วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 18, 2568

กรณีล่าสุดที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ณัฐชนน ไพโรจน์มีความผิดตามมาตรา 112 นั้นถือว่าเป็นอีกครั้งที่ศาลใช้อำนาจตัดสินคนเห็นต่างทางการเมืองตามอำเภอใจ - เพนกวิน

.....
เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak
11 hours ago
·
กรณีล่าสุดที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ณัฐชนน ไพโรจน์มีความผิดตามมาตรา 112 นั้นถือว่าเป็นอีกครั้งที่ศาลใช้อำนาจตัดสินคนเห็นต่างทางการเมืองตามอำเภอใจไร้หลักเกณฑ์ที่สุด เพราะในกรณีนี้แต่แรก ณัฐชนนถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดกฎหมายมาตรา 112 เพราะ (ตามที่ถูกกล่าวหาว่า) ขน #สมุดปกแดง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นคำปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ฯ ขึ้นรถบรรทุก จึงถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดมาตรา 112
เหตุผลที่ศาลใช้ตัดสินว่าณัฐชนนเป็นผู้สนับสนุนเพราะเห็นว่าณัฐชนนเป็นหนึ่งใน “ผู้จัดการชุมนุม” ซึ่งถือเป็นการให้เหตุผลที่ใช้ไม่ได้เลยและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะ
1) การครอบครองหรือขนย้ายหนังสือนั้น ไม่ใช่ความผิดอะไรในตัว ไม่ว่าหนังสือจะมีเนื้อหาอย่างไร ความผิดไม่เกิดจะตัดสินความผิดกันอย่างไร
2) การใช้บทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ มาตัดสินเป็นการใช้เรื่องนอกคดีมาตัดสิน เป็นการใช้อคติของศาล
3) การปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคมซึ่งถ้อยคำในการปราศรัยได้กลายมาเป็นเนื้อหาของหนังสือนั้น ไม่ได้มีการตัดสินจากศาลใดว่ามีความผิดเป็นสถานใด แล้วจะหาว่าเป็นหนังสือผิดกฎหมายได้อย่างไร
4) ท้ายที่สุด ณัฐชนนไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือ และไม่ได้เป็นคนแต่งหนังสือเหล่านั้น
การตัดสินของศาลอุทธรณ์ครั้งนี้เป็นการใช้ความเห็นส่วนตัวของศาลตัดสินคดีอย่างกว้าง ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานของคดีอาญาว่าจะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างแคบ เพราะการใช้ดุลยพินิจกว้างขวางสุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก
อคติของศาลที่่เห็นได้ชัดก็ที่สุดคือส่วนที่ไม่รอลงอาญาเพราะเห็นว่าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังจึงต้อง “รู้ผิดชอบชั่วดี“ เหตุผลแบบนี้ี้สะท้อนจุดยืนทางการเมืองของศาลชัดเจนโจ่งแจ้งไม่ต้องบรรยาย ผมไม่อาจพูดแทนณัฐชนนท์ได้ แต่ในฐานะที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็จะจะขอบอกศาลในนามส่วนตัวผมว่าก็เพราะเรารู้ผิดชอบชั่วดี เห็นว่าประเทศชาติจะไปต่อไม่ได้หากยังมีสถาบันที่มีอำนาจเหนือรับฐธรรมนูญคอยแทรกแซงประชาธิปไตยเหมือนที่เป็นมา ถึงได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ฯ
นอกจากคำตัดสินนี้จะขัดสามัญสำนึกทางกฎหมาย ยังเป็นการใช้อคติตัดสินว่าณัฐชนนเป็นแกนนำการชุมนุมจึงสมควรถูกลงโทษ เป็นตัวอย่างที่แสดงได้ชัดว่าการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เป็นมาเป็น #คดีการเมือง ไม่ใช่ #คดีอาญา และไม่่อยู่ในร่องในรอยการพิจารณาคดีอาญาอันพึงเป็น
ท้ายที่สุด นี่คือการดำเนินคดีด้วยเรื่อง #หนังสือ อันนี้เป็นวัตถุแห่งปัญญา ไม่เพียงแต่จะเป็นการลงโทษคนที่มีหนังสือแต่เป็นการลบล้างหนังสือไม่ให้คนอ่าน นับเป็นการปราบปรามปัญญาและความคิดเห็นโดยแท้ ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐเผด็จการนิยมเผาหนังสือหรือแบนหนังสือที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับความเชื่อทางการของรัฐ
จึงต้องบันทึกไว้ว่ากรณีนี้คือหนึ่งในกรณีที่ศาลอยุติธรรมใช้อำนาจตัวเองปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดมา และจะเกิดขึ้นต่อหากยังไม่มีการ #ยกเครื่อง ปฏิรูปกฎหมาย การเมือง และสถาบันกษัตริย์กันอย่างจริงจัง

