วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 01, 2568

การเมืองบ้านใหญ่ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ไขรหัสอิทธิพล ‘บ้านใหญ่’ ต่อแต่นี้ไปจะจางลง หรือยังคงอยู่


เวียงรัฐ เนติโพธิ์: ไขรหัสอิทธิพล ‘บ้านใหญ่’ ต่อแต่นี้ไปจะจางลง หรือยังคงอยู่

30 ม.ค. 68
Thairath Plus

คิดเห็นอย่างไรที่มีกระแสพูดถึงการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ว่าจะเป็นสารตั้งต้นของการเมืองปี 2570

มีผลแน่นอน อย่างที่บอกว่า อบจ. ได้พรรคไหน พรรคนั้นจะมีโอกาสเยอะ เช่น เชียงใหม่ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยได้ สส. มา 2 ที่นั่ง พรรคประชาชนได้ สส. มา 7 ที่นั่ง ถ้า อบจ. รอบนี้เป็นของพรรคประชาชน ก็จะพอคาดคะเนได้ว่าสามารถรักษาไว้ได้ 7 ที่นั่งหรืออาจจะเพิ่มมากขึ้น แต่ว่าไม่น่าจะน้อยไปกว่าเดิม

แต่ถ้าเพื่อไทยได้ อบจ. เชียงใหม่ขึ้นมา เขาก็จะรู้สึกว่าครั้งหน้าเขามีลุ้นมากขึ้น แปลว่าคนยังไม่ได้รังเกียจเพื่อไทยขนาดนั้น อีกอย่างหนึ่งคือที่พรรคเพื่อไทยชอบพูดตอนไปหาเสียงว่า ถ้าได้ทำงานด้วยกัน โครงการที่เรามีอยู่จะได้ทำงานประสานกันไป มันแสดงให้ประชาชนเห็นว่านโยบายรัฐบาลเพื่อไทย กับ อบจ. สอดคล้องกัน อันนี้ถ้าเห็นผลจริงและได้ประโยชน์กับชาวบ้านจริง พรรคเพื่อไทยก็จะได้เปรียบ

ส่วนของพรรคภูมิใจไทย ถ้าเขาได้ อบจ. เขาก็มีโอกาสเพิ่มที่นั่งในจังหวัดนั้นๆ

ดังนั้นการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้มีผลต่อภาพการเมืองใหญ่ปี 2570 แน่นอน แต่ก็เป็นเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็ต้องเห็นผลงานด้วย

คิดว่าการกระจายอำนาจในแบบที่ไม่ต้องมีส่วนกลางมาครอบงำอย่างในปัจจุบัน จะมีส่วนช่วยในการลดอิทธิพลของระบบบ้านใหญ่บ้างหรือไม่

อาจารย์ก็คิดว่าอย่างนั้นนะ แต่ต้องพูดในบริบทที่ว่า ‘ถ้าเรามีการกระจายอำนาจเต็มที่บทบาทของข้าราชการจะน้อย’

ให้นึกภาพว่า สมมติว่าคุณเป็นนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างท้องถิ่น คุณรับเหมาโครงการมาจาก อบจ. ซึ่งถ้าคุณไม่มีเส้นสายกับราชการเลยคุณจะมีปัญหา คุณอาจจะมีปัญหากับผู้ว่าราชการจังหวัด คุณอาจจะมีปัญหากับกระทรวงทรัพยากร ว่าไปตัดผ่านพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะว่าส่วนกลางยังมีอำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ คุณมีปัญหาแน่นอน

เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีอิสระเต็มที่ในการตัดสินใจในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่มีส่วนกลางเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีผู้ว่าฯ ไม่มีนายอำเภอ อันนี้จะกลายเป็นเรื่องนโยบายชัดๆ แล้ว ฉะนั้นพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำนโยบายได้ดีโดยไม่ต้องใช้เส้นสายเจรจาก็จะทำผลงานได้เต็มที่ในบริบทที่ระบบราชการไม่ค่อยมีอำนาจในภูมิภาคนอกศูนย์กลาง

ในญี่ปุ่น ส่วนกลางมีอำนาจเรื่องความมั่นคง มีอำนาจเรื่องการค้าระหว่างประเทศ มีอำนาจเรื่องการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ เวลาเขาหาเสียงเขาจึงพูดเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เพราะว่า สส. และรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบายใหญ่ๆ ส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่อง ถนน โรงเรียน น้ำสะอาด ฯ พอเป็นแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องของกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองที่ทำนโยบาย บ้านใหญ่ไม่มีความหมายเลย

อีกอย่างหนึ่ง พอระบบราชการไม่มีความหมาย เลยทำให้คุณสามารถเสนอนโยบายที่ดีกว่าและเข้าไปทำได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเส้นสายที่คอยแก้ปัญหาอะไรให้ชาวบ้านมาก่อน

แต่เมืองไทยระบบราชการนี่เปลี่ยนยาก ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนคุณก็จะถูกโละ อาจารย์คิดว่าทักษิณพยายามจะเปลี่ยนตรงนี้ เพราะทำงานยาก พรรคการเมืองจะเติบโตขึ้นไปได้ต้องทะลุอำนาจรัฐที่เยอะมากๆ แล้วพอถูกรัฐประหารไป 2 ครั้ง ข้าราชการก็ยิ่งกลับมามีอำนาจมาก


