Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
6 hours ago
·
ชินจังในความทรงจำ เขาเป็นนักต่อสู้ เป็นคนสุภาพเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เป็นสีสันของการชุมนุมคนเสื้อแดง #ชินจัง
https://www.facebook.com/share/p/18DpSWjnLC/
.....
“ผมคิดจะหลบหนีคดีจริง ผมหนีไปตั้งแต่ปี 57 แล้ว”: แดง ชินจัง” ยังคงไม่ได้ประกันตัว และถูกเซนเซอร์การส่งจดหมาย
20/12/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธอมนุษยชน
ช่วงปลายเดือน พ.ย. – กลางเดือน ธ.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยม “ยงยุทธ” หรือ “แดง ชินจัง” อดีตคนเสื้อแดงผู้กลายเป็นผู้ต้องขังคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2557 จำนวน 5 คดี เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2567 หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี 4 คดี และศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมานับแต่นั้น แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวไปแล้ว 3 ครั้ง และทุกคดียังอยู่ระหว่างรอการสืบพยาน
การได้พบกับทนายความจำนวน 3 ครั้ง ยงยุทธได้บอกเล่าถึงความพยายามสื่อสารเรื่องราวจากข้างในเรือนจำถึงคนข้างนอก โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ยงยุทธเคยเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหว แต่จดหมายดังกล่าวนั้นถูกตีกลับจากทางเรือนจำ โดยมีเหตุผลเพียงว่าเป็นการอ้างอิงถึงบุคคลที่ 3 นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิการประกันตัวที่แม้จะมีการพยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมกับผู้ต้องขังหลาย ๆ คน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงทำให้ยงยุทธยังคงถูกคุมขังอยู่ต่อไป
.
วันที่ 29 พ.ย. 2567
ยงยุทธเล่าผ่านกระจกห้องเยี่ยมทนายว่า วันนี้เป็นวันที่อากาศดีกว่าทุกวัน ต่างจากปกติที่เรือนนอนมักจะร้อนและอับ ก่อนถามกลับถึงสภาพอากาศข้างนอกเรือนจำ หลังจากนั้นได้พูดคุยถึงความคืบหน้าในการยื่นขอประกันตัวหลังได้เอกสารคำพิพากษาคดีของศาลจังหวัดระยองที่ยกฟ้องคดีของเขา และจะใช้ยื่นประกอบการขอประกันตัวอีกครั้ง
ก่อนจะพูดคุยถึงความเป็นอยู่ข้างใน สิ่งที่ทำให้ยงยุทธไม่สบายใจคือเรื่องจดหมาย DomiMail ที่เพิ่งถูกตีกลับ ไม่สามารถส่งออกไปได้ โดยเขาเขียนเนื้อหาทำนองว่า “ถึงพี่น้องเสื้อแดงและผู้ร่วมอุดมการณ์ ประชาชนจงเจริญ คนเสื้อแดงไม่มีวันตาย” แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าพาดพิงถึงบุคคลที่สาม แม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อบุคคลใดเป็นการเฉพาะเลยก็ตาม
“มันจะเป็นการพาดพิงบุคคลที่สามได้อย่างไร” เขาบ่น “ในความเข้าใจ ถ้าพาดพิงถึงบุคคลที่สามจะต้องมีการระบุชื่อ หรือพูดถึงทำให้เขาเกิดความเสียหาย แต่ในเนื้อหาจดหมายของผมไม่ได้ระบุชื่อใครเลย”
เขาจึงลองส่งจดหมายไปอีกฉบับ เปลี่ยนข้อความเป็น “คนเท่ากับคน อิสรภาพจองจำ” ลงชื่อ แดง ชินจัง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะโดยปกติจดหมายของผู้ต้องขังการเมืองมักถูกตรวจสอบเข้มงวดเป็นพิเศษ
“อย่างน้อง ๆ ในแดนนี้ก็โดนเซนเซอร์เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ให้กลับมาแก้คำหรือขีดฆ่าคำที่ไม่เหมาะสมในจดหมายออก” ยงยุทธยังตั้งคำถามว่าเฉพาะจดหมายของตนกลับถูกตีกลับเลย โดยไม่ได้ให้แก้คำอะไรทั้งสิ้น
.
