
การไต่สวน "คดีชั้น 14" ในวันนี้ ถือเป็นการเบิกความพยานบุคคลที่ศาลออกหมายเรียกเองเป็นนัดที่ 3
สรุปประเด็นสำคัญจาก "คดีชั้น 14" ของ ทักษิณ ระหว่างศาลฎีกาฯ ไต่สวนนัด 3 ถามพยาน 9 ปาก
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดศาลไต่สวน "คดีชั้น 14" เป็นนัดที่ 3 โดยพยานปากสำคัญของวันนี้คือ พัศดีเวร ผู้อนุมัติให้นายทักษิณ ชินวัตร ย้ายออกไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ หลังจากนั้นอดีตนักโทษชายเด็ดขาดชาย (น.ช.) รายนี้ก็ไม่ได้กลับเข้าเรือนจำอีกเลย นอกจากนี้ยังมีบรรดา "ผู้คุม" ที่อยู่ร่วมขณะเคลื่อนย้ายตัวอดีตนายกฯ จากเรือนจำไป รพ. และยังเข้าเวรติดตามอาการต่อเนื่อง
พยานบุคคลที่ศาลเรียกมาเบิกความในวันนี้ (8 ก.ค.) มีทั้งสิ้น 9 ปาก ทั้งหมดเป็นข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่อนุมัติ ควบคุมตัวผู้ต้องขังจากศาลฎีกา ถ.ราชดำเนินใน ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยัง รพ.ตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมตัวและติดตามอาการขณะผู้ต้องขังพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ นาน 6 เดือน (ส.ค. 2566-ก.พ. 2567)
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของนายกรัฐมนตรี ถูกพิพากษาโดยศาลฎีกาฯ สั่งให้รับโทษจำคุกรวมระยะเวลา 8 ปี จาก 3 คดีทุจริต ต่อมาเขาได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาและได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี กระทั่งเดือน ก.พ. 2567 ผู้ต้องขังสูงวัยเข้าเกณฑ์ "พักโทษ" ได้ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ จึงได้ย้ายออกจาก รพ.ตำรวจ ไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ถ.จรัญสนิทวงศ์ ในฐานะผู้ถูกคุมประพฤติตามมาตรการพักโทษ ก่อนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ในอีก 6 เดือนต่อมา
การไต่สวนในวันนี้ใช้เวลา 4 ชม. 40 นาที (ไม่นับรวมเวลาพักเที่ยง) และถือเป็นนัดแรกที่ฝ่ายโจทก์คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอซักถามพยานเพิ่มเติม หลังจาก 2 นัดก่อนหน้านี้ ไม่ได้เสนอคำถามต่อศาล มีเพียงทนายของฝ่ายจำเลยเท่านั้นที่ขอซักถามเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มีคำเบิกความของพยานบางส่วนไม่ตรงกันในหลายประเด็น ทั้งในกลุ่มพยานที่ขึ้นเบิกความในวันนี้ และพยานที่เบิกความไปก่อนหน้านี้ แต่บีบีซีไทยไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาล
ศาลกำชับให้คู่ความและผู้เข้ารับฟังการพิจารณาคดี "งดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน" ตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด หลังปรากฏว่ายังมีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีและผู้สื่อข่าวบางรายนำคำเบิกความพยานไปโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ
ในการไต่สวนนัดหน้าวันที่ 15 ก.ค. ศาลแจ้งว่า จะไม่อนุญาตให้ "จดบันทึกคำเบิกความ" แต่อนุญาตให้เข้าฟังได้
"การนำเสนอข่าวขอให้เป็นภาพรวม เข้าใจว่าเป็นที่สนใจของประชาชน แต่คดีอยู่ระหว่างการไต่สวน ศาลยังคงไว้ซึ่งการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพราะต้องการให้เกิดความโปร่งใส แต่สื่อมวลชนก็ต้องให้ความร่วมมือกับศาลด้วย" หัวหน้าองค์คณะชี้แจงก่อนกระบวนการไต่สวนจะเริ่มขึ้นในเวลา 09.08 น.
