วันอังคาร, กรกฎาคม 22, 2568

อานนท์ นำภา อยากให้อ่านคำเบิกความในการไต่สวนเรื่องกุญแจเท้า เป็นคำเบิกความที่ดีมากทั้ง 4 คน แม้ศาลจะยกคำร้องก็ตาม


ประชาไท Prachatai.com
10 hours ago
·
ศาลไม่ให้ถอดกุญแจเท้า 'ทนายอานนท์' แม้ศาลจะเห็นว่ากระทบต่อจิตใจทั้งทนายอานนท์และครอบครัว แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีอำนาจตาม ม.21 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์และไม่ได้เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ แม้เจ้าตัวจะแสดงบาดแผลที่ข้อเท้าเนื่องจากต้องมาศาลทั้งเป็นจำเลยทั้งทำหน้าที่ทนายความไปด้วยแต่ศาลไม่ได้พิจารณาอาการบาดเจ็บ อีกทั้งทนายเผย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่เคยแจงเหตุผลที่ติ๊กแบบฟอร์มว่าใส่เพราะป้องกันผู้ต้องขังจะหนีจนเป็นเรื่องปกติ แม้ตามกฎหมายจะกำหนดว่าต้องชี้แจงเหตุผล

21 ก.ค.2568 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ที่นัดไต่สวนคำร้องของธงชัย วินิจจะกูล ขอให้ไต่สวนเพื่อยุติการใส่กุญแจเท้าและโซ่ต่อ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และขอให้ศาลไต่สวนตามมาตรา 26 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

ศาลได้แจ้งว่ากระบวนการพิจารณาคดีวันนี้ การไต่สวนเป็นการไต่สวนว่าคำร้องมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะรับคำร้องไว้ไต่สวนหรือไม่ หากคำร้องมีมูลพอศาลจะเรียกทางกรมราชทัณฑ์มาไต่สวนตามคำร้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาวันนี้ ธงชัยซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องไม่สามารถมาศาลเองได้ในวันนี้เนื่องจากติดภารกิจการสอนในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา โดยยังมีทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและพยานนักวิชาการของฝ่ายผู้ยื่นคำร้องมาด้วย 3 คน คือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รณกรณ์ บุญมี มาในฐานะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และศรัญญู เทพสงเคราะห์ จากภาคประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์งานราชทัณฑ์ของไทย และอานนท์ ในฐานะผู้เสียาหายจากการถูกใส่กุญแจเท้า

(คนที่ 1)
---เจ็บทั้งกาย เจ็บทั้งใจ---

ศาลให้ อานนท์ ขึ้นเบิกความเป็นคนแรกเพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพจากการถูกใส่กุญแจเท้าเวลาออกมาศาลทั้งในฐานะจำเลยในคดีและในการทำหน้าที่ทนายความ โดยศาลเป็นผู้ถามกับอานนท์เอง

อานนท์เล่าอธิบายว่าเขาจะถูกใส่กุญแจเท้าเมื่อต้องออกมาศาลเริ่มตั้งแต่ก่อนออกจากเรือนจำจนมาถึงศาล การใส่กุญแจเท้าไว้เช่นนี้ทำให้เกิดการเสียดสีจากขอบคมของกุญแจจนเกิดเป็นแผลสดและเมื่อเขาต้องออกศาลต่อเนื่องทำให้วันถัดมากุญแจเท้าก็ไปโดนแผลซ้ำอีกจากการที่เขาต้องเดินในศาลระหว่างทำหน้าที่ทนายความ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะไม่เคยมีพฤติการณ์ขัดขืนเจ้าหน้าที่หรือหลบหนีก็ตามอีกทั้งยังมาตามนัดศาลทุกครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้นอานนท์ระบุว่า ทุกครั้งที่เดินโซ่ก็จะลากกับพื้นจนเกิดเสียงดังรบกวนและยังทำให้เขารู้สึกถูกมองด้วยสายตาดูหมิ่นทั้งจากคนที่ฟ้องดำเนินคดีกับเขารวมถึงพยานที่มาเบิกความก็ตอบด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันเพียงเพราะเขาไม่ได้ใส่ชุดสูทมาว่าความ ถูกลดคุณค่าในฐานะทนายความ