วันที่ 6 ธ.ค. 2567
เสียงแหบแห้งทักทายผ่านโทรศัพท์ในห้องเยี่ยม เนื่องจากยงยุทธเป็นหวัดมาสัก 2-3 วันแล้ว ยิ่งวันนี้อาการหนักขึ้น เจ็บคอ และไอจนเสียงแทบหาย แม้จะได้รับยามาแล้ว ก่อนบ่นถึงสภาพอากาศในเรือนจำที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ทำให้เขาป่วยบ่อย
ในเรื่องจดหมาย DomiMail ที่ลองส่งไปอีกฉบับ ยังคงเป็นปัญหา ล่าสุดที่เขียนถึง “สหายร่วมอุดมการณ์” พร้อมคำขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ช่วยเหลือและไม่ลืมผู้ต้องขังการเมือง ลงท้ายด้วย “ประชาชนจงเจริญ” ก็ยังถูกเซนเซอร์ด้วยเหตุผลเดิม ว่าเขาอ้างถึงบุคคลที่สาม
“ผมก็ไม่รู้จะเขียนเนื้อหาจดหมายอย่างไรแล้วทีนี้” เขาบอก
ก่อนยงยุทธได้รับข่าวว่าจะมีการยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองเซตใหญ่ในวันที่ 9 ธ.ค.2567 รวมทั้งตัวเขาด้วย จึงยังมีความหวังในเรื่องการประกันตัว
ยงยุทธกล่าวว่าหากได้รับสิทธิประกันตัว เขากังวลว่าหากมีเงื่อนไขเรื่องการให้ติดกำไล EM จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตนทั้งในด้านงานแสดงและงานก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้สะดวก
แต่สุดท้ายในวันเดียวกันนั้น ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเขา โดยระบุว่ายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยเป็นพยายามยื่นขอประกันตัวยงยุทธเป็นครั้งที่สาม
.
วันที่ 13 ธ.ค. 2567
ยงยุทธดูเศร้าและเงียบกว่าปกติ หลังจากที่ทราบข่าวว่าศาลยกคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง “ผมไม่อยากให้ความหวังกับตัวเองอีกแล้วเรื่องประกัน” เขาพูดด้วยน้ำเสียงหม่นหมอง เขาตั้งใจว่าหากผลการสู้คดี 4-5 คดีครั้งนี้ศาลยกฟ้องเหมือนคดีที่จังหวัดระยอง จะต้องร้องขอค่าเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรมที่ทำให้เขาต้องติดคุกโดยไม่มีความผิด
ทั้งมองว่าการที่ศาลสั่งยกคำร้องขอประกันนั้น ศาลไม่ได้พิจารณาว่าถ้าจะหลบหนี ตนคงหลบไปนานแล้ว “ถ้าผมคิดจะหลบหนีคดีจริง ๆ ผมหนีไปตั้งแต่ปี 57 แล้ว” ก่อนวิจารณ์การพิจารณาคำร้องประกัน “พอเป็นคดีการเมือง ศาลมีธงอยู่ก่อนแล้ว ต่อให้คำร้องเขียนดีแค่ไหน พวกเราก็ไม่ได้ออกหรอก”
ยงยุทธยังแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้ต้องขังทางการเมืองที่เหลืออยู่ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเข้าไปช่วยผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ถูกทำร้าย จนตัวเขาเองได้รับบาดเจ็บที่ข้อศอก โดยเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง
ถึงแม้จะผิดหวังกับผลการขอประกัน แต่ยงยุทธก็ยังดีใจที่ “บูม จิรวัฒน์” ได้รับการประกันออกไป กับบรรยากาศในแดนที่ผู้ต้องขังการเมืองบางคนก็มีอาการหงอย ๆ เพราะไม่ได้ประกันตัวเสียที
“เราได้แต่ปลอบและให้กำลังใจน้อง ๆ ไปว่าต้องทำใจและสู้ต่อไป เรามาอยู่ในนี้เพราะเป็นผู้ต้องขังการเมือง มันไม่เหมือนกับคดีอื่น ๆ” ยงยุทธกล่าวทิ้งท้าย
จนถึงปัจจุบัน (20 ธ.ค. 2567) ยงยุทธถูกคุมขังมาแล้ว 103 วัน โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ยงยุทธได้ถูกนำตัวไปในนัดตรวจพยานหลักฐานที่ศาลอาญา ใน 2 คดี และศาลให้กำหนดนัดสืบพยานต่อไปในช่วงกลางปี 2568
ขณะเดียวกัน คดีของเขาอีก 2 คดี ยังมีนัดตรวจพยานหลักฐานที่ศาลอาญาเช่นเดียวกัน ในวันที่ 20 ม.ค. และ 3 ก.พ. 2568 นี้
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทบทวนคดีของ ‘แดง ชินจัง’ ผู้เคยถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร กับอีกครั้งที่ต้องถูกจองจำ
https://tlhr2014.com/archives/71882