Jom Petchpradab
3 hours ago
·
ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ เมืองไทย ยังมีตำรวจพระอยู่อีกหรือไม่ เพราะหลายสิบปีก่อนมีตำรวจพระ ซึ่งเป็น ฆราวาส สังกัดในกรมการศาสนา จะมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ช่วยเหลือพระ ...เพื่อไม่ให้เป็นที่รำคาญ อุจาด สร้างความเดืดร้อน อันจะกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของชาวพุทธต่อคณะสงฆ์ และพุทธศาสนา
อย่างกรณีนี้ หากเป็นพระจริง และป่วยพิการแบบนี้ สำนักงานพระพุทธฯ เองควรจะส่งตัวไปยัง รพ.สงฆ์ เพื่อการดูแลรักษา หรือมีสวัสดิการอื่นใดที่จะช่วยเหลือดูแลได้ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นที่หม่นหมองเสียหายต่อวงการผ้าเหลืองโดยรวม แบบนี้
หรือหากไม่ใช่พระก็ควรจะดำเนินการส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่จะให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือต่อไป
.....
ใครคือ ตำรวจพระ? และมีหน้าที่อย่างไร
พระวินยาธิการ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ตำรวจพระ" นั้น เป็นพระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดหรือ เจ้าคณะผู้ปกครอง ให้เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนการปกครองของเจ้าอาวาสและเจ้าคณะผู้ปกครอง เพื่อความเรียบร้อยถูกต้องและความดีงามตามหลักพระธรรม วินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
พระวินยาธิการมี ๒ ประเภท ประเภทแรก พระวินยาธิการประจำเขต หมายถึง พระวินยาธิการมีอำนาจตรวจตราดูแลเฉพาะเขตนั้น ๆ ประเภทที่สอง พระวินยาธิการส่วนกลาง ขึ้นตรงกับเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แต่งตั้งโดยตรง พระวินยาธิการส่วนกลางนี้ สามารถออกตรวจได้ทั่ว กทม. ทั้งสองประเภทนี้จะต้อง ทำหน้าที่ตรวจตรา ชี้แจง แนะนำพระภิกษุ สามเณรให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และนำพาพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติฝ่าฝืน มอบให้ผู้ปกครองสงฆ์ในเขตนั้น ๆ แล้วแต่กรณีพิจารณา ตำแหน่งนี้ไม่มีการเปิดรับสมัคร แต่จะเป็นการคัดเลือก โดยดูจากคุณสมบัติของพระภิกษุที่สามารถจะเป็นพระวินยาธิการได้นั้น ต้องมีพรรษาพ้น ๕ พรรษา มี ความรู้นักธรรมชั้นเอก มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่ทุพพลภาพ และจะต้องได้รับการคัดเลือกจากเจ้าอาวาส เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะเขต จนมาถึงระดับเจ้าคณะจังหวัด
พระที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระวินยาธิการ จะได้รับบัตรประจำตัว ซึ่งมีวาระ ๑ ปี เมื่อสิ้นสภาพการเป็นพระวินยาธิการ ตามวาระ แต่มีผลงานจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระวินยาธิการใหม่ได้อีก โดยต่ออายุบัตรให้ นอกจากพ้นตามวาระปกติ แล้วยังพ้นสภาพต่อเมื่อพ้นจากการเป็นพระภิกษุ ลาออก มรณภาพ และเจ้าคณะผู้แต่งตั้งสั่งให้ออก
พระครูศรีรัตนคุณ เจ้าคณะเขตบางซื่อ เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้าจุฬามณี กทม. หัวหน้าพระวินยาธิการส่วนกลาง กล่าวว่า "การที่พระสงฆ์รูปใดจะมาเป็นพระวินยาธิการได้นั้น จะต้องมีความเสียสละ ต้องทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาจริง ๆ เพราะไม่ได้รับปัจจัย หรือเงินเดือนใด ๆ ทั้งสิ้น"
