ลีส ดูเซต์
Role,หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว
ลีส ดูเซต์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศของบีบีซี พูดคุยกับบุคคลสำคัญระดับโลกว่าอะไรคือเดิมพันในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีนี้
เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟในเดือน ก.พ. 2023 เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เสียงไซเรนยังคงดังขึ้นในอากาศ “ผมรู้สึกถึงบางอย่าง… หนักแน่นกว่าที่เคยเป็นมา” เขามาเล่าในภายหลังว่า “อเมริกาเป็นประภาคารให้กับโลก”
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังรอคอยจะได้เห็นว่าใครจะเป็นผู้รับไม้ต่อสิ่งที่ถูกเรียกว่าประภาคารแห่งนี้ หลังจากชาวอเมริกันตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า กมลา แฮร์ริส จะเดินตามรอย ไบเดน หรือไม่ด้วยความเชื่อมั่นของเธอที่ว่า “ในช่วงเวลาที่ไม่สงบนี้ ชัดเจนว่าอเมริกาไม่สามารถถอยหลังกลับได้” หรือจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของความหวังที่ว่า “ลัทธิอเมริกันนิยมต่างหาก ไม่ใช่โลกาภิวัตน์” ที่จะนำทาง
เราอยู่ในโลกที่ค่านิยมของสหรัฐฯ ที่แผ่อิทธิพลในระดับโลกถูกตั้งคำถาม กลุ่มอำนาจในภูมิภาคต่าง ๆ กำลังดำเนินเดินไปตามแนวทางของตน ระบอบเผด็จการกำลังสร้างพันธมิตรให้ตนเอง และสงครามอันเลวร้ายในฉนวนกาซา ยูเครน และพื้นที่อื่น ๆ ก่อให้เกิดคำถามที่น่าอึดอัดใจเกี่ยวกับคุณค่าของบทบาทของวอชิงตัน แต่สหรัฐฯ ก็มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการทหาร รวมถึงสำคัญเพราะบทบาทหลักที่มีต่อพันธมิตรหลากหลายกลุ่ม
บีบีซีพูดคุยกับผู้สังเกตการณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อฉากทัศน์ในระดับโลกที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้
กองทัพอาจแข็งแกร่ง
ชาวปาเลสไตน์นั่งอยู่หน้ากองไฟ ท่ามกลางซากบ้านเรือนที่พังทลายลงในเมืองข่าน ยูนิส
“ฉันไม่สามารถเตือนแบบอ้อมค้อมได้” โรส ก็อตเตมอลเลอร์ อดีตรองเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต - NATO) กล่าว “โดนัลด์ ทรัมป์ คือฝันร้ายของยุโรป คำขู่ของเขาที่จะถอนตัวจากนาโตก้องอยู่ในหูของทุกคน”
งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ คิดเป็น 2 ใน 3 ของงบประมาณด้านการทหารของสมาชิกนาโตอีก 31 ประเทศ และหากเปรียบเทียบกับประเทศนอกนาโต สหรัฐฯ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการทหารมากกว่าอีก 10 ประเทศลำดับถัดไปรวมกัน ซึ่งรวมถึงจีนและรัสเซียด้วย
โดนัลด์ ทรัมป์ คุยโวว่า เขากำลังเล่นท่ายากเพื่อบีบให้ประเทศสมาชิกนาโตอื่น ๆ ไปให้ถึงเป้าหมายการใช้จ่ายด้านการทหารซึ่งอยู่ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยมีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่บรรลุเป้าหมายนี้ในปี 2024 แต่คำพูดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของเขายังไม่มีความชัดเจนนัก
หากแฮร์ริสชนะ ก็อตเตมอลเลอร์เชื่อว่า “นาโตจะอยู่ในการโอบอุ้มของวอชิงตันอย่างไม่ต้องสงสัย” ทว่าเธอมีคำเตือนในเรื่องนั้นเช่นกัน “แฮร์ริสพร้อมจะทำงานร่วมกับนาโตและสหภาพยุโรปต่อไปเพื่อบรรลุชัยชนะในยูเครน แต่เธอจะไม่ลดความพยายามในการกดดันยุโรป”
