จะว่าไทยเป็นประเทศที่ยังขาดระเบียบแห่งกฎหมาย หรือไม่มีหลักการของกฎหมาย (Rule of Law) ก็คงใช่ เพราะมีการคุมขัง ‘ผู้ต้องหา’ หรือ ‘จำเลย’ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิด แม้แต่ยังไม่ได้เริ่มการพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่มีหลักการบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๙ วรรคสอง ระบุว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” ซึ่งในหลักการสากลก็คือ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์หรือ presumption of innocence” ดั่งว่ากฎหมายไทยก็มีอารยะกับเขาด้วยเหมือนกัน
จึงมีเขียนในรัฐธรรมนูญเช่นกันว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” แต่ในความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ “ประเทศไทยของเราทำตรงกันข้าม” บทความวิชาการ TU Law ชี้
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ.ระบุว่า “เราใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดหรือ presumption of guilt เพราะเราเอาผู้ต้องหาและจำเลยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือไม่มีเงินประกันตัว ไปขังรวมไว้กับนักโทษในเรือนจำ
และถูกปฏิบัติไม่แตกต่างจากนักโทษ ซึ่งเท่ากับเป็นการติดคุกก่อนศาลพิพากษา” ผู้ถูกคุมขังโดยยังไม่มีคำพิพากษาเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยเลย “มากถึง ๒๐ - ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด” โดยที่ในปี ๒๕๖๗ จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘ จำนวน ‘ผู้ต้องขังระหว่าง’ ยังได้เพิ่มขึ้นไปอีกเป็น ๗๔,๑๔๓ คน คิดเป็น ๒๖.๓๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินหนึ่งในสี่ของผู้ต้องขังทั้งหมดไปแล้ว” ในกระบวนการของศาลและราชทัณฑ์ มีการเลี่ยงรัฐธรรมนูญ
แทนที่จะเรียกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อเอาตัวเขาไปคุมขังก่อนการตัดสินคดี ก็ไพล่ไปเรียกเสียใหม่ว่า “บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายขัง” แทน เหมือนจงใจเลี่ยงบาลีไม่ทำตามแนวรัฐธรรมนูญ อจ.ปริญญาอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ
“ปัญหาคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ประกาศใช้ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้น ใช้หลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’...และถูกนำตัวไปขังในเรือนจำจนกว่าศาลจะพิพากษายกฟ้อง” ครั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งรับหลักปฏิญญาสากล ให้แก้ไข ป.วิ.อาญา
ก็เกิดการรัฐประหาร ๒๔๙๔ ยกเลิก รธน.๒๔๙๒ พอถึง รธน.๒๕๑๑ หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” กลับมาอีกครั้ง เกิดรัฐประหาร ๒๕๑๔ ล้มเลิกไปอีก เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ และหลักดังกล่าว ถูกล้มล้างโดยรัฐประหาร ๒๕๑๙
หลังจากนั้นมา “แม้จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหลายครั้งให้มีการปล่อยชั่วคราวได้ง่ายขึ้น แต่ประมวลกฎหมายอาญาก็ยังคงเป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดมาจนทุกวันนี้ ผศ.ปริญญาเสนอ ๓ แนวทางแก้ไข
นอกจากร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ “อาจจะคาดหมายได้ยากว่าศาลฯ จะวินิจฉัยอย่างไร” แล้วให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ให้การ ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ เป็นเรื่องปกติ แต่ ‘ขังชั่วคราว’ ต้องมีเหตุจำเป็นขอต่อศาลเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น
กับข้อ ๓ ต้องยกเลิกการเอาตัวผู้ต้องหาไปขังในเรือนจำ สร้างสถานที่คุมขังเฉพาะสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยที่ไม่ได้ประกันตัว “ได้รับการปฏิบัติและมีสิทธิแบบคนปกติ” โดยใช้สีเครื่องนุ่งห่มต่างจากนักโทษ ไม่ต้องเปลี่ยนทรงผมเป็นตัดสั้น