วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 18, 2557

ค่านิยมไทยใหม่ 12 ประการ ( ที่ไม่ปัญญาอ่อน ) ที่ควรปลูกฝังให้เด็กเพื่อสังคมประชาธิปไตยในอนาคต

ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์
1 โทษตัวเองให้มากขึ้น พูดคำว่าขอโทษให้มากขึ้น โดยไม่แยกว่ากับเด็กหรื่อผู้ใหญ่

เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นเคยสังเกตไหม เรามักชอบมองหาคนผิด โดยเฉพาะมองไปที่คนอื่น ทั้งทีหากต่างคนต่างโทษกัน ก็ จะไม่มีใครแก้ไข ปัญหานั้นก็ยังคงอยู่ เป็นเหตุให้ไม่มีการพัฒนา หากคนในสังคมไทยมีค่านิยมที่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ต่างคนต่างมองตัวเอง สำรวจตัวเองว่า มีส่วนในความผิดพลาดตรงนั้นอย่างไร แม้เพียงความผิดน้อยนิด ก็ จะไม่ถูกมองข้าม มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ไข อันจะทำให้ สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้าต่อไป ที่สำคัญ หากเราต่างคนต่างโทษตัวเอง ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งจะไม่มี สังคมจะมีแต่ความสามัคคี รักและเห็นใจกัน

2 เคารพสิทธิ์ เสรีภาพ ผู้อื่นเสมอ และ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง อย่างจริงจัง

นอกจากเคารพสิทธิผู้อื่นแล้ว คนไทยต้องรู้จักหวงแหนสิทธิเสรีภาพของตัวเอง หากเราไม่ปกป้องสิทธิ์ ตัวเอง แล้วใครจะมาปกป้องให้

3 เคารพ และ แบ่งปัน ความคิด เห็นกับผู้อื่น

ไม่ยึดติดความคิดตนเป็นที่ตั้ง ของความถูกต้อง ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของผู้อื่น จะทำให้ความถูกต้องนั้น สมบูรณ์ที่สุด ความคิดของคนอื่นอาจเป็นกระจกสะท้อนความคิดของเรา ว่าแท้จริงแล้ว เราถูกต้องหรือไม่

4 ถือความรับผิดชอบเป็นสำคัญ

สังคม เปรียบไปก็เหมือนทีมกีฬา ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำ หากเราไม่รับผิดชอบหน้าที่เรา ทีมฟุตบอลก็คงเป็นทีมที่ดีไปไม่ได้ ดังนั้นหากเราอยากมีสังคมที่เข้มแข็งก้าวหน้า เด็กไทยต้องรู้จักรับผิดชอบ ต่อตัวเอง และผู้อื่น

5 เรื่องส่วนรวมมาก่อนเรื่องส่วนตัว

หากทุกคนคิดถึงเรื่องส่วนตัวก่อนส่วนรวม สังคมจะสามัคคีได้อย่างไร หากสังคมไม่สามัคคี พลังของสังคมก็จะอ่อนแอ สังคมอ่อนแอต่างคนต่างอยู่ ผู้คนที่เข้มแข็งจะลุกขึ้นเอาเปรียบผู้อ่อนแอ ผู้คนจะถูกละเมิดโดยคนที่เข้มแข็งกว่า แบบนั้น ตัวเราและครอบครัวจะมีความปลอดภัยได้อย่างไร

6 พึ่งพาตัวเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่น

หากสังคมไทยมีคนที่คอยแต่จะพึ่งพาคนอื่นมาก ๆ เราจะเดินไปข้างหน้า ทัดเทียมชาติอื่นได้อย่างไร ทุกคนต้องรู้จักที่จะดูแลตัวเองและ ดีไปกว่านั้น ถ้าสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

7 กล้าหาญ

อยากเห็นเยาวชนไทย กล้าหาญ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฎิเสธความไม่ถูกต้อง หากเรามีค่านิยมกล้าหาญที่จะปฏิเสธความไม่ถูกต้องอย่างพร้อมเพรียงกันในสังคม ความไม่ถูกต้องนั้นจะไม่สามารถดำเนินอยู่ได้ในสังคม

8 ยอมรับฟังคำตำหนิได้

เพราะคำตำหนิ คือ จุดเริ่มต้นของการสำรวจและพัฒนาตัวเอง คนพัฒนาสังคมย่อมพัฒนา

9 สื่อสารตรงไปตรงมา ถือความจริงใจ มากกว่าความเกรงใจ

การสื่อสารจะทำให้เกิดความเข้าใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสามัคคี อันจะนำมาซึ่งพลังของประชาชน

10 ไม่ยึดติดเปลือก มองหาแก่นสาร สาระ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

จะทำให้สังคมไทย เผชิญหน้ากับความจริง เป็นจุดเริ่มของการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

11 เคารพมนุษย์ผู้อื่น อย่างเท่าเทียม ไม่ยึดติดภาพลักษณ์ ตำแน่ง ยศถา บรรดาศักดิ์

อันเป็นความคิดที่ทำให้เกิดการแบ่ง ชั้นชน อันจะนำไปสู่การละเมิดความเป็นมนุษย์ ของผู้อื่น ควรมีค่านิยมว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ ภาพลักษณ์ เป็นหน้าที่ ซึ่งนำมาซึ่งความรับผิดชอบ มิใช่ตัวตน เด็กควรเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองก็ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเด็ก ไม่มีใครเหนือกว่าใคร เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์แบบเดียวกันทุกคน

12 เคารพ มติ เสมอ

ประเทศไทยวุ่นวันนี้ก็เพราะ ไม่เคารพมติ สังคมคนหมู่มาก มิอาจดำเนินไปตามความพอใจของทุกคนได้ ดีที่สุดคือดำเนินไปตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งคนส่วนน้อยต้องเข้าใจ


อรรถชัย อนันตเมฆ