แต่ทีมของแฮร์ริสในทำเนียบขาวจะต้องบริหารงานร่วมกับวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในไม่ช้านี้ทั้ง 2 สภาอาจตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรครีพับลิกัน ซึ่งไม่ค่อยสนับสนุนสงครามในต่างแดนเท่ากับพรรคเดโมแครต แนวคิดนี้แผ่ขยายวงมากขึ้น ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แรงกดดันต่อยูเครนเพื่อหาทางออกจากสงครามก็จะเพิ่มมากขึ้น สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จะลังเลมากขึ้นในการผ่านแพ็คเกจความช่วยเหลือแก่ยูเครน
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นางก็อตเตมอลเลอร์กล่าวว่า “ฉันไม่เชื่อว่านาโตจะล่มสลายลง” ยุโรปจะต้อง “ก้าวไปข้างหน้าเพื่อการเป็นผู้นำ”
ผู้สร้างสันติภาพ
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปจะต้องทำงานในโลกที่เผชิญกับความสุ่มเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดจากการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอื่นนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
“สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มีนัยสำคัญที่สุดในเรื่องสันติภาพและความมั่นคง” คอมฟอร์ต เอโร ประธานและซีอีโอของ International Crisis Group กล่าว เธอเสริมว่า “แต่พลังในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งลดน้อยลง”
สงครามได้กลายเป็นเรื่องยากที่จะยุติลง “ความขัดแย้งรุนแรงกลายเป็นเรื่องที่จัดการได้ยากขึ้น การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเพิ่มขึ้น และชาติมหาอำนาจระดับกลางก็มีมากขึ้น” นี่คือคำอธิบายของนางเอโร สงครามเช่นยูเครนดึงดูดมหาอำนาจหลายประเทศเข้ามา และความขัดแย้งในซูดาน ก็ทำให้ผู้เล่นในภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันต้องต่อสู้กันเอง และบางคนก็ทุ่มเทให้กับการรุกรานมากกว่าการสร้างสันติภาพ
นางเอโรชี้ให้เห็นว่า อเมริกากำลังสูญเสียจุดยืนทางศีลธรรม “ตัวแสดงระดับโลกสังเกตเห็นว่าสหรัฐฯ ใช้มาตรฐานหนึ่งกับปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน และอีกมาตรฐานหนึ่งกับปฏิบัติการของอิสราเอลในฉนวนกาซา สงครามอันโหดร้ายในซูดานกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญรองลงไป”
เธอกล่าวว่า ชัยชนะของแฮร์ริสจะ “เป็นเครื่องสะท้อนถึงความต่อเนื่องกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน” ทว่าถ้าเป็นทรัมป์ เขา “อาจปล่อยมือจากอิสราเอลมากขึ้นในฉนวนกาซาและที่อื่น ๆ และบอกเป็นนัยว่าเขาอาจพยายามทำข้อตกลงเรื่องยูเครนกับรัสเซียแทนรัฐบาลที่กรุงเคียฟ”
ในตะวันออกกลาง แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครตย้ำแล้วย้ำอีกถึงการสนับสนุนอย่างแข็งขันของไบเดนต่อ “สิทธิในการป้องกันตนเอง” ของอิสราเอล แต่เธอเน้นย้ำว่า “การสังหารชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ต้องหยุดลง”
ทรัมป์ประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่จะ “กลับคืนสู่สันติภาพและหยุดเข่นฆ่าประชาชน” แต่มีรายงานว่า เขาได้บอกกับ เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ว่า “ทำในสิ่งที่คุณต้องทำ”
ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันแสดงความภูมิใจในการสวมบทผู้รักษาสันติภาพ “ผมจะทำให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลางในไม่ช้านี้” เขาให้คำมั่นในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัลอาราบียาของซาอุดีอาระเบียเมื่อคืนวันอาทิตย์ก่อน (27 ต.ค.)