https://www.facebook.com/paritchiwarakofficial/posts/1234448484709401






TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
@TLHR2014

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ จำคุก 2 ปี ‘ณัฐชนน’ เห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เผยแพร่หนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา’ ซึ่งมีข้อความผิดตาม #ม112 ก่อนได้ประกันตัว
.
17 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ ณัฐชนน ไพโรจน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Thumb Rights และอดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ผลิต “หนังสือปกแดง” หรือหนังสือ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์”
.
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนให้มีการดูหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานมาตรา 112 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
.
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยอัยการโจทก์ฟ้องในข้อหามาตรา 112 แก่จำเลย โดยคำว่า ‘หมิ่นประมาท’ แปลว่า เป็นการแสดงกิริยาดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ส่วนคำว่า ‘ดูหมิ่น’ หมายถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ แปลว่า พยาบาทอย่างรุนแรง
.
หากจำเลยกระทำผิด ต้องเป็นการกระทำที่แสดงถึงกิริยาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และพยาบาทอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าในหนังสือจะมีข้อความ อย่างเช่น “เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือต้องการให้พระมหากษัตริย์ อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าการอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย คือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแตะ ต้องโดนมาตรา 112” (ข้อความที่ 6 ตามฟ้อง) เป็นการกล่าวอ้างแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
.
ได้ความว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยนั่งมากับรถบรรทุกที่ขนหนังสือของกลางดังกล่าว แม้โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการนั่งรถบรรทุกขนหนังสือมา แต่หากจำเลยรับรู้ว่าเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ และจำเลยช่วยเหลือ ส่งเสริมการกระทำดังกล่าว ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษสองในสามของความผิดนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
.
จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีพยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยเป็นแกนนำคนหนึ่ง และได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.​ 2563 ย่อมรับรู้ได้ว่า บุคคลที่ขึ้นปราศรัยและมีข้อความปรากฏในหนังสือตามฟ้องคดีนี้ ปราศรัยเรื่องใด จึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยรับรู้ว่าหนังสือดังกล่าวข้อความดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ก่อนอยู่แล้ว
.
ต่อมาในวันที่ 19 ก.ย. 2563 จำเลยนั่งหน้ารถบรรทุกหนังสือ 45,080 เล่ม เพื่อที่จะนำไปแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แสดงว่าจำเลยและพวกประสงค์จะนำหนังสือที่มีข้อความดังกล่าวไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 รู้ข้อความคำปราศรัยอีกรอบ
.
การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้มีการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 2 ปี เห็นว่ากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ บำเพ็ญเพียรพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์ของทุกคน ส่วนจำเลยนั้นศึกษาในสถาบันสำคัญและมีชื่อเสียงของประเทศ ย่อมมีความรู้ แต่กลับไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ
.
หลังมีคำพิพากษา ณัฐชนนถูกควบคุมตัวไปยังใต้ถุนศาลระหว่างรอผลประกันตัวในชั้นฎีกา ต่อมาในเวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 150,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไขประกันใด ๆ ซึ่งหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ในวันนี้ณัฐชนนจึงได้เดินทางกลับบ้านตามปกติ
.
.
สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือปกแดงที่ถูกนำมาฟ้องในคดีนี้ เป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยของแกนนำ 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น
.
ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกนำมาดำเนินคดีคือหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” มีเนื้อหารวมคำปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมของ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงเวทีการชุมนุมในช่วงปี 2563 โดยในกรณีนี้มี “ตี๋” นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหนังสือเล่มนี้มีความผิดตามมาตรา 112 ใน 3 ข้อความ (จากที่อัยการโจทก์สั่งฟ้องทั้งสิ้น 7 ข้อความ) โดยคดีศาลให้รอลงอาญาไว้
.
ส่วนณัฐชนนนั้นถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสิ้น 2 คดี ในคดีแรกคือคดีนี้ และในคดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้าสภ.คลองหลวง ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 . .

อ่านข่าวต่อบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/72987

https://x.com/TLHR2014/status/1891414120014152040