วันศุกร์, มกราคม 17, 2568

นักวิเคราะห์ชี้กำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา เป็นไปได้ "แต่ไทยกล้าทำหรือเปล่า"



มีความเป็นไปได้แค่ไหน ในการกำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
16 มกราคม 2025

การหลอกลวงนายหวัง ซิง นักแสดงชาวจีนไปทำงานหลอกลวงออนไลน์ในเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดน จ.ตาก ของไทย จุดกระแสความไม่พอใจต่อมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ทำให้ไทยเสียชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นำเงินเข้าประเทศมหาศาล

เรื่องราวของนายหวัง ซิง หรือ ซิง ซิง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งลักษณะพฤติกรรม เส้นทางการนำพา รวมถึงการประสานขอความช่วยเหลือออกมาจากเมืองสแกมเมอร์ ทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นเรื่องราวของใครก็ได้ เนื่องจากมันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและสัญชาติของเหยื่อเท่านั้น

คำถามคือมีความเป็นไปได้แค่ไหนในการกำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งขยายอาณาจักรของพวกเขาอย่างรวดเร็ว จากปริมาณของเงินมหาศาลที่เกี่ยวพันกับการทุจริตในทุกระดับ

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ 4 คนจากหลากหลายวงการ เพื่อสอบถามความเห็นพวกเขาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปิดเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมฉ้อโกงหลอกลวงเหล่านี้

ลลิตา หาญวงษ์: เป็นไปได้ "แต่ไทยกล้าทำหรือเปล่า ?"

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่าการกำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา มีความเป็นไปได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทายหลายด้าน

โดยข้อเท็จจริงแล้วเมืองสแกมเมอร์ติดชายแดนไทย-เมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเมืองชเวโก๊กโก่หรือเมืองใดก็ตาม ล้วนได้รับการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จากฝั่งไทย เช่น วัสดุก่อสร้าง น้ำ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ฯลฯ

"หากเราปิดแนวชายแดน ไม่ให้ส่งออกสิ่งของต่าง ๆ ออกไป เมืองสแกมเมอร์ก็จบนะ" เธอกล่าว "แต่ไทยกล้าทำแบบนั้นหรือเปล่า ?"

อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ยังชี้ให้เห็นว่าท่าข้ามชายแดนกว่า 50 แห่งใน จ.ตาก ซึ่งเปิดเพื่อวัตถุประสงค์การค้าข้ามแดนนั้นเป็นจำนวนที่เยอะมากเกินไป และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวชายแดนของไทยรั่วไหล รวมถึงเป็นประตูในการส่งสินค้าต่าง ๆ ออกไปยังเมืองสแกมเมอร์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันด้วย

"ท่าข้ามเหล่านี้ขออนุญาตเปิดถูกกฎหมาย และเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ" เธอกล่าว "ดังนั้นเราควรพิจารณาปิดท่าข้ามบางแห่งลงไปได้ไหม เพื่อให้การ sealed (ผนึก) ชายแดนทำได้ดีขึ้น"

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่าไทยควรแก้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทหาร และตำรวจในพื้นที่ได้อย่างมีเอกภาพและสอดคล้องกัน โดยเฉพาะงานสกัดกั้นขบวนการนำพาลักลอบขนคนข้ามแดนซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานทำงาน

"เราต้องมีกลไกที่มากระตุ้นให้ด่านชายแดนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง หรือไปจนถึงการการปราบปรามส่วย" เธอกล่าว

นอกเหนือจากนั้น อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ผู้นี้ยังชี้ให้เห็นว่าตราบใดก็ตามที่ยังมีสงครามกลางเมืองอยู่ในเมียนมา กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ย่อมต้องระดมอาวุธ เงิน และทรัพยากรเพื่อพร้อมรบเสมอ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องหารายได้ และรายได้ที่ดีที่สุดคือธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจผิดกฎหมายซึ่งได้เงินเร็วกว่าสินค้าทั่วไปอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

"เช่นในสมัยขุนส่าก็มีการขายเฮโรอีนเพราะมีสงคราม เขาต้องการปกปักรักษาพื้นที่ของตนเอง และมันต้องมีธุรกิจขึ้นมา" เธอยกตัวอย่าง


ชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตะวันตกถูกคั่นกลางด้วยแม่น้ำเมยแคบ ๆ เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของกองทัพไทยก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-เมียนมาต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่ไทยเคยส่งอาวุธต่าง ๆ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเพื่อให้สู้รบกับกองทัพเมียนมาในฐานะรัฐกันชน แต่เมื่อไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนก็ได้ยุตินโยบายดังกล่าวในเวลาต่อมา

"เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นในยุคทักษิณ by the way 'เราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนแล้ว เราจะไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านของเรา' เขาเลยเลิกซื้ออาวุธให้[กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง] แต่กลุ่มกะเหรี่ยงก็ไปซื้ออาวุธจากว้า โกก้าง และจีน อยู่ดี" เธอกล่าว และบอกด้วยว่ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยง BGF เดิม มีความภาคภูมิใจอย่างมากที่สามารถจัดสรรเงินเดือนให้กับกำลังพลได้ทุกคน อย่างน้อยคนละ 5,000/เดือน ต่างจากกองกำลังอื่น ๆ ในพื้นที่ ถึงแม้ที่มาของเงินเหล่านั้นจะมาจากธุรกิจผิดกฎหมายก็ตาม

เธอเสนอว่าประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์การทูตระหว่างประเทศที่กว้างขวางกว่าเดิม สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) ของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์โจมตีทางอากาศเพื่อทำลายกลุ่มต่อต้านมาโดยตลอด เมื่อพบว่าตั๊ดม่ะด่อ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมาเสียเปรียบในการรบภาคพื้นดิน

"ไทยต้องเป็นตัวกลาง แม้เราไม่สามารถสร้างข้อตกลงหยุดยิงระดับชาติ (National Ceasefire Agreement - NCA) ได้ แต่ทำให้ air strike (การโจมตีทางอากาศ) ในหมู่บ้านต่าง ๆ หยุดลงได้ไหม ?"

เนื่องจากเธอมองว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยมีศักยภาพเข้าถึงกลุ่มกะเหรี่ยงต่าง ๆ ที่อยู่ติดชายแดนไทยในขั้นที่ว่าได้รับความไว้วางใจจนสามารถโน้มน้าวใจผู้นำของแต่ละกลุ่มได้ ขณะเดียวกันไทยก็เข้าใจนิสัยใจคอของผู้นำกองทัพเมียนมาซึ่งเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่ไม่มีในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการรับบทเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างสองฝ่าย เพื่อสร้างสันติภาพให้กับเมียนมา ซึ่งย่อมส่งผลให้ชายแดนไทยมีความมั่นคงปลอดภัยตามไปด้วย

"แต่คำถามคือจะบูรณาการศักยภาพเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ?"

ชเวโก๊กโก่ ฐานสแกมเมอร์ในพื้นที่ควบคุมของกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นเอ (Karen National Army-KNA) ซึ่งเดิมชื่อกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยง BGF (Karen Border Guard Force-Karen BGF) นำโดย พ.อ.ชิต ตุ

เมื่อบีบีซีไทยสอบถามว่าประเทศใดควรเป็นผู้นำในการปราบปรามเมืองสแกมเมอร์ต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เสนอว่า "ประเทศจีน" เนื่องจากกลุ่มผิดกฎหมายต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติจีนซึ่งทางการจีนมีข้อมูลกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เกือบทั้งหมด

"ทางการไทยต้องพูดคุยกับจีนอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลไทยกังวลอย่างแน่นอนคือ หากไทยปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐของจีนแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง สหรัฐอเมริกาอาจรู้สึกไม่พอใจ" ดังนั้น เธอเสนอว่าทางการไทยอาจต้องคุยกับสหรัฐฯ ด้วยในเรื่องนี้

"แต่ทั้งหมดนี้ไทยต้องระลึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องไม่หงอ แม้สหรัฐฯ จะไม่โอเค หากเรายินยอมให้เจ้าหน้าที่ของจีนเข้ามาปฏิบัติการในประเทศ แต่จะเอายังไงในเมื่อเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ใจจะขาดแล้ว ยังไงจีนก็ต้องเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะในที่สุดเขาก็ควรเอาจีนเทากลับบ้านให้หมด" ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจาก ม.เกษตรศาสตร์ และ นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ จากองค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ป

