วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2567

‘อิศรา’ คุ้ยเจอ รมว.ต่างประเทศคนใหม่เคยถือหุ้นบริษัทค้ากัญชา

เห็นเงียบๆ หงิมๆ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนใหม่ ถูก อิศรา คุ้ยเสียจน หากมีปรับ ครม.ครั้งหน้า อาจถูกโยกไปคุมสาธารณสุข ดูแลเรื่อง กัญชาหลังจากพบว่าเคยถือหุ้นกิจการ “เพาะ วิจัย ขายผลิตภัณฑ์พืชกัญชากัญชง”

สำนักข่าวอิศราเปิดชื่อ ๕ บริษัทที่นาย มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการดำเนินการอยู่ สองบริษัทในจำนวนนี้เกี่ยวข้องหรือดำเนินการด้านกสิกรรม ปลูกและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร บริษัทหนึ่งคือ สยามเมดเทค

ซึ่งมีผู้ถือหุ้น ๓ ราย นายมาริษถือหุ้นน้อยกว่าเพื่อน เพียง ๕,๗๑๔ หุ้น ขณะผู้ร่วมหุ้นอีกสองราย คือบริษัทสยามสติ๊ก/เว็นเจอร์ (สัญชาติแคนาดา) ถือ ๑๔๐,๐๐๐ หุ้น เท่ากับบริษัท แอกกรีโซลูชั่น ประกอบการขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

บริษัทสยามสติ๊กนั้นเป็นบริษัทลูกของสยามเมดเทคอยู่ด้วย ก่อนแจ้งเลิกกิจการไปเมื่อ ๒๘ เมษา ๒๕๖๖ บริษัทนี้แหละที่ประกอบการขายพืชกัญชาและกัญชง มีที่ตั้งบนถนนแกรนด์วิลล์สตรีท เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่เดียวกับของบริษัทสยามเว็นเจอร์

ข้อสำคัญใช้หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเดียวกันด้วย รายงานอิศราไม่วายทิ้งท้ายว่า ผู้สื่อข่าวของตนติดต่อไปหานายมาริษ ถามถึงการลงทุนบริษัท ๕ แห่ง รวมทั้งบริษัทแคนาดา นายมาริษรับโทรศัพท์พอทราบว่ามาจากนักข่าวก็บอกว่าสัญญานไม่ดี แล้ววางสายไป

(https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/128619-isranews-Marizzzzzz.html) 

ชวนชม นิทรรศการ #วิสามัญยุติธรรม ที่หอศิลปกรุงเทพฯ ชั้น ๕ พบ ‘ทนายด่าง’ รออยู่

#วิสามัญยุติธรรม เป็นอย่างไร คร่าวๆ ตามอักขระที่มาสมาสกันก็คือ ความยุติธรรมถูกฆ่าตัดตอน

ในวาระครบรอบ ๑๐ ปี ของการก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะมีนิทรรศการตอกย้ำให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นมาและเป็นอยู่อย่างไร

“ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อกระบวนการยุติธรรมได้สยบยอมต่อผู้มีอำนาจ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความอยุติธรรมที่ตกมาถึงประชาชน” บัญชีทวิตเตอร์ @TLHR2014 จัดแสดงผลร้ายของอุบัติการณ์นี้

ผ่านสื่อชนิดต่างๆ “งานศิลปะ นิทรรศการ งานเสวนา ปาฐกถา ตลอดจนการจัด #ทัวร์สถานที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ในห้วงเวลาของการรัฐประหาร ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เชิญชวนเข้าชมกันได้ระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๖ พฤษภา เวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น.ทุกวัน ที่ ชั้น ๕ หอศิลปกรุงเทพมหานคร (BACC) งานนี้ ทนายด่างกฤษฎางค์ นุตจรัส จะเป็นผู้บรรยายหลักของงาน

(https://twitter.com/TLHR2014/status/1790965811122983006) 

เตือนจำย้ำชวน ราชกฤษฎีกาออกแล้ว #เลือกสว2567 ชุด 'ตู่ตั้ง' แค่รักษาการ เล่นแร่แปรธาตุอะไรไม่ได้นะ ส่วน 'ว่าที่' ผู้สมัครใหม่เริ่มหาเสียงออนไลน์กันได้

โค้งสุดท้าย #เลือกสว2567 แจ้งข่าวจาก Ponson Liengboonlertchai

“ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่า ในทางรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดผลอย่างน้อย 2 ประการ

1. อายุของสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน 250 คน ได้สิ้นสุดลงตาม ม.269(6) และจะอยู่ในฐานะ "วุฒิสภารักษาการ" เท่านั้น และ

2. อำนาจหน้าที่ใดๆ ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผูกโยงกับอายุของวุฒิสภาชุดนี้ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอันหมดลงไปด้วย”

ฉะนี้ ผู้เตรียมสมัคร #สว67 แนะนำตัวโดยโพสเฟซบุ๊ก สื่อสารกับประชาชนทางออนไลน์ได้แล้ว iLaw ย้ำชวน

ทั้งนี้ หลังจาก กกต.เปิดให้ไปรับเอกสารเพื่อกรอกใบสมัคร สว.จากนายทะเบียนอำเภอต่างๆ และ สนง.เขตกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑๐ พฤษภาที่ผ่านมา ๗ วัน ปรากฏมีขอรับเอกสารเพื่อยื่นสมัครแล้ว ๒๒,๐๓๖ ราย

กรุงเทพมหานครมีผู้ขอรับใบสมัครมากที่สุด ๒,๕๘๕ คน “แต่เมื่อแยกเป็นรายอำเภอ จาก ๙๒๘ อำเภอ พบว่า อำเภอที่มีผู้มาขอใบสมัครมากสุด ๕ ลำดับแรก คือ อำเภอเมืองลพบุรี ๒๐๙ คน

อำเภอเมืองนนทบุรี ๑๙๙ คน อำเภอเมืองพัทลุง ๑๗๖ คน อำเภอเมืองขอนแก่น ๑๗๙ คน อำเภอปากเกร็ด ๑๗๒ คน โดย กทม.เขตจตุจักร มีผู้มายื่นขอมากสุดเป็นลำดับที่หนึ่ง คือ ๑๒๖ คน”

(https://www.matichon.co.th/politics/news_4579930 และ https://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai/posts/66fPHFRzV) 

คณะธนาธรย้อนประวัติศาสตร์ มาถึงแล้ว จุดหมายบ้านอังโตนี่ของอดีตผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม ปรีดี พนมยงค์


มาถึงแล้ว จุดหมายของคณะธนาธร ย้อนประวัติศาสตร์บ้านอังโตนี่ ชานกรุงปารีส ฝรั่งเศส บ่ายวันที่ ๑๖ พฤษภา ผู้ร่วมทางจำนวนหนึ่งพบกันวันแรก วงสนทนาอาหารกลางวันแลกเปลี่ยนความเห็น

วางแผนเบื้องต้นและเตรียมงานสำหรับกิจกรรมสำคัญวันที่ ๑๘ พฤษภา เปิดประตูบ้านอดีตมันสมองผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม และรัฐบุรุษอาวุโสของชาติไทย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีผุ้แสดงความจำนงไปร่วมแล้วราว ๑๒๐ คน

ขอบคุณเฟชบุ๊ค Jaran Ditapichai Charnvit Kasetsiri Chamnan Chanruang และ Weng Tojirakarn สำหรับภาพบรรยากาศต่างๆ ทั้งในและนอกบ้าน

(https://www.facebook.com/jaran.ditapichai/posts/DjQBAs8L6M6, https://www.facebook.com/charnvit.ks/posts/WrqfTMQAUZW และ https://www.facebook.com/chamnan.chanruang/posts/HQ9rbiGJJhR) 

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 16, 2567

อีกแล้ว #หมอเหรียญทอง ได้ประกาศความจงรักภักดี ต่อกรณีตบเด็กวัย ๑๔ แอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำ รพ.มงกุฏวัฒนะ แล้วจับแก้ผ้าประจาน

