
iLaw
9 hours ago
·
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 คุณคิดว่า #พรรคเพื่อไทย จะลงมติร่างพ.ร.บ. #นิรโทษกรรมประชาชน ที่ให้ยุติการดำเนินคดีการเมืองทุกคดี รวมคดีมาตรา 112 กันอย่างไร ในเมื่อพรรคการเมืองนี้ และคนของพรรคนี้เป็นเหยื่อของ #มาตรา112 มาตลอด
ชวนไล่ย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา เมื่อมาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นระลอกๆ ตามสถานการณ์การเมือง และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ชัดเจนว่า ขบวนการ “คนเสื้อแดง” และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้าหมายอย่างหนัก https://www.ilaw.or.th/articles/52109
.
ตัวของทักษิณ ชินวัตรเอง เคยถูกยื่นฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลในข้อหามาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษาบรรทัดฐานไว้ในคดีที่ อ.4153/2549 ว่า คดีตามมาตรา 112 นั้นประชาชนยื่นฟ้องเองต่อศาลโดยตรงไม่ได้ เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ต้องให้อัยการเป็นผู้ฟ้อง แต่หลังจากนั้นทักษิณยังถูกดำเนินคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหลายครั้ง เช่น คดีวิดีโอลิงก์มาพูดในการชุมนุมที่เชียงใหม่เมื่อปี 2554 คดีแจกแถลงการณ์ต่อสื่อต่างประเทศในปี 2554 หรือคดีให้สัมภาษณ์กับนิตยสารต่างประเทศ เมื่อปี 2553 ที่ยังคงดำเนินคดีอยู่ถึงปี 2568
ยุคหลังการรัฐประหาร 2549 เริ่มมีการชุมนุมที่ใช้สัญลักษณ์สีแดงต่อต้านการรัฐประหาร ดา ตอร์ปิโด ปราศรัยที่สนามหลวงหลายครั้ง ศาลพิพากษาจำคุกรวม 15 ปี หรือสุชาติ นาคบางไทร ก็ปราศรัยที่สนามหลวง ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกสามปี
มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ขบวนการคนเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ถูกตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทหารกับอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม ฝ่ายทหารสร้างคำอธิบายว่า ในหมู่ผู้ชุมนุมมี “ขบวนการล้มเจ้า” และสร้าง “ผังล้มเจ้า” นำเสนอต่อสาธารณะคล้ายข้ออ้างในการสังหารประชาชน โดยเอาชื่อของทักษิณ ไว้เป็นใจกลางของแผนผัง มีทั้งกลุ่มนปช. และพรรคเพื่อไทย เป็นองค์กรหลักที่เชื่อมโยงหลากหลายกลุ่มเข้าหากัน พร้อมกับชื่อของบุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทย เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุธรรม แสงประทุม, อดิศร เพียงเกษ ที่เป็นสส. อยู่
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหกปีจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารชื่อ Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความของจักรภพ เพ็ญแข โดยตัวของสมยศถือเป็นแกนนำนปช.รุ่นที่สองด้วย, “หนุ่มเรดนนท์” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ชื่อ นปช.ยูเอสเอ ถูกดำเนินคดีจากภาพที่โพสถามหาความรับผิดชอบหากคนเสื้อแดงเสียชีวิต เขาถูกศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี
จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยคสช. ตามมาด้วยการใช้อำนาจพิเศษของทหารเข้า “กวาดล้าง” ขบวนการคนเสื้อแดง จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สุรินทร์ ถูกคสช.เรียกรายงานตัว และถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการปราศรัยที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ถูกคุมขังยาวรวมสองปีหกเดือน, สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ผู้ริเริ่มการใช้สัญลักษณ์สามนิ้ว ถูกจับกุมตัวก่อนตั้งข้อหามาตรา 112 จากโพสเฟซบุ๊กของเขาก่อนหน้านั้น
ธานัท หรือ “ทอม ดันดี” นักร้องที่เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เดินสายขึ้นเวทีปราศรัยและร้องเพลงบนเวทีคนเสื้อแดงหลายพื้นที่ ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหามาตรา 112 รวมสี่คดี ได้แก่ คดีจากการจัดรายการบนยูทูปชื่อ “เรดการ์ดเรดิโอ” คดีจากการปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงเมื่อปี 2556 คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2553 คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 เขาต้องถูกคุมขังนานกว่าห้าปี
หรืออีกกรณีคือคดีของ “ธเนศ” ผู้ป่วยทางจิตชาวเพชรบูรณ์ ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกสามปีแปดเดือน จากการส่งอีเมล์ไปหาชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอีเมล์ที่ถูกดีเอสไอแฮคได้ ในเนื้อหาอีเมล์นั้นเขาร้องขอให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกสังหารโดยทหาร
นอกจากนี้ ยังมีการ “ยัด” ข้อหามาตรา 112 ใส่บุคคลสำคัญที่มีบทบาทกับคนเสื้อแดง ทำให้พวกเขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานานแต่สุดท้ายศาลก็พิพากษาว่าเขาไม่มีความผิด เช่น คดีมาตรา 112 ของณัฏฐธิดา หรือ “แหวน พยาบาลอาสา” พยานปากสำคัญที่เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดงในวัดปทุมวนาราม หรือคดีมาตรา 112 ของสุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช. จังหวัดสุรินทร์
ยังมีคดีที่เกิดขึ้นอีกมากมาย ดูได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/52109
จนถึงวันนี้ อานนท์ นำภา อดีตทนายความที่รับช่วยเหลือคดีของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุมในปี 2552-2556 และทนายความของจำเลยคดีมาตรา 112 ที่กล่าวมาข้างต้นหลายคดี กลายเป็นผู้นำในการปราศรัยที่นำเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมถึง 14 คดี โทษจำคุกรวมมากกว่า 27 ปี และยังอยู่ในเรือนจำ
https://www.facebook.com/photo?fbid=1148844503955834&set=a.625664036273886