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์: แม้ปราบปรามได้ แต่สแกมเมอร์พร้อมย้ายไปพื้นที่ใหม่เสมอ

นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากจากองค์กรอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปหรือไอซีจี (International Crisis Group - ICG) เห็นว่าการกำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมานั้นเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากการดำเนินการหลอกลวงเหล่านี้สร้างผลกำไรมหาศาลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี

"นี่เป็นจำนวนเงินมหาศาล หมายความว่าการดำเนินการเหล่านี้มีความสามารถในการมีอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงปัจเจกชนต่าง ๆ ผ่านการทุจริตหรืออิทธิพลในรูปแบบอื่น ๆ"

นอกจากนี้ เขายังเห็นว่าเมื่อเกิดการปราบปรามในพื้นที่หนึ่ง กลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ก็สามารถหาพื้นที่ใหม่และเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อีกครั้งอยู่เสมอ

"แต่ผมก็คิดว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่กำลังทำอยู่ตอนนี้" นายริชาร์ด กล่าว และเสริมว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นความท้าทายต่อรัฐบาลไทยก็จริง ซึ่งอันที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากไม่ว่ากับรัฐบาลไหนก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคำถามหนึ่งที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับทางการไทยอยู่เสมอนั่นคือ "เหตุใดบริษัทมือถือรายใหญ่ของไทยถึงมีเสาสัญญาณ 5G ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และส่งสัญญาณเข้าไปยังเมืองสแกมเมอร์ ?"

"พวกเขากำลังให้บริการลูกค้าเหล่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่าหากคุณขับรถไปตามแนวชายแดน จ.ตาก ซึ่งคุณรู้ว่าเป็นสภาพพื้นที่แบบไหน คุณมั่นใจได้เลยว่านี่ไม่ใช่สถานที่ที่คุณคาดหวังจะได้เห็นเสาส่งสัญญาณ 5G ขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งอยู่บริเวณนี้ ขนาดพื้นที่ชนบทอื่น ๆ ของประเทศไทยยังไม่มีการเชื่อมต่อที่ดีขนาดนี้เลย แล้วทำไมจึงเกิดขึ้นที่นี่"


เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมของไทยที่อยู่ติดกับเมืองสแกมเมอร์ชื่อว่า เคเค พาร์ค (KK Park) ซึ่งตั้งอยู่ในชายแดนรัฐกะเหรี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมารายนี้ยังตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดผู้คนจากทั่วโลกจึงข้ามแดนจากไทยไปยังเมืองสแกมเมอร์ได้อย่างง่ายดาย

"ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยสามารถปิดผนึกพรมแดนได้และห้ามไม่ให้ใครข้ามแดนไปมาระหว่างสองประเทศ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าถ้าคุณเป็นผู้นำพาอาชญากร คุณสามารถข้ามแดนได้อย่างง่ายดายมาก

ทำไมไทยไม่สามารถควบคุมชายแดนได้มากกว่านี้ ? ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่น่าอึดอัดใจสำหรับทางการไทย ซึ่งพวกเขาควรมีคำตอบ" นักวิเคราะห์จาก ICG กล่าว

นายริชาร์ดคิดว่าปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะถึงแม้ว่าทางการจะสามารถปิดเมืองสแกมเมอร์บริเวณชายแดนรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาได้ แต่กลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ก็สามารถจะย้ายไปยังลาว กัมพูชา หรือพื้นที่อื่น ๆ ของไทยได้อยู่ดี

"เหยื่อของเมืองสแกมเมอร์มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก" เขาบอก "ดังนั้นนี่เป็นปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับโลก ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง"

แก๊งอาชญากรรมที่ดำเนินการในเมืองเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับจีนด้วย ถึงแม้ว่าไม่ใช่แก๊งอาชญากรรมจากประเทศจีนโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำหลายคนมาจากกลุ่มมาเฟียชาวจีน บางคนเป็นชาวจีนโพ้นทะเล บางคนสละสัญชาติจีนและใช้สัญชาติกัมพูชาหรือชาติอื่น

