วันอังคาร, กรกฎาคม 22, 2568

ศาลยกคำร้อง “ธงชัย วินิจจะกูล” หลังยื่นขอศาลไต่สวนกรณีการสวมกุญแจเท้า “อานนท์ นำภา” ธงชัยได้ให้ความเห็นต่อคำสั่งของศาล อานนท์ยืนยันว่าจะให้ทนายยื่นอุทธรณ์ต่อไป



โดย CrCF มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
21 กรกฎาคม, 2025

วันนี้ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาได้ไต่สวนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย อานนท์ นำภา (ผู้เสียหาย) และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 ปาก ได้แก่ นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา สิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการแห่งชาติตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์ ในคดีหมายเลข ปท. 2/2568 กรณีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา จากการพบเห็นว่าอานนท์ถูกใส่กุญแจเท้า ขณะเดินทางมายังศาล

เวลาประมาณ 10.00 น. อานนท์ได้เดินทางมาถึงศาลและขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นปากแรก ในฐานะผู้เสียหาย เขาได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคของการใช้กุญแจเท้าและเครื่องพันธนาการต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน โดยเฉพาะลักษณะของกุญแจเท้าที่ใช้กับผู้ต้องหา ซึ่งมีความคม เมื่อเสียดสีกับผิวหนังขณะที่เดินก็จะทำให้เกิดบาดแผล นอกจากนี้ การสวมกุญแจเท้ายังทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถเดินได้เต็มแรงเหมือนคนปกติ จากนั้นอานนท์ได้ยืนขึ้นและชี้ให้ผู้พิพากษาองค์คณะเห็นบาดแผลที่ข้อเท้า ทั้งบาดแผลเก่าและบาดแผลใหม่ ซึ่งเกิดจากการใช้กุญแจเท้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2568

อานนท์กล่าวว่า ผู้ต้องหาในคดีอื่นที่เขาได้พบ บางคนต้องก้มลงไปถือโซ่ที่เชื่อมระหว่างกุญแจเท้าข้างซ้ายและข้างขวาเพื่อให้สามารถเดินได้ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดมีน้อยลง กิริยาอาการเช่นนั้นทำให้ผู้ต้องหาดูราวกับว่าไม่ใช่คน แต่เป็นลิง เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก แม้ทุกคนจะยังไม่ได้มีคำพิพากษาที่ถึงที่สุด แต่กลับต้องถูกปฏิบัติเหมือนคนมีความผิดไปแล้ว

“เวลาได้ยินเสียงโซ่กุญแจเท้าเหมือนมันเป็นเสียงที่ดังเข้าไปในมโนสำนึกว่าเราไม่ถูกปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เหมือนคนอื่น” อานนท์กล่าว

นอกจากนี้ อานนท์ยังกล่าวทำนองว่า ตนในฐานะนักโทษทางความคิดที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ และยังคงเป็นทนายว่าความในหลายคดี ยิ่งไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนผู้กระทำผิด และขอให้รัฐคำนึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ทั้งในหลักการสากลและในกฎหมายไทยเป็นนโยบายสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานก็ไม่สามารถดำเนินงานให้ดีได้ หากระดับบริหารไม่มีนโยบายลงมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากการเบิกความของอานนท์ในฐานะผู้เสียหายแล้ว ยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กล่าวถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 และการที่ราชทัณฑ์ใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถึงที่สุดเป็นการทั่วไปนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเน้นย้ำว่าในกรณีของอานนท์เป็นไปตามมาตรา 21 (4) ที่ห้ามการใช้เครื่องพันธนาการยกเว้นเวลาเดินทางมาศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้ดุลพินิจได้ตามสมควร ไม่ใช่ใส่เป็นประจำเป็นการทั่วไป แบบนี้ขัดกับหลักการตามมาตรา 21 ของกรมราชทัณฑ์เอง การใช้เครื่องพันธนาการต้องกระทำได้เท่าที่จำเป็นและมีเหตุโดยเฉพาะเจาะจงที่จำเป็นอย่างยิ่ง

“มนุษย์ไม่พึงจะถูกล่ามหรือพันธนาการอย่างสัตว์ การจะใช้เครื่องพันธนาการที่เท้าต้องมีเหตุผลความจำเป็น มาตรา 25 รัฐธรรมนูญระบุว่า การจำกัดเสรีภาพจะต้องไม่จำกัดเสรีภาพเพิ่มภาระจนเกินกว่าเหตุ การใส่เครื่องพันธนาการและใส่เครื่องพันธนาการเป็นหลักนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และมาตรา 5 รัฐธรรมนูญก็บัญญัติด้วยว่า บทบัญญัติหรือข้อบังคับ รวมทั้งการกระทำใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้” ผศ. ปริญญา กล่าวในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ด้าน ผศ. ดร. รณกรณ์ บุญมี นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา สิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการแห่งชาติตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ก็ได้ให้การต่อศาลว่า มาตรา 6 แม้ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษ แต่หากปรากฏว่ามีการกระทำที่โหดร้ายฯ ก็ถือว่ามีความผิดในมาตราดังกล่าว