ฟัง เหรียญทอง แน่นหนา ให้สัมภาษณ์กรณีตบหน้าเด็กชายวัย ๑๔ ปี แอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำโรงพยาบาลมุงกุฏวัฒนะ ที่เขาเป็นผู้อำนวยการแล้ว เกิดความรู้สึกอนาถ ไม่ใช่ต่อผู้ทำผิดระเบียบนั่น แต่กับ #หมอเหรียญทอง มากกว่า

เหมือนเขาจะตั้งตารอเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้เกิดขึ้น จะได้ให้สัมภาษณ์แสดงตนเป็นคนจงรักภักดีล้นพ้น ให้ถึงพระเนตรพระกรรณเอาไว้ไม่ขาดสาย ประกาศไม่แคร์จะถูกแม่ของเด็กฟ้องข้อหาอนาจาร ที่ตั้งตนเป็นผู้ทรงอาญาสิทธิจับเด็กแก้ผ้าประจาน

“ผมช่วยคนยากจนเยอะมาก ส่วนใหญ่เขาก็ดีๆ ทั้งนั้น ๙๙% มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่รับบัตรทอง แต่ไอ้กุ๊ยนี่เมียมันท้องแล้วลูกไม่ดิ้น ผมเอามารักษาจนลูกดิ้นเป็นปกติ ก็ตอบแทน รพ.มงกุฏวัฒนะด้วยการลงมานั่งสูบบุหรี่ที่ห้องสุขา”

อันที่จริงมันเป็นคดีมโนสาเร่ จับตัวได้ไม่ให้เข้ามาในโรงพยาบาลอีก และ/หรือเอาไปปรับ ๕ พันบาทตามที่ติดประกาศไว้ ก็อาจจะทำให้หลาบจำเพียงพอแล้ว ทว่าเหรียญทองไม่เลือกทางนั้น “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอื่นไม่กล้าหาญอย่างผม”

เป็นโอกาสที่เขาได้อวดตัวเองไปพร้อมกัน “ผมเป็นคนเด็ดขาด เด็ดขาดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผมถูกปลูกฝังอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก จนเป็นนักเรียนทหารก็ถูกปลูกฝัง เกียรติประวัติชั่วชีวิตผม ไม่ได้พูดมาเพื่อขอให้ศาลลดโทษอะไรนะ”

เขายืนยันไม่มีทางขอขมา ไม่ยอมไกล่เกลี่ย “ชั่วชีวิตไม่เคยขอขมากุ๊ย ถ้าผมทำผิดกฎหมาย ผมรับโทษอาญาแผ่นดิน นั่นคือเกียรติ การรับโทษอาญาแผ่นดินคือการรับโทษตามพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว ผมถือเป็นเกียรติที่สุด”

ที่จริงไม่ต้องเอามาโยงกันก็ได้ เกียรติของผู้จงรักภักดีกับ “ไอ้กุ๊ยส้นตีน ที่มาสูบบุหรี่ในห้องส้วมโอพีดี” รพ.ของเขา แต่สำหรับเหรียญทอง จับได้แล้ว “เชิญไปสูบที่อื่นครับ ขอโทษหน่อมแน้ม ไม่ใช่ที่นี่ เราประกาศแล้วว่าไม่ได้” ก็ไม่ได้

“ผมจะเพิ่มปรับใหม่เป็น ๕ แสนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ก็โอเคถ้าทำได้ ไม่แน่ใจว่ากฎหมายไทยเอื้อเจ้าของสถานที่ขนาดนี้เชียวหรือ ใช่ว่าจะให้ท้ายคนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั้งหลาย  แต่การแถลงข่าวกร่าง อวดอ้างเบื้องสูงอย่างนั้น น่ารำคาญกว่า

(https://twitter.com/onenews31/status/1790724747438993477) 

“อย่างน้อยที่สุด นั่นแสดงว่าบุ้งไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนกล่าวหา เรื่องนี้ควรถูกบันทึกเอาไว้”

จากข้อเขียนนี้ ที่ Athikhom Khoms Khunawut บอกว่า “น่าจะพอเล่าได้” ก็น่าจะเคลียร์ใจกับหลายคนที่เคยกังวลต่อความผูกพันของ บุ้งกับหยก ในอดีต เพื่อได้อนุโมทนากุศลแก่การไว้อาลัย เนติพร เสน่ห์สังคม กันได้บ้าง

 

“ช่วงที่หยกเคลื่อนไหวและอยู่ภายใต้การดูแลของบุ้ง ผมก็คิดเหมือนหลายคน คือเป็นห่วงหยก ไม่เห็นด้วยกับแนวทางวิธีการ และคิดว่าด้วยสถานะของเด็กและเยาวชน เราควรดึงหยกออกมาจากเงื่อนไขสถานการณ์เช่นนั้นเป็นลำดับแรก อย่างอื่นค่อยว่ากัน

ลำพังแค่คิดหรือแสดงความเห็น มันคงไม่เพียงพอ ผมตัดสินใจทักถามไปหาป้ามล Thicha Nanakorn ซึ่งตอนนั้นทั้งบุ้งและหยกยอมรับพูดคุยด้วย

ปรึกษาหารือกับป้ามลว่า กรณีนี้เราสามารถยื่นมือยื่นไม้ทำอะไรได้บ้าง เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้ทั้งสองคนจะยิ่งถูกคนหลากหลายฝ่ายรุมทำร้าย และบอกกล่าวกับป้ามลตรงไปตรงมาว่า ไม่ค่อยไว้ใจดุลพินิจของบุ้ง

ป้ามลสมกับเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน คือเป็นคนหลักดี และมีพื้นที่ว่างในใจกว้างขวาง ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางวิธีการทั้งสองคน แต่ก็พยายามทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรม

ป้ามลบอกว่า ได้กล่าวกับหยกเสมอว่าหากต้องการเปลี่ยนผู้ปกครองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับแรงกระแทก ป้ามลยินดีจะทำหน้าที่นั้น แต่การที่อยู่ๆ จะไปดึงหยกออกมาจากบุ้ง จะเป็นการสร้างโจทย์ขัดแย้งใหม่ เพราะหยกคงไม่ยอมรับ

ป้ามลพูดชัดว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีของบุ้ง แต่เข้าใจสาเหตุว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น และให้ข้อมูลเพิ่มว่า เคยเสนอความช่วยเหลือเรื่องเงินๆ ทองๆ หลายครั้ง แต่บุ้งปฏิเสธเสมอ

อย่างน้อยที่สุด นั่นแสดงว่าบุ้งไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนกล่าวหา เรื่องนี้ควรถูกบันทึกเอาไว้

แต่สิ่งที่ควรบันทึกก่อนหน้านั้นคือ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม คือประชาชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่คนแรก ที่เสียชีวิตเนื่องจากการประท้วงอดอาหาร เพื่อแสดงจุดยืนความคิดทางการเมือง

ไม่ควรมีใครต้องตายเพราะความคิดทางการเมือง เรื่องนี้ต้องพูดกี่ครั้งจึงจะเข้าใจ

(https://www.facebook.com/athikhom.khunawut/posts/6AGN3U4MSXK6) 

คำถามที่จะเป็นแรงกระเพื่อมทางอารมณ์ในสังคมไทยต่อไปอีกนานจากกรณี ‘บุ้ง’ การราชทัณฑ์ที่ผู้ตายได้รับ เหมาะสมแล้วหรือ

การตายของ เนติพร เสน่ห์สังคม ยังเป็นแรงกระเพื่อมทางอารมณ์ในสังคมไทย ที่นานาชาติมองเห็น แต่บางฝักฝ่ายปฏิเสธที่จะเห็น แล้วยังบิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

โพสต์ของ Nattharavut Kunishe Muangsuk ย้อนถามเชิงตอบโต้จากข้อกล่าวหาต่างๆ ของ พายุ เนื่องจำนงค์ ‘I-Bag’ พรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า “มีกลุ่มคนที่ส่งเสริมและยุยงให้คุณบุ้งนั้นอดอาหารอย่างต่อเนื่อง” นั้นเป็นใคร อย่าพูดลอยๆ

