วันจันทร์, ธันวาคม 15, 2557

รัฐธรรมนูญไทย :ทัศนะผู้อ่านไทยอีนิวส์


โดย “พลเมือง”


          ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้รับหน้าที่เป็นโต้โผใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และสิ่งหนึ่งที่ท่านบวรศักดิ์ได้โยนออกมาเพื่อให้สาธารณะได้รับทราบถึงจุดมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ “ต้องการได้คนดีมาปกครองประเทศ”  ซึ่งท่านก็คงคิดแบบนักปรัชญากรีกโบราณเช่นซอเครตีสที่เห็นว่า ถ้าได้ผู้ปกครองที่เป็นคนดี มีความเป็นธรรม ความยุติธรรมก็จะบังเกิดขึ้นกับประชาชน อันส่งผลต่อความสุขโดยรวมของประชาชนทั้งหลาย

          แต่ตามข้อเท็จจริง การหาคนดีมาปกครองนั้นในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก แม้แต่เพลโต้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของซอเครตีส ที่เคยเห็นด้วยกับแนวคิดผู้ปกครองคนดีหรือราชาปราชญ์ ก็ยังยอมรับในช่วงท้ายของชีวิตว่า “การแสวงหาคนดีมาปกครอง” นั้นเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ จึงปรับแนวคิดโดยอนุโลมให้มีการปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งอริสโตเติ้ลก็ได้นำเอาแนวคิดนี้มาต่อยอดและต่อมาแนวคิดนี้ก็ได้พัฒนาเป็นการปกครองโดยรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

          การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับที่มา ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แม้ท่านบวรศักดิ์จะอ้างพุทธวจนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องบัวสี่เหล่ามาอ้างแบบผิดๆ ในการสร้างความชอบธรรมของการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นต่างว่ามันเป็นผลที่เกิดจากต้นไม้พิษมากกว่า แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องขอแสดงความคิดเห็น เพราะอย่างน้อยเมื่อออกสู่สาธารณะก็จะได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญบ้างไม่มากก็น้อย ในการที่จะได้ทราบและเข้าใจระบบการปกครองโดยกฎหมายหรือระบอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

         มักจะมีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นผู้รู้ในเมืองไทยชอบอ้างอยู่เสมอว่า สังคมไทยไม่เหมือนที่ใดในโลก ฉะนั้นรูปแบบการปกครองของไทยก็ควรต้องเป็นแบบไทยๆ จะนำแบบตะวันตกมาใช้ไม่ได้ สำหรับเรื่องนี้ตงต้องถามกลับว่า จริงๆแล้วเราไม่เคยรับรูปแบบวัฒนธรรมการปกครองจากที่อื่นมาเลยจริงหรือไม่ คำตอบก็คงเป็นว่า “ไม่จริง” เพราะไทยเราได้รับทั้งวัฒนธรรมและการปกครองมาจากทั้งจีนและอินเดียมาตั้งแต่โบราณกาล ถ้าไม่อย่างนั้นบ้านเราก็คงยังนับถือผีสางนางไม้ตามแบบสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มประเทศอุษาคเนย์ทั้งหลาย และไม่ว่าระบบศักดินาและระบบอุปถัมภ์นั้นประเทศไทยเราก็ล้วนได้มาจากผลการรับอิทธิพลการปกครองจากทั้งจีนและอินเดียนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ตามที่ท่านบวรศักดิ์ฯกล่าวอย่างเข้าใจผิดว่า “ระบบอุปถัมภ์มาจากตัวพ่อระบบประชานิยม”

          เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยเราก็เป็นสังคมที่พัฒนาการเมืองการปกครองจากภายนอกมาโดยตลอด เช่นเดียวกับประเทศในอุษาคเนย์ทั้งหลาย ฉะนั้นการกล่าวว่าสังคมไทยไม่เหมือนที่ใดในโลกก็ไม่เป็นความจริง แต่ที่เป็นความจริงก็คือโครงสร้างทางสังคมศักดินาของเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามสังคมโลกต่างหาก ดังนั้นจึงทำให้ระบบอุปถัมภ์จึงยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ในสังคมไทยตราบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับอาจารย์ ดร.เกษียรฯที่กล่าวว่า “ระบบศักดินาคือตัวพ่อของระบบอุปถัมภ์” เพราะด้วยระบบเหล่านี้แหละ ที่ทำให้ท่านบวรศักดิ์สามารถเป็นกูรูของประเทศไทยได้ในปัจจุบัน

          ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่า สังคมไทยเราสามารถเปลี่ยนแปลงตามสังคมวัฒนธรรมและรูปแบบทางการเมืองแบบสากลได้ เพียงแต่โครงสร้างทางสังคมศักดินาของเราต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง หากจะหาสาเหตุความคงอยู่ของสังคมศักดินาเราว่าเพราะเหตุใด คงจะกล่าวได้ว่าความแข็งแกร่งนี้เป็นผลจากการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านได้สร้างรัฐรวมศูนย์ขึ้นจากเดิมที่เป็นรัฐจารีตหรือรัฐอิสระหลายๆรัฐ และรวมตัวกันแบบหลวมๆเป็นฝ่ายฟ้า และเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ เมื่อ พ.ศ. 2475 ก็ยังคงเป็นรัฐรวมศูนย์เช่นเดิมทำให้สังคมศักดินาก็ยังคงอยู่ตราบถึงปัจจุบัน

         ในการสร้างรัฐของสหรัฐอเมริกานั้นได้เริ่มจากการยึดรูปแบบรัฐเป็นแบบสหพันธรัฐหรือรัฐรวม ซึ่งต่อมา ต๊อก กะ วิลล์ นักปราญช์ชาวฝรั่งเศสได้เข้าไปศึกษาประชาธิปไตยในอเมริกาพบว่า ความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกานั้นเกิดจากความแข็งแกร่งของรัฐบาลท้องถิ่น  ซึ่งก็สอดคล้องกับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายในปัจจุบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มแข็งทั้งสิ้น แม้แต่ประเทศประชาธิปไตยในเอเชียอาคเนย์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประชาธิปไตยในปัจจุบันเช่นอินโดนีเซียซึ่งก็มีระบบท้องถิ่นที่เข้มแข็งเช่นกัน

          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเรื่องนี้ท่าน ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ได้โยนคำถามออกมาสู่สาธารณะแล้วว่า เราจะเลือกปกครองแบบไหน ซึ่งคำตอบก็คงจะไม่หนีระบอบประชาธิปไตย ซึ่งท่าน ดร.ลิขิตก็ถามแบบดักทางอีกว่า “เป็นประชาธิปไตยแบบไหน แบบสากลหรือไม่” ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนคงไม่กล่าวถึงว่าผู้ร่างจะร่างออกมาแบบไหน เพราะคำตอบท่าน ดร.ลิขิตสรุปแล้วว่า “คงเป็นแบบผู้ชนะต้องการ” 

          แต่ผู้เขียนคงยืนยันว่าต้องเป็นแบบสากล และเชื่อว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาประชาธิปไตยแบบสากลประเทศได้ตามข้อสนับสนุนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นต่อสังคมไทย ก็เชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้คงต้องเลือกระบอบประชาธิปไตย อันก็คงเป็นที่ยอมรับว่าเชื่อในระบบเสียงข้างมาก แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยนั้นกลัวและระแวงเสียงข้างมาก ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในอดีตนั้นก็กลัวและระแวงเสียงข้างมากเช่นเดียวกัน ถึงกับกลัวว่าอิทธิพลของเสียงข้างมากนั้นจะกลายเป็น”เผด็จการเสียงข้างมาก” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจึงต้องสร้างระบบป้องกันเสียงข้างมากไว้ ไม่ว่าการเข้าสู่อำนาจ หรือ”ระบบเลือกตั้งแบบอเมริกัน”หรือที่เรียกกันว่า “ระบบอิเลคทอรัล” และการคานดุลย์อำนาจเสียงข้างมากด้วยระบบ”ทบทวนโดยตุลาการ”หรือเรียกอีกอย่างว่า”ตุลาการภิวัฒน์”นั่นเอง

          เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากการระแวงเสียงข้างมากและการต้องการให้เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อยนั่นเอง เห็นไหมครับสังคมไทยเราก็ไม่ต่างจากสังคมอเมริกัน เพียงแต่เขาพบและคิดระบบป้องกันก่อนเราเกือบสองร้อยปีเท่านั้นเอง และที่สำคัญสังคมของเขาเห็นและร่วมกันที่จะป้องกันด้วยกัน

          กล่าวโดยสรุป ปัญหาสำคัญของเราคือการเป็นรัฐรวมศูนย์ อันทำให้เกิดอำนาจซ้อนอำนาจโดยเฉพาะเป็นรัฐข้าราชการ อันส่งผลให้เกิด”วงจรอุบาทก์” มาโดยตลอด ผู้เขียนเห็นว่าการแบ่งการปกครองเป็นมณฑลแบบพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 และให้เกิดระบบท้องถิ่นที่แข็งแกร่งขึ้น ก็จะเป็นการตัดวงจรอุบาทก์ได้ และที่สำคัญสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว ปัจจุบันสังคมไทยถือได้ว่าเป็นพหุสังคม เป็นสังคมที่มีหลายขั้วอำนาจ ฉะนั้นต้องยอมรับว่าการขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังที่นักปราชญ์มาคิอาเวลลี่เคยกล่าวไว้ในอดีต

          สังคมไทยปัจจุบันเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะคิดแบบท่านปนัดดา (ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่กล่าวว่าให้คิดเหมือนกัน และหากคิดต่างกันเป็นพวกหนักแผ่นดิน ซึ่งเราต้องคิดต่างกันได้และยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน และถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งนั่นก็คือการยอมรับเสียงข้างมากและไม่ละเลยเสียงข้างน้อยนั่นเอง

          ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างหลักการที่ประชาชนยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครอง การสร้างระบบแบ่งแยกอำนาจ ระบบตรวจสอบและคานอำนาจ และที่มาของอำนาจต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและยึดหลักสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกก็เกิดจากชนชั้นนำทั้งนั้น เพียงแต่ชนนั้นนำในต่างประเทศเขาให้ประชาชนของเขามีส่วนร่วม และชนชั้นนำของเขาเห็นแก่ประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้คุณศักดิภัท เชาว์ลักษณ์สกุล ผู้อ่านท่านหนึ่งกรุณาส่งมาให้เผยแพร่ ส่วนภาพประกอบต่างๆ กองบรรณาธิการไทยอีนิวส์เป็นผู้จัดเสริม