วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 25, 2568

25 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนต้องคอยจับตา กับการประชุมคณะกรรมการของ ”กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (กคพ.) หรือ #ดีเอสไอ ว่าจะมีมติเห็นชอบให้รับข้อร้องเรียน “ฮั้วเลือกตั้งสว.” มาเป็นคดีพิเศษหรือไม่


iLaw
6 hours ago
·
25 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ประชาชนต้องคอยจับตา กับการประชุมคณะกรรมการของ ”กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (กคพ.) หรือ #ดีเอสไอ ว่าจะมีมติเห็นชอบให้รับข้อร้องเรียน “ฮั้วเลือกตั้งสว.” มาเป็นคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ หรือไม่ หลัง สว. ค่ายสีน้ำเงิน ประกบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ทยอยแถลงต่อต้านการตรวจสอบนี้ ระบุเหตุผลว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจ และเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองในการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ

ถ้าดีเอสไอตัดสินใจ “เดินหน้า” และองค์กรต่างๆ รับลูก จนทำให้ สว. จำนวนประมาณ 140 คน หรือเกินกว่าครึ่งของสภาหลุดจากตำแหน่งได้จริง ตัวสำรองก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนที่ หากเหลือตัวสำรองไม่พอก็อาจถึงขั้นต้องจัดการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่ และเหตุการณ์นี้ก็จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทยที่จำไม่ลืมอย่างแน่นอน

.
ในกฎหมายอาญา มีหลักการพิจารณาคดีที่สำคัญอย่างหนึ่งเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล คือ หลักห้ามดำเนินคดีอาญาซ้ำ (ne bis in idem) อันมีความหมายว่า บุคคลจะไม่ได้รับความเดือดร้อนซ้ำสองสำหรับการกระทำเดียวกัน ซึ่งในการดำเนินคดีอาญา ไม่ถูกดำเนินคดีจากข้อสงสัยเดียวกันหลายครั้งโดยหลายหน่วยงาน ผู้ดำเนินคดีจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

หน่วยงานที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีอำนาจโดยตรงในการสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับ “กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” โดยตรงก็คือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ #กกต

แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏตอบช่วงเวลาที่มีการจัดการเลือกสว. ว่า มีผู้สมัครสว. ยื่นเรื่องเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ต่อ กกต. มานานแล้ว และเป็นจำนวนหลายคดี ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนอยู่ ซึ่งมีการติดตามทวงถามกกต. หลายครั้งจนกระทั่งประกาศรับรองผลการเลือก และสว. ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่มาแล้วหลายเดือนการตรวจสอบของกกต. ก็ไม่คืบหน้า

กฎหมายยังตอกย้ำความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของ กกต. ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 42 วรรค 5 และมาตรา 49 หากตำรวจ ดีเอสไอ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดอาญา ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เห็นว่ามีมูลจะดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ก็สามารถทำได้ แต่กกต. มีอำนาจเหนือกว่าที่จะพิจารณาว่า คดีใดต้องการจะให้หน่วยงานอื่นดำเนินการหรือต้องการที่จะเอามาทำเอง ถ้า กกต. ต้องการดึงคดีทั้งหลายมาทำเองก็ยังสามารถออกคำสั่งให้โอนเรื่องมาไว้ในมือของกกต. เท่านั้นก็ได้

หากดีเอสไอ ตัดสินใจรับคดี “ฮั้วเลือกสว.” โดยใช้มูลเหตุฐานความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) เช่นนี้ กกต. ก็จะสามารถเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งฯ ว่าจะให้ดีเอสไอทำคดีต่อไปหรือไม่ หรือจะเก็บคดีมาทำไว้เองต่อไป จะเห็นได้จากที่ดีเอสไอมีหนังสือไปถาม กกต. ตามที่เปิดเผยออกมาในโซเชียลมีเดียว่า จะให้ดีเอสไอสืบสวนหรือ กกต. จะสืบสวนเอง

ทางเลือกที่เหลือคือ ดีเอสไอ เลือกใช้ “ฐานความผิด” ในการดำเนินคดีนี้ที่ไม่ใช่กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เข้ามาจับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งในที่นี้ ตามที่มีการเผยรายงานทางสื่อมวลชน ดีเอสไอเลือกชงฐานความผิด “อั้งยี่-ซ่องโจร”

อ่านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/50811

https://www.facebook.com/photo?fbid=1041094748064144&set=a.625664036273886