ณัฐวุฒิยันว่าเขาเองอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน และติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองมานาน “ยังไม่เคยเห็นกลุ่มคนที่ส่งเสริมยุยงให้ บุ้ง อดอาหาร...ฝ่ายเกลียดชังนักกิจกรรมทางการเมือง พูดกันขึ้นมาเอง” เพื่อลดทอนการรณรงค์แก้ไข ม.๑๑๒

เหมือนดังว่าพายุโหมให้ร้ายด้อยค่านักกิจกรรม ม.๑๑๒ มาจากฝักฝ่ายที่เคยเป็นคนกันเอง แต่บัดนี้มีงานหลักต้อง แบกนาย และเชิดชูศักดาของนาย ชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งยึดมั่นถือมั่นอุดมการณ์แรงกล้า ขนาดสละได้ จึงไร้ความหมายสำหรับตระกูลแบก

ประเด็นแท้จริงจึงถูกเบี่ยงเบนไปจาก ผู้ตายไม่มีหนทางใดไว้ให้ต่อสู้แล้ว จึงเลือกหนึ่งในทางสองแพร่งระหว่างความตายกับการพ่ายแพ้ยอมสยบ อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถี่ขึ้น ณ เวลานี้ การราชทัณฑ์ที่ผู้ตายได้รับ เหมาะสมแล้วหรือ

ทั้งหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม บุ้ง ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ต่อเมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว “ทนายกฤษฎางค์ (นุตจรัส) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้มีการส่งตัวมารักษาใน รพ.ด้านนอก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

บางทีส่งมาแค่พอหาย ก็พาตัวกลับไปอีก บุ้งหัวใจวายตอนหกโมงเช้า กว่าจะถึง รพ.ธรรมศาสตร์ตอนเก้าโมง กรมราชทัณฑ์ต้องรับผิดชอบมั้ย” Pipob Udomittipong เปิดปุจฉาปึกใหญ่ เมื่อแถลงการณ์ รพ.ธรรมศาสตร์ระบุเช่นนั้น

“เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงได้ถูกนําเข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น ๑...ผู้ป่วยไม่มีสัญญาณชีพ ระบบประสาทไม่มีการตอบสนอง ไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงทําการ CPR เพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเต็มที่” แต่ก็สายไปแล้ว

ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่ม ทะลุวัง อีกคน ที่ถูกคุมขังด้วยข้อหา ม.๑๑๒ ไม่ให้ประกันมานาน และประท้วงด้วยการอดอาหาร อาการเพิ่งทรุดหนัก (อีกครั้ง) คราวนี้ รพ.ราชทัณฑ์ ส่งตัวไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์ ทันก่อนหมดลมหายใจ

ยังมีผู้ต้องหา เหยื่อระบบราชทัณฑ์ ยังติดอยู่ในการคุมขังและควบคุมอีกหลายคน ลองสังคมทำลืมๆ กันไปสักพักดูสิ จะมีเหตุสุดวิสัยนักโทษเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงอีกกี่รายเกิดขึ้น อันไม่ควรยิ่งนักเพราะถูก ห้ามประกัน

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=10161192213826649&set=a.10150096728651649 และ https://www.facebook.com/nattharavutm/posts/fJefmgZvHjr) 

วันพุธ, พฤษภาคม 15, 2567

“ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” อย่าปล่อยให้หงอยเหงา

การตายของ บุ้ง ทะลุวังพิสูจน์ความจริงได้อย่างหนึ่ง และลบล้าง (ด้วยน้ำมะพร้าวรดหน้า) ต่อคำปรามาสของนังแบกตัวเอ้ ที่ว่าไม่มีนักกิจกรรมคนไหนอดอาหารด้วยอุดมการณ์อย่างจริงจังถึงตาย ขณะเดียวกับทำให้การรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมฟังขึ้นยิ่งนัก

“ไม่ควรต้องมีผู้ต้องขังคดีการเมืองในประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพ ในประเทศที่เป็นนิติรัฐและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” เป็นคำประกาศของกลุ่มทำกิจกรรม จุดเทียนส่งบุ้ง ที่หน้าศาลอาญา เมื่อค่ำวันที่ ๑๔ พฤษภาคม

“เราขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และนิรโทษกรรมประชาชน โดยรวมคดีมาตรา ๑๑๒ ให้ประชาชนทุกฝ่ายได้กลับคืนสู่ความปกติ” รวมถึง “ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป”

ประจวบกับก่อนหน้านี้เมื่อ ๘ พฤษภา สำนักเลขาฯ สภาผู้แทนแจ้งต่อศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเสนอไว้นั้นผ่านด่านปราการแรก ไม่ถูกจัดเข้าเป็นร่าง กม.เกี่ยวกับการเงิน แล้วไปถูกดองไว้ใน ครม.

“ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ เป็นร่างกฎหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อจำนวน ๓๖,๗๒๓ คน”

ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในหลายประเด็น เช่น เห็นด้วยไหมให้นิรโทษแก่ผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ ๑๙ กันยา ๔๙ โดยให้พ้นความผิดอย่างสิ้นเชิง และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ลบทะเบียนประวัติอาชญากรรม”นั้นด้วย

ทั้งนี้โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นดำเนินการ อีกทั้งถามว่าเห็นด้วยหรือเปล่าที่จะไม่นิรโทษ “เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา”

อย่างไรก็ดีสภาผู้แทนฯ ได้จัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ๓๕ คน ศึกษาแนวทางตรา พรบ.ดังกล่าว มี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน และนัดประชุมกันไปแล้ว ๑๐ ครั้ง ล่าสุดมีมติ (๒ พ.ค.) ขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมออกไปอีก ๖๐ วัน นัดประชุมกันอีกครั้งต่อไป ๑๖ พ.ค.นี้

ระหว่างนี้เป็นจังหวะที่ดี “ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นี้บนเว็บไซ้ท์ของรัฐสภา > https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php... อย่าปล่อยให้หงอยเหงา

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/LyfHiFwTNtREP)

เปิดจดหมายสุดท้าย บุ้ง เนติพร ให้เหตุผล ทำไมต้องสู้ ขอตายอย่างมีศักดิ์ศรี


ที่มา มติชนออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 พฤษภาคม จากกรณี น.ส.เนติพร หรือบุ้ง กลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หัวใจหยุดเต้น กำลังปั๊มหัวใจอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ส่งตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ล่าสุดมีรายงานว่า บุ้งเสียชีวิตลงแล้ว เมื่อเวลา 11.22 น.ที่ผ่านมา

น.ส.เนติพร หรือบุ้ง เคยทำพินัยกรรม ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุเจตนาจัดการทรัพย์สิน รวมถึงเขียนหนังสือบริจาคร่างกายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อุทิศแด่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำร่างไปทำประโยชน์ เผยแพร่ความรู้ถึงสภาวะที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์เมื่ออดอาหาร

โดยจากเพจเฟซบุ๊ก ทะลุวัง – ThaluWang ได้เผยแพร่จดหมายสุดท้ายของบุ้งที่เขียนไว้เมื่อ 14 มีนาคม 2567 ระบุว่า “สวัสดีค่ะ บุ้งนะคะ นี่ก็ล่วงเลยมาเป็นเดือนแล้วที่บุ้ง ตะวัน และแฟรงค์ต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่เรารัก

ตั้งแต่เล็กจนโต การเป็นลูกสาวตุลาการของบุ้งทำให้บุ้งได้รับรู้ว่าประเทศนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชนคนตัวเล็กๆ เอาเสียเลย

จนถึงตอนนี้ ทุกอย่างชัดเจน ไม่ต้องเป็นลูกผู้พิพากษาก็คงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้ล้มเหลวขนาดไหน การมีอยู่ของพวกเขาไม่เคยดำเนินไปเพื่อประชาชน แต่กลับตั้งอยู่เพื่อพวกผู้มีอำนาจ และคนไม่กี่กลุ่มในประเทศอย่างหน้าไม่อาย พวกเขาคิด พวกเขาทำกันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่อายสายตาประชาชนแล้วจะให้เราอยู่เฉยๆ ได้ยังไง

