เนชั่นสุดสัปดาห์ NationWeekend
Yesterday
·
เป็นเรื่องสะเทือนแวดวงตุลาการอย่างมาก พลันที่ 2 ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ทำบันทึกข้อความ ถึงประธานศาลฏีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) และประธานกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เพื่อขอให้ยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหาระดับดับสูง (ป.ป.ร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน
โดยสาเหตุสำคัญที่ 2 ผู้พิพากษาดังกล่าวเห็นคือ หลักสูตรอบรมต่าง ๆ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดแก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งยังอาจนำไปสู่การผิดศีล ผิดวินัย ของผู้พิพากษา ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง
แม้ว่าจะเรื่องนี้จะมีจุดเริ่มต้นจากแวดวงตุลาการ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บานปลายไปอีกหลายแวดวง เพราะไม่ใช่แค่องค์กรทางตุลาการเท่านั้นที่จัด “อบรมหลักสูตร” ต่าง ๆ โดยเปิดช่องให้ “คนนอก” ไม่ว่าจะตัวแทนบริษัทเอกชน ตัวแทนพรรคการเมือง เข้ามาร่วม แต่ยังมีอีกหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่จัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ขึ้น กลับกันบริษัทเอกชนต่าง ๆ ก็มีการจัดหลักสูตรอบรมทางธุรกิจ หรือการบริหาร โดยเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการระดับสูงมาเข้าร่วมด้วย
โดยการสร้างเครือข่ายของหลักสูตร แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.การคัดเลือกบุคคลเข้ารับการศึกษา กลุ่มที่ 1 จัดโดยราชการ เน้นผู้เรียนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางที่เป็นดาวรุ่ง หรือผู้นำในอนาคต กลุ่มที่ 2 เน้นที่ผู้มีอำนาจบทบาททางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม
2.การสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของหลักสูตร โดยทั้งสองกลุ่มเน้นการสร้างกิจกรรมทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้เรียน โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ปฐมนิเทศ การรับน้อง มีสายรหัส 3.ตอกย้ำหรือรักษาความสัมพันธ์หลังสำเร็จการศึกษา โดยตั้งสมาคมศิษย์เก่า เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างรุ่น
ดังนั้นการออกมา “คอล เอาท์” ของ 2 ผู้พิพากษาข้างต้น เรียกได้ว่าเป็นการ “นับหนึ่ง” อีกครั้งเพื่อล้างบางสารพัดหลักสูตร ที่ถูกมองว่าเป็นการ “สร้างคอนเนกชั่นพิเศษ” ระหว่าง “รัฐ” กับ “เอกชน” มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหลักสูตรที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษทุกปี เช่น หลักสูตร วปอ. ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ที่มีคนเด่นคนดังเข้าร่วมทุกปี
ขณะที่หลักสูตรล่าสุดที่ถูกผุดขึ้นจาก สถาบันวิชาการป้องกันประเทศคือ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ “มินิ วปอ.” ซึ่งพบว่า “แพทองธาร ชินวัตร” เมื่อครั้งสวมหมวกเป็น “นายกฯ” แล้ว ก็ยังเข้าเรียนหลักสูตรนี้ พร้อมกับบรรดานักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ทหาร และตำรวจ อีกหลายราย
แม้แต่ “เศรษฐา ทวีสิน” เมื่อครั้งเป็นนายกฯเมื่อ 15 ก.ย. 2566 ยังเคยลั่นกลางเวทีแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติของ วปอ. ท่ามกลางบิ๊กเหล่าทัพ และข้าราชการระดับสูง วิพากษ์วิจารณ์หลักสูตร วปอ. ว่า เป็นสถาบันสร้างคอนเน็คชั่นอภิสิทธิ์ชนท็อป 1% ของประเทศนี้ ที่สำคัญคือเยาวชนจับตาอยู่ ขอให้ใช้สายสัมพันธ์เพื่อประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและความยากลำบาก
คำกล่าวของ “เศรษฐา” ตรงกับเสียงของสังคมที่เคยตั้งคำถามมานานแล้วถึงการจัดอบรมหลักสูตรที่เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหน่วยงานรัฐ และเอกชน
หากย้อนไปเกือบ 13 ปีก่อน เมื่อปี 2555 ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลงานวิจัย เรื่อง “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา” ของนวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขณะนั้น)
ในงานวิจัยชิ้นนี้สรุปสาระสำคัญว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดหลักสูตรที่เน้นการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงในวิชาชีพต่างๆ เพื่อฝึกอบรมความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะเพิ่มขึ้นมาก โดยหลายหลักสูตรเน้นการผสมผสานผู้บริหารระดับสูงในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นเดียวกัน และระหว่างรุ่น ภายใต้คำถามว่า เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงหรือไม่ และเครือข่ายก่อให้เกิดผลกระการใดในเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย
งานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงในเครือข่ายทางการศึกษา 6 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2.หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม 3.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) และ 6. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย ซึ่งทั้ง 6 หลักสูตรข้างต้นถือเป็นหลักสูตร “ระดับท็อป” ของสังคมไทย ที่สร้างคอนเนกชั่นระหว่าง “ข้าราชการ” และ “นักเลือกตั้ง” มาหลายชั่วอายุคนแล้ว