อานนท์กล่าวถึงสถานการณ์ที่ลูกของเขาต้องมาเห็นพ่อที่ถูกใส่กุญแจเท้าอยู่ ที่เขารู้สึกว่าใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ลูกต้องมาเห็นพ่อในสภาพเช่นนี้แต่อีกใจก็ยังอยากได้เจอลูกอยู่ อีกทั้งบางคนที่ตั้งใจมาเจอเขาที่ศาลเมื่อได้เห็นเขาก็ร้องไห้ทำให้เขาเก็บไปคิดและรู้สึกเจ็บบาดลึกเข้าไปในใจ

อานนท์เห็นว่าไม่เพียงแต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางความคิดไม่ควรถูกปฏิบัติเช่นนี้ แต่ในคดีทั่วไปก็ไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนพวกเขาถูกตัดสินมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เขาได้เห็นว่าผู้ต้องขังบางคนต้องเอาเชือกมาผูกกับโซ่ที่คล้องกุญแจเท้าไว้เพื่อไม่ให้โซ่ลากพื้นและเสียดสีกับข้อเท้า บางทีก็ต้องลงไปก้มหยิบโซ่เวลาจะลุกเดินเปรียบเสมือนกับลิง ในฐานะที่เขาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เขามองว่าแม้ผู้ต้องขังเหล่านี้จะเป็นผู้กระทำความผิดแต่ก็ควรถูกปฏิบัติพอแก่โทษของพวกเขา พวกเขาอาจถูกขังได้ แต่ก็ไม่ควรต้องมาบาดเจ็บจากการถูกล่ามเท้าเช่นนี้

อานนท์กล่าวว่าต่อว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ควรมีอยู่ตั้งแต่ในระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์หรือศาลที่ควรแก้ไข ไม่ใช่แค่ให้เป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่พิจารณาดำเนินการเองไม่ได้

ทั้งนี้หลังจากอานนท์เบิกความแล้วศาลกล่าวว่าข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับไต่สวนแล้ว พยานที่ฝ่ายผู้ร้องนำมาเป็นความเห็นทางกฎหมายที่ศาลรู้เห็นได้เองอยู่แแล้ว อย่างไรก็ตาม รัษฏา มนูรัษฎา ทนายความของผู้ร้องได้โต้แย้งศาลเพื่อขอให้นำพยานที่มาเข้าสืบเนื่องจากมีประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ศาลให้เบิกตัวพยานมาเบิกความได้

(คนที่ 2)
---ใส่พันธนาการโดยไม่จำเป็น ขัดรัฐธรรมนูญ---

พยานปากต่อมาคือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เบิกความอธิบายประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญและสิทธเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงอธิบายเกี่ยวกับปัญหาของ มาตรา 21 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ที่กำหนดเงื่อนไขการใส่พันธนาการด้วย

ปริญญาเริ่มจากกล่าวว่า การใส่พันธนาการอานนท์ไว้ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดนั้นขัดกับมาตรา 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่าต้องผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติเหมือนกับเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2554 ว่าการใส่ตรวนเช่นนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญและสั่งให้ปลดตรวน แม้ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าแต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกับมาตรา 29 ของฉบับปัจจุบัน

ปริญญายังกล่าวด้วยว่าในมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ยังกำหนดให้การพันธนาการเป็นข้อยกเว้นด้วย แม้ว่าตาม (4) ในมาตรา 21 จะให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีความเห็นให้ใส่พันธนาการได้ตามสมควรเท่านั้น ไม่ใช่ให้ใส่เป็นการทั่วไป แต่การใช้พันธนาการโดยทั่วไปไม่ใช่ข้อยกเว้นนี้ขัดกับมาตรา 21 เอง