แค่ตั้งคำถามก็ติดคุก แค่บีบแตรก็ติดคุก

ถ้ากล้าทำกันขนาดนี้โดยไม่อายสายตาชาวโลก ทำไมไม่สั่งประหารกันเลยล่ะคะ พวกคุณอยากกำจัดเราอยู่แล้ว รัฐประหารเวลาชีวิตของเราด้วยนิติสงคราม ขโมยอนาคตไปจากพวกเรา สั่งฆ่า สังหารหมู่ คน 6 ตุลา คนเสื้อแดงก็ทำมาแล้ว

ถ้าไม่ยอมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้พวกเรา ก็เอาชีวิตพวกเราอีก 3 คนเลย พวกเรายินดีแลก เพราะถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส บุ้งไม่ขอเป็นทาส ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติไหน ขอตายอย่างที่เราได้เลือก ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สังคมไทยมักเป็นแบบนี้เสมอ คือบอกให้คนที่สู้ เลิกสู้ เพราะประชาชนก็ไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถต่อกรกับรัฐเผด็จการได้ แทนที่จะบอกให้คนที่กล้าหาญเลิกสู้ ควรหันมาถามตัวเองดีกว่าไหมว่าทำไมไม่ลุกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรม ทำไมถึงเลือกที่จะเมินเฉย

เขากล่าวหาว่าบุ้ง ตะวัน และแฟรงค์เป็นแค่ไม้ซีกงัดไม้ซุง ก็ขอให้ไม้ซีกทั้งหลายที่ยังไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นมาสู้ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นให้ได้ ให้รู้กันไปเลยว่า ไม้ซีกแบบพวกเราเมื่อรวมกัน ก็สามารถเผาไม้ซุงแห่งความอยุติธรรมให้วอดวายได้ เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน หากยังไม่ยอมแพ้วันที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงต้องมาถึงอย่างแน่นอน”


ทะลุวัง - ThaluWang
March 14

สวัสดีค่ะ บุ้งนะคะ นี่ก็ล่วงเลยมาเป็นเดือนแล้วที่บุ้ง ตะวัน และแฟรงค์ต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่เรารัก
ตั้งแต่เล็กจนโต การเป็นลูกสาวตุลาการของบุ้งทำให้บุ้งได้รับรู้ว่าประเทศนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชนคนตัวเล็กๆเอาเสียเลย
จนถึงตอนนี้ ทุกอย่างชัดเจน ไม่ต้องเป็นลูกผู้พิพากษาก็คงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้ล้มเหลวขนาดไหน การมีอยู่ของพวกเขาไม่เคยดำเนินไปเพื่อประชาชน แต่กลับตั้งอยู่เพื่อพวกผู้มีอำนาจ และคนไม่กี่กลุ่มในประเทศอย่างหน้าไม่อาย พวกเขาคิด พวกเขาทำกันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่อายสายตาประชาชนแล้วจะให้เราอยู่เฉยๆได้ยังไง
แค่ตั้งคำถามก็ติดคุก แค่บีบแตรก็ติดคุก
ถ้ากล้าทำกันขนาดนี้โดยไม่อายสายตาชาวโลก ทำไมไม่สั่งประหารกันเลยล่ะคะพวกคุณอยากกำจัดเราอยู่แล้ว รัฐประหารเวลาชีวิตของเราด้วยนิติสงคราม ขโมยอนาคตไปจากพวกเรา สั่งฆ่า สังหารหมู่ คน 6 ตุลา คนเสื้อแดงก็ทำมาแล้ว
ถ้าไม่ยอมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้พวกเราก็เอาชีวิตพวกเราอีก 3 คนเลย พวกเรายินดีแลก
เพราะถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส บุ้งไม่ขอเป็นทาส ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติไหน ขอตายอย่างที่เราได้เลือก ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สังคมไทยมักเป็นแบบนี้เสมอ คือบอกให้คนที่สู้ เลิกสู้ เพราะประชาชนก็ไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถต่อกรกับรัฐเผด็จการได้ แทนที่จะบอกให้คนที่กล้าหาญเลิกสู้ ควรหันมาถามตัวเองดีกว่าไหมว่าทำไมไม่ลุกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรม ทำไมถึงเลือกที่จะเมินเฉย
เขากล่าวหาว่าบุ้ง ตะวัน และแฟรงค์เป็นแค่ไม้ซีกงัดไม้ซุง ก็ขอให้ไม้ซีกทั้งหลายที่ยังไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นมาสู้ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นให้ได้ ให้รู้กันไปเลยว่า ไม่ซีกแบบพวกเราเมื่อรวมกัน ก็สามารถเผาไม้ซุงแห่งความอยุติธรรมให้วอดวายได้ เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน
หากยังไม่ยอมแพ้วันที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงต้องมาถึงอย่างแน่นอน
#ยกเลิก112 #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #คืนสิทธิการประกันตัว #อีดอกแต่บีบแตร #ขบวนเสด็จ #บุ้ง #ตะวันแฟรงค์ #ทะลุวัง #thaluwang
ที่มา มติชนออนไลน์

(https://www.matichon.co.th/politics/news_4575029)


วันนี้แก๊งค์แบกทำงานหนักมาก เป็นการทำงานที่น่าอนาถที่สุดตั้งแต่เกิดมีการแบก


@Rosie_Spokedark
·8h

วันนี้แก๊งค์แบกทำงานหนักมาก เป็นการทำงานที่น่าอนาถที่สุดตั้งแต่เกิดมีการแบก วันที่เสื้อแดงโดนยิงตายกลางเมือง สลิ่มพากันสะใจบอกว่าสมควรตาย หลายคนเลิกคบเพื่อน หลายคนช็อคกับความอำมหิตของคนรู้จัก หลายคนที่เคยอยู่ในสภาพนั้น วันนี้กลายเป็นคนอำมหิตซะเองในนามของการแบก #บุ้งทะลุวัง
.....
Atukkit Sawangsuk
1 hour ago·

สลิ่มคลั่งในปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่คลั่งเพราะรักจนเสียสติเหมือนในอดีต
แต่คลั่งเพราะรู้แก่ใจว่ากำลังสูญเสีย
สิ่งที่เคยยึดเหนี่ยว ที่เคยรักที่เคยหวงแหนเสื่อมสลายลงไปทุกวัน
พวกตัวก็กลายเป็นเสียงข้างน้อย น้อยลงตายลงทุกวัน
มันจึงเป็นอารมณ์คลั่ง แบบคนที่มองไม่เห็นทางชนะ มองไม่เห็นความหวัง อดีตไม่มีวันหวนกลับ
คลั่ง สิ้นหวัง เกลียดชัง ระบายอารมณ์ใส่ทุกสิ่งทุกอย่าง
:
พวกแบกก็เหมือนกัน
รู้แก่ใจว่าอดีตไม่มีวันหวนกลับ
.....
@Thai_Talk
·9h

ตอนคนเสื้อแดงถูกฆ่ากลางเมืองปี 2553 มีคนสะใจเยาะเย้ยคนตายมากมายในทวิตเตอร์ วันนี้ 14 ปีให้หลัง #บุ้งทะลุวัง ตายเพราะอดอาหารประท้วงกฎหมาย มีปรากฎการณ์คล้ายกันอีกครั้ง ฉันสงสัย สังคมไทยมีสลิ่มกี่เฟสที่สามารถดีใจหัวเราะกับการที่มีคนตายเพราะ
...

