม่รู้เรื่องการเมือง จึงยืนอยู่ได้ และกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด
ฉบับหน้าจะกล่าวถึง...ความกลัวของหมาป่า ต่อแม่แกะ ...จนต้องมีการกำจัด ถอดถอน ห้ามลงสนามแข่งขัน ในแผนขั้นที่ 4 และขั้นที่ 5