พร้อมกันนั้นท่านได้เล่าถึงการทำงานของพระวินยาธิการ ว่าจะต้องประสานกับ ๒ หน่วยงาน คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แล้วแต่กรณี การปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการนั้น เปรียบเสมือนแนวหน้าออกไปพบกับปัญหา ออกไปตรวจดูพื้นที่อย่างน้อย ๓-๔ วันต่อสัปดาห์ หรือออกตรวจทุกวันได้ยิ่งดี โดยไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องขึ้นมาก่อน เมื่อออกไปตรวจพื้นที่หรือพบพระผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ในเขตใดก็ตาม จะต้องนำพระรูปนั้นไปพบเจ้าคณะผู้ปกครองเขตนั้น ๆ เพื่อให้เจ้าคณะเขตได้สอบสวนว่ามาจากที่ไหนอย่างไร เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วก็อยู่ในดุลพินิจของ เจ้าคณะเขตจะพิจารณาลงโทษ
"พระวินยาธิการปฏิบัติงานคล้าย ๆ กับตำรวจเหมือนกัน แต่ว่าบทลงโทษของ เรานั้น ถ้าเป็นการผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ว่ากล่าวถวายคำแนะนำ ให้ประพฤติตัวเสียใหม่ แต่ถ้าเป็นความผิดที่มากกว่านี้ เช่น มาปักกลดในสถานที่ที่ไม่ถูกต้องหรือมาบิณฑบาตยืนปักหลักอยู่กับที่ ประพฤติปฏิบัติติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง ก็จะภาคทัณฑ์ และถ้ากล่าวตักเตือนแล้วยังไม่เชื่อ ขั้นสุดท้ายก็ต้องให้สละสมณเพศ หรือลาสิกขาไป แต่บางกรณีมีผู้ไม่ยอมรับผิด ก็จะมีการสอบสวน โดยดูใบสุทธิ สอบถามที่มาที่ไป แล้วบันทึกถ้อย คำไว้ ซึ่งจะทำให้เราวินิจฉัยได้ว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นพระจริงหรือพระปลอม" หัวหน้าพระวินยาธิการส่วนกลางเล่าต่อว่า "ปัจจุบันพระวินยาธิการมีทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ ๒๐๙ รูป ทำให้การปกครองในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น จากเมื่อก่อนนี้จะมีญาติโยมมาร้องเรียนว่า มีพระสงฆ์นำลูกนิมิตมาตั้งท้ายรถกระบะ แล้วก็ประกาศให้ญาติโยมมาทำบุญปิดทองลูกนิมิตเยอะมาก อีกกรณีหนึ่ง คือ นำถังผ้าป่ามาตั้งไว้ตามห้างร้านต่าง ๆ เสร็จแล้วก็กลับมาเก็บ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี เรียกว่า การปฏิบัติงานของพระวินยาธิการได้ผล จนพระผู้ใหญ่หลายรูปก็กล่าวชม"
ส่วนอุปสรรคการทำงานที่ผ่านมานั้น พระครูศรีรัตนคุณ กล่าวว่า "จะว่าเป็นอุปสรรคก็ไม่เชิงทีเดียว เพราะพระวินยาธิการที่ออกทำงาน ทำด้วยความเสียสละ เรียกว่า ทำงานกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดเหมือนทางราชการ บางครั้งมีญาติโยมโทรมาก็ต้องออกไป ไม่ว่าจะมืด ค่ำแค่ไหน เพื่อไปตรวจดูให้เห็นว่าที่โยม แจ้งมานั้นเป็นพระจริงหรือพระปลอม
"การทำงานของอาตมานั้น เมื่อผู้บังคับบัญชาได้มอบความไว้วางใจให้ อาตมาก็ทำงานเต็มกำลังความสามารถ ทำด้วยความเสียสละ ขอให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จตามที่ต้องการ อาตมาก็พอใจแล้ว ไม่คิดว่าจะต้องได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด"
ด้านพระครูปลัดอารยเดช รองเจ้าอาวาสวัดทอง กทม. พระวินยาธิการเขตบางพลัด เล่าว่า ปฏิบัติหน้าที่พระวินยาธิการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ส่วนใหญ่เรื่องที่ได้รับร้องเรียนการทำผิดของพระภิกษุ สามเณร จะเป็นเรื่องการออกบิณฑบาตที่ ขาดความสำรวม การปักกลดไม่เป็นที่เป็น ทาง การปลอมบวช และทำการเรี่ยไรโดย ไม่ได้รับอนุญาต "ในเขตของอาตมา ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นการบิณฑบาตเวียนเทียน คือ การที่ญาติโยมทำบุญแล้ว พระนำไปขายให้กับร้านค้า แล้วกลับมารับบาตรอีก ซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย ก็จะนิมนต์พระรูปนั้นไปสอบสวน แล้วถวายคำแนะนำ ถ้ากลับมาทำอีกก็จะภาคทัณฑ์ จนถึงให้ลาสิกขา"