บีบีซีไทยจึงขอสรุปประเด็นสำคัญจากการให้ข้อมูลของพยานทั้ง 9 ปาก และให้บริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับพยานตามข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะก่อนการไต่สวนนัดนี้
พัศดีเวร
นายสัญญา วงค์หินกอง เจ้าพนักงานราชทัณฑ์อาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ส่วนบริหารงานทั่วไป เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วัย 51 ปี ขึ้นเบิกความเป็นปากแรก โดยใช้เวลา 30 นาที
ในวันเกิดเหตุ เขาเป็นพัศดีเวร ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ขณะส่งตัวนายทักษิณไป รพ.ตำรวจ ในคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566 ภายหลังได้รับรายงานจากหัวหน้าเวร และพยาบาลเวรในสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณในเวลาราว 22.00 น. และเป็นผู้อนุมัติให้ย้ายผู้ต้องขังไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ โดยอ้างความเห็นคำวินิจฉัยของแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลเรือนจำ และทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ เจ้าของ "ใบส่งตัวล่วงหน้า", นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร และนายสัญญา พัศดีเวร ถูกไต่สวนความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ได้ไปพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ โดยทั้ง 3 คนนี้ล้วนถูกศาลฎีกาฯ เรียกมาไต่สวนในฐานะพยานในคดีนี้
ประเด็นสำคัญจากการไต่สวนพยานปากนี้คือ ขั้นตอนการอนุมัติส่งตัวนายทักษิณไปรับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ, ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ, การตรวจสอบอาการป่วยของนายทักษิณ
หัวหน้าเวร
พยานคนต่อมาที่ขึ้นเบิกความคือ นายสมศักดิ์ บุดดีคำ นักทัณฑวิทยาชำนาญการ ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วัย 58 ปี
ในวันเกิดเหตุ เขาปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยพัศดีเวร หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นหัวหน้าเวรคนที่ 1 ซึ่งนั่งประจำห้องพัศดีเวร จึงเป็นผู้รับเรื่องจากพยาบาลเวร ก่อนรายงานตรงไปยังพัศดีเวร
ศาลไต่สวนพยานรายนี้ในประเด็นขั้นตอนการส่งตัวนายทักษิณไปที่ รพ.ตำรวจ ทั้งเรื่องการตรวจสอบอาการป่วย และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้คุมที่นั่งรถพยาบาลกับทักษิณ จากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ
พยานชุดต่อมาที่ศาลเรียกมาไต่สวนในวันนี้คือ บรรดาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่ "ผู้คุม" ขณะเคลื่อนย้ายตัวนายทักษิณออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยัง รพ.ตำรวจ ชั้น 14 กลางดึกของ วันที่ 22 ส.ค. 2566 โดยมีพยานที่นั่งร่วมรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถตู้) ของเรือนจำขึ้นเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย
นายจารุวัฒน์ เมืองไทย นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ประจำเรือนจำกลางอุบลราชธานี ในวันเกิดเหตุ เขามีตำแหน่งเดียวกัน แต่ยังประจำการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไป รพ.ตำรวจ และยังได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ หลังจากนั้นด้วย
นายธีระศักดิ์ คงหอม หัวหน้างานตรวจค้น ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันเกิดเหตุ เขาเป็นหัวหน้างานบุคคล ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไป รพ.ตำรวจ และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ หลังจากนั้นเช่นกัน
นายเทวรุทธ สุนทร ผอ.ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จ.ระยอง ในวันเกิดเหตุ เขามีตำแหน่งเป็น ผอ.ส่วนควบคุมผู้ต้องขังไปศาล ได้รับมอบหมายให้รับตัวผู้ต้องขังจากศาลฎีกาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอนกลางวัน และได้รับคำสั่งให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และพยาบาลเวรส่งตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไป รพ.ตำรวจ ตอนกลางคืน

ทักษิณ ชินวัตร ถูกย้ายตัวจากเรือนจำไปรักษาอาการที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ ตั้งแต่เวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2566
ในการไต่สวนพยาน 2 ปากแรก ศาลซักถามในประเด็นเดียวกัน โดยลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดในการเคลื่อนย้ายนายทักษิณจากห้องกักโรคภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนขึ้นรถพยาบาล จนไปถึง รพ.ตำรวจ, ขั้นตอนการคุมตัวและติดตามอาการของนายทักษิณขณะพักอยู่ที่ชั้น 14, ขั้นตอนและระเบียบการเข้าเยี่ยมของญาติและบุคคลอื่น, รายละเอียดของห้องพักชั้น 14
อย่างไรก็ตาม ศาลต้องใช้เวลาราว 1 ชม. ในการไต่สวนพยานปากนายจารุวัฒน์ โดยศาลเตือนหลายครั้งให้ตอบให้ตรงคำถาม และขอให้เบิกความให้ชัดเจนตามความเป็นจริง
ส่วนการไต่สวนนายเทวรุทธ อดีต ผอ.ส่วนควบคุมผู้ต้องขัง ศาลไต่สวนในประเด็นอาการของนายทักษิณขณะที่พยานพบเห็น, รายละเอียดในการเคลื่อนย้ายนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปถึง รพ.ตำรวจ
ผู้คุมเข้าเวรช่วงพักอยู่ชั้น 14
ส่วนพยานกลุ่มสุดท้ายที่ขึ้นไต่สวนในนัดนี้ เป็น "ผู้คุม" เช่นกัน แต่พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับนายทักษิณในช่วงที่พักรักษาตัวอยู่บนชั้น 14 นาน 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ "ผู้คุม" จะมีครั้งละ 4 นาย สลับกันเฝ้า 2 กะคือ เวลา 08.30-16.30 น. และเวลา 16.30-08.30 น. โดยมีหลักฐานการเข้าเวรในสมุดบันทึกประจำวัน และเอกสารการเบิกค่าอยู่เวร
สำหรับพยานอีก 4 คนที่ศาลเรียกมาไต่สวนในวันนี้ ประกอบด้วย
นายนพรัตน์ ไกรแสวง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ
นายเจนวิทย์ เรือนคำ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการ เรือนจำ จ.อุดรดิตถ์ ในวันเกิดเหตุ ยังประจำการอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ
นายศิวพันธุ์ มูลกัน เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการ เรือนจำ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในวันเกิดเหตุ ยังประจำการอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ
นายนิภัทร์ชล หินสุข เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ
ประเด็นสำคัญจากการไต่สวนพยานกลุ่มนี้ ได้แก่ ขั้นตอนการคุมตัวและติดตามอาการของนายทักษิณขณะพักอยู่ที่ชั้น 14, ขั้นตอนและระเบียบการเข้าเยี่ยมของญาติและบุคคลอื่น, รายละเอียดของห้องพักชั้น 14, รายละเอียดเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นขณะนายทักษิณพักอยู่ชั้น 14
ศาลยังไม่ให้ไต่สวนลับตามคำขอของทนายทักษิณ
ศาลฎีกาฯ ตั้งองค์คณะ 5 คนให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง "คดีชั้น 14" หลังความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้
ถึงขณะนี้มีพยานบุคคลขึ้นเบิกความแล้ว 15 ปาก จากการไต่สวน 3 นัด และศาลยังมีกำหนดนัดไต่สวนพยานบุคคลอีกอย่างน้อย 4 นัด ในวันที่ 15 ก.ค. จำนวน 6 ปาก, 18 ก.ค. จำนวน 2 ปาก, 25 ก.ค. ยังไม่ระบุชื่อพยาน และ 30 ก.ค. ยังไม่ระบุชื่อพยาน
ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานรวม 10 ปาก ทว่าบางส่วนเป็นพยานที่ศาลเรียกมาเบิกความแล้ว จึงเหลือพยานที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ใช้คำว่าเป็น "พยานสำคัญและมีส่วนที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงต่อศาลเพิ่มเติม" ราว 3 ปาก ซึ่งถ้าศาลไม่มีหมายเรียกพยานเพิ่มเติม เขาคาดว่าจะนำพยานจำเลยขึ้นเบิกความได้ 30 ก.ค. แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

วิญญัติ ชาติมนตรี ได้รับมอบอำนาจจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ให้มาร่วมรับฟังการไต่สวนของศาล
ในระหว่างอยู่ในห้องพิจารณาคดี นายวิญญัติได้แจ้งความกังวลใจต่อศาล โดยเอ่ยถึงนาม นพ.วรงค์ (เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี) ว่าได้นำคำถามของศาลไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นดาบสองคมหรือไม่ ศาลจึงได้เน้นย้ำคำสั่งห้ามผู้สื่อข่าวและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีเผยแพร่เนื้อหาคำเบิกความ และกำชับให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
นายวิญญัติกล่าวยอมรับว่า เป็นคนยื่นคำร้องขอให้ศาลออกข้อกำหนดทั้งเรื่องการห้ามโฆษณาเผยแพร่คำเบิกความ, การจำกัดบุคคลเข้าฟังการไต่สวน, การขอให้ไต่สวนในทางลับ เนื่องจากครั้งที่แล้ว มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แล้วบุคคลต่าง ๆ ได้นำข้อมูลการไต่สวนของศาลไปวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่าง ๆ ทั้งที่คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวน ทำให้เกิดความสับสน ศาลจึงมีคำสั่งให้งดเว้นการนำเสนอในลักษณะนี้ ส่วนการจำกัดคนเข้าฟังการพิจารณาคดี และการไต่สวนในทางลับ ศาลเห็นว่ายังไม่ควรใช้มาตรการนี้
"เข้าใจว่าทุกคนอยากรู้ เพราะเป็นคดีประวัติศาสตร์ แต่เพราะมีเหตุการณ์ ก็เลยต้องเสนอให้ปิดลับ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ ก็ไม่มีคำขอนี้" ทนายความอดีตนายกฯ คนที่ 23 กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทนายวิญญัติยืนยันด้วยว่า ลูกความของเขาไม่ได้กังวลใจอะไรในรูปคดี
หมอวรงค์ขอพูดความในใจ "ฟังแล้วหนาวเลย"
ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนนัดที่ 3 ของ "คดีชั้น 14" อดีตนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งถือเป็น "ขาประจำ" ที่มาร่วมติดตามกระบวนการในศาล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเพิ่มความระมัดระวังในการเอ่ยถึงข้อมูลที่ได้จากการเบิกความของพยาน
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แสดงความเห็นว่า "แปลกใจที่บอกมีการเปลี่ยนห้องไปมา และมีการตรวจ ไม่แน่ใจว่าใช่แพทย์หรือไม่"
ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ได้ขอพูดความในใจนิดหนึ่ง โดยบอกว่า "ฟังแล้วหนาวเลย ก็ขอให้สื่อไปพิจารณาเอาเอง"
https://www.bbc.com/thai/articles/c89e8lkjk23o