@Oc_matichonTV

นี่หรือคือเมืองพุทธ 
แสนจะสุดประหลาดใจ 
หัวเราะเยาะยั่วไล่ 
สะใจความตายตรงหน้า 
คิดต่างต่างคิดได้ 
วิจารณ์ไปเถอะหนา 
แต่อย่าปิดหูตา 
คายออกมาความเป็นคน 

14 พ.ค. 2567 “บุ้ง” เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวคดี ม.112 ขณะยังมีผู้ต้องขังการเมืองอีก 43 คน เป็น ม.112 ถึง 25 คน ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี 27 คน ยังรอคอยสิทธิประกันตัว


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
5 hours ago
·
“บุ้ง” เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวคดี ม.112
ขณะยังมีผู้ต้องขังการเมืองอีก 43 คน เป็น ม.112 ถึง 25 คน
ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี 27 คน ยังรอคอยสิทธิประกันตัว
14 พ.ค. 2567
ปัจจุบัน (14 พ.ค. 2567) ในเรือนจำทั่วประเทยังคงมีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง อย่างน้อย 43 คน เป็นตัวเลขที่ยังคงมากทำลายสถิติอย่างน้อยในรอบ 4 ปีต่อไป ในจำนวนผู้ต้องขังการเมือง 43 คนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินกว่าครึ่ง คือ 25 คน โดยทั้งปี 2567 นี้ยังไม่มีผู้ต้องขังได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากศาลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แล้ว (ยกเว้นกรณีที่ถูกคุมขังที่เรือนจำเพื่อรอฟังคำสั่งประกันครั้งแรก)
โดยล่าสุดผู้ต้องขังคดีการเมืองในคดีมาตรา 112 อย่าง #บุ้งทะลุวัง ซึ่งถูกพรากอิสรภาพไปนานถึง 110 วัน ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว ภายหลังอดอาหารประท้วงเป็นระยะเวลาหนึ่งมาตั้งแต่ 27 ม.ค. 2567 พร้อมกับ 2 ข้อเรียกร้องที่ดูเหมือนว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้า ได้แก่ ข้อที่ 1 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และข้อที่ 2 ต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
ขณะที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ชีวิตที่ยากลำบากจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย บางรายยังคงทุกข์ทนกับโรคประจำตัวและความเจ็บป่วย อีกทั้งยังมีผู้ต้องขังการเมืองอีกจำนวนหนึ่งต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการถูกข่มขู่ คุกคามจากผู้ต้องขังร่วมเรือนจำ เพียงเพราะแสดงออกทางการเมืองในเรือนจำ
ผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 43 คน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
การถูกคุมขังระหว่างสู้คดี 27 คน:
คดีมาตรา 112 จำนวน 18 คน
คดีมาตรา 116 จำนวน 2 คน
คดีอื่น ๆ จำนวน 7 คน
ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ได้แก่ “พรชัย วิมลศุภวงศ์” ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีมาตรา 112 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา
ส่วนกรณีของ ภัทรชัย (นามสมมติ) ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีมาตรา 112 ที่บ้านเมตตา ได้ถูกควบคุมตัวจนครบโทษแล้วเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากบ้านเมตตา เนื่องจากยังมีคดีส่วนตัวอีก 1 คดี ทำให้ภัทรชัยจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 24 พย. 2567
และล่าสุดจำนวนผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีได้ปรับลดลงอีก จากกรณีที่ “บุ้ง” เนติพร หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 อยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นแพทย์จะชันสูตรพลิกศพต่อไปภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้
การถูกคุมขังในคดีสิ้นสุดแล้ว 16 คน:
คดีมาตรา 112 จำนวน 7 คน
คดีสหพันธรัฐไท (ข้อหาเป็นอั้งยี่) จำนวน 2 คน
คดีอื่น ๆ จำนวน 7 คน
เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ในวันที่ 9 เม.ย. มีผู้ถูกคุมขังในคดีสิ้นสุดได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ 1 คน ได้แก่ “ปริทัศน์” (นามสมมติ) วัย 33 ปี เนื่องจากถูกคุมขังตั้งแต่ 12 ต.ค. 2565 จนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนแล้ว
ส่วนเดือน พ.ค. นี้ ไม่พบว่ามีผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีถึงที่สุดคนใดมีกำหนดปล่อยตัวอีก แต่ในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ มีผู้ต้องขังที่มีกำหนดปล่อยตัวหลังถูกขังครบโทษ 1 คน นั่นคือ “โย่ง” (สงวนชื่อสกุล) วัย 51 ปี เขาถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ด้วยคำพิพากษาจำคุก 6 ปี ของศาลชั้นต้น จากเหตุคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กที่มีภาพสมาชิกราชวงศ์
ลุงโย่งนับเป็นผู้ต้องขังการเมืองคดีถึงที่สุดชุดปัจจุบันที่ถูกคุมขัง ‘นานที่สุด’ เป็นอันดับที่ 2 ด้วยระยะเวลากว่า 1,260 วัน หรือเกือบ 3 ปีครึ่ง เป็นรองให้เพียง ‘ป้าอัญชัญ’ ที่จะพ้นโทษในปี 2574 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
สถานการณ์น่าจับตาของผู้ต้องขังคดีการเมือง
ผู้ต้องขังแดน 6 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รู้สึกไม่ปลอดภัยจากการถูกข่มขู่ - คุกคาม
ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่แดน 6 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีอย่างน้อย 5 คน ได้แก่ “ก้อง” อุกฤษฏ์, “มาย” ชัยพร, “บุ๊ค” ธนายุทธ, จิรวัฒน์ และ “ขนุน” สิรภพ กำลังเผชิญกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย ภายหลังจากถูกข่มขู่และคุกคามจากผู้ต้องขังร่วมแดน เนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองด้วยการชู 3 นิ้ว ขณะเรือนจำเปิดเพลงชาติ
แม้ทั้ง 5 คน จะร้องเรียนต่อเรือนจำแล้วว่า ขอให้ย้ายกลุ่มผู้ต้องขังที่ก่อเหตุข่มขู่และคุกคาม ทว่าเรือนจำยังไม่มีการตอบรับหรือมีมาตรการความปลอดภัยให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองแต่อย่างใด
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นหนังสือต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อร้องขอให้ย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองทั้ง 5 คน ไปยังแดนอื่น เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน (14 พ.ค.) เรือนจำยังไม่มีการตอบกลับว่าจะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่ อย่างไร
ความเจ็บป่วยของผู้ต้องขังในเรือนจำ
2.1 การระบาดของโควิดที่เชียงใหม่
ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง “พรชัย” ถูกคุมขังอยู่ในตอนนี้กำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 มีผู้ต้องขังติดเชื้อหลายคน พรชัยเองก็มีอาการไอ แต่ไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือยัง
ก่อนหน้านี้ในการถูกคุมขังครั้งแรกเมื่อช่วงปี 2564 พรชัยก็ติดโควิดจากเรือนจำเชียงใหม่แห่งนี้ โดยเป็นการพบว่าติดเชื้อหลังได้รับการประกันตัวไม่กี่วัน ทำให้ต้องทำการกักตัวในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าว ก่อนจะเดินทางกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้
เช่นเดียวกับที่บ้านเมตตา ภูมิซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่นเล่าว่า ที่บ้านเมตตามีผู้ติดเชื้อโควิด แต่ไม่ทราบจำนวนว่ามากน้อยแค่ไหน ทำให้ภูมิยังคงต้องเฝ้าระวังและถูกกักกันโรคพร้อมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในบ้านเมตตา
2.2 ภูมิยังไม่ได้ผ่าตัดหัวไหล่ แม้ผ่านมานานกว่า 3 เดือนแล้ว
“ภูมิ” นักกิจกรรมวัย 20 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีมาตรา 112 ที่บ้านเมตตา ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บจนหัวไหล่ด้านขวา ‘หลุด’ มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ทว่าภูมิยังคงไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาหัวไหล่ เนื่องด้วยคิวผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เต็ม และไม่มีห้องผ่าตัดว่างสำหรับภูมิเลย
อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แจ้งว่าจะต้องรีบผ่าตัดให้เร็วที่สุด แพทย์จึงได้ทำบันทึกไปถึงโรงพยาบาลสิรินธรซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้จัดเตรียมห้องผ่าตัด โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาฯ จะไปทำการผ่าตัดให้ภูมิที่นั่น
2.3 กัลยา ‘วูบ’ ขณะอาบน้ำ
กัลยา ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันมาตั้งแต่ก่อนถูกคุมขังนั้น ปัจจุบันยังคงติดตาม เฝ้าระวัง และเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นระยะ ๆ ครั้งล่าสุด เธอมีปัญหาบริเวณเส้นหลอดเลือดที่ขา แต่หมอที่โรงพยาบาลนราธิวาสแจ้งให้ทราบเพียงผลเลือด ซึ่งกัลยามีค่าเลือดปกติทุกอย่าง แต่เธอไม่ได้ทำ TC แสกน หรืออัลตร้าซาวด์อย่างที่คิด
อีกทั้ง จากอาการร้อนในช่วงนี้ทำให้กัลยามีอาการปวดหัว ปวดตา โดยก่อนหน้านี้เธอมีอาการความดันสูง ขณะอาบน้ำเกิดอาการวูบ แต่โชคดีมีเพื่อนอยู่ด้วยช่วยกันประคอง และเมื่อได้พักประมาณ 10 นาที อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ


ทูตประเทศประชาธิปไตยประสานเสียงแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของ #บุ้งทะลุวัง ซึ่งถูกขังโดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี #ม112 กรณีทำโพล #ขบวนเสด็จ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น และผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกทวีตแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ #บุ้งทะลุวัง เรียกร้องให้ไทยเคารพเสรีภาพ ยุติการดำเนินคดีคนเห็นต่าง ซึ่งรวมถึงคดี #ม112


Matichon Online
@MatichonOnline

#สื่อนอก ตีข่าว #บุ้งทะลุวัง นักเคลื่อนไหวชาวไทย เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง ด้านคณะทูต หลายชาติ ร่วมไว้อาลัย 
14 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อนอก ต่างรายงานการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร นักเคลื่อนไหวชาวไทย ขณะถูกคุมขัง อาทิ รอยเตอร์ , เอพี , ไทมส์ , เดอะ สเตรท ไทม์ และ วอชิงตันโพสต์ 

ขณะที่ คณะทูต หลากหลายชาติ ได้โพสต์เอ็กซ์ แสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตครั้งนี้ อาทิ โรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย , มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย และ ซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย .
  






 

บรรยากาศ จุดเทียนไว้อาลัย “บุ้ง เนติพร” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กลุ่มเพื่อนบุ้ง ร้องไห้โฮ รับยังเศร้าและเสียใจ หวังศาลคืนสิทธิประกันตัว ไม่ให้ซ้ำรอย “บุ้ง“

https://www.facebook.com/eggcatcheese/posts/765209959093895?ref=embed_post

ไข่แมวชีส added 30 new photos to the album: 14 พค 67 ไว้อาลัย บุ้ง เนติพร ศาลกรุงเทพใต้.
3 hours ago·

จุดเทียนไว้อาลัย “บุ้ง เนติพร” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กลุ่มเพื่อนบุ้ง ร้องไห้โฮ รับยังเศร้าและเสียใจ หวังศาลคืนสิทธิประกันตัว ไม่ให้ซ้ำรอย “บุ้ง“
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00-19.12 น. ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กลุ่มมวลชนเดินทางมาร่วมทำกิจกรรม “แด่ปณิธานสุดท้าย ขอเนติพร“ เพื่อไว้อาลัย ต่อนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง แกนนำกลุ่มทะลุวัง หลังหัวใจหยุดเต้น ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และย้ายมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก่อนเสียชีวิต
โดยกิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นเมื่อเวลา 17:00 น. กลุ่มมวลชนได้รวมตัวกันที่ ประตูด้านหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมชูกระดาษรูปภาพไว้อาลัยนางสาวเนติพร ก่อนเดินมาที่ประตูด้านหน้า และร่วมกิจกรรมยืนไว้อาลัย และมีแกนนำยืนปราศรัยถึงจุดยืนของนางสาวเนติพร ทางกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมได้เตรียมเทียน แล้วดอกไม้ เพื่อนจุดเทียนยืนไว้อาลัย กับนางสาวเนติพร และเวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา โดยจะยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที
ส่วนของการรักษาความปลอดภัย นอกจากเจ้าหน้าที่ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ปิดประตูทางเข้าออกและคัดกรองบุคคลเข้าออกในพื้นที่ศาลแล้ว ด้านพันตำรวจเอกรัฐธนนท์ เอกฐิติกุลพัทธ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เฝ้าระวังและสังเกตความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีช่วงหนึ่งทางผู้กำกับ สน.ยานนาวา ได้เข้าไปพูดคุยกับแกนนำ และแจ้งให้ทราบถึงขอบเขตข้อกฎหมายในกิจกรรมการชุมนุม
ด้านนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจบกิจกกรมว่า พวกตนรู้สึกเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้ใครเสียชีวิตเพราะกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ส่วนสาเหตุการตาย เรายังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่สุดท้ายแล้ว เพราะการถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม การถูกถอนประกัน ทำให้บุ้งต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้เขาต้องเสียชีวิต ถ้าเขาได้อยู่ข้างนอก ก็ใช้ชีวิตปกติ วันนี้ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ตนขอย้ำในเรื่องสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่ควรจะได้รับ เขาเหล่านั้นควรที่จะได้รับการประกันตัว โดยส่วนตัวตนเองรู้จักกับบุ้ง ซึ่งบุ้งถือเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 28 ปี ที่มีความฝันและความหวังเหมือนกับคนทั่วไป และเขาก็ไม่ทำสิ่งเหล่านั้นเลย เพราพส่วนใหญ่พูดแต่เรื่องการเมือง
ผมอยากจะบอกเขาว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม พวกเราเพื่อนๆ จะคิดถึงและระลึกถึงเขาเสมอ และเราก็อยากไม่ให้มีใครเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ และพวกตนหวังว่าผู้ต้องขังทางการเมืองจะได้รับอิสรภาพโดยไว
”สำหรับการเคลื่อนไหวในอนาคตนั้น ตนขอเวลาอีกสักพักนึงเพราะในระหว่างนี้ พวกเราก็ยังคิดอะไรกันไม่ออก เพราะกำลังเศร้าและเสียใจกันหมด“ นายนภสินธุ์ กล่าว


ประวัติ “บุ้ง ทะลุวัง” เส้นทางชีวิต จากลูกตุลาการ สู่ผู้ต้องหา ม.112 จาก ความคิดแนวอนุรักษ์นิยม สู่นักสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

Thosapol
Thethaiger,.com
14 พ.ค. 2567

เปิดประวัติ ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม ติวเตอร์และนักกิจกรรม ปัจจุบันอายุ 26 ปี จากลูกตุลาการสู่ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 แม้เธอจะเติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานอยู่ในแวดวงของกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเลือกใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามและการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง หวังเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า

ประวัติเส้นทางชีวิตของ ‘บุ้ง’ นักกิจกรรมหัวใจบริสุทธิ์

จากเด็กหญิงที่เคยวิ่งเล่นในศาล สู่ติวเตอร์ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ บุ้งได้ค้นพบความจริงที่ว่า ความยุติธรรมไม่ได้อยู่แค่ในห้องพิจารณาคดี แต่ยังอยู่ในเสียงเรียกร้องของผู้ถูกกดขี่

บุ้ง เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคาดหวังที่จะสืบทอดอาชีพทางกฎหมายของครอบครัว พ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ ในวัยเด็กศาลยุติธรรมคือสนามเด็กเล่นที่เธอคุ้นเคย แต่แล้ววันหนึ่ง สถานที่ที่เธอเคยวิ่งเล่นกลับกลายเป็นกรงขัง อุดมการณ์และความฝันของเธอถูกจองจำไว้ภายใต้เงาของกฎหมายอาญา มาตรา 112