ปริญญากล่าวว่ามนุษย์ไม่ควรถูกล่ามเยี่ยงสัตว์ การใส่พันธนาการต้องทำเท่าที่จำเป็น ประชาชานยังมีสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ และแม้ว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์จะให้อำนาจแต่ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่กฎหมายจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเกินสมควรแก่เหตุและกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ ละต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วย อีกทั้งมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่ไม่ให้กฎหมายหรือข้อบังคับขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่ยังรวมถึงการกระทำใดๆ ด้วย จึงเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการที่จะพิจารณาได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนั้นปริญญายังกล่าวถึงปัญหาที่หลักการสันนิษฐานผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนไม่ถูกใช้ว่า แม้จะเคยมีหลักนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่พ.ศ. 2492 แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2494 ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 ที่ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดอีกเลย

ปริญญากล่าวต่อว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจะทำได้ก็เพื่อให้เกิดการหลบหนีเท่านั้นและเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติใช้ อีกทั้งแม้ว่จะมีเหตุจำเป็นที่ต้องให้ใส่พันธนาการแต่เมื่อเหตุจำเป็นนั้นผ่านพ้นไปแล้วก็ต้องถอดพันธนาการนั้นออก ในต่างประเทศเช่นฝรั่งเศสหรือแคนาดายังมีการห้ามใส่พันธนาการผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อหน้าศาลเด็ดขาดหรือในกรณีของเยอรมณีและสหรัฐฯ ก็ยังกำหนดให้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้นคือมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือจะใช้ความรุนแรงเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการระบุเรื่องนี้ไว้ทั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และสหประชาชาติมีข้อกำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหรือที่เรียกว่า “ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา”

อย่างไรก็ตาม ปริญญาอธิบายปัญหาของมาตรา 21 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย คือการใช้คำว่า “ผู้ต้องขัง” ทำให้ทั้งผู้ต้องหาและจำเลยถูกรวมไปด้วยไม่เพียงแต่ผู้ที่ต้องโทษแล้วเท่านั้น

ปริญญายกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลปกครองที่ อ.358/2556 ที่แม้ว่าในศาลปกครองชั้นต้นจะเคยสั่งให้ปลดพันธนาการผู้ต้องขังรายหนึ่งแต่ภายหลังศาลปกครองสูงสุดก็กลับคำพิพากษาแต่ก็เป็นเพราะว่ากรณีของผู้ต้องขังรายดังกล่าวทำผิดวินัยแอบใช้วิทยุสื่อสารกับคนนอกเรือนจำอีกทั้งยังถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมาศาลจึงพิจารณาเห็นความจำเป็น แต่ในกรณีของคดีมาตรา 112 นั้นมีโทษจำคุกเพียง 3-15 ปีเท่านั้นและยังเป็นการเพิ่มโทษขึ้นมาจากโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีเพราะคำสั่งคณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 อีกด้วย

(คนที่ 3)
---ใส่พันธนาการโดยไม่มีเหตุ ผิด พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ---

จากนั้นทนายความได้ขอศาลให้เบิกตัวรณกรณ์ บุญมี มาให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 6 ในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ที่กำหนดลักษณะความผิดของการกระทำที่เข้าข่าย “โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และมาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลต้องไต่สวน “โดยพลัน” เมื่อมีคำร้องว่ามีผู้ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

รณกรณ์ กล่าวว่าตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาณฯ นี้เป็นการให้ศาลตรวจสอบว่าผู้ถูกควบคุมตัวถูกกระทำที่เข้าข่ายเป้นการทรมานหรือถูกกระทำโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือไม่ต่างจากมาตรา 90 ที่เป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว

ส่วนการตีความมาตรา 6 นั้นเป็นประเด็นที่เขาเคยยกร่างคู่มือสำหรับให้ศาล อัยการ และตำรวจใช้ในฐานะที่เขาเป็นกรรมการป้องกันซ้อมทรมานฯ ซึ่งมาตรานี้ได้นำมาตรา 16 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรอการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักด์ศรี มาใช้ การตีความการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการ “โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักด์ศรี” นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถึงกับเป็นการทรมาน เช่น การตบตี ส่วนการย่ำยีศักดิืศรีคือการปฏิบัติต่อคนเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เช่นการบังคับเปลือยกาย การให้กินอาหารจากบนพื้น และไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษเช่นการบังคับเอาข้อมูลด้วยก็เข้าข่ายตามมาตรา 6 ไม่เหมือนกับมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ที่กำหนดว่าจะต้องมีวัตถุประสงค์เอาไว้ด้วยเช่นการบังคับเพื่อเอาข้อมูล

ทั้งนี้ รณกรณ์ก็ได้อธิบายด้วยว่าประเด็นการตีความคำว่า “ย่ำยีศักดิ์ศรี” กับการใส่กุญแจเท้านี้ในตัวพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับ 2560 เองก็มีการใส่เรื่องข้อห่วงกังวลที่ทำให้มีการร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในหมายเหตุท้ายกฎหมายว่า ด้วยกฎหมายฉบับ 2479 นั้นไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาอีกทั้งยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพด้วยทำให้ต้องมีการปรับปรุงเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

รณกรณ์กล่าวต่อว่าในข้อกำหนดเนลสันแมนเดลานี้ ในข้อที่ 47 ยังกำหนดไม่ให้ใส่กุญแจเท้าโดยเด็ดขาดหากใส่เพื่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือสิ่งของถ่วงน้ำหนักเอาไว้ และหากจะต้องใส่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อคือ จะหลบหนี ทำร้ายตัวเอง หรือจะทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นการใส่พันธนาการจะต้องไม่ทำให้เกิดแผลและการใส่อย่างเป็นประจำจึงเป็นการละเมิด ทั้งข้อกำหนดนี้และอาจผิดตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ด้วย

(คนที่ 4)
---นักโทษการเมืองยุค 'สฤษดิ์' ก็ยังไม่ต้องใส่ตรวนมาศาล---


หลังรณกรณ์เบิกความเสร็จ ทนายความได้นำ ศรัญญู เทพสงเคราะห์เข้ามาเบิกความประวัติศาสตร์การพันธนาการในระบบงานราชทัณฑ์ของไทยด้วย

ศรัญญูชี้ว่าประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพันธนาการมานับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วเพื่อปรับปรุงให้เป็นอารยะมากขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นเคยมีทั้งการใส่โซ่ล่ามที่เท้าและคอ มีขื่อคา และต่อมาถูกลดความโหดร้ายลงและปรับปรุงตามกฎหมายและยังทำให้เกิดการสร้างคุกสมัยใหม่ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ และยกเลิกเครื่องพันธนาการ จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้นมา และมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งในช่วง 2479 ที่ออก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์มา จากนั้นปี 2480 ขุนศรีศรากรให้ที่ปรึกษาไปศึกษาประโยชน์ของการใช้เครื่องพันธนาการมาก็พบว่ามีแค่เรื่องป้องกันหลบหนีเท่านั้น แต่เกิดผลกระทบหลายอย่างทั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บมีบาดแผล ทำให้เป็นโรคประสาทเพราะต้องเผชิญกับความเย็นตรงจุดที่มีพันธนาการทำให้นอนไม่ได้ และอื่นๆ ทำให้ภายหลังมีมติให้ยกเลิกการใช้โซ่ตรวนทั้งระหว่างอยู่ในเรือนจำและเมื่อต้องออกมานอกเรือนจำด้วย