รองเจ้าอาวาสวัดทองกล่าวว่า "การมาทำงานตรงนี้ต้องทำด้วยความสมัครใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ต้องมีสติ รู้จักควบคุมอารมณ์ ต้องประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ รวมไปถึงเจ้าคณะผู้ปกครอง เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี เรื่องที่ทำให้ญาติโยมมองเห็นว่าพระประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมนั้นคือ พวกปลอมบวช ซึ่งเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนามากที่สุด เพราะไม่ใช่พระจริง แค่โกนหัวและเอาผ้าเหลืองมาห่ม ญาติโยมก็ไม่รู้ว่าเป็นพระจริงหรือปลอม แต่ที่จริงไม่ใช่พระ"
"เท่าที่อาตมาปฏิบัติงานมา ๑๐ กว่าปี มีถึง ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เจอแล้วไม่ใช่พระ อาตมาเคยถามเขาว่า ทำไมจะต้องปลอมมาเป็นพระ เขาบอกว่ายากจน ไม่รู้จะไปทำอะไร และทางนี้เป็นทางที่หาเงินได้ง่าย เป็นงานเบา งานสบาย บางจังหวัดเขาจะ ยกกันมาเป็นหมู่บ้านเลยนะ แล้วก็มาโกน หัวห่มผ้าเหลือง มาเช่าบ้านอยู่ และออก เรี่ยไรเงินประชาชน"
อย่างไรก็ตาม พระครูปลัดอารยเดช บอกว่า ภาพรวมของพระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันก็ยังประพฤติปฏิบัติเรียบร้อยดีอยู่ มีเพียงส่วนน้อยที่ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนกฎระเบียบ "อาตมาก็อยากจะฝากส่วนน้อยที่ยังไม่มีจิตสำนึกนี้ ให้มีจิตสำนึก อย่าได้ทำอะไรให้มันเกินเลยกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อรักษาสถาบันของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ไว้ให้คงอยู่สืบไป"
นายกนก แสนประเสริฐ ผอ.ส่วนคุ้ม ครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักพุทธฯ มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกับพระวินยาธิการ ประมาณ ๑๖ คน ในการออกตรวจตราใน ทุกพื้นที่ที่เกิดเรื่อง "ที่ผ่านมาสำนักพระพุทธฯเอง ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาพระสงฆ์ จากพุทธศาสนิกชน ว่าพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติไม่เอื้อเฟื้อต่อกฎ ระเบียบ คำสั่งคณะสงฆ์ อย่างเช่น การบิณฑบาตขาดความสำรวม, ทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ปักกลดในย่านชุมชน, พักค้างแรมตามบ้านเรือน, นุ่งห่มจีวรไม่เรียบร้อย ขณะบิณฑบาต และเที่ยวเตร่เร่ร่อน เรื่องนี้สำนักพุทธฯได้ทำหนังสือข้อเสนอข้อคิด เห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด คือ ให้ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ กวดขันสอดส่องดูแลพระภิกษุสามเณรในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีจริยวัตรที่ดีงาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน และให้เจ้าคณะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบปกครองพระสงฆ์ในสังกัดให้เป็นไปโดยเรียบร้อย หากพบว่ามีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย ระเบียบหรือคำสั่งคณะสงฆ์ หรือผู้แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ต้องรีบ พิจารณาโทษอย่างฉับไว และจริงจัง เพื่อกำจัดอลัชชีให้หมดไป"
