BrandThink
2 days ago
·
MIND: รู้สึกเกลียดสิ่งที่พ่อแม่ทำกับเราจนไม่อยากให้อภัย แล้วทำไมการยกโทษให้พ่อแม่ถึงเป็นเรื่องยาก
.
แม้ ‘การให้อภัยคือทานอันประเสริฐ’ แต่ไม่ใช่กับทุกคนและทุกเรื่องที่เราจะทำใจให้อภัยพวกเขาได้ เมื่อเทียบกับบาดแผล ความเจ็บช้ำทางใจที่เราได้รับ โดยเฉพาะกับคนที่ใกล้ชิดและควรจะเข้าใจเรามากที่สุดอย่าง ‘พ่อแม่’ ที่เป็นผู้ให้กำเนิดเราขึ้นมา
.
ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านอยู่ย่อมต้องมีบางเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจ เกี่ยวกับสิ่งที่พ่อแม่เคยทำไว้กับเราไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งมันสร้างบาดแผลที่ฝังรากลึกไปยังภายในจิตใจจนไม่อยากให้อภัย รู้สึกโกรธเคือง มีแต่คำถามว่าทำไมพ่อแม่ถึงทำแบบนี้กับฉันที่เป็นลูกของพวกเขาแท้ๆ
.
เราจึงลองหยิบคำตอบในทางจิตวิทยามาเล่าให้ฟัง บางครั้งในฐานะผู้ถูกกระทำก็อยากเอาคืนพ่อแม่บ้าง แต่อีกใจหนึ่งก็นึกสงสัยว่าเราจะบาปไหมหากคิดแบบนี้กับพ่อแม่ เมื่อในทางศาสนาอบรมสั่งสอนว่าพ่อแม่คือพระในบ้านของลูก
.
ถ้าอย่างนั้นเรามาดูความหมายของคำว่า ‘ให้อภัย’ ทางจิตวิทยากัน โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ระบุไว้ว่า การให้อภัยนั้นเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยความรู้สึกขุ่นเคือง ความโกรธ และเคียดแค้นที่ตัวเรามีต่อคนที่ทำผิดกับเราโดยสมัครใจ
.
เอเวอเรตต์ แอล. วอร์ธิงตัน (Everett L. Worthington) นักจิตวิทยาคลินิก ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาที่ Virginia Commonwealth University เสริมว่า คนเราไม่จำเป็นต้องให้อภัยคนอื่นเสมอไป เพราะมันเป็นทางเลือกว่าเราจะให้หรือไม่ให้
.
เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงหลังการให้อภัยนั้น อาจนำพาให้ชีวิตของเราเบาลงได้ เมื่อความรู้สึกของเราเปลี่ยนไป ทัศนคติก็เปลี่ยนตาม เนื่องจากเราได้ปลดปล่อยตัวเองจากการถูกครอบงำของอารมณ์ด้านลบไป ทำให้รู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นมากขึ้น แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
.
[ผิดไหมที่ไม่อยากให้อภัยพ่อแม่?]
.
ดังนั้น มาที่ประเด็น ‘การให้อภัยกับพ่อแม่’ คำถามแรกคือ ผิดไหมที่จะรู้สึกเคียดแค้นและไม่ให้อภัยพวกเขา จริงๆ ก็คงไม่ผิดในเมื่อสุดท้ายแล้วพวกเราคือมนุษย์ที่มีความรู้สึกและมีสิทธิเท่าเทียมกัน พ่อแม่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง หากทำผิดต่อคนอื่น ต้องขอโทษให้เป็นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นการทำผิดพลาดกับลูกก็ตาม เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวอย่างที่สามารถปลูกฝังการเข้าสังคมและการเคารพบุคคลอื่นให้กับลูกๆ ได้
.
ส่วนคำสอนทางศาสนานั้น อันที่จริงก็มีขึ้นเพื่อปลูกฝังให้คนเรารู้จักให้อภัยคนอื่นให้เป็น เพื่อความสงบสุขภายในของตัวเอง เพราะหากมัวแต่จมปลักอยู่กับความขุ่นเคืองคนอื่นไปตลอดนั้น ใจเราก็คงไม่อาจพบกับความสงบสุขในชีวิตได้
.
[ทำไมเราถึงทำใจให้อภัยพ่อแม้ได้ยากเย็นขนาดนี้?]
.
ต่อไป คำถามที่สองซึ่งเป็นประเด็นสำคัญก็คือ ‘ทำไมพอเป็นพ่อกับแม่แล้วเราถึงรู้สึกโกรธพวกเขาได้ตลอดเวลาและยากที่จะให้อภัย’ ส่วนหนึ่งนั่นเพราะว่าพวกเขาคือบุคคลในสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด และควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก เพราะฉะนั้นในฐานะลูกแล้วคงไม่มีใครคาดหวังว่าจะได้รับการทำร้ายไม่ว่าจะทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจจากผู้ให้กำเนิดตัวเองมา
.
ซึ่งบาดแผลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักมาจากวิธีการเลี้ยงดูตั้งแต่เรายังเด็ก บางคนโตมากับพ่อแม่ที่เข้มงวด บังคับ บงการให้อยู่ให้กรอบตลอดเวลา ทำดีไม่ชม แต่ล้มแค่นิดเดียวกลับตอกย้ำซ้ำเติมด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่เลิก บางคนโตมากับความไม่พร้อมและไม่มั่นคงทางอารมณ์ของพ่อแม่ จึงโดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจตลอด ตลอดจนคนที่เติบโตมากับการถูกละเลย พ่อแม่ทิ้งไป
.
โดยสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังการเกิดรูปแบบความผูกพันต่างๆ (attachment style) แล้วรูปแบบความผูกพันที่ว่านี้ก็ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดลักษณะบุคลิกภาพของเราตอนโต จึงไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อความผูกพันภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นด้วยเช่นกัน
.
นอกจากนี้ ความเจ็บปวดในวัยเด็กที่พวกเรามีต่อพ่อแม่ซึ่งฝังลึกและเข้มข้นอยู่ภายในจิตใต้สำนึกตลอดมา เมื่อโตขึ้นจึงกลายเป็นปมปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นจะถูกกระทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
.
แต่ตัวเราที่แบกความบอบช้ำนั้นยังคงวนเวียนอยู่กับมันอันนำไปสู่การหาตัวเองไม่เจอ จะเป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็นก็ทำไม่ได้เพราะความเจ็บปวดยังคงทิ่มแทงใจอยู่
.
ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนกล่าวโทษพ่อแม่ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่ไปไหนสักที ล้มเหลว หรือมองว่าไม่มีทางเจอกับความสุขได้
.
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าผู้เขียนกำลังตะล่อมให้ทุกคนให้อภัยพ่อแม่อยู่หรือเปล่า ก็อาจจะทั้งใช่หรือไม่ใช่ เพียงแต่อยากจะเล่าถึงประโยชน์ของการปลอดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึกด้านลบที่ทุกคนกำลังแบกมันไว้ลงก็เท่านั้น ซึ่งเผอิญว่าการให้อภัยคือหนึ่งในหนทางที่ได้รับ
.
โดยในการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการให้อภัย ตีพิมพ์ใน Centre for Open Science (COS) เดือนมีนาคม 2023 ได้ดำเนินการจากมุมมองของสาขาวิชาต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการสอน ฝึกฝน และบรรลุผลสำเร็จในการให้อภัย ผลลัพธ์ที่ได้คือความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางจิตใจ อารมณ์ และร่างกายในระดับสูง และยังลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าลงอีกด้วย
.
“เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะให้อภัย คุณจะไม่ติดกับดักกับสิ่งที่คนอื่นทำในอดีต แล้วในที่สุดคุณจะรู้สึกเป็นอิสระได้” ดร.ไทเลอร์ แวนเดอร์วีล (Tyler VanderWeele, PhD) นักระบาดวิทยาและศาสตราจารย์จาก Harvard TH Chan School of Public Health อธิบาย
.
[ ให้อภัยต้องใช้เวลาและความเข้าใจ]
.
เมื่อคนที่ทำให้เราเจ็บปวดไปถึงหัวใจเป็นคนที่เรารักมาก ยิ่งเป็นพ่อแม่แล้วนั้นความเข้มข้นทางอารมณ์ย่อมมากจนเหนียวหนืด ยากที่จะเจือจางได้ง่ายๆ ‘เวลา’ จึงเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่ง
.
แต่นอกจากนี้ยังมี ‘ความเข้าใจ’ เป็นกุญแจอีกดอกเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาก็เป็นเด็กมาก่อน ย่อมถูกเลี้ยงดู ถูกกระทำจากพ่อแม่แล้วเติบโตมาอย่างยากลำบากเช่นกัน ประสบการณ์เหล่านั้นจึงบ่มเพาะกลายมาเป็นพ่อแม่ของเราในวันนี้
.
แม้สิ่งที่พวกเขาเจอก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้มาลงที่ลูกๆ แต่เพราะพวกเขาไม่เข้าใจ ไม่มีประสบการณ์และอาจไม่ได้สำรวจตัวเองให้ดี จึงเผลอนำความเจ็บปวดหรือคำสั่งสอนที่เคยรับมา ทำกับลูกของตัวเองจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
.
แน่นอน ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าเมื่อทำความเข้าใจพ่อแม่ของเราแล้ว เท่ากับว่าทุกคนจะอภัยให้พ่อแม่ได้ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนย่อมเจอะเจอมาแตกต่างกัน
.
เพียงแต่การเริ่มต้นทำความเข้าใจพวกเขาอาจทำให้ใจเราเบาลง อาจไม่จำเป็นต้องให้อภัย ณ ตอนนี้ หรือบางคนคงไม่สามารถให้อภัยได้เลยก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการแบบไหน
.
แต่เชื่อว่าสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องการคือ การที่พ่อแม่รับรู้ว่าลูกเจ็บปวดกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป การขอโทษและการยอมรับในตัวตนของพวกเขา หากพ่อแม่ลองทบทวนตัวเองแล้วลองจับเข่าคุยเคลียร์ใจกัน เพียงเท่านี้ก็อาจเพียงพอต่อการให้อภัยแล้วก็ได้นะ
.
ยังไงก็ตาม ลองสื่อสารให้พวกเขาได้รับรู้ก่อนว่า ทุกคนรู้สึกเสียใจ น้อยใจ หรือไม่พอใจกับการกระทำใดของพ่อแม่บ้าง จากนั้นค่อยแก้ไขกันไปตามลำดับ หากให้อภัยได้ก็ให้
.
หากไม่ได้หนทางที่ดีที่สุดคงเป็นการแยกกันใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ โดยปล่อยทุกอย่างไว้ข้างหลัง อาจเป็นตัวเลือกที่ดี แต่หากไม่ไหวจริงๆ อย่างที่ย้ำเตือนทุกคนอยู่เสมอว่า การไปพบผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย
ลิงค์คอมเมนต์ (https://www.facebook.com/photo/?fbid=1120610732960595&set=a.811136580574680)
ภัควดี วีระภาสพงษ์
18 hours ago
·
สิ่งที่น่าสนใจคือคอมเมนท์ ลูกที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายมีเยอะมาก และคนที่กล้าพูออกมาตรงๆ มีมากกว่าสมัยก่อน