ศรัญญูกล่าวว่า แม้แต่ในช่วงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เองที่มีนักโทษทางการเมืองเช่นกันพวกเขาก็ยังไม่ถูกใส่พันธนาการแม้จะต้องออกมาศาลหรือตอนที่อยู่ในเรือนจำด้วย

หลังจากพยานเบิกความหมดศาลได้แจ้งว่าหากศาลเห็นว่าคำร้องมีมูลให้ไต่สวนคำร้องแล้ว จะดำเนินการออกหมายให้ทางกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงต่อไป และนัดฟังคำสั่งว่าศาลจะไต่สวนคำร้องให้ถอดกุญแจเท้าต่อหรือไม่ในเวลา 13.00 น.

---ศาลไม่ให้ถอด ไม่ได้ลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์---

ทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า ศาลมีคำสั่งออกมาว่าให้ยกคำร้องของธงชัย แม้ศาลเห็นว่าการใส่เครื่องพันธนาการกับอานนท์จะส่งผลกระทบต่อจิตใจและครอบครัวจริง แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีอำนาจตามมาตรา 21 (4) ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ให้ใส่เพราะต้องพาตัวมาที่ศาล นอกจากนั้นที่พยานเบิกความก็ยังไม่เข้าข่ายเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์เนื่องจากต้องดูลักษณะและผลของการกระทำเจตนาว่าเป็นการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ทั้งนี้เมื่อถามว่าศาลได้พิจารณาเรื่องอาการบาดเจ็บของอานนท์ที่เกิดขึ้นซ้ำจากการต้องใส่กุญแจเท้ามาศาลติดกันหลายวันด้วยหรือไม่ ทนายความตอบว่าในคำสั่งศาลไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้เลย ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ศาลไม่พิจารณาเพราะมีภาพรอยช้ำ รอยแผลเป็นที่บ่งบอกได้ว่าเป็นการกระทำที่ควรจะทำต่อมนุษย์ด้วยกันหรือไม่และควรเป็นประเด็นสำคัญในคำสั่งด้วยแต่ก็ไม่มี

---เจ้าหน้าที่ไม่เคยแจงเหตุผลทำไมต้องใส่กุญแจเท้าผู้ต้องขัง---

ส่วนประเด็นเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กรอกไว้ในแบบฟอร์มเวลานำตัวผู้ต้องขังมาศาลนั้น ทนายความเล่าว่าจากการสอบถามอานนท์พบว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เคยชี้แจงเหตุผลที่ต้องใส่กุญแจเท้ากับอานนท์เลยว่าผู้ต้องขังมีพฤติการณ์อย่างไร จะหลบหนีหรือไม่ หรือเป็นบุคคลวิกลจริตตามเงื่อนไขในมาตรา 21 ที่เป็นเหตุให้ต้องใส่เครื่องพันธนาการ

ทนายความยังเล่าต่อว่า ในตารางเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาลที่เจ้าหน้าที่ใช้บันทึกก็มีเพียงว่าผู้ต้องขังรายใดมาศาลคดีใด และขนาดของโซ่ที่ใช้ล่ามผู้ต้องขังมาศาล ส่วนช่องที่ให้เจ้าหน้าที่ติ๊กเหตุผลที่ต้องใส่เครื่องพันธนาการคืออะไรก็เป็นช่องที่ให้ติ๊กว่าป้องกันการหลบหนีอยู่ในแบบฟอร์ม แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะติ๊กแล้วเซนเอกสารไว้ แต่ก็ไม่ได้ใส่เหตุผลหรือลักษณะการกระทำของผู้ต้องขังที่เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าผู้ต้องขังจะหลบหนีอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องมาชี้แจงเหตุผล จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ทนายความกล่าวว่าหลังจากนี้จะทำเรื่องอุทธรณ์คำสั่งศาลกันต่อไป และอาจมีการฟ้องไปที่ศาลปกครองต่อไปด้วย



https://prachatai.com/journal/2025/07/113829