ดังนั้นการที่บอกว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นการกระจายอำนาจเต็มที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ทะลุทะลวงไป ระบบราชการนี่เป็นเรื่องใหญ่เลยล่ะ

แล้วอาจารย์คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

มันเห็นได้จากการที่มีการกระจายอำนาจในปี 2540 มีการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง อาจารย์คิดว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบอุดมคติ ไอเดีย และ movement

กระบวนการเยาวชนในปี 2563 และ 2-3 ปี ของการเคลื่อนไหว ก็เป็นการผลักดันของกระบวนการประชาชนจริงๆ สิ่งนี้มันเปลี่ยนไอเดียคนไปแล้ว คนเข้าใจอะไรเยอะขึ้น อันนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

แต่ในเรื่องของพรรคการเมืองยังต้องการการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงประเทศโดยการทำให้คนหายจน ให้คนรวยกระจายเงิน มันต้องเป็นนโยบาย นโยบายจะสำเร็จได้ต้องทำผ่านพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และพรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ มันอยู่บนตระกูลไม่ได้ แต่ต้องอยู่บนองค์กรของพรรค คือการสร้างพรรคให้มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง ต้องมีคนที่เป็นหน่วย think tank หน่วยคัดสรรคนอย่างเป็นระบบ


"ทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ จะต้องสร้างความเป็นพรรคให้เข้มแข็ง ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าของพรรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนบริหารไม่กี่คน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สร้างนโยบายที่ดี เข้าไปมีอำนาจรัฐ และค่อยๆ เปลี่ยน อันนี้แหละคือการเปลี่ยนโครงสร้าง"


ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้ปฏิวัติล้มโครงสร้าง ถ้าเกิดปฏิวัติล้มโครงสร้างด้วยขบวนการเคลื่อนไหวแบบบอลเชวิค แบบจีน ในที่สุดแล้วก็เป็นเผด็จการรัฐ แต่ถ้าจะเปลี่ยนภายใต้ระบบทุนนิยม และระบบประชาธิปไตย ก็ต้องสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง

ตอนนี้มันคือยุคหลังรัฐประหาร เราต้องกลับมากอบกู้ความเป็นสถาบันทางการเมือง การเลือกตั้ง พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ให้มันเข้มแข็งขึ้นก่อน

ท้องถิ่นก็พยายามหาแนวทางพัฒนาพื้นที่อย่างมาก เช่น การจัดการขยะแบบมี นวัตกรรม การวางผังเมือง มีวงออร์เคสตรา มีโรงเผาขยะที่ใช้เทคโนโลยีสูง แต่มันก็ยังไปตันที่ ป.ป.ช. แต่อาจารย์คิดว่ามันจะดีขึ้น พอมีการเลือกตั้งระบบการเมืองจะเอื้อให้เราเดินหน้าไปข้างหน้าได้

เราต้องเชื่อมั่นในการเลือกตั้งและค่อยๆ เดินไปข้างหน้า ครั้งนี้อาจจะบ้านใหญ่ ครั้งต่อไปบ้านใหญ่จะถูกบีบให้สะอาด ถูกแซงหน้าด้วยคู่แข่งที่มีความสามารถมากกว่า เพราะฉะนั้นขอแค่มีการเลือกตั้งต่อมันจะลงตัวกว่านี้

อาจารย์มองแนวโน้มการดำรงอยู่ของบ้านใหญ่ไว้อย่างไรหลังจากนี้

คิดว่าขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดนี้ และการทำงานของ อบจ. ถ้าพยายามเต็มที่ ทำงานให้แข็งขัน การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับผลงาน ขึ้นอยู่กับนโยบาย ขึ้นอยู่กับ branding ของพรรคที่สามารถทำนโยบายได้สำเร็จ

สมมติว่าถ้าพรรคเพื่อไทยทำนโยบายได้สำเร็จจริง ตัวพรรคก็จะได้เปรียบมากกว่าบ้านใหญ่ ก็จะมีอำนาจต่อรองที่จะไปเลือกคนที่เก่งกว่าได้ มีหลายที่นะที่เป็นบ้านใหญ่แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ แต่พรรคก็ไม่สามารถเอาใครก็ไม่รู้มาลงแล้วหวังให้ชนะได้ ดังนั้นมันอยู่ที่ว่าหากพรรคมีอำนาจเต็มที่ มีความเป็นสถาบันที่ชัดเจน ก็สามารถเลือกคนได้

อาจารย์อยากเห็นการเมืองแบบที่พรรคการเมืองเข้มแข็ง อาจจะไม่ต้องใหญ่แบบเดิม แต่พรรคประชาชนเข้มแข็ง พรรคเพื่อไทยเข้มแข็ง พรรคภูมิใจไทยเข้มแข็ง และพรรคเหล่านี้แหละจะคัดคนที่เก่ง ไม่ใช่ครอบครัวที่ใหญ่ แต่ตอนนี้พรรคมันอ่อนแอ ตระกูลก็เลยสำคัญกว่าเสื้อพรรค

อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม
https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105135