“มาตรา 26 ของ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ เป็นมาตราที่ต้องการให้ศาลตรวจสอบว่าวิธีการควบคุมตัวนั้นเป็นการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ โดยศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวตามมาตรา 26 นี้ โดยไต่สวนโดยพลัน เพราะทุกนาทีที่ผ่านไปถือว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้น” ผศ. ดร.รณกรณ์ บุญมี กล่าว

นอกจากนี้ ผศ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการที่ได้ทำการศึกษาในระดับปริญญาเอกหัวข้อประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์ และเป็นผู้เขียนหนังสือ “รัฐราชทัณฑ์” กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีการยกเลิกการใช้เครื่องพันธนาการแล้ว ในสมัยที่ขุนศรีศรากรเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้มีความเป็นอารยะมากขึ้น โดยสาเหตุที่ยกเลิกนั้นมาจากการจัดทำการศึกษาถึงผลกระทบของการใช้เครื่องพันธนาการ ที่มีข้อดีเพียง 1 ข้อ คือ ป้องกันการหลบหนี แต่ข้อเสียมีมากถึง 10 กว่าข้อ อาทิ การทำให้ผู้ต้องหามีบาดแผลทางจิตใจ ทำให้นอนไม่หลับ ทำให้จิตใจโหดร้ายยิ่งกว่าเดิม เกิดบาดแผล ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากการไต่สวน ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยคำสั่งมีใจความว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากการไต่สวนรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ใช้เครื่องพันธนาการ กุญแจ และโซ่ตรวนกับนายอานนท์ นำภา ผู้เสียหาย ในระหว่างการเบิกตัวจากเรือนจำมายังศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีจริง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ดังกล่าวมีมูลเพียงพอจะเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ทรมานหรือไม่ เห็นว่ามีการใช้เครื่องพันธนาการ จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพและอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เสียหายและบุคคลอื่นอยู่บ้าง แต่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิจนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นหรือไม่ เมื่อ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการใช้เครื่องพันธนาการเมื่อคุมตัวผู้ต้องขังไปนอกเรือนจำ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันการหลบหนีได้ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายบัญญัติไว้

ส่วนการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น เห็นว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องกระทำเกินเลยไปกว่าความจำเป็น ความปกติในการควบคุมตัว และมีลักษณะเป็นการจงใจลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ แต่จากการไต่สวนในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว

ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่อาจมิได้จัดทำบันทึกเหตุผลความจำเป็นในการใช้เครื่องพันธนาการนี้เป็นรายการอย่างชัดเจนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 21 อนุ 4 เห็นว่า แม้บันทึกเหตุผลจะเป็นหลักการปฏิบัติที่สำคัญ แต่ก็ยังมิอาจนำมาเป็นเหตุผลชี้ขาดว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 ได้โดยในทันที เพราะการวินิจฉัยความผิดตามมาตรา 6 ยังคงต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำและผลการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

เมื่อข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนเบื้องต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่กฎหมายบัญญัติ คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานฝ่ายผู้ถูกร้องมาไต่สวนต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

หลังจากฟังคำสั่งศาล อานนท์ยืนยันว่าจะให้ทนายยื่นอุทธรณ์ต่อไป

“จะให้ทนายยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะคำสั่งศาลวันนี้ไม่คำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนกรณีของเรามีรอยบาดแผลชัดเจน อีกทั้งคำสั่งไม่เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อระหว่างประเทศและมาตรฐานขั้นต่ำ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ด้วยเพื่อให้ได้รับสิทธินี้” อานนท์ นำภา ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กล่าวก่อนเดินทางกลับเรือนจำ

ภายหลังจากทราบคำสั่งของศาลอาญา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้ให้ความเห็นว่า

“ในแง่ความหมายต่อการราชทัณฑ์และระบบกฎหมาย ผมคิดว่า หนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นว่าทำแค่นี้ไม่ถือเป็นการทรมาน ผมไม่รู้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวลงหรือเปล่าสำหรับสังคมไทย สอง คำสั่งยกคำร้องเป็นการยืนยันว่าศาลให้ความชอบธรรมแก่ข้อยกเว้นของกฎหมายที่กลายเป็นมาตรฐานปกติ โดยให้อำนาจการกลับตาลปัตรกฎหมายเช่นนี้อยู่ในมือของราชทัณฑ์ ส่วนความพยายามทำกฎหมายปกติให้เป็นปกติต้องมายื่นต่อศาลเป็นกรณีๆ ไป หรือเป็นข้อยกเว้นของข้อยกเว้นที่กลายเป็นปกติไปแล้วโดยคำสั่งศาล”

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา หลังพบเห็นอานนท์ปรากฏตัวในชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าทั้งสองข้างระหว่างการเดินทางมาศาลและในห้องพิจารณาคดี ธงชัยมองว่าการใส่ชุดนักโทษ การใส่กุญแจเท้า หรือการใส่โซ่ล่ามระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอาจเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลัน ตามมาตรา 26 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

ในคำร้องนี้ ธงชัยขอให้ศาลอาญาไต่สวนโดยพลัน และทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ที่มีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง” เพราะฉะนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จึงต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการเพื่อให้สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

https://crcfthailand.org/2025/07/21/60211/