iLaw
8 hours ago
·
#สว67 เป็นตัวแทนของใคร? สรุประบบ “แบ่งกลุ่ม”-“เลือกกันเอง” สร้างความสับสน ผู้ชนะเกาะกลุ่มกินรวบ
.
สว. ชุดปัจจุบันที่เริ่มทำงานในปี 2567 มาจากระบบการ “แบ่งกลุ่ม” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัครตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.สว.ฯ) ที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ วาดฝันไว้ว่า จะสร้างระบบเพื่อกำจัดอิทธิพลของ "นักการเมือง" ออกจากสว.
.
ระบบอันพิศดารจึงออกออแบบมาโดยวางคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเอาไว้มากมาย และสร้างกลไกการเลือกให้สลับซับซ้อนหลายชั้น มีการเลือกสามครั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีทั้งการ “เลือกกันเอง” ระหว่างผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน และการ “เลือกไขว้” ลงคะแนนให้กลุ่มอื่นซึ่งต้อง “จับสลาก” แบ่งสาย โดยหวังให้ผู้สมัครไม่อาจรู้มาก่อนว่าตัวเองจะได้เลือกใคร และไปตัดสินใจหน้าคูหา เพื่อป้องกันการ “จัดตั้ง” ซื้อเสียงโดยคนที่มีอิทธิพลทางการเมือง
.
ระบบการเลือกเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานของการไม่ไว้วางใจประชาชนว่าจะสามารถตัดสินใจได้ จึงพยายาม “ปิดกั้น” การมีส่วนร่วม และโยนภาระให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทั้งอำนาจและหน้าที่ออกแบบรายละเอียดวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามที่ผู้ร่างตั้งใจไว้ คือ เป็นพื้นที่ให้ "คนดี-เด่น-ดัง" คนที่ได้รับกายอมรับอย่างกว้างขวางจากทุกสาขาอาชีพได้รับเลือก
.
ความซับซ้อนและขาดการมีส่วนร่วมส่งผลให้ที่มาของสว. จากระบบเช่นนี้ขาดความเป็นตัวแทนและความรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้สมัครในสนามนี้ไม่ได้เป็นทั้งตัวแทนของวิชาชีพหรือพื้นที่อย่างแท้จริง และไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ของการใช้งานระบบนี้ในครั้งแรก จากผู้ได้รับเลือก 200 คน พบผลคะแนนในการเลือกที่เกาะกลุ่มกันจนผิดปกติ และเชื่อมโยงกับอิทธิพลทางการเมืองในระดับจังหวัดอย่างชัดเจน จึงพิสูจน์ได้แล้วว่า ระบบการได้มาซึ่งสว. แบบพิเศษนี้ ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ออกแบบระบบวาดฝันไว้ และยังเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจการตัดสินใจควรต้องอยู่ในมือของประชาชน
.
.
