วันจันทร์, ธันวาคม 15, 2557

คลิปงานเปิดตัวหนังสือ – Book launch "โจนาทาน ลิฟวิงสตัน:นางนวล ฉบับสมบูรณ์ ภาค 4 ค้นพบใหม่ + "บินสู่อิสรภาพ....แด่ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" ทุกท่าน


https://www.youtube.com/watch?v=Br_iQcZHgT8

เสวนาโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล ภาพตัวแทนผู้แสวงหาเสรีภาพ



Sat, 2014-12-13 23:06
ที่มา ประชาไท

เสวนาเปิดตัวหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล (ภาคจบ) วิทยากรชี้เป็นวรรณกรรมติดปีกให้คนหนุ่มสาวผู้ใฝ่หาเสรีภาพและสิ่งใหม่ พร้อมสะท้อนภาพสังคมเผด็จการ ที่สั่งสอนให้คนทำตามกัน

12 ธ.ค. 2557 ที่สำนักหอสมุดปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลจาก Jonathan Livingston : Seagull ต้นฉบับของริชาร์ด บาก (Richard Bach) จัดโดยสำนักพิมพ์จินต์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์ โดยภายในงานเสวนาครั้งนี้มีผู้สนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน

“แม่ ฉันไม่กลัวที่จะเหลือแต่กระดูกและขน ฉันเพียงแต่อยากรู้ว่า เมื่อฉันอยู่ในอากาศ ฉันจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ฉันเพียงแต่อยากรู้เท่านั้นเอง” ส่วนหนึ่งจากหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

ชาญวิทย์ เริ่มต้นด้วยเล่าถึงเหตุผลที่เลือกแปลหนังสือเรื่อง โจนาธานฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2515 ว่าเป็นเพราะ ในช่วงนั้นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในสังคมอเมริกัน และในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการที่คนหนุ่มสาวในอเมริกาออกมาต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของโจนาธานฯ คือการทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคแสวงหา หรือยุคบุพพาชน เป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวลุกคนมาตั้งคำถามต่อระบบระเบียบเดิมหลายๆ สิ่ง ทั้งวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรม แล้วแสวงหาสิ่งใหม่ในแนวทางของตนเอง

โจนาธานฯ เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิเสธสิ่งเก่า ประเพณี และความเชื่อโบราณที่คร่ำครึ แล้วต้องการแสวงหาสิ่งใหม่ หรือต้องการที่จะบินในเส้นทางของตัวเอง ฉะนั้นความรู้สึกของการแสวงการบินค้นพบอะไรบางในตัวของเราเอง โจนาธานฯจึงถูกหยิบยกออกมาพิมพ์ หรือพูดถึงกันในหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ผู้คนถูกกดทับให้อยู่ภายในกรอบ หรือระเบียบของสังคม

ชาญวิทย์ได้กล่าวต่อไปว่า การจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้เนื่องมาจากได้มีการค้นพบต้นฉบับที่ผู้เขียนได้เขียนภาคจบไว้ แล้วได้รับมาตีพิมพ์ โดยเนื้อหาในส่วนที่ได้ตีพิมพ์เมเข้ามาใหม่ได้สะท้อนถึงการทำให้โจนาธาน กลายเป็นสถาบัน ถูกทำให้เป็นเทพ หรือลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ

ด้านประจักษ์ ก้องกีรติ เริ่มต้นด้วยการหยิบยกประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่องโจนาธานฯ ซึ่งเป็นช่วงที่โจนาธานเริ่มออกบินในวิถีทางของตน แล้วถูกนกผู้ใหญ่เรียกมาตักเตือนว่า “คุณจะทำแบบนี้ทำไม เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อหากิน และพยายามมีชีวิตให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้” ซึ่งนั่นเป็นประโยคที่ส่งผลให้ผู้อ่านเริ่มตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต โจนาธานจึงเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวที่เริ่มตั้งคำถามกับชีวิต และสังคม ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกรอบของกาลเวลา ทว่าเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย

“โจนาธานทำให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตที่แหกคอก ผมสรุปได้อย่างนี้ เพราะถึงที่สุดถ้าคุณไม่แหกคอก คุณจะมีวันได้เจออะไร และคุณจะไม่มีวันรู่ว่าคอกที่คุณอาศัยอยู่มันใหญ่โตและแน่นหนาขนาดไหน จนเมื่อเดินออกไปแล้วถึงจะหันกลับมามองได้” ประจักษ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ประจักษ์ ได้เล่าถึงเรื่องของพ่อ Malala Yousafzai หญิงสาวผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีนี้ ซึ่งได้ตอบคำถามของนักข่าวว่า สอนลูกสาวอย่างไรถึงได้มีจิตที่ใฝ่หาเสรีภาพ และต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กทุกคน ซึ่งพ่อของ Malala ได้ตอบคำถามของนักข่าวไปว่า “อย่าถามว่าผมทำอะไรให้กับเธอ ให้ถามผมว่าไม่ได้ให้กับเธอ สิ่งที่ผมไม่ได้ทำกับเธอคือ ผมไม่ได้เด็ดปีกของเธอ” ซึ่งเป็นประโยคที่สะท้อนถึงการที่มนุษย์ทุกคนโตมาพร้อมกับปีกติดอยู่กับหลัง ซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ระบบการศึกษา และสังคมที่เด็กคนหนึ่งโตเติบมาว่า ได้หล่อเลี้ยงให้ปีกนั้นเติบโตและงอกงามหรือไม่ ถ้าเปิดให้มีเสรีภาพ ให้ปีกนั้นงอกงามได้ เด็กก็จะบินได้ สามารถที่ค้นหาแนวทางของตัวเอง ทว่าเมื่อย้อนมามองสังคมไทยกลับเป็นสังคมที่เด็ดปีกของมนุษย์ตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะเติบโตมาด้วยสูตรสำเร็จแบบเดียวกัน ที่ถูกกำหนดพ่อแม่ ระบบการศึกษา และรัฐ ซึ่งเป็นสังคมที่ต้องการทำให้คนเชื่อง ในแง่นี้สังคมไทยจึงไม่เอื้อให้มีคนอย่างโจนาธานได้ และการเป็นอย่างโจนาธานในสังคมไทยมีราคาที่ต้องจ่ายสูง เพราะหลายครั้งการไม่เชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด สุดท้ายแล้วนำไปสู่การกำจัดผู้ที่คิดต่าง

ด้านสุชาติ ได้กล่าวถึงนัยยะสำคัญทุกครั้งที่มีการพิมพ์ใหม่หนังสือเรื่องโจนาธาน และหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่ม และหากย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่มีการตีพิมพ์หนังสือโจนาธานฯ 4 ครั้งที่ผ่าน และรวมครั้งนี้ด้วยเป็นครั้งที่ 5 ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในยุคนั้นๆ ซึ่งเป็นยุคเผด็จการ ซึ่งโจนาธานก็ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ด้วยฐานขอความคับข้องใจที่มีต่อสภาพสังคม การเมืองการปกครองในยุคสมัยของตน เปรียบเหมือนกาติดปีกอีกหลังจากถูกเด็ดทิ้ง

สุชาติกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่โจนาธานฯ ตีพิมพ์ครั้งแรก และครั้งที่สอง ได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านั้นกลับยอมรับการรัฐประหารครั้งล่าสุดอย่างน่าแปลกใจว่า งานแปลของชาญวิทย์ เป็นงานประเภทจิตนิยม และพยายามสร้างตัวตนให้ผู้อ่านมีจิตวิญญาณอิสสระ เป็นพวกวีระชนเอกชน ซึ่งมีลักษณะเป็นปัจเจกนิยม และถึงที่สุดไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ทว่าสุชาติกลับไม่ได้มองว่าโจนาธานฯเป็นเช่นนั้น แต่กลับจุดเริ่มต้นของการนับหนึ่งของผู้แสวงหาเสียมากว่า ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น

ooo

"บินสู่อิสรภาพ....แด่ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" ทุกท่าน


โดย ลูกเสือหมายเลข9
ที่มา oknation.net

ยามเช้า ....

.....ดวงตะวันใหม่สดใสส่องแสงสีทองทอดทาบระลอกทะเลที่สงบเยือกเย็น เรือตกปลาลำหนึ่งจอดลอยอยู่ห่างจากชายฝั่งหนึ่งไมล์ ส่งสัญญาณให้อาหารนกกระจายขึ้นไปในอากาศ และแล้วฝูงนางนวลจำนวนพันก็โผบินเข้ามาแย่งอาหารกันกิน วันแห่งความสับสนอีกวันหนึ่งก็เริ่มขึ้น......

แต่ไกลออกไปจากชายฝั่งและเรือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล กำลังฝึกบินอยู่เดียวดาย

มันบินสูงขึ้นไปในท้องฟ้าหนึ่งร้อยฟุต ลดเท้าที่ติดกันลง เชิดปากขึ้น และกระชับปีกเข้าหากันเพื่อหักมุมเลี้ยวที่แสนยากเย็น เมื่อมันเลี้ยวโจนาธานก็บินได้ช้าลง และเมื่อมันบินช้าๆ สายลมก็พัดผ่านหน้าราวกับเสียงกระซิบ เบื้องล่างท้องทะเลดูสงบนิ่ง

โจนาธานหรี่ตาตั้งสติแน่วแน่กลั้นหายใจ แล้วก็บังคับให้ตัวหักมุมเลี้ยว….อีกหนึ่งนิ้วฟุต…

แต่แล้วขนของมันก็กระจุย มันชงักเสียหลักตกลงมา



นี่คือบทเริ่มต้น...ในหนังสือเรื่อง"โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล" แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบ...และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการคิดนอกกรอบ(ของใครหลายคน)


ความจริงแล้ว เรื่องของโจนาธาน ผมอ่านฉบับแปลโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนอ่านของอ.ชาญวิทย์ด้วยซ้ำ

หม่อมคึกฤทธิ์ใช้ชื่อหนังสือว่า "จอนะธัน ลิฟวิงสตัน นางนวล"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนคำนำว่า "...เมื่ออ่านแล้วเกิดความจับใจในธรรมะที่ได้แสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีทั้งมนุษยธรรมและธรรมอันเป็นความจริงแห่งชีวิตซึ่งตรงตามที่พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา และสรณะของผมได้ทรงแสดงไว้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วมากมายหลายอย่าง..."

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนต่อว่า "...คนที่ผมอยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้คือคนไทยทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตนักศึกษาและนักเรียน เพราะจะได้กำลังใจในอันที่จะเล่าเรียนและทำประโยชน์ต่อไปได้มาก สำหรับคนที่เคยได้เล่าเรียนวิชาจากผมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด และไม่ว่าจะมากหรือน้อย ผมขอถือโอกาสนี้ส่งข่าวมาให้ทราบว่า...

"ผมอยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน จะอ่านจากภาษาอังกฤษหรืออ่านจากคำแปลนี้ก็ได้ แต่ขอให้อ่านให้ได้ และในการอ่านนั้น ขอให้โปรดใช้ความคิดให้มากประกอบไปด้วย อย่าอ่านเพียงสักแต่ว่าผ่านสายตาไป นกนางนวลมันรักศิษย์ของมันฉันใด ผมก็รักพวกคุณทุกคนฉันนั้น"

".....สิ่งที่ทำให้ นางนวล โด่งดังขึ้นมาคงจะเป็นความง่ายของหนังสือเป็นประการแรก หนังสือเล่มนี้ง่ายในความหมายที่ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ่านได้สบายๆ ในขณะเดียวกันก็แฝงปรัชญาความคิดเอาไว้ด้วย ลักษณะของหนังสือเป็นเรื่องผสมผสานกันระหว่างความเก่าและความใหม่ ความใหม่ที่แทรกเข้ามาก็คือ ความทันสมัยและวิทยาศาสตร์ในรูปของ Science Fiction คือ เรื่องของการบินเร็วและสามารถจะ บินได้เร็วเท่าความคิด นอกเหนือไปจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประทับใจคนอ่านก็คือ อิสระเสรีภาพ คนอ่านไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมีอิสระที่จะตีความหนังสือเล่มนี้ได้ตามใจชอบดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยอะไรเลย ที่มีคนตีความว่าปรัชญาของนางนวล เป็นฮินดูบ้างเป็นพุทธศาสนาบ้าง เป็นคริสตศาสนานิกาย Christian Science บ้าง หรือแม้กระทั่งว่าเป็นปรัชญาเก๊ๆ ก็มี ..."

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ใน"คำตาม"

หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงโจนาธาน นกนางนวลที่ชอบ"แหกคอก" ด้วยการ"ฝึกบิน"

เพราะสำหรับนกนางนวลนั้น พวกมันบินเพื่อหาอาหาร

"ทำไมนะ จอน ทำไม" แม่ถามขึ้น "ทำไม่มันยากนักรึที่จะทำตัวให้เหมือนนกอื่นๆ ในฝูง หือ จอน ทำไมแกไม่ปล่อยให้การบินระดับต่ำเป็นเรื่องของนกเพลิแกน หรือนกอัลบาทรอส แล้วทำไมแกไม่กินซะบ้าง จอน แกน่ะเหลือแต่กระดูกและขน!"

