
ภาพจากแนวหน้า
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร-Veerayooth Kanchoochat
18 hours ago
·
สองจุดบอดจีดีพีไทย = ยานยนต์ดิ่ง + นำเข้าจีนทะลัก
จีดีพีของไทยปี 2567 โต 2.5% รั้งท้ายอาเซียน ถ้าลงไปดูรายละเอียดจะพบจุดบอด 2 จุดสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามเป้า
อย่างแรกคือ “ภาคธุรกิจไม่ค่อยลงทุน” เพราะในขณะที่ตัวเลขอื่นขยับเป็นสีเขียว การลงทุนภาคเอกชนของเรายังหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้ทั้งปีรวมแล้วอยู่ที่ -1.6%
รายงานของสภาพัฒน์เองก็บอกต่อว่า ลงทุนหดก็เพราะภาคธุรกิจซื้อเครื่องจักรเครื่องมือลดลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์
ดังนั้น หากจะต้องเลือก “โฟกัส” อะไรสักอย่างที่จะช่วยปิดจุดบอดแรก
คำตอบจึงอยู่ที่ภาคยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่า 11% ของจีดีพี มีพลังขับเคลื่อนทั้งด้านบวกและด้านลบถึง 1 ใน 10 ของเศรษฐกิจไทย
ปี 66 ไทยผลิตรถ 1.83 ล้านคัน
ปี 67 ยอดผลิตลดลงเหลือแค่ 1.47 ล้านคัน หายไป 20% กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงวิกฤตโควิด
ถดถอยระดับ Fast & Furious เร็ว..แรงทะลุนรก
เราเห็นนโยบายรัฐขยับบ้าง จากที่เน้นอุดหนุนรถอีวีอย่างเดียว กลับมาช่วยไฮบริดมากขึ้นตอนปลายปี และมาตรการช่วยค้ำประกันเช่าซื้อรถที่กำลังจะออกมา
แต่ตัวแปรสำคัญยังอยู่ที่งบประมาณและทิศทางอนาคต
งบประมาณปี 68 ของไทยที่ลงไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นไม่น้อย มีถึง 8,600 ล้านบาท
ฟังดูสมน้ำสมเนื้อกับเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยใช่ไหมครับ
แต่พอไปดูเนื้อในของงบ ปรากฏว่าเกิน 90% คือการใช้เงินอุดหนุนคนซื้อรถอีวีรวมแล้ว 8,000 ล้าน
เหลืองบส่วนที่จะช่วยด้านพัฒนาทักษะการผลิต-ทักษะแรงงานเพียง 500 ล้าน หรือแค่ 7% ของงบด้านยานยนต์ที่ดูมหาศาล
เน้นเงินช่วยคนซื้อและผู้ขาย แต่งบสนับสนุนผู้ผลิตและแรงงานน้อยกว่ามาก
งบประมาณต้องสมดุล ดีมานด์-ซัพพลาย มากกว่านี้
แต่โจทย์ใหญ่สุดที่รัฐบาลต้องชัดเจนคือ ตกลงรัฐบาลจะดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปทางไหนกันแน่
ยังจะเป็น EV Hub ผลิตส่งออกโลกตามแผนเดิมได้จริงหรือ
จะย้ายผู้ผลิตกลุ่มไหนไปอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ช่างและวิศวกรรุ่นใหม่ควรมีทักษะด้านไหน
งบประมาณจะได้จัดสรรให้สอดคล้องกับทิศทางที่เราจะมุ่งไป
จุดบอดอีกจุดหนึ่งคือ “การค้าระหว่างประเทศ”
เรามักได้ยินแต่ข่าวดีเรื่องการส่งออกขยายตัว ซึ่งก็จริง จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ปี 67 การส่งออกไทยเติบโต 7%
แต่ข่าวที่ไม่ค่อยได้ยินคือ การนำเข้าของปี 67 ขยายตัวถึง 8% สูงกว่าการส่งออกเสียอีก
ทำให้รวมๆ แล้ว ไทยขาดดุลการค้าประมาณ -350,000 ล้านบาท (ตามฐานศุลกากร)
ถึงเราจะเกินดุลกับสหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย
ยังไงก็ถัวไม่พอกับยอดขาดดุลกับจีน ซึ่งปี 67 ทะยานขึ้นไปที่ -1.6 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ยอดนำเข้ามหาศาล ส่วนหนึ่งก็เข้าไปแทนที่การผลิตและการจ้างงานของกิจการในประเทศ
ความพยายามของรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณสินค้าขายกลับไปจีน จึงแทบไม่ได้บรรเทาปัญหาภาคการผลิตไทยเลย
ต่อให้การส่งออกจะขยายตัวแค่ไหน การนำเข้าก็ทะยานตามไปหักล้างอยู่ดี
ถึงจุดนี้ น่าจะชัดเจนแล้วว่าการแจกเงินหมื่นไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ
อัดเงิน 100 บาท ได้ผลกลับมาแค่ 10–30 บาทเท่านั้น
อาจเป็นการช่วยบรรเทากลุ่มเปราะบางชั่วคราว แต่ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน
จะแก้จุดบอดที่ฉุดจีดีพีไทย ควรโฟกัสที่ “ยานยนต์” กับ “สินค้านำเข้า”
ใช้สองเรื่องนี้เป็นจุดตั้งต้น ขยับต่อไปยังการศึกษา ทักษะแรงงาน นโยบายการค้าการลงทุน
ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ว่าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในซัพพลายเชนโลกที่เปลี่ยนไปและเกมภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=122181857936124432&id=61553732966651