เสียงหัวเราะของเด็กหญิงตัวน้อยที่เคยดังก้องในศาล เงียบหายไปพร้อมกับอิสรภาพของเธอ ความผิดเพียงหนึ่งเดียวของเธอคือการตั้งคำถาม การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่กลับถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

หลังจากที่เธอทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ส่งผลให้ บุ้ง และ ใบบอ ซึ่งขณะนั้นทั้งคู่ทำงานสนับสนุนให้กับกลุ่มทะลุวัง ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง และคดีทำโพลของทะลุวังอีก 2 คดี ทำให้ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันและส่งไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565

ในตอนนั้น ศาลก็ยังคงไม่ให้ประกันตัว บุ้งและเพื่อนจึงเริ่มต้นอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยยืนยันว่าจะอดอาหารต่อไปจนกว่าจะศาลจะให้ประกันตัว กระทั่งผ่านไป 94 วัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งบุ้งและใบปอ

จุดเปลี่ยนของ ‘บุ้ง’ จาก ‘แนวคิดอนุรักษ์นิยม’ สู่นักสู้เพื่อประชาธิปไตย

เส้นทางชีวิตของบุ้งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการค้นพบตัวเอง ในวัยเยาว์ เธอเคยหลงใหลในอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. แต่แล้ววันหนึ่ง ประกายไฟแห่งความจริงก็ได้จุดประกายความคิดของเธอให้เปลี่ยนไป

ช่อ พรรณิการ์ วานิช คือผู้จุดประกายนั้น เธอเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคนไร้บ้านที่ถูกสไนเปอร์ยิง ความจริงอันโหดร้ายนี้ ทำให้เธอตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และความรู้สึกผิดต่อผู้ที่สูญเสียก็หลั่งไหลเข้ามา

เหตุการณ์ Big Cleaning Day ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อทำลายหลักฐานยิ่งตอกย้ำความรู้สึกผิดของเธอ เธอเห็นภาพของการล้างคราบเลือดและความอยุติธรรมออกไปจากสายตาประชาชน และตระหนักว่าหากเป็นเธอที่สูญเสียคนที่รักไป เธอคงไม่อาจทวงคืนความยุติธรรมได้

ความรู้สึกผิดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้สาวนักกิจกรรมสังคมคนนี้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เสียงของเธออาจจะเล็กจ้อย แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งความจริงใจและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม



เริ่มต้นเคลื่อนไหวด้านระบบการศึกษาไทย

บุ้งไม่ได้หยุดอยู่แค่การค้นพบอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ เธอใช้ความรู้และประสบการณ์ในฐานะติวเตอร์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย

ด้วยสายตาที่แหลมคม ทำให้เธอมองเห็นความล้าหลังและข้อบกพร่องมากมายในระบบการศึกษาไทย หลักสูตรที่ล้าสมัย การปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน ล้วนเป็นสิ่งที่เธอไม่อาจนิ่งเฉยได้

สาวนักกิจกรรมจึงเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องสิทธิในการไว้ทรงผมของนักเรียน LGBTQ+ (กลุ่มความหลากหลายทางเพศ) เธอเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงตัวตน และไม่ควรถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก

ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 บุ้งก็ไม่ลังเลที่จะออกมาเรียกร้องวัคซีนให้กับเด็กและเยาวชน ในขณะที่ผู้ใหญ่ในประเทศกำลังแสวงหาผลประโยชน์ เธอกลับให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ เธอต้องการให้เด็ก ๆ ได้รับการปกป้องและมีโอกาสเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

การต่อสู้ของบุ้งเพื่อระบบการศึกษาที่เท่าเทียมและเป็นธรรมยังคงดำเนินต่อไป เธอคือเสียงของเยาวชนที่ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม และพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

จุดกำเนิด “โพลทะลุวัง”: เมื่อคำถามกลายเป็นอาวุธ

ความคิดที่จะใช้ “คำถาม” เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นในใจบุ้ง หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกับทนายอานนท์ นำภา ผู้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการตั้งคำถามสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112

แรงบันดาลใจนี้ผสมผสานกับประสบการณ์ในการจัดทำโพลเกี่ยวกับผ้าอนามัยในม็อบนักเรียน ทำให้บุ้งเกิดไอเดียที่จะใช้ “โพล” เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามที่สังคมไม่เคยถามมาก่อน

เมื่อบุ้งได้ร่วมงานกับกลุ่มทะลุวัง เธอจึงนำเสนอแนวคิดนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “โพลทะลุวัง” ที่โด่งดัง โพลเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามที่ไม่เคยมีใครกล้าถาม แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ

โพลทะลุวังไม่เพียงแต่เป็นการสำรวจความคิดเห็น แต่ยังเป็นการจุดประกายความคิดและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมมองข้าม

“บุ้ง” ผู้ปกครองจำเป็นของ “หยก” ในวังวนความขัดแย้ง

บทบาทของบุ้งในฐานะผู้ปกครองของหยก เยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 15 ปี ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม หลังจากหยกถูกโรงเรียนสั่งห้ามเข้าเรียนเนื่องจากทำผิดกฎระเบียบและไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวตามกำหนด

เธอได้พยายามติดต่อพ่อแม่ของหยก แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากพวกเขาตัดขาดการติดต่อกับหยกหลังจากที่หยกถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทำให้บุ้งต้องรับหน้าที่ดูแลหยกอย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม การกระทำของหยกและกลุ่มทะลุวังในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม บางฝ่ายมองว่าการแสดงออกของหยกและกลุ่มทะลุวังเป็นการกระทำที่รุนแรงและไม่เหมาะสม ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าโรงเรียนไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ

บุ้งเองก็ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแลหยกของเธอ และมองว่าเธอเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้หยกทำผิดกฎระเบียบ

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้ง บุ้งยังคงยืนหยัดเคียงข้างหยก เธอเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของเยาวชนในการแสดงออก และพร้อมจะปกป้องหยกจากความอยุติธรรม

ภาพจาก : ทะลุวัง – ThaluWang

ศาลฯสั่ง ‘บุ้ง ทะลุวัง’ จำคุก 1 เดือน

หลังจากที่ “บุ้ง” ได้ต่อสู่และมีบทบาททางการเมืองและการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มอื่น ๆ จนมีประเด็นความคิดเห็นขัดแย้งกับกลุ่มรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 สื่อมววชนรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก บุ้ง ทะลุวัง เป็นระยะเวลา 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล กรณีปะทะกับเจ้าหน้าที่ และไม่ให้ประกันตัว

นอกจากนี้ ศาลยังนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของบุ้ง และ หยก กรณีเหตุที่ศาลในวันฟังคำพิพากษาคดีของโฟล์ค สหรัฐ โดยในวันดังกล่าวได้มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนไปเมื่อ 22 มกราคม 2567

ทั้งนี้ รายละเอียดของศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง เป็นบุคคลภายนอก แม้จะอ้างว่าเป็นเพื่อนกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ หากต้องการทราบสิ่งใดย่อมสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่อยู่ป้อมยาม แต่การที่ทั้งสองถือวิสาสะปีนเข้าไป ในลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นการเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่ควบคุมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปแจ้งให้หยุดการกระทำ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับแสดงท่าทีขัดขืน และมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่

ทำให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล จากนั้น บุ้ง ประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2567 เวลา 18:00 น. ก่อนที่อาการจะทรุดลงและถูกย้ายมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว

เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 สื่อมวลชนรายงานข่าวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่กำลังเร่งปั๊มหัวใจ

กระทั่ง ในเวลา 12.27 น. น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) ได้เสียชีวิตลงแล้ว ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง พร้อมกับติดต่อครอบครัวให้มารับศพ

เจ้าหน้าที่นิติเวชยืนยันชื่อของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม มาที่ห้องนิติเวชเพื่อชันสูตรจริง