โดยในบทคัดย่องานวิจัยชิ้นดังกล่าว สรุปว่า การที่มีหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง โดยเน้นการผสมผสานผู้เข้าอบรมจากภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นการศึกษาเดียวกัน และระหว่างรุ่น คำถามสำคัญคือ หลักสูตรการศึกษาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงใช่หรือไม่ และเครือข่ายเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลประการใดในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย
จากการวิเคราะห์ความเป็นมา เนื้อหา กิจกรรมของหลักสูตรทีได้รับความนิยมมาก เช่น วิทยาลัยตลาดทุน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และอื่น ๆ รวม 6 หลักสูตร
อีกทั้งการศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของเครือข่ายที่เกิดขึ้นได้ค้นพบข้อสำคัญคือ หลายหลักสูตรแม้จะมีเป้าหมายในการให้ความรู้ด้วย แต่ลึก ๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์หรือการหา “พวก” เพื่อเพิ่มช่องทาง และพลังในการผลักดันผลประโยชน์ขององค์กรที่จัดหลักสูตร “การศึกษา” เป็นข้ออ้างในการรวบรวมบุคคลภายนอกองค์กรที่มีหน้าทีกำกับดูแลการทำงาน หรือพิจารณาอนุมัติผลประโยชน์ขององค์กรเข้ามาสู่กระบวนการกล่อมเกลาเพื่อให้บุคคลเหล่านั้น “เชื่อ” ในเป้าหมายเดียวกัน
การเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ร่วมหลักสูตรได้รับการตอกย้ำมาก เกิดเป็นเครือข่ายผู้บริหารระดับสูง มีบทบาทเป็นเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งในระดับของการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะบุคคล และในระดับของโครงสร้างอำนาจโดยตัวของมันเอง
โดยรวมการดำเนินการของหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบัน แม้จะมีผลดีบ้าง แต่อาจจะมีผลเสีย ต่อความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและระบบประชาธิปไตยของสังคมไทย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย หรือการตัดสินใจในองค์กรภาครัฐเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาต่อการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ
การศึกษาครั้งนี้ จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้พัฒนาระบบธรรมาภิบาล และพิจารณาถึงแนวทางในการหลีกเลี่ยง ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กรที่จัดตั้งหลักสูตร โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานของหลักสูตรผู้บริหารที่ดำเนินการ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริงเป็นหลัก
และควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐเข้าศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่ดำเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยยึดหลักความจำเป็น ผลประโยชน์ของหน่วยงาน และผลกระทบต่องานที่รับผิดชอบเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการทำงานเพราะบางหลักสูตรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่แต่อย่างใด
โดยบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของเครือข่ายผู้บริหารระดับสูง แบ่งออกเป็น บทบาทระดับองค์กร หรือระดับทางการ เช่น กิจกรรมการกุศล และการพัฒนา รวมถึงความสัมพันธ์โดยเป็นที่พึ่งให้กันระดับส่วนตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ในกรณีพิเศษด้วย
ทั้งนี้ การรวมตัวระหว่างชนชั้นนำภายใต้หลักสูตรเหล่านี้ อาจทำให้การแข่งขันระหว่างชนชั้นนำด้วยกันลดลง โดยไปเพิ่มส่วนของการแบ่งปันและหยิบยื่นผลประโยชน์ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบพรรคพวกเพื่อนฝูงแทน ซึ่งจะขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างชนชั้นนำ และมวลชนทั่วไปออกไปกว่าเดิม และขยายสภาพความไม่เท่าเทียมของสังคมให้มากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันการตรวจสอบ หรือการเข้าถึงจากประชาชนภายนอกจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เพราะถูกความเป็นเพื่อนของชนชั้นนำเหล่านี้ปิดกั้นไว้
แม้บทสรุปงานวิจัยชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นถึงการอบรมหลักสูตรของผู้บริหารระดับสูงระหว่าง “ข้าราชการ” กับ “นักเลือกตั้ง” จะสะท้อนว่าเป็นเพียงการ “สร้างคอนเนกชั่นพิเศษ” ก็ตาม แต่ผ่านมากว่า 13 ปี ก็ยังคงมีองค์กร หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผุดไอเดียสร้างสารพัดหลักสูตรขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จนถึงปัจจุบัน และยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ดังนั้น การตั้งคำถามของ 2 ผู้พิพากษาระดับชั้นศาลฎีกา จึงกลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญในสังคมไทย ที่จะทลายเครือข่ายคอนเนกชั่นเหล่านี้ให้หมดลงไป เพื่อสร้างสังคมแห่งความโปร่งใส และเท่าเทียมให้เกิดขึ้น
ส่วนบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ต้องไปวัดใจ “ประธานศาลฎีกา” กันอีกครั้ง
#หลักสูตร #อบรม #ศาล #การเมือง #ข่าวล่าสุด #เนชั่นสุดสัปดาห์ #NationweekendOpinion #NationweekendScoop
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1033363688821101&set=a.649316933892447