ถ้าเปรียบเทียบ สว.ยุคสีน้ำเงินนี้กับ สนช.ของคณะรัฐประหาร เหมือนกันเด๊ะทั้งบทบาทและศักดิ์ศรี คือทำตามที่เจ้าของคอกสั่งท่าเดียว ต่างก็แต่เจ้าของคอกรุ่นก่อนใช้กำลังทางกายภาพขับเคลื่อน ทว่ารุ่นนี้มีแต่เล่ห์กลโกงเป็นสรณะ
บทบาท สว.สีน้ำเงินล่าสุดเห็นชัดว่าใช้ชั้นเชิงดึงดันไปอย่างหน้าด้านๆ ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ๓ ราย ทั้งๆ ที่ผู้ให้ความเห็นชอบเหล่านี้ ล้วนกำลังถูกไต่สวนพฤติกรรมคดโกงฐาน ‘ฮั้ว’ กันในกระบวนการเลือก
ทั้งสุธรรม เชื้อประกอบกิจ และสราวุธ ทรงวิไล ซึ่งได้รับความเห็นชอบในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับณรงค์ กลั่นวารินทร์ ในตำแหน่งกรรมการเลือกตั้ง ต่างจะมีมลทินติดตัวไปสู่ตำแหน่ง ว่าได้รับแต่งตั้งมาโดยมิชอบ หรืออย่างน้อยๆ ‘ด้วยเล่ห์’ กลโกง
จำนวน สว.สนับสนุนในมติ “ไม่ชะลอกระบวนการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ” ๑๓๐ เสียง ก็พอๆ กับจำนวน สว.๑๓๘ คนที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ แม้นว่าเสียงเห็นชอบให้ชะลอกระบวนการไว้ก่อน ตามที่ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ยื่นกระทู้ด่วน
และ สว.นันทนา นันทวโรภาส ได้อภิปรายอย่างเหนียวแน่นว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งถ้าวุฒิสภาจะยังคงเดินหน้าให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งตุลาการและกรรมการองค์กรอิสระทั้งสาม “มันจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยชัดเจน”
เท่ากับว่า สว.ที่ถูกกล่าวหาไม่สนใจว่าพวกตนจะกำลังทำผิด หรือบิดเบือนกฎหมาย เพื่อฉกชิงความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ฝ่ายตน โดย “ไม่เห็นหัวของประชาชน” ที่มีแต่ความเคลือบแคลงว่า จงใจลุแก่อำนาจเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน
อากัปอาการของ สว.เหล่านี้เช่นนั้นแสดงออกมาในทางลุกลี้ลุกลน มาตั้งแต่ขั้นตอนสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อ เช่น กรรมาธิการสอบประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเพียง ๔๖ วัน ขณะที่ระเบียบการให้ ๖๐ วันขึ้นไป กับ กกต.ก็เช่นกัน ใช้ ๔๘ วัน
นอกจากนั้นยังใช้วิธีการแถกแถ อ้างว่าจำเป็นต้องรีบตั้งองค์กรอิสระทั้งสาม เพื่อองค์กรทั้งสองจะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก มิฉะนั้นจะขัดหลักการมาตรา ๑๕๗ ที่เป็นการตีความ กม.อย่างบิดเบือน ข้อนี้ สว.นันทนาชี้แจงแล้วว่า
“การชะลอการแต่งตั้งของ สว.ไม่เข้าข่ายมาตรา ๑๕๗ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าหากคดีสิ้นสุดและ สว.๑๓๘ คนบริสุทธิ์ก็ยังสามารถกลับมาลงมติได้อยู่” อีกทั้งเมื่อครบวาระตำแหน่ง แล้วยังสรรหาคนมาแทนไม่ได้ ชุดเดิมก็ยังรักษาการต่อไปได้
(https://prachatai.com/journal/2025/07/113826 และ https://www.ilaw.or.th/articles/53386)