รวมระยะเวลาการอดอาหารประมาณ 110 วัน นับตั้งแต่ที่ บุ้ง ทะลุวัง ถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง วันที่ 26 ม.ค. 67 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน เหตุละเมิดอำนาจศาล จนกระทั่ง ประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2567 เวลา 18.00 น.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รำลึก บุ้ง ทะลุวัง สดจากศาลอาญา รัชดา 14 พ.ค.67

https://www.youtube.com/watch?v=Cna3WBlGjgg

รำลึก บุ้ง ทะลุวัง สดจากศาลอาญา รัชดา 14 พ.ค.67

Friends Talk

Streamed live 5 hours ago


จาก อ.ปวิน "การเสียชีวิตของบุ้ง ย้ำอีกทีถึงความจำเป็นที่เราค้องพูดเรื่องการปฏิรูปมาตรา 112 อย่างจริงจังได้แล้ว มีคนไทยกี่คนแล้วที่ต้องเสียชีวิตเพราะกฎหมายฉบับนี้"

https://www.facebook.com/pavinchachavalpongpun/posts/6994720857296284?ref=embed_post

Pavin Chachavalpongpun
5 hours ago·

การเสียชีวิตของบุ้ง ย้ำอีกทีถึงความจำเป็นที่เราค้องพูดเรื่องการปฏิรูปมาตรา 112 อย่างจริงจังได้แล้ว มีคนไทยกี่คนแล้วที่ต้องเสียชีวิตเพราะกฎหมายฉบับนี้ 


ชวนฟัง ภัควดี ถึง บุ้ง เนติพร... "หวังว่าการเสียชีวิตของเขา จะไม่เสียเปล่า" "ส่วนคนที่มาเยาะเย้ยถากถางต่างๆ นานาก็ขอให้คิดว่าตัวเองคือเด็กในรูปที่ยืนหัวเราะเมื่อเห็นคนถูกฆ่าในสมัย 6 ตุลาแล้วก็ลองคิดดูกันเองว่าคุณเป็นคนที่สมควรเป็นพลเมืองในสังคมที่มีอารยธรรมรึเปล่า..."


ภัควดี ถึง บุ้ง เนติพร... "หวังว่าการเสียชีวิตของเขา จะไม่เสียเปล่า" | 14 พ.ค. 67

Prachatai

Premiered 86 minutes ago 

"...สถานะของบุ้งก็คงไม่ต่างกับการที่ลุงนวมทอง ไพวัลย์ สละชีวิต เพื่อยืนยันว่ามีคนที่ตายเพื่ออุดมการณ์ ความคิดของผู้ปกครองหรือความคิดของคนจำนวนมากที่คิดว่าไม่มีใครตายเพื่ออุดมการณ์ มันไม่จริง และก็หวังว่าการเสียชีวิตของเขา จะไม่เสียเปล่า 

ส่วนคนที่มาเยาะเย้ยถากถางต่างๆ นานาก็ขอให้คิดว่าตัวเองคือเด็กในรูปที่ยืนหัวเราะเมื่อเห็นคนถูกฆ่าในสมัย 6 ตุลาแล้วก็ลองคิดดูกันเองว่าคุณเป็นคนที่สมควรเป็นพลเมืองในสังคมที่มีอารยธรรมรึเปล่า..." 

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ให้สัมภาษณ์ขณะเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยต่อการจากไป #บุ้งทะลุวัง ที่บริเวณประตูท่าแพ เชียงใหม่ #บุ้งทะลุวัง #6ตุลา #ลุงนวมทอง #มาตรา112

https://www.youtube.com/watch?v=6kUu-8tJ7nw
.....
@kandainthai ·3h

สิ่งที่ยืนยงคงกระพันคือความอำมหิตเลือดเย็นของฝั่งนั้น RIP #บุ้งทะลุวัง


วันอังคาร, พฤษภาคม 14, 2567

รพ.ราชทัณฑ์แจ้ง ‘บุ้ง’ ทะลุวัง หยุดหายใจกำลังปั๊มช่วย แต่ ผอ.คุกหญิงแถลง ยังไม่ได้รับรายงาน

ขณะเขียนเรื่องนี้เป็นเวลาราวเที่ยงวัน ๑๔ พฤษภา นักโทษทางความคิดคนหนึ่งอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว จากผลของการอดอาหารประท้วงเป็นเวลานานมาก ต่อขบวนการยุติธรรมไทย ล่าสุดแถลงจาก ผอ.คุกหญิง บอก “ยังไม่ได้รับรายงาน”

เป็นข่าวบอกเล่าบนสื่อสังคมมาตั้งแต่เมื่อเย็นวานแล้วว่า “บุ้งยังไม่ตาย สลิ่มแช่งให้ตาย” เอกชัย หงส์กังวาน ตั้งคำถามเสียดสีด้วยว่า ทำไมไม่ไปเรียกร้องให้ถอดปลั๊ก คนที่ไม่มีทางฟื้นบ้างล่ะ จนเช้าวันต่อมาจึงมีข่าวยืนยันจากสื่อสายหลัก

“บุ้ง ทะลุวัง หัวใจหยุดเต้น จนท.กำลังปั๊มหัวใจช่วยชีวิต” ใช่ บุ้งเนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมหญิงวัย ๒๙ ปี ต้องหาคดีความผิด ม.๑๑๒ จากการทำโพลเรื่องขบวนเสด็จฯ แล้วถูกศาลดองคดี ไม่ยอมให้ประกันปล่อยชั่วคราวมาแล้วกว่า ๑๑๐ วัน

ผู้ติดตามข่าวเยาวชนโดนข้อหา ๑๑๒ กันจำนวนมาก น่าจะรู้จักบุ้งคนนี้ในฐานะผู้ดูแลเลี้ยงดู หยก ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชน ๑๑๒ อีกคนที่อายุเพียง ๑๕ ปี ซึ่งเพิ่งประกาศยุติกิจกรรมการเมืองใดๆ “สนใจแต่การดนตรี และการศึกษานอกโรงเรียน” (กศน.)

บุ้งเริ่มทำการอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันแรกที่ถูกส่งตัวเข้าจองจำในทัณฑสถานหญิง เป็นการยืนหยัดหยุดอาหารจนสภาพร่างกายทรุดหนักมาแล้วสองครั้ง กระทั่งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ได้จัดทำพินัยกรรมส่วนตัวรอรับการตายของตนเองไว้

ระบุหลังเชียชีวิตให้นำทรัพย์สินเงินสดที่มีอยู่ในบัญชีฝากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง มอบแก่ หยก ทั้งหมดแต่ผู้เดียว รวมทั้งเครื่องประดับ นาฬิกาและต่างหู เลยไปถึงแมวชื่อ โช สัตว์เลี้ยงของต ๑ ตัว ต่อมาในวันที่ ๘ กุมภาฯ บุ้งทำหนังสือสาธารณะอีกฉบับ

“แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย” บุ้งระบุละเอียดถึงกรรมวิธี “เจาะคอเพื่อใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ” เมื่อสมองไม่สามารถทำงานได้แล้ว ก็ไม่เอา

หนังสือฉบับนั้นยังบอกชัดเจนอีกประการ “เมื่อข้าพเจ้าหมดสติลงไปโดยกระทันหัน” อันเป็นผลของการอดอาหาร “ซึ่งข้าพเจ้าทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ของผู้พิพากษาและศาลในประเทศไทย” ก็ไม่ให้ทำการรักษาใดๆ

บุ้งแสดงเจตนาชัดและมุ่งมั่นหยุดชีวิตของตนเอง เพื่อประจานความไร้มโนธรรมและอำมหิต กับชีวิตผู้ต้องหาคนหนึ่ง เพียงเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสิทธิวิเศษเหนือมนุษย์ของสมมุติเทพ บนความเชื่ออันป่าเถื่อนว่าตนเองกับพวกพ้องจะไม่มีทางได้เจอกับสภาพนั้น

(https://www.matichon.co.th/politics/news_4574553, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8230992 และ https://www.innnews.co.th/news/criminal/news_717129/)