ผอ.ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา กล่าวต่อว่า พระอุปัชฌาย์ต้องเข้มงวดกวดขันการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติผู้ที่เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบทให้ถูกต้องตาม พระธรรมวินัย การให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรให้ยึดหลักและถือปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ และให้พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนให้รู้หลักธรรมและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยจะต้องดูแลให้ครบ ๕ ปี ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ หากมีความจำเป็น เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วจะขอไปอยู่ที่วัดอื่น พระอุปัชฌาย์จะต้องฝากเจ้าอาวาส วัดนั้นปกครองดูแลสั่งสอนแทน
นอกจากนี้ นายกนก แสนประเสริฐ บอกว่า ยังมีกรณีที่เป็นอันตรายต่อพระศาสนามากที่สุดคือ บุคคลที่ปลอมบวชเข้า มาอาศัยผ้าเหลืองเพื่อเรี่ยไรเงินจากชาว บ้าน ซึ่งกรณีนี้จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าจับกุมเพื่อดำเนินคดี ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ บัญญัติว่า 'ผู้ใดแต่งกาย หรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในศาสนาใด โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคล เช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่ง ปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ'ทั้งนี้ จากการตรวจตราพระภิกษุสามเณรที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
ในปี ๒๕๔๕ พบว่า มีภิกษุสามเณรที่มีอาจารไม่สมควรแก่ สมณวิสัย จำนวน ๕๗๑ รูป โดยเจ้าหน้าที่ได้ถวายคำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ระเบียบวินัยสงฆ์ จำนวน ๒๑๙ รูป นำมอบ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทำการตรวจสอบ และภาคทัณฑ์ไว้จำนวน ๒๘๘ รูป และให้ลาสิกขา ๖๔ รูป
ส่วนในปี ๒๕๔๖ มีภิกษุ สามเณรที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย จำนวน ๓๓๘ รูป โดยเจ้าหน้าที่ได้ถวายคำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบวินัยสงฆ์ จำนวน ๒๖๒ รูป นำมอบเจ้า คณะผู้ปกครองสงฆ์ทำการตรวจสอบ และภาคทัณฑ์ไว้จำนวน ๕๐ รูป และให้ลาสิกขา ๒๖ รูป และหากท่านใดพบเห็นพระภิกษุที่มีอาจารไม่เหมาะกับสมณสารูป แจ้งได้ที่ โทร. ๐-๒๒๔๓-๗๗๑๕..
จรรยาบรรณของพระวินยาธิการ
๑. ต้องมีความอดทน อดกลั้น ใจเย็น และสุขุมรอบคอบ
๒. ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รักหน้าที่ และปฏิบัติตามหน้าที่ โดยหน้าที่เป็นสำคัญ
๓. ต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ และเสียสละ
๔. ต้องให้ความเคารพ ความยำเกรง และเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
๕. ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งแล้วโดยชอบด้วย พระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม
๖. ต้องสุภาพอ่อนโยน นิ่มนวล ใช้ปิยวาจา และมีสมณสัญญาเพียบพร้อม
๗. ต้องปฏิบัติงานเพื่องาน เพื่อการคณะ และเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
http://www.meeboard.com/view.asp?user=tipprapan&groupid=4&rid=23&qid=3
(http://www.mahabunhome.com/song_police.htm)