เขาสัญญาว่าจะขยายข้อตกลงอับราฮัมปี 2020 ข้อตกลงทวิภาคีเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับบางประเทศคืนสู่ภาวะปกติ แต่โดยทั่วไปมีการมองกันว่าได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องถอยห่างออกไป และท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดวิกฤตแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปัจจุบัน
สำหรับปมยูเครน ทรัมป์ไม่เคยปิดบังความชื่นชมที่มีต่อ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เขาตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าต้องการยุติสงครามในยูเครน รวมถึงหยุดสนับสนุนทางทหารและการเงินจากสหรัฐฯ “ผมต้องออกไป เราต้องออกไป (จากสงคราม)” เขายืนกรานในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเมื่อเร็ว ๆ นี้
ในทางตรงกันข้าม นางแฮร์ริสกล่าวว่า “ฉันภูมิใจที่ได้ยืนเคียงข้างยูเครน ฉันจะยังคงยืนหยัดเคียงข้างยูเครน และฉันจะทำงานเพื่อให้แน่ใจว่ายูเครนจะชนะในสงครามครั้งนี้”
แต่เอโรกังวลว่า ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ หลายสิ่งบนโลกใบนี้อาจเลวร้ายลง
ธุรกิจกับปักกิ่ง
“ถือเป็นการช็อกครั้งใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในรอบหลายทศวรรษ” คือมุมมองของ รานา มิตเตอร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ที่มีต่อข้อเสนอของทรัมป์ในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกชนิด 60%
การกำหนดต้นทุนที่สูงลิ่วให้กับจีนและคู่ค้าอื่น ๆ ถือเป็นภัยคุกคามต่อเนื่องที่สุดประการหนึ่งของทรัมป์ ภายใต้แนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” แต่ทรัมป์ยังสรรเสริญสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวอันแข็งแกร่งระหว่างเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน โดยเขากล่าวกับกองบรรณาธิการวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า เขาจะไม่ต้องใช้กำลังทหารหากปักกิ่งเคลื่อนไหวเพื่อปิดล้อมไต้หวัน เพราะผู้นำจีน “เคารพผมและเขารู้ว่าผม [หยาบคาย] บ้า”
แต่ทั้งแกนนำพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างก็มีท่าทีแข็งกร้าว ทั้ง 2 พรรคมองว่าปักกิ่งมุ่งมั่นที่จะบดบังรัศมีของอเมริกาในฐานะผู้ครองอำนาจนำ
แต่ มิตเตอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเอเชีย จาก Harvard's Kennedy School มองเห็นความแตกต่างบางประการ เมื่อพูดถึงแฮร์ริส เขากล่าวว่า “ความสัมพันธ์น่าจะพัฒนาไปในลักษณะเส้นตรงจากที่เป็นอยู่ตอนนี้” แต่ถ้าผู้ชนะคือทรัมป์ สถานการณ์จะ “ไม่แน่นอน” มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างกรณีไต้หวัน นายมิตเทอร์ชี้ให้เห็นถึงความลังเลของทรัมป์ ว่าเขาจะออกมาปกป้องเกาะที่อยู่ห่างจากดินแดนอเมริกาหรือไม่
ผู้นำจีนเชื่อว่า ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์จะใช้ไม้แข็ง นายมิตเทอร์เห็นว่า “ผู้มีอำนาจกลุ่มเล็ก ๆ ในจีนที่อยากให้แฮร์ริสชนะมากกว่า เนื่องจากมองว่าการ ‘อยู่กับคู่ต่อสู้ที่คุณรู้จักนั้นดีกว่า’ ขณะที่คนกลุ่มน้อยจำนวนมากมองว่า ความเป็นนักธุรกิจที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ อาจหมายถึงการต่อรองครั้งใหญ่กับจีน แม้ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ก็ตาม”
วิกฤตสภาพอากาศ
“การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่เพียงส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน แต่ยังส่งผลต่อโลกทั้งใบ เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญเร่งด่วน” แมรี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ และอดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UHCHR) ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มเอลเดอร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำโลกที่ก่อตั้งโดย เนลสัน แมนเดลา กล่าว
“ทุกเสี้ยวของอุณหภูมิมีความสำคัญในการป้องกันผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และป้องกันพายุเฮอริเคนที่รุนแรงอย่างมิลตันไม่ให้กลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต” เธอกล่าวเสริม
แต่ขณะที่พายุเฮอริเคนมิลตันและเฮเลนโหมกระหน่ำ ทรัมป์กลับถากถางแผนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ว่าเป็น “กลลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์” หลายคนคาดการณ์ว่าเขาจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศปี 2015 เช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
อย่างไรก็ตาม นางโรบินสันเชื่อว่าทรัมป์ไม่สามารถหยุดยั้งแรงเหวี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นได้ “เขาไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของสหรัฐฯ และยกเลิกการอุดหนุนสีเขียวมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ได้... และเขาไม่สามารถหยุดยั้งการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศโดยองค์กรนอกรัฐบาลกลางