
Thida Plitpholkarnpim
12 hours ago
·
ในไทยมีดราม่าเรื่องนักพากย์ ส่วนในอเมริกา ดราม่าดุเดือดที่กำลังเกิดกับหนังเรื่อง Superman คือประเด็น "ความเป็นการเมือง" ของมัน
เรื่องเริ่มจากตอนที่ผู้กำกับ เจมส์ กันน์ ไปให้สัมภาษณ์กับ The Times ลอนดอนก่อนหนังฉายไม่กี่วัน เขาพูดตอนหนึ่งว่า "ซูเปอร์แมนก็คือเรื่องราวของอเมริกา เรื่องราวของผู้อพยพที่มาจากดินแดนอื่นและเข้ามาเติมเต็มประเทศนี้ สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือการบอกว่า ‘ความเมตตาพื้นฐานในความเป็นมนุษย์’ คือคุณค่าที่เรากำลังสูญเสียไป'”
_____
แน่นอนว่าคำพูดนี้ทำให้ฝ่ายขวาในอเมริกาเต้นทันควัน ฟ็อกซ์นิวส์แปะป้ายให้ Superman ของกันน์ทันทีว่า "SuperWoke" ตามด้วยการที่ ดีน เคน นักแสดงที่เคยเล่นเป็นซูเปอร์แมนเวอร์ชั่นทีวี (ซึ่งเป็นติ่งทรัมป์) ออกมาวิจารณ์ว่ากันน์แสดงออกผิดพลาดซะแล้ว พูดจาแบบนี้ระวังหนังจะเจ๊งนะโว้ย
.
เคนย้ำว่า "สำหรับผม ซูเปอร์แมนคือสัญลักษณ์ของ 'ความจริง ความยุติธรรม และวิถีแบบอเมริกัน' (Truth, Justice and the American Way - ซึ่งเป็นสโลแกนดั้งเดิมของหนังชุดนี้ ก่อนที่ดีซีจะเปลี่ยนเป็น 'ความจริง ความยุติธรรม และอนาคตที่ดีกว่า - Truth, Justice and a Better Tomorrow') ผมเชื่อในอเมริกาอันเป็นดินแดนที่ต้อนรับผู้อพยพนะ แต่ถึงยังไงมันก็ต้องมี 'กฎ'"
เคนบอกด้วยว่าถ้าอยากสื่อสารเรื่องพวกนี้ก็สร้างตัวละครใหม่ไปสิ อย่ามาทำแบบดิสนีย์ อย่ามาโว้กแล้วเปลี่ยนซูเปอร์แมนให้กลายเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง (ซึ่งก็มีนักวิจารณ์บางคนผสมโรงด่ากันน์ในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย)
_____
ดราม่าหนักขึ้นไปอีกเมื่อทำเนียบขาวกระโดดมาร่วมวง ด้วยการโพสต์ภาพโฟโต้ชอปที่เอาหน้าปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ใส่บนโปสเตอร์หนังพร้อมคำโปรยว่า "สัญลักษณ์แห่งความหวัง ความจริง ความยุติธรรม วิถีแบบอเมริกัน - ซูเปอร์แมนทรัมป์" ซึ่งมีคนวิเคราะห์ว่า เป็นความพยายามช่วงชิงความหมายของฮีโร่ตนนี้ให้กลับไปเป็นของฝ่ายขวาซะ
_____
เมื่อเรื่องชักเดือด นักข่าวไปถามกันน์ว่าคิดยังไง เขาตอบผ่านนสพ. Variety แบบไม่ค่อยใส่ใจว่า "ผมไม่มีอะไรจะพูดกับพวกที่ชอบสร้างพลังลบหรอก นี่คือหนังที่พูดถึงความเมตตา ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้”
แต่ที่ดุกว่าคือ ฌอน กันน์ น้องชายของเขาที่ซัดเปรี้ยงว่า "ใช่แล้ว ซูเปอร์แมนคือผู้อพยพ และใช่แล้ว! คนที่เราควรสนับสนุนในประเทศนี้ก็คือผู้อพยพ ...ถ้าคุณไม่ชอบสิ่งนี้ แสดงว่าคุณมันไม่เข้าใจความหมายของอเมริกาเลย"
_____
ล่าสุด แอนดรูว์ สแล็ค นักยุทธศาสตร์ด้านการเล่าเรื่อง (เขาเคยร่วมก่อตั้ง Harry Potter Alliance ที่ระดมแฟน ๆ กว่า 1 ล้านคนทั่วโลกมาช่วยกันผลักดันความยุติธรรมทางสังคม) กับ โฆเซ อันโตนิโอ บาร์กัส นักข่าวเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ผนึกกำลังกันเขียนบทความ "Yes, Superman Has Always Been an Immigration Story" ออกมาโต้อย่างจริงจังว่า การที่นักวิจารณ์ด่ากันน์ว่า "อย่าทำให้ซูเปอร์แมนกลายเป็นการเมือง" นั้น มันไม่ทันแล้วล่ะ เพราะ "ซูเปอร์แมนคือเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ต้น"!
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผู้ให้กำเนิดตัวละครนี้คือ เจอร์รี ซีเกล กับ โจ ชูสเตอร์ นั้น เป็นลูกหลานของผู้อพยพด้วยกันทั้งคู่ พวกเขาจงใจสร้างซูเปอร์แมนให้เป็นตัวละครผู้ลี้ภัยจากดาวอื่นที่ล่มสลาย, เขาเปลี่ยนชื่อจากคาล-เอล ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู มาเป็นชื่อคนขาวคือ คลาร์ก เคนต์, พยายามปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ พร้อม ๆ กับรักษารากเหง้าของตน และพากเพียรใช้พลังไปกับการปกป้องประเทศนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยหวาดกลัวเขา
"ซีเกลกับชูสเตอร์เข้าใจความรู้สึกของการพลัดถิ่นและการถูกผลักไสอย่างลึกซึ้ง ในปี 1938 ขณะที่ฮิตเลอร์เร่งสะสมอำนาจ พวกเขาสร้างฮีโร่ที่เป็นตัวแทนความฝันแบบอเมริกัน ผู้ที่คุ้มครองผู้เปราะบาง ซูเปอร์แมนเป็น 'คนนอก' โดยเนื้อแท้ และการเป็นคนนอกนั่นเองที่ทำให้เขาเป็นฮีโร่ ไม่ใช่แค่คุณสมบัติประกอบ ...คนที่เคยถูกปฏิเสธ มักเป็นผู้เรียกร้องการยอมรับ คนที่เคยไร้พลัง มักลุกขึ้นปกป้องผู้อ่อนแอ"
_____
สแล็คกับบาร์กัสสรุปว่า หากสหรัฐอเมริกาไม่เคยมีนโยบายให้สัญชาติตามสถานที่เกิด (birthright citizenship) ครอบครัวของซีเกลกับชูสเตอร์ก็คงถูกเนรเทศให้ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับนาซีและความตายไปแล้ว ซึ่งนั่นแปลว่าโลกอาจไม่เคยมีซูเปอร์ฮีโร่กำเนิดขึ้น และถ้าไม่มีฮีโร่เหล่านั้น วัฒนธรรมป๊อปอเมริกันก็อาจไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ
"แต่ซูเปอร์แมนยังอยู่ เพราะเขาเป็นตัวแทนสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการเมือง นั่นคือความย้อนแย้งของอเมริกาเอง เราเป็นชาติที่สร้างโดยผู้พลัดถิ่น ทั้งผู้อพยพที่สมัครใจ, ทาสที่ไม่สมัครใจ, ผู้ลี้ภัย, ผู้ใฝ่ฝัน ทุกคนคือเด็กกำพร้าที่ต้องจากบ้านเกิดมา ซูเปอร์แมนเปลี่ยนบาดแผลร่วมนี้ของเราให้กลายเป็นพลัง เขาพิสูจน์ว่า จุดแข็งที่สุดของเราไม่ใช่สถานที่ที่เรากำเนิด แต่คือสิ่งที่เราเลือกจะเป็นต่างหาก
"ในช่วงเวลาที่หนังของกันน์กำลังเข้าฉาย และเครื่องจักรเนรเทศของทรัมป์กำลังเดินหน้าเต็มสูบ ความจริงข้อนี้จึงยิ่งจำเป็น ซูเปอร์แมนเข้าฉายแค่ไม่กี่วันหลังวันที่ 4 กรกฎาคมสุดท้ายก่อนวันเกิดครบรอบ 250 ปีของอเมริกา ...คำถามไม่ใช่ว่าเราจะเฉลิมฉลองอิสรภาพต่อหรือไม่ แต่คือ เราจะยังจำได้ไหมว่า อะไรทำให้เรา 'ซูเปอร์' ตั้งแต่แรก?"
https://www.facebook.com/thida.plitpholkarnpim/posts/10163365476818324