"แม่ ฉันไม่กลัวที่จะเหลือแต่กระดูกและขนฉันเพียงแต่อยากรู้ว่าเมื่อฉันอยู่ในอากาศ ฉันจะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ ฉันเพียงแต่อยากรู้เท่านั้นเอง"

"นี่นะโจนาธาน" พ่อพูดขึ้นอย่างไม่ไร้ความปรานี "หน้าหนาวก็ไม่ไกลนัก แล้วเรือหาปลาเหลือไม่กี่ลำ และปลาผิวน้ำก็จะว่ายลงสู่น้ำลึก ถ้าแกจะต้องเรียนรู้ แกก็ต้องเรียนรู้เรื่องอาหาร และก็หาอาหารกินให้ได้ เรื่องการบินนี่นะดีอยู่หรอก แต่แกก็น่าจะรู้ว่าการบินการร่อนกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเหตุที่แกบินก็เพื่อเอาไว้หากิน"

โจนาธานพยักหน้ารับอย่างเชื่อฟัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ"ลับหลังพ่อและแม่...โจนาธานก็แหกคอก หลังจาก(พยายาม)ทำตัวเหมือนนกนางนวลตัวอื่นๆ นั่นคือส่งเสียงร้อง สู้ ร่อนลงแย่งเศษปลาและขนมปังกับฝูงนกที่ท่าน้ำและเรือตกปลา

โจนาธานคิดว่าการทำเช่นนั้น ไม่มีจุดหมาย บ่อยครั้งที่มันยอมทิ้งปลาแห้ง(ซึ่งหามาได้อย่างยากเย็น)ให้กับนกนางนวลแก่ๆที่หิวโหย

โจนาธานคิดว่ามันควรจะใช้เวลาทั้งหมดในการฝึกบิน เพราะมีอะไรมากมายที่จะต้องเรียนรู้

ไม่นานต่อมา โจนาธาน สามารถบินได้เร็วถึง 90 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นการทำลายสถิติความเร็วในหมู่นกนางนวล!!!

สิ่งที่โจนาธาน"เรียนรู้"หลังฝึกบินก็คือ นกนางนวลไม่บินยามค่ำและบินเร็ว เพราะหากเป็นเช่นนั้น ธรรมชาติก็จะต้องให้มีตาเหมือนนกฮูก และมีปีกสั้นเหมือนนกเหยี่ยว

แต่เมื่อต้องการเรียนรู้...โจนาธาน จึงทดลองทำ...ทุกอย่าง

จึงไม่น่าเชื่อว่า โจนาธานสามารถบินได้เร็วถึง 210 ไมล์ต่อชั่วโมง และขยับเป็น 214 ไมล์ต่อชั่วโมงในเวลาต่อมา!!!

สุดท้าย โจนาธานถูกขับออกจากฝูง...เพราะถือว่าเป็นการสร้าง"ความอับอาย"ในการเป็นนกนางนวล

"…สักวันหนึ่ง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล แกจะรู้ว่าการไร้ความรับผิดชอบไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตเป็นเรื่องลี้ลับ และจะเรียนรู้ไม่ได้ เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อกิน และพยายามมีชีวิตอยู่ให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้" นางนวลผู้เป็นใหญ่พูด

ต่อมา...โจนาธาน พบกับนางนวลฝูงใหม่

ซึ่งที่นี่ โจนาธาน พบกับ"เจียง" นางนวลเฒ่า ที่บอกโจนาธานด้วยความเมตตา "ว่าไงลูก..เธอกำลังเรียนรู้อีกแล้วนางนวลโจนาธาน"

รวมทั้งได้พบ นางนวลซัลลิแวน นางนวลเฟลทเชอร์ ลินด์ นางนวลเมย์นาร์ด นางนวลโลเวล นางนวลชาลส์-โรแลนด์

ทั้งหมดคือ"เพื่อน"...ในการเรียนรู้ของโจนาธาน

"กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ" บทสรุปของโจนาธาน

และผมถือว่าเป็นบทสรุปที่"สุดยอด" ...สำหรับการอ่านหนังสือเล่มนี้