"จริง ๆ แล้วคุณไม่สามารถสละสัญชาติจีนเช่นนั้นได้ ดังนั้นประเทศจีนจึงมีความรับผิดชอบในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เต็มไปด้วยความสามารถ ทรัพยากร การบังคับใช้กฎหมาย ข่าวกรอง การทูต ด้วยสิ่งเหล่านี้จีนจึงมีบทบาทอย่างมาก และมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับปัญหานี้ ผมมั่นใจว่าคุณรู้ว่ามีการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจของไทย จีน และเมียนมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เห็นได้ชัดว่ามันยังไม่มากพอ"


ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าภาคเอกชนในแม่สอดคือผู้ส่งออกวัสดุก่อสร้างหลัก ๆ ให้กับเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา

ริชาร์ดเห็นด้วยว่าจีนมีข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ที่ดียิ่ง แต่ปัญหาคืองานสืบสวนทั้งหมด "ถูกปล่อยให้ตำรวจท้องถิ่นสืบสวนทีละคดีเป็นกรณี ๆ ไป โดยหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาภาพรวมทั้งหมด"

"ปัญหานี้ต้องการความร่วมมือทางการเมือง สิ่งนี้จำเป็นต้องเกิดการหารือร่วมกันในการประชุมสุดยอดผู้นำ มันต้องเป็นเรื่องที่ถูกจัดลำดับให้มีความสูงสุดในการประชุมอาเซียน การประชุมอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง รวมถึงการประชุมทวิภาคี ซึ่งมันยังเกิดขึ้นไม่มากพอ และท้ายที่สุดแล้วนี่คือปัญหาที่ซับซ้อนมาก ไม่สามารถปล่อยให้ตำรวจแก้ปัญหาเพียงลำพังได้"

เมื่อพูดถึงว่าจีนต้องพยายามทำอะไรมากกว่านี้เพื่อจัดการกับอาชญากรที่เป็นพลเมืองของตน ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า "นี่ไม่ใช่การให้ไทยไปพูดกับจีนว่าให้เขามาในประเทศไทย แล้วแก้ไขปัญหาด้วยตัวคุณเอง นี่ไม่ใช่การบอกให้ไทยสละอำนาจทางอธิปไตย เพราะไทยเองก็มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง แต่ประเทศจีนต้องได้อำนาจในการปฏิบัติการโดยได้รับอนุญาตจากทางการไทย"

"ความเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์อาจริเริ่มจากจีน เพราะเขามีทรัพยากร แต่ไม่ใช่มอบปัญหาทั้งหมดให้กับจีน จากนั้นปล่อยให้จีนทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว มันเกี่ยวกับความร่วมมือทางการทูต ความร่วมมือทางการเมือง ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย ผมจึงคิดว่ามันไม่น่าเป็นปัญหาอะไร"


มันเป็นเรื่องปกติที่จะพบท่าข้ามเอกชนของผู้ประกอบการไทย ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองสแกมเมอร์ของประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ

เขายังชี้ให้เห็นว่าวิกฤตทางการเมืองในเมียนมามีผลสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความมั่นคงชายแดนของไทย เนื่องจากเห็นได้ว่ากลุ่มอาชญากรรมมักเสาะหาพื้นที่ที่ไม่มีหลักนิติธรรม ซึ่งผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลางไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

"แต่ประเทศไทยมีความร่วมมือที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มกองกำลังตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ผมจึงคิดว่าประเทศไทยมีความสามารถที่จะสร้างอิทธิพลกับกลุ่มเหล่านี้ได้" และหากไทยตัดการส่งสินค้า บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต รวมถึงผนึกชายแดนได้ นั่นหมายความว่าเมืองสแกมเมอร์เหล่านั้นไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป

"แต่นั่นแหละ มันก็กลับมาจุดเดิมที่เราพูดคุยกันในตอนต้น ธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตมากมาย มันจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก และเราคงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ไทยโดยเฉพาะเพียงอย่างเดียว เพราะมันเป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศที่ต้องรับมือกับปัญหานี้ เพราะเรากำลังพูดถึงเงินของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเทียบเท่าจีดีพีของเมียนมา จีดีพีของลาว หรือแม้กระทั่งจีดีพีของกัมพูชา นั่นทำให้เมืองสแกมเมอร์ที่มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับประเทศเล็ก ๆ เช่นนี้ มีความสามารถมหาศาลในการติดสินบน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แต่แน่นอนว่าประเทศไทยควรทำมากกว่านี้" นายริชาร์ด กล่าว

เจสัน ทาวเวอร์: การกำจัดเป็นไปได้ แต่ไม่ควรให้จีนเป็นผู้นำ

นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสไอพี (United States Institute of Peace - USIP) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระที่ก่อตั้งโดยรัฐสภาของสหรัฐฯ บอกว่า การกำจัดเมืองสแกมเมอร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา มีความเป็นไปได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากในตอนนี้ยังไม่มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในเมียนมา "และรัฐบาลทหารก็ยังก่ออาชญากรรมหมู่ต่อประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง"

"กองทัพเมียนมากำลังพ่ายแพ่อย่างรวดเร็วในสนามรบ จึงไม่เหลือความสามารถพอหรือสนใจแก้ไขปัญหานี้"

เขาย้อนกลับไปปฐมบทของเมืองสแกมเมอร์บริเวณชายแดนไทยซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภายใต้การคุมของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (Karen Border Guard Force – Karen BGF) ซึ่งต่อมาประกาศตัดขาดกับกองทัพเมียนมาและเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นเอ (Karen National Army - KNA) แต่ยังคงให้การคุ้มกันพื้นที่เศรษฐกิจของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้โดยมีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อเกิดสงครามกลางเมียวดีเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว เกิดการหลั่งไหลของกลุ่มอาชญากรรมจากพื้นที่ของ KNA ไปตั้งเมืองใหม่ในพื้นที่ควบคุมของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) ซึ่งเล็งเห็นผลประโยชน์จากกลุ่มมาเฟียชาวจีนเหล่านี้เช่นกัน

"ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ DKBA ไม่ได้สู้รบกับกองทัพเมียนมา พวกเขาวางตัวเป็นกลาง แต่ก็นำทหารรับจ้างจำนวนมากเข้ามาด้วย ทำให้เมืองสแกมเมอร์ในพื้นที่ของพวกเขาขยายตัวอย่างรวดเร็ว"


ผู้นำกองกำลัง KNA และ DKBA รวมถึงผู้ประกอบการชาวจีน ประชุมพร้อมหน้ากันเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2025 เพื่อกำชับให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจในเมืองที่มีกิจกรรมสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย-เมียนมา ร่วมมือกันไม่ทำร้ายเหยื่อ ไม่บังคับขู่เข็ญ และไม่ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงที่เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (Karen National Union - KNU) ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ "แต่กลัวที่จัดการกับปัญหานี้ เพราะรู้ว่ากองกำลัง KNA และ DKBA รวมถึงกลุ่มมาเฟียจีนมีอำนาจเพียงใด" นายเจสันสะท้อนให้เห็นภาพรวมของกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองสแกมเมอร์

ผู้เชี่ยวชาญจาก USIP จึงเห็นว่าสุดท้ายแล้วปัญหานี้ก็หนีไม่พ้นเป็นภาระของไทย และไทยเองก็มีศักยภาพตัดตอนความสามารถของเมืองเหล่านี้ได้ เพียงแค่ผนึกชายแดนด้วยกองกำลังที่มีความเข้มแข็งกว่าเดิม ระงับการส่งสิ่งอำนวยความสะดวกไปยังเมืองสแกมเมอร์ เช่น ไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ต วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนในไทยและใช้ไทยเป็นส่วนหนึ่งในการฟอกเงินผิดกฎหมาย

"คุณรู้หรือไม่ว่าไทยกำลังถูกใช้ประโยชน์โดยอาชญากรเหล่านี้ ?" เจสัน กล่าว

"กลุ่มมาเฟียเหล่านี้ฝังตัวอย่างลึกซึ้งภายในรัฐกะเหรี่ยง และมีเมืองสแกมเมอร์เพิ่มขึ้นตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขามีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนกลุ่มผู้ติดอาวุธก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อปกป้องฐานสแกมเมอร์ของพวกเขา ดังนั้น ไทยต้องลงทุนครั้งใหญ่เพื่อปรับปรุงความมั่นคงแนวชายแดนในแง่การจัดการภัยคุกคามความมั่นคงที่ไม่ได้มีลักษณะดั้งเดิมอีกต่อไป และภัยคุกคามนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยเท่านั้น แต่มันเป็นภัยคุกคามระดับโลก ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน"


ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจาก USIP บอกว่าปัญหาเมืองสแกมเมอร์ระดับโลกเป็นความท้าทายที่ไทยต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ

ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาเสนอว่า ไทยควรรับบทบาทนำในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับนักแสดงชาวจีนส่งผลอย่างมากต่อการท่องเที่ยวของไทย เพราะทำให้ชาวจีนขาดความเชื่อมั่นและยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงการจัดแสดงของศิลปินในไทย ด้วยข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน ชาวอเมริกันก็ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้และสูญเสียเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาจึงเห็นว่าไทยกับสหรัฐฯ ควรทำงานร่วมกันเพื่อปิดเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ และนำตัวอาชญากรมารับผิดชอบในอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

"กลุ่มอาชญากรชาวจีนยังหลอกลวงคนประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นมันเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องการทรัพยากรต่าง ๆ จากทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบเพื่อจัดการกับกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้"

"พวกเขาระบุเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชันหาคู่ ซึ่งเป็นของบริษัทข้ามชาติ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการปัญหาค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น มันจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ"

เขาเห็นด้วยว่าจีนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากมายบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาแห่งนี้ เพราะกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ล้วนเป็นคนจีน ซึ่งพบว่าหลอกลวงชาวจีนด้วยกันจนทำให้เหยื่อสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากด้วย แต่ไม่ใช่ความคิดที่ดีนักหากให้จีนเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหานี้ โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในทางรัฐฉานตอนเหนือซึ่งมีชายแดนติดกับจีน และจีนได้เปิดปฏิบัติการทลายเมืองสแกมเมอร์บริเวณชายแดน ส่งผลให้ผู้คนมากกว่า 10,000 คน พากันหลบหนีออกจากเมืองดังกล่าว และจำนวนหนึ่งมาตั้งต้นธุรกิจผิดกฎหมายแห่งใหม่ที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยระบุเป้าหมายเป็นเหยื่อในประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่เฉพาะชาวจีนในแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป

"พวกเขาหลอกลวงผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาทำงานในเมืองสแกมเมอร์ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายเป็นเหยื่อชาวจีนอีกต่อไปเหมือนเมื่อก่อนแล้ว พวกเขากำลังพุ่งเป้าไปที่ผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษ"


แม้ไทยมีกองกำลังป้องกันชายแดน แต่ยังพบการเล็ดรอดของกลุ่มอาชญากรจากไทยไปยังเมืองสแกมเมอร์รัฐกะเหรี่ยงอยู่เสมอ

"การสนับสนุนผลประโยชน์ของทางการจีนเพียงอย่างเดียว ประเทศต่าง ๆ ควรนึกถึงเหตุการณ์คล้าย ๆ กันที่เราเรียกว่าวิกฤตเฟนทานิล (ยาเสพติดชนิดหนึ่ง) ซึ่งการปราบปรามยาเสพติดและสารตั้งต้นครั้งใหญ่ในจีน ทำให้ยาชนิดทะลักเข้าไปยังตลาดในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และทำให้เกิดความท้าทายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วย"

เขายังบอกด้วยว่าเหล่าอาชญากรล้วนปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถูกบีบให้ออกจากพื้นที่หนึ่ง ก็มักไปเปิดธุรกิจใหม่ในประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มประเทศอาเซียนต้องยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญในความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะมันกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคไปแล้ว

"ผมจึงเห็นว่าการปราบปรามเมืองสแกมเมอร์ต้องเป็นความร่วมมือของหลายประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนเป้าหมายของประเทศไทยเป็นหลัก และอย่าลืมว่าไทยกับจีนมีรูปแบบสังคมที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น โมเดลของจีนย่อมใช้ไม่ได้ผลในไทย เพราะนี่คือปัญหาระดับโลกที่ต้องการวิธีแก้ไขปัญหาในระดับโลก"


นายเจสัน ทาวเวอร์ จาก USIP และ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จาก ม.เชียงใหม่

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: แม้จะกำจัดได้หรือไม่ได้ "ก็ต้องทำ"

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับทุนนิยมกาสิโนและเมืองสแกมเมอร์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา บอกว่า การกำจัดเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนไทยนั้น "ถึงแม้จะทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องทำ" เพราะไทยได้รับผลกระทบอย่างมากในเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย จากกรณีล่าสุดที่นายหวัง ซิง นักแสดงชาวจีนถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่รัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา

เธออธิบายว่าธุรกิจเครือข่ายหลอกลวงเช่นนี้มีลักษณะเป็นทุนนิยมนักล่า (predatory capitalism) หรือบ้างก็เรียกว่า compound capitalism ซึ่งหมายถึงการขังคนไว้ข้างในเพื่อเป็นแรงงานทาส โดยทุนนิยมลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยยุคอาณานิคม

"หมายความว่าธุรกิจดังกล่าวต้องอาศัย 4 วงจร หนึ่ง คือการจัดหาแรงงานผ่านเครือข่ายค้ามนุษย์ซึ่งถูกคุ้มครองโดยระบบส่วยและสินบนในระดับชาติและระดับพื้นที่ สอง การซื้อขายข้อมูลผ่านตลาดมืด สาม การใช้ข้อมูลเหล่านั้นผ่านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและธุรกรรมการเงินออนไลน์มาหลอกลวงเหยื่อ และสี่ การฟอกเงินหรือแปรสภาพเงินเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์แบบอื่น"


เมืองสแกมเมอร์ในพื้นที่ควบคุมของ KNA ถูกระงับการส่งไฟจาก กฟภ. ของไทยตั้งแต่ปี 2566 แต่พวกเขายังดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติมาจนถึงตอนนี้

เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ตั้งของเมืองสแกมเมอร์ก็พบว่าอยู่ในดินแดนที่อำนาจส่วนกลางของรัฐเมียนมาเอื้อมเข้ามาไม่ถึง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ถูกแบ่งสรรปันส่วนให้ชนกลุ่มน้อยดูแลไปแล้ว ทว่า เมืองเหล่านี้จะคงอยู่ไม่ได้เลย หากภาคเอกชนและภาคธุรกิจในแม่สอดไม่จัดส่งสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอาหาร และบริการต่าง ๆ เข้าไปให้

"ท่าข้ามต่าง ๆ ทราบดีว่าสินค้าต่าง ๆ ส่งไปเมืองสแกมเมอร์ที่ไหนบ้าง ผู้ใหญ่บ้านตามหมู่บ้านชายแดนรู้ดีว่าบ้านไหนลักลอบวางสายเคเบิลส่งไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตข้ามแดนไปให้เมืองสแกมเมอร์ แต่ปล่อยเกียร์ว่างมาโดยตลอด"

"สิ่งสำคัญที่สุดคือความอ่อนแอ-หย่อนยานของหน่วยงานภาครัฐทั้งในเรื่องกฎหมาย นโยบาย และมาตรการ ขาดองค์กรหลักที่ทำงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยมีแผนมุ่งเป้าอย่างชัดเจน" เธอกล่าว

"มาตรการที่ผ่านมาได้แต่ผลักภาระให้ประชาชนต้องระวังตัวเอง แต่ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ซึ่งมักไม่ถูกต้อง เพราะรูรั่วทั้งหลายมาจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลหลุดรั่วไหลจากหน่วยงานภาครัฐ ธนาคาร หรือจากบริษัทประกัน ปล่อยให้มีการเปิดบัญชีม้าได้อย่างไร ปล่อยให้เกิดการโอนเงินจำนวนมากอย่างง่ายดายได้อย่างไร"



ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยกตัวอย่างเรื่องราวของลูกศิษย์ชาวจีนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนจากนครเฉิงตู ไม่สามารถขอเปิดบัญชีธนาคารในประเทศจีนได้ เนื่องจากมีที่อยู่เป็น จ.เชียงใหม่ของไทย เพราะทางธนาคารเห็นว่าข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวเข้าข่ายน่าสงสัยและไม่น่าไว้วางใจ

แม้กระทั่งนักศึกษาจีนรายนี้วิดีโอคอลพูดคุยกับเพื่อนชาวไทย ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ก็พบว่ามีข้อความแจ้งเตือนเข้ามาในเครื่องว่ามีกิจกรรมน่าสงสัยเกิดขึ้น และตามมาด้วยสายจากเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงเกิดการสื่อสารกับปลายทางที่อยู่ในประเทศไทยขึ้น และพูดคุยเรื่องอะไรกัน

"กรณีนี้อาจถกเถียงได้ว่าเป็นการละเมิด privacy (ความเป็นส่วนตัว) แต่มันก็ทำให้เห็นว่าหากกฎหมายบังคับให้เอกชนมีส่วนในการรับผิดชอบ ภาคธุรกิจก็จะปรับตัวและทำให้ธุรกรรม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทำได้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น"

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเสนอว่าทางการไทยควรตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาเพื่อจัดการกับ 4 วงจรข้างต้น เพื่อตัดตอนธุรกิจเมืองสแกมเมอร์ในชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั้งหมดต้องอาศัยการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัยและเท่าทันกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้การตรวจสอบต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมได้

เธอยังบอกด้วยว่าขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยในแม่สอด ได้ทราบข้อมูลว่าทางการจีนส่งตำรวจเข้ามาทำงานในพื้นที่ด้วย

"เขา[ตำรวจจีน]มีข้อมูลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในระดับรายบุคคล และเคยให้ข้อมูลนี้กับตำรวจไทยไว้" ศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าว "อยากทราบว่า ตม. เคยใช้ข้อมูลนี้เพื่อคัดกรองคนเข้าออกประเทศหรือไม่ และหากคุณต้องการตัดตอนวงจรค้ามนุษย์ คุณก็ต้องทำให้ด่านเข้าแม่สอดทั้ง 3 จุดนั้นทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ"

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เสนอว่าไทยควรขึ้นมาเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดน นอกจากตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเฉพาะขึ้นตามข้อเสนอแรก ทางการไทยต้องเจรจากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และโน้มน้าวให้พวกเขาเห็นภาพตรงกันว่าการเกิดขึ้นของเมืองสแกมเมอร์นั้นเป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ทางตัน

"ต้องทำให้เห็นว่าหากไทยเข้มงวดกับชายแดน เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ย่อมอยู่ไม่ได้ ซึ่งหมายถึงกองกำลังชนกลุ่มน้อยก็อยู่ไม่ได้" เธอกล่าว "ดังนั้น ไทยต้องยื่นไม้ตายว่ามันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง"



อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ บอกด้วยว่า หากไทยมีแผนการปราบปรามที่เป็นรูปธรรมว่าจะตัด 4 วงจรอย่างเป็นระบบอย่างไร มีคณะทำงานที่ชัดเจน และมีแผนมุ่งเป้าที่จับต้องได้ ย่อมเอื้อให้การประสานงานขอความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือไทยไม่เคยมีแผนจัดการดังกล่าว ประเทศอื่น ๆ จึงไม่ทราบว่าจะเข้ามาทำงานร่วมกันกับทางการไทยได้อย่างไร

"จีนมีข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งเหล่านี้ละเอียดมาก แต่เนื่องจากเราไม่มีแผนจะทำอะไร ข้อมูลที่มีก็เหมือนเป็นเศษกระดาษ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็มีข้อมูลเส้นทางการเงินของกลุ่มคนเหล่านี้ที่ละเอียดมาก เราจะทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้ได้บ้าง รัฐบาลไทยเคยทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้บ้าง" ศ.ดร.ปิ่นแก้ว ระบุ

https://www.bbc.com/thai/articles/c5yedxew1g2o