Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร15 hours ago
·
[ นิรโทษกรรมที่ลักลั่น คือการให้อภัยที่เลือกปฏิบัติ มีแต่จะเป็นลิ่มตอกให้ความขัดแย้งร้าวลึก ]
……………………………………………………..

ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติในทุกสังคม เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีภูมิหลัง ประสบการณ์ และชุดความเชื่อที่หลากหลาย ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถทำให้ประชาชนทั้งหมดมีความเห็นทางการเมืองที่เหมือนกันได้ แม้ในกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะเห็นตรงกัน ก็อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน หรือเมื่อเวลาผ่านไป ความคิดที่เคยสอดคล้องกัน ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของชีวิตและสถานการณ์แวดล้อม เป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นที่หลากหลายโดยไม่ผลักใครออกไป
.

อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรม อาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเมื่ออำนาจรัฐไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกอย่างเสรี ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทย เช่น การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนนำไปสู่การสืบทอดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ส่งผลให้กฎหมายบางมาตราถูกใช้เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างมากกว่าที่จะใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม
.

เมื่อกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือแห่งความขัดแย้งการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดการกับประชาชนที่เห็นต่าง โดยไม่คำนึงถึงบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองหรือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กลับกลายเป็นการตอกลิ่มความไม่ไว้วางใจ และสร้างบาดแผลทางสังคมที่ลึกขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะเป็นเครื่องมือสร้างความสงบ กฎหมายจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการสมานฉันท์ และยิ่งทำให้ความขัดแย้งฝังรากลึกในสังคม
.

ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ควรถูกจองจำหรือถูกริบเสรีภาพ ความเห็นต่างโดยสุจริต โดยเฉพาะต่อผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย จึงควรถูกมองว่าเป็น “คดีการเมือง” และสมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง และคืนความไว้วางใจให้แก่สังคม
.

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสะท้อนว่า การนิรโทษกรรมในอดีตมักมุ่งเน้นไปที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือคณะรัฐประหาร ส่วนประชาชนที่ได้รับนิรโทษกรรมนั้น มักเป็นเพียงส่วนพ่วง เช่นในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516, พฤษภา 35 หรือปี 2521 ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการนิรโทษกรรมอย่างแท้จริง นี่จึงสร้างวัฒนธรรม “ลอยนวลพ้นผิด” ให้แก่ผู้ใช้อำนาจรัฐที่กระทำการละเมิดอย่างร้ายแรง โดยไม่ต้องรับผิดใด ๆ
.

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่เสนอโดยคุณชัยธวัช ตุลาธน ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการให้ความสำคัญกับการให้อภัยประชาชนทุกฝ่ายในทุกเหตุการณ์ทางการเมือง โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงต่อประชาชน ตลอดจนผู้กระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น การจำแนกเช่นนี้จะช่วยปลดล็อกความขัดแย้ง สร้างบรรยากาศแห่งการให้อภัย และนำไปสู่สังคมที่เคารพความหลากหลายโดยไม่ปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจเกินขอบเขตลอยนวล
.

ผมเข้าใจดีถึงความกังวลต่อการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏยืนยันว่า การดำเนินคดีเหล่านี้มิได้มีมาตรฐานคงที่ตลอดเวลา กลับสะท้อนความสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอย่างชัดเจน
.

ยุคแรก (หลังรัฐประหาร 2549): มีการดำเนินคดีอย่างเข้มข้น รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
.

ยุคสอง (หลังเปลี่ยนรัชกาล): เกิดการ “ล่าแม่มด” ทางสังคม โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้คิดต่าง
.

ยุคสาม (ปี 2560–2563): หยุดใช้มาตรา 112 โดยเปลี่ยนไปใช้มาตราอื่นแทน
.

ยุคสี่ (ปลายปี 2563 เป็นต้นมา): กลับมาใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางอีกครั้งภายหลังท่าทีเปลี่ยนไปของผู้นำรัฐบาล
.

การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งชี้ว่า คดีมาตรา 112 จำนวนมากมีลักษณะของ “คดีการเมือง” ซึ่งควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนมาก
.

ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคุณชัยธวัชได้เสนอให้มี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ” ขึ้นพิจารณาความเหมาะสมของการนิรโทษกรรมเป็นรายกรณี ซึ่งจะช่วยกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านเจตนา พฤติการณ์ องค์ประกอบของคดี และบริบททางการเมือง เพื่อให้การให้อภัยมีความยุติธรรมและเกิดความสมานฉันท์ที่ยั่งยืน
.

หากการนิรโทษกรรม มีการยกเว้นคดีมาตรา 112 ออกไปโดยไม่พิจารณาเหตุผลในแต่ละกรณีอย่างรอบด้าน และอ้างเพียงว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาจกลายเป็นการผลักให้ประชาชนผู้เห็นต่างไปอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่ง แทนที่จะอยู่ร่วมรวมกันโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชนในระยะยาว
.

การใช้ความเข้าใจผิดเช่นนี้อ้างสถาบันเพื่อปิดกั้นการไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล จึงยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับประชาชนเปราะบางขึ้นโดยไม่จำเป็น และอาจก่อให้เกิดผลที่ระคายเคืองต่อน้ำพระทัยที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อพสกนิกรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการตัดสินใจที่ขลาดเขลาของสภาผู้แทนราษฎรเลย
.

ดังนั้น การนิรโทษกรรมที่เหมาะสมควรมุ่งเน้นไปที่ประชาชนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจอย่างโหดร้าย การแบ่งแยกนี้มีความสำคัญ เพราะจะทำให้สังคมคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ผลิตซ้ำวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ทั้งยังเป็นการเดินหน้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างมั่นคงสถาพรสืบไป
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1241481421101743&set=a.424755022774391