เจาะลึก "ทหารแตงโม" คือใคร ช่วยเสริมกำลังกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมาอย่างไร
รีเบคกา เฮนช์เก, โค โค อ่อง, แจ็ก อ่อง และทีมงานด้านข้อมูลข่าวสาร
แผนกข่าวสืบสวนบีบีซีอาย และบีบีซีเวริฟาย
31 มกราคม 2025
จากการตรวจสอบของบีบีซีพบว่า กองทัพเมียนมาที่เคยแข็งแกร่งกำลังแตกร้าวจากภายใน เพราะเต็มไปด้วยสายลับที่ทำงานให้กลุ่มกบฏที่สนับสนุนประชาธิปไตย
ฝ่ายข่าวสืบสวนของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิสเผยว่า ตอนนี้กองทัพสามารถควบคุมพื้นที่ของเมียนมาได้เพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่เท่านั้น
คณะรัฐประหารยังคงควบคุมเมืองสำคัญต่าง ๆ อยู่ และยังคง "อันตรายอย่างมาก" ตามคำกล่าวของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเมียนมา แต่กองทัพได้สูญเสียดินแดนไปเป็นจำนวนมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ทหารสายลับเหล่านี้ถูกเรียกว่า "แตงโม" เพราะภายนอกแต่งตัวด้วยเครื่องแบบสีเขียว แต่ด้านในเป็นสีแดงของกบฏ หมายความว่าภายนอกนั้นดูจงรักภักดีต่อกองทัพ แต่แอบทำงานให้กับพวกกบฏที่สนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งมีสีแดงเป็นสัญลักษณ์
นายทหารคนหนึ่งที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ใจกลางของเมียนมากล่าวว่า ความโหดร้ายของกองทัพคือสิ่งที่ทำให้เขาเปลี่ยนฝ่าย
"ผมเห็นศพพลเรือนที่ถูกทรมาน ผมน้ำตาซึม" จ่อ (นามสมมุติ) กล่าว "พวกเขาทำสิ่งโหดร้ายกับคนของตัวเองได้อย่างไร เราควรที่จะปกป้องพลเรือน แต่ตอนนี้เรากลับฆ่าผู้คน มันไม่ใช่กองทัพอีกต่อไป แต่เป็นกองกำลังที่สร้างความหวาดกลัว"
สหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 20,000 คนถูกคุมขัง และมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ซึ่งก่อให้เกิดการลุกฮือต่อต้านขึ้น
ในตอนแรก จ่อคิดที่จะออกจากกองทัพ แต่เขาตัดสินใจร่วมกับภรรยาว่าการเป็นสายลับคือ "วิธีที่ดีที่สุดในการรับใช้การปฏิวัติ"
เมื่อใดที่เขาเห็นว่าปลอดภัย จ่อจะปล่อยข้อมูลภายในของกองทัพไปยังกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defense Forces - PDF) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มกองกำลังพลเรือน กบฏกลุ่มนี้ใช้ข้อมูลข่าวกรองเพื่อซุ่มโจมตีกองทัพหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตี นอกจากนี้ จ่อยังส่งเงินรายได้บางส่วนให้กับกลุ่มต่อต้านเพื่อที่พวกเขาจะนำไปใช้ซื้ออาวุธได้
สายลับอย่างเขาช่วยให้กองกำลังต่อต้านบรรลุสิ่งที่ครั้งหนึ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะสามารถทำได้
บีบีซีประเมินดุลอำนาจในหมู่บ้านกว่า 14,000 แห่งทั่วเมียนมาเมื่อกลางเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว และพบว่ากองทัพควบคุมดินแดนของเมียนมาได้เพียง 21% เท่านั้น หลังจากผ่านไปเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น
การสืบสวนนี้เผยให้เห็นว่า ขณะนี้กองทัพชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มควบคุมพื้นที่ของประเทศเมียนมาไว้ได้ถึง 42% ส่วนพื้นที่ที่เหลือส่วนมากยังอยู่ระหว่างการสู้รบแย่งชิง
แผนที่ประเทศเมียนมาแสดงดุลอำนาจในหมู่บ้าน 14,000 แห่ง กองทัพเมียนมายังคงควบคุมพื้นที่ภาคกลางไว้ได้ ซึ่งแสดงด้วยสีเขียวเข้ม นี่รวมถึงเมืองสำคัญ ๆ เช่น นครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย กลุ่มต่อต้านและกองทัพชาติพันธุ์หลายกลุ่มควบคุมพื้นที่รอบนอกส่วนใหญ่ไว้ได้ ซึ่งแสดงด้วยเส้นแรเงาสีแดง พื้นที่ที่เหลือซึ่งแสดงด้วยสีเขียวอ่อนบ่งชี้ถึงพื้นที่ที่ยังมีการแย่งชิงกันอยู่และมีการควบคุมของกองทัพอย่างจำกัด ส่วนพื้นที่ขนาดเล็กซึ่งแสดงด้วยสีเทานั้นไม่มีข้อมูล เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างออกไป
ปัจจุบันกองทัพเมียนมาควบคุมพื้นที่ได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาใด ๆ ก็ตามตั้งแต่ที่กองทัพเข้ายึดครองอำนาจเมื่อปี 1962 ตามข้อมูลของโครงการข้อมูลสถานที่และเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ (Armed Conflict Location and Event Data Project - Acled) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ปฏิบัติการที่มีการประสานงานระหว่างกองทัพชาติพันธุ์และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธพลเรือนทำให้กองทัพเสียเปรียบ
หลังจากสูญเสียดินแดนจำนวนมากเมื่อต้นปีก่อน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน ออง หล่าย ได้ยอมรับว่ากองกำลังของเขาอยู่ภายใต้แรงกดดัน
"วิน อ่อง" อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ทำหน้าที่ประสานงานกับสายลับ "แตงโม"
ข่าวกรองจากทหารแตงโมที่ปล่อยข้อมูลออกมาจากภายในกองทัพกำลังช่วยพลิกสถานการณ์การสู้รบ เมื่อสองปีก่อน กลุ่มต่อต้านได้จัดตั้งหน่วยพิเศษขึ้นเพื่อจัดการกับเครือข่ายสายลับที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อคัดเลือกสายลับเพิ่ม
สายลับอย่าง วิน อ่อง (นามสมมติ) รวบรวมข่าวกรองจากสายลับแตงโม และทำการตรวจสอบเท่าที่จะทำได้ จากนั้นจึงส่งต่อให้กับผู้นำกบฏในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
วิน อ่อง คืออดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่แปรพักตร์ไปร่วมกับกลุ่มต่อต้านหลังการรัฐประหาร เขากล่าวว่าตอนนี้พวกเขามีสายลับแตงโมใหม่ทุกสัปดาห์ และโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาคน
เขากล่าวว่าสายลับของพวกเขามีตั้งแต่ทหารชั้นผู้น้อยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง พวกเขายังอ้างด้วยว่ามีสายลับแตงโมอยู่ในรัฐบาลทหาร "ตั้งแต่ในกระทรวงลงมาถึงระดับกำนัน"
สายลับเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ใช่สายลับสองหน้า
แรงจูงใจในการมาเป็นสายลับของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ในกรณีของ จ่อ มันคือความโกรธ แต่สำหรับสายลับอีกคนที่ชื่อว่า "โม" ซึ่งเป็นสิบเอกในกองทัพเรือ มันคือความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดเพื่อครอบครัวและลูกตัวน้อย ๆ ของเขา
ภรรยาของเขาซึ่งกำลังตั้งครรภ์อยู่ในขณะนั้นบังคับให้เขาเข้าร่วมกลุ่มสายลับแตงโม โดยเชื่อว่ากองทัพเมียนมากำลังพ่ายแพ้และเขาอาจเสียชีวิตจากการสู้รบ
เขาเริ่มปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธและการเคลื่อนพลให้กับหน่วยสายลับแตงโม
เดวา ผู้นำกบฏที่สนับสนุนประชาธิปไตย กล่าวว่าข่าวกรองประเภทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เป้าหมายสูงสุดของหน่วยต่อต้านของเขาคือการควบคุมนครย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาและบ้านเก่าของเขา แต่มันยังเป็นการเดินทางที่ยาวไกล
กองทัพยังคงรักษาพื้นที่เมืองสำคัญส่วนใหญ่ไว้ได้ โดยเมืองเหล่านี้เป็นที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งรายได้ที่สำคัญ
แผนภูมิแท่งแสดงให้เห็นว่ากองทัพเมียนมาควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้เพียง 21% แต่กลับควบคุมพื้นที่ในเขตเมืองได้ถึง 59% ในขณะที่กลุ่มต่อต้านและกองกำลังชาติพันธุ์ควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด 42% แต่ควบคุมพื้นที่ในเขตเมืองได้เพียง 18% เท่านั้น
"การจะโจมตีและยึดครอง [ย่างกุ้ง] นั้น พูดง่ายกว่าทำจริง" เดวากล่าว "ศัตรูจะไม่ยอมเสียเมืองนี้ง่าย ๆ"
เมื่อไม่สามารถเจาะเข้าไปในเมืองได้ เดวาจึงสั่งการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมาย โดยกองกำลังใต้ดินในย่างกุ้งได้ใช้ข่าวกรองของสายลับแตงโมเป็นข้อมูลในการวางแผนโจมตี
ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ทีมงานบีบีซีได้เห็นเขาสั่งการการโจมตีครั้งหนึ่ง แม้ไม่ได้รับรู้รายละเอียดมากนัก แต่เราได้รับแจ้งว่านี่เป็นการสั่งการลอบสังหารนายพลคนหนึ่ง
"เราจะทำจากด้านในเขตการรักษาความปลอดภัยของศัตรู" เขากล่าวกับพวก "ระวังไว้ ศัตรูกำลังพ่ายแพ้จากทุกทิศทาง" โดยเดวาบอกกับบีบีซีว่า นี่หมายความว่าพวกกองทัพมีแนวโน้มที่จะเฝ้าระวังผู้บุกรุกและสายลับมากขึ้น
เดวากล่าวว่าการโจมตีครั้งใหญ่หลายครั้งโดยหน่วยของเขาเป็นผลมาจากเบาะแสจากสายลับแตงโม
"เราเริ่มต้นจากศูนย์ และตอนนี้ดูความสำเร็จเราสิ" เดวากล่าว
เดวาประสานงานการโจมตีกับกองกำลังต่อต้านโดยใช้ข้อมูลจากสายลับแตงโม
แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย สายลับแตงโมต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวจากทั้งสองฝ่าย จากคำบอกเล่าของโม สิบเอกทหารเรือที่ผันตัวมาเป็นสายลับ
เมื่อถูกส่งตัวจากย่างกุ้งไปยังรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนที่กองทัพกำลังต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าข้างฝ่ายต่อต้าน เขาต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าข่าวกรองที่เขาส่งไปอาจหมายความว่าตัวเขาเองก็มีสิทธิถูกโจมตี
ในเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว เรือที่ทอดสมออยู่ของเขาถูกยิงด้วยขีปนาวุธ ตามด้วยการยิงในที่โล่ง "ไม่มีที่ให้หนี เราเหมือนหนูที่อยู่ในกรง" เพื่อนทหารของเขาเจ็ดนายเสียชีวิตจากการโจมตีของฝ่ายกบฏ
"ความสามารถในการปกป้อง [สายลับแตงโม] ของเรามีจำกัดมาก" วิน อ่อง ยอมรับ "เราไม่สามารถประกาศต่อสาธารณะได้ว่าพวกเขาคือสายลับแตงโม และเราไม่สามารถหยุดกองกำลังของเราจากการโจมตีขบวนทหารใดขบวนหนึ่งได้"
เขามักอธิบายเช่นนี้กับสายลับแตงโม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้สายลับลังเล บางคนถึงกับตอบกลับว่า "เมื่อถึงเวลา อย่าลังเล ยิงเลย"
แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่สายลับเหล่านี้ไม่สามารถทนต่ออันตรายได้อีกต่อไป
เมื่อโมกำลังจะถูกส่งไปที่แนวหน้าที่อันตรายอีกแนวหนึ่ง เขาขอให้หน่วยสายลัยแตงโมลักลอบพาตัวเขาออกไปยังพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้าน โดยใช้เครือข่ายใต้ดินของวัดและบ้านพักหลบภัย
เขาออกเดินทางในคืนอันมืดมิด โดยในเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อเขาไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ทหารก็มาที่บ้านและซักถามภรรยาของเขาที่ชื่อ โช แต่เธอไม่ได้ปริปากบอกอะไร
หลังจากหลบหนีมาหลายวัน โมก็มาถึงฐานทัพแห่งหนึ่งของเดวา และเดวาได้ขอบคุณเขาผ่านการสนทนาทางวิดีโอ ก่อนจะถามว่าตอนนี้เขาอยากมีบทบาทอะไร โดยโมตอบว่า เนื่องจากเขามีครอบครัวซึ่งมีลูกเล็ก เขาจึงอยากมีบทบาทที่ไม่ใช่การสู้รบ แต่จะแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการฝึกทหารให้แทน
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาก็ได้ข้ามไปยังประเทศไทย โชและเด็ก ๆ ก็หนีออกจากบ้านเช่นกัน และหวังว่าในที่สุดจะได้ไปอยู่กับโมและสร้างชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย
กองทัพกำลังพยายามอย่างหนักที่จะยึดคืนดินแดนที่สูญเสียไป โดยได้ก่อเหตุระเบิดนองเลือดหลายครั้ง การมีเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยจีนและรัสเซียคือข้อได้เปรียบของกองทัพ และพวกเขารู้ดีว่ากลุ่มต่อต้านนั้นไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และกองทัพกำลังหาทางใช้ประโยชน์จากความแตกแยกระหว่างกลุ่มต่อต้านเหล่านี้
"ขณะที่คณะรัฐประหารกำลังสูญเสียการควบคุม ความโหดร้ายของพวกเขาก็เพิ่มมากขึ้น และยิ่งเลวร้ายลง การสูญเสียชีวิต ความโหดร้าย การทรมาน ทั้งอย่างตรงไปตรงมาและโดยอุปมาอุปมัย เมื่อพวกเขาสูญเสียพื้นที่ " ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าว
กองทัพยังดำเนินการกวาดล้างกลุ่มสายลับแตงโมอีกด้วย
"เมื่อผมได้ยินเรื่องการกวาดล้าง ผมก็นิ่งไปพักหนึ่ง" จ่อกล่าว เขาบอกว่าเขามักทำตัวเป็นผู้สนับสนุนกองทัพที่เหนียวแน่นเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าสายตา
แต่เขากลัวและไม่รู้ว่าจะซ่อนตัวได้นานแค่ไหน การออกจากกองทัพไม่ใช่ทางเลือกเพราะเขากังวลว่าจะต้องทิ้งพ่อแม่ที่แก่ชราของตัวเองไว้ ดังนั้นตอนนี้เขาจะยังคงทำหน้าที่เป็นสายลับแตงโมต่อไป โดยหวังว่าจะได้เห็นวันที่การปฏิวัติสิ้นสุดลง
หากวันนั้นมาถึง สายลับแตงโมอย่างจ่อและโมจะไม่ถูกลืม วิน อ่อง ให้คำมั่น
"เราจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีเกียรติ และจะให้สิทธิพวกเขาได้เลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการทำในชีวิตต่อไป"
กองทัพเมียนมาไม่ได้ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของบีบีซี
เกี่ยวกับข้อมูล:
นักวิจัยที่ได้รับมอบหมายจากบีบีซีได้สอบถามแหล่งข่าวจากหลายแหล่งตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. ถึง 13 พ.ย. 2024 เพื่อประเมินระดับการควบคุมของกองทัพในพื้นที่หมู่บ้านมากกว่า 14,000 แห่ง
ชื่อและเขตแดนของกลุ่มหมู่บ้านได้มาจากหน่วยจัดการข้อมูลเมียนมาร์ (Myanmar Information Management Unit - MIMU) ซึ่งจัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
ในทุกกรณี ทีมวิจัยได้พูดคุยกับแหล่งข่าวอย่างน้อยหนึ่งแหล่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับกองทัพหรือฝ่ายต่อต้าน เช่น นักวิชาการ พนักงานการกุศล นักข่าว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่
เมื่อแหล่งข่าวให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน แหล่งข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพหรือฝ่ายต่อต้านจะได้รับความสำคัญก่อน และอ้างอิงเพิ่มเติมกับรายงานของสื่อ
คำตอบถูกแบ่งออกเป็นสามหมวดหมู่ของการควบคุมที่เป็นไปได้:
- กองทัพควบคุม: มีทหารอยู่และเคลื่อนไหวอยู่ในภูมิภาค กองทหารดำเนินการบริหารส่วนท้องถิ่นหรือให้บริการสาธารณะบางอย่าง ซึ่งทั้งหมดทำงานตามปกติ
- พื้นที่ที่มีการแย่งชิง: มีกองทหารอยู่ในภูมิภาค แต่การควบคุมอย่างมีประสิทธิผลมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจรวมถึงพื้นที่ที่การบริหารทั่วไปและบริการสาธารณะไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หรือพื้นที่ที่กองทหารแบ่งการบริหารกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ที่กองกำลังต่อต้านสามารถเข้าและออกได้ และบริเวณที่เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังต่อต้าน
- กลุ่มต่อต้านและกองทัพชาติพันธุ์: กองกำลังทหารส่วนใหญ่ไม่อยู่ในพื้นที่และไม่ได้ปฏิบัติการภาคพื้นดินมานานกว่าสามเดือน บริการราชการต่าง ๆ อาจให้บริการโดยกองกำลังต่อต้าน กองทัพชาติพันธุ์ หรือรัฐบาลพลเรือน ซึ่งอาจได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังกบฏติดอาวุธ
รายงานเพิ่มเติมโดย เบ็คกี เดล, มัสคีน ลิดดาร์, ฟิล ลีค, คัลลัม ธอมสัน, ปิลาร์ โทมัส, ชาร์ลอตต์ แอตต์วูด และ เคลวิน บราวน์ การสนับสนุนด้านวิธีวิจัยโดยศาสตราจารย์ ลี โจนส์ จาก มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน
https://www.bbc.com/thai/articles/cx2mjlzrk8lo