มองการเมืองไทยผ่านกรัมชี่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนออนไลน์
ดังนั้น อำนาจส่วนที่สองจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการครอบงำ นั่นคือ "อำนาจนำ" (hegemony) ซึ่งก็คือฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับอำนาจครอบงำซึ่งรัฐต่างๆ ยึดกุมอยู่ รัฐที่อ่อนแอมีแต่อำนาจครอบงำ ในขณะที่รัฐแข็งแกร่งแทบไม่ใช้อำนาจครอบงำเลย หากใช้แต่อำนาจนำเท่านั้นในการปกครอง เพราะอำนาจนำของรัฐเช่นนั้นมีพลังไพศาลจนเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งสังคม การจลาจลหรือการแข็งข้อของคนบางกลุ่มบางเหล่าในสังคม จึงแทบไม่กระทบต่ออำนาจปกครองของรัฐเลย ไม่พักต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งย่อมเปิดกว้างแก่ทุกคน
ในแง่นี้จะพูดว่าอำนาจนำมีความสำคัญกว่าอำนาจครอบงำก็ได้เพราะในรัฐเช่นนั้นอำนาจนำย่อมแข็งแกร่งเสียจนยากที่ใครจะสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาแข่งอย่างได้ผลอย่างไรก็ตาม ในช่วงจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์บางอย่าง บาง "ชนชั้น" (ซึ่งไม่ได้มีความหมายในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสำนึกทางปัญญาและศีลธรรมที่เหมือนกัน หรือสำนึกใน "วัฒนธรรม" เดียวกันด้วย) ก็อาจประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาแข่ง จนทำให้การยอมรับของผู้คนต่ออำนาจครอบงำของรัฐซึ่งมีอยู่สั่นคลอนไป
อำนาจนำไม่ว่าจะเป็นของ "ชนชั้น" ใด ไม่เคยเป็นระบบปิด หรือระบบความคิดและวัฒนธรรมที่หยุดนิ่งไม่ยอมขยับเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด หากสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามสำนึกใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคม เช่น การยอมรับสิทธิคนผิวสี, การยอมรับสิทธิเสมอภาคของสตรีและ LGBT ฯลฯ เพราะการยอมรับเช่นนี้ไม่ได้ทำให้หลักสำคัญของอำนาจนำสั่นคลอนลงแต่อย่างไร... คนดำ, ผู้หญิงและกะเทยก็ยังล้วนเป็นสินค้าในตลาดไม่ใช่หรือ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ อำนาจนำใดๆ ที่พยายามเป็นระบบปิด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าอำนาจนำนั้นอยู่สภาวะอ่อนแอจนจะไปไม่รอดอยู่แล้ว
(เกือบทุกคนคงรู้แล้วว่านี่คืออันโตนิโอกรัมชี่แบบง่ายและตื้นกว่าของจริงเป็นสองเท่าสติปัญญาของผมอนุญาตให้เข้าใจกรัมชี่ได้อย่างง่ายและตื้นเท่านี้นี่เป็นเท่าที่หนึ่ง ผมตั้งใจเขียนให้ง่ายและตื้นลงไปกว่าความเข้าใจของตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านทั่วไป นับเป็นเท่าที่สอง)
ผมคิดว่า หากมองรัฐไทยและสังคมไทยในช่วงจังหวะทางประวัติศาสตร์ขณะนี้ จากทรรศนะของกรัมชี่ ก็จะเกิดความเข้าใจอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าวิตกห่วงใยอยู่มาก พร้อมกับเกิดความหวังใหม่อีกบางอย่างไปพร้อมกัน จึงขอแบ่งปันทั้งความเศร้าและความสุขแก่ผู้อ่าน
เห็นได้ชัดนะครับว่า รัฐที่ถูก คสช.ยึดเอาไปนั้น ในขณะนี้เหลือแต่เพียงอำนาจครอบงำเท่านั้น นับตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจได้ คสช.ก็ใช้อำนาจของกลไกรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ เพื่อบีบบังคับให้ทุกฝ่ายต้องสยบยอมให้หมด บางครั้งยกกองกำลังและอาวุธยุทธภัณฑ์จำนวนมากอย่างน่าตกใจ เพื่อขับไล่ฝูงชนที่ปราศจากอาวุธซึ่งออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร แม้ประท้วงโดยสัญลักษณ์ของคนจำนวนน้อย ก็ยังต้องใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นร้อยเพื่อจับกุม การเรียกคนไป "ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหารยังทำต่อไปจนถึงทุกวันนี้
แม้กระนั้นการประท้วงในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ว่าบุคคลจะคิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อสื่อสารกันเองในสังคม ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดมา แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่อาศัยอำนาจครอบงำเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสยบคนในสังคมลงได้
ไม่ใช่ว่า คสช.จะไม่มีสำนึกถึงความสำคัญของอำนาจนำเสียเลย หัวหน้า คสช.ได้เสนอค่านิยม 12 ประการมาตั้งแต่ยึดอำนาจระยะแรกๆ แล้ว กลไกของรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ, องค์กรปกครองทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น, และสื่อต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ก็พยายามเผยแพร่ค่านิยมนี้ในหมู่ประชาชน แต่หากดูจากปฏิกิริยาตอบรับของสังคมต่อค่านิยม 12 ประการ ก็จำเป็นต้องกล่าวว่า คสช.ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงที่จะสถาปนาอำนาจนำขึ้นในสังคมได้สำเร็จ
วิธีการสถาปนาอำนาจนำของทหารเป็นวิธีการที่ไม่มีความหวังใดๆว่าจะสำเร็จด้วยเพราะใช้แต่อำนาจครอบงำเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว การใช้ ม.112 อย่างพร่ำเพรื่อและรุนแรง เท่ากับไปยกศัตรูของ คสช.ให้กลายเป็นศัตรูของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย การจับกุมหรือเรียกตัวผู้คนมาปรับทัศนคติตามอำนาจในกฎอัยการศึก แม้ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า คสช.ไม่มีอำนาจนำอยู่ในมือเอาเลย แม้แต่จะยึดกุมฐานคติของอำนาจนำเก่ายังทำไม่ได้อีกด้วย
ผมไม่คิดว่า ทั้งนี้เพราะผู้นำของ คสช.ล้วนเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนนายร้อย, นายเรือ และนายเรืออากาศ จึงทำให้ไม่มีความสามารถจะสถาปนาอำนาจนำได้ ผมได้รู้จักกับนักเรียนเก่าของเวสต์ปอยท์จำนวนหนึ่งเมื่อสมัยไปเรียนในสหรัฐ ก็พบว่าความสามารถของพวกเขาไม่ใช่การสถาปนาอำนาจนำแน่ แต่พวกเขาโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในสังคมที่คาดหวังให้พวกเขาเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรกับอำนาจนำ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นใหม่หรือปรับเปลี่ยนของเก่าให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง
คำถามก็คือ ในรัฐที่ขาดอำนาจนำเช่นประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีทางเลือกอะไรในการที่ผู้ปกครองจะยึดรัฐต่อไปได้
กรัมชี่พบว่า ความเป็นไปได้ในประวัติศาสตร์ (ยุโรป) มีอยู่สามอย่าง หนึ่งคือการใช้กำลังกลไกของรัฐปราบปราม "ชนชั้น" อื่นๆ ที่ไม่ยอมรับอำนาจครอบงำอย่างเด็ดขาด ดังเช่นรัสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์ สองคือการปฏิรูป (transformisto) เพื่อแย่งพื้นที่จาก "ชนชั้น" ก้าวหน้าทั้งหลาย ที่มีศักยภาพจะสร้างอำนาจนำใหม่ ในขณะเดียวกันก็สร้างอำนาจรัฐให้ครอบงำสังคมจนหมดตัว ในสภาพเช่นนี้กลุ่มคนระดับล่างก็หมดทางจะต่อรองกับรัฐ เพราะผู้นำของตนถูกผนวกเข้าไปกับรัฐ หรือกลายเป็นสมาชิก สนช.และ สปช.หมดแล้ว ตัวอย่างในประวัติศาสตร์คืออิตาลีหลังรวมประเทศได้จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างที่สามน่าสนใจมากคือการสร้างระบบอำนาจนำปลอมขึ้น นั่นคือผู้ปกครองรัฐทำตัวประหนึ่งว่าเป็นตัวแทนของบาง "ชนชั้น" ใด "ชนชั้น" หนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็น เพื่อทำให้เกิดภาพพจน์ของอำนาจนำ ดังเช่นนโปเลียน ซึ่งเถลิงอำนาจของตนขึ้นประหนึ่งว่าเป็นแชมเปี้ยนความใฝ่ฝันของกระฎุมพี ซึ่งเคยนำการปฏิวัติฝรั่งเศสมาก่อน
ผมคิดว่าวิธีแบบพระเจ้าซาร์ใช้ไม่ได้ผลเสียแล้วในประเทศไทยปัจจุบันสถานะของไทยในประชาคมโลกไม่อนุญาต(เทียบกับพม่าภายใต้เนวินและสลอร์คไม่ได้)อีกทั้งยิ่งจะนำไปสู่การปะทะกันโดยตรงมากขึ้น ดังกรณีการสังหารหมู่ในปี 2553 กลับทำให้การเผชิญหน้ากับมวลชนในเมืองตึงเครียดมากขึ้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา 2519
ผมอยากจะเดาด้วยว่า คสช.เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี นับตั้งแต่แรกจนถึงนาทีนี้ คสช.พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงแบบนองเลือดตลอดมา
ดูเหมือนวิธีปฏิรูป เป็นวิธีที่ คสช.เลือกใช้ แต่ผมอยากเดาว่าไม่ได้ผลอย่างที่พรรคการเมืองในอิตาลีใช้เมื่อรวมประเทศได้ เหตุผลก็เพราะ คสช.ไม่สามารถขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ข้ามไปยังกลุ่มที่กำลังพยายามสถาปนาอำนาจนำทางเลือกให้ทั่วถึง ดังที่กล่าวกันว่ามีคนตกรถไฟ คสช.จำนวนมาก ทั้งจากสลิ่มและสีแดง เรื่องนี้กรัมชี่พูดถึงการสร้างแนวร่วมของพรรคการเมืองทั้งปฏิรูปและปฏิวัติไว้มาก ซึ่งผมขอไม่กล่าวถึง ขอสรุปสั้นๆ แต่ว่า คสช.ไม่มีทั้งสมรรถนะและเจตนาที่จะทำอย่างนั้น เหตุดังนั้นเส้นทางปฏิรูปของ คสช.จึงไม่มีทางนำไปสู่รัฐที่ขาดอำนาจนำ แต่มั่นคงพอสมควรดังเช่นอิตาลีในช่วงนั้นอย่างแน่นอน
ส่วนการสร้างอำนาจนำปลอม ซึ่ง คสช.พอทำได้โดยขึ้นมาเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน หาก คสช.ตั้งใจจะทำอย่างนี้ ผมก็อยากบอกว่าคงไม่สำเร็จเสียแล้ว หากดูคำวิจารณ์ของท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อเร็วๆ นี้ หรือแม้คำวิจารณ์ของรองประธานองค์กรธุรกิจเอกชนอะไรอีกสักอย่างหนึ่งก่อนหน้านั้น ในยามที่การแข่งขันมีสูงขึ้นจากโลกาภิวัตน์ นายทุนไทยหวังเอาตัวรอดจากการขูดรีดแรงงานและภาวะปลอดคอร์รัปชั่น ซึ่งผมเชื่อว่า คสช.ให้ไม่ได้ทั้งสองอย่าง (อย่างน้อยก็ให้ไม่ได้จนถึงนาทีนี้)
ท่ามกลางทางเลือกที่ไม่มีให้เลือกเช่นนี้ เมื่อสถานการณ์ที่เกิดจากรัฐซึ่งขาดอำนาจนำงวดเข้ามากขึ้น คสช.จะหันไปสู่ทางเลือกอะไร ที่น่าวิตกห่วงใยก็คือ สมรรถนะเดียวที่เหลืออยู่ และอาการคิดสั้นของผู้นำ คสช.บางคน จะหันไปเลือกวิธีของพระเจ้าซาร์ และนั่นจะเป็นการเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย หลังการแข็งข้อของ พคท.ยุติลง
ในขณะที่พูดถึงความไร้สมรรถภาพของ คสช.ในการสร้างอำนาจนำ ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า คสช.อาจเป็นคณะรัฐประหารที่โชคร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย เพราะ คสช.เข้ามายึดรัฐในช่วงที่อำนาจนำซึ่งเคยผดุงรัฐไทยมาก่อนกำลังเสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็ว คมช.ในปี 2549 ก็เผชิญกับสถานการณ์คล้ายอย่างนี้ แต่ไม่รุนแรงเท่า หากนับแต่นั้นเป็นต้นมา อำนาจนำในสังคมไทยก็เสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็ว รัฐไทยเหลือแต่อำนาจครอบงำ ซึ่งยิ่งนำมาใช้มากขึ้นก็ยิ่งบั่นรอนอำนาจนำให้เสื่อมเร็วขึ้น จนแม้แต่อำนาจครอบงำเอง ก็แตกแยกจนไร้เอกภาพที่จะทำงานได้อีกต่อไป รัฐบาลก่อนรัฐประหารจึงเหลือทางเลือกอยู่ทางเดียวคือประนีประนอม โดยไม่ต้องอิงหลักการอะไรทั้งสิ้น เพราะเมื่อไม่มีอำนาจนำ ก็ไม่มีหลักการอะไรให้ต้องยึดถือ
และอย่างที่เห็นกันอยู่แล้ว คสช.พยายามรื้อฟื้นและฟื้นฟูกลไกของรัฐเพื่อสร้างอำนาจครอบงำเดิมให้กลับคืนมาใหม่ แต่ล้มเหลวที่จะสร้างหรือฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ การรัฐประหารจะสิ้นสุดลงในลักษณะใดผมทำนายไม่ถูก แต่เชื่อแน่ว่าหากการรัฐประหารสิ้นสุดลงในบางลักษณะที่ไม่ใช่การประนีประนอมยอมความกันระหว่างทุกฝ่าย แม้อาจเกิดความสูญเสียมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่การสถาปนาอำนาจนำใหม่ในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย
(ที่มา:มติชนรายวัน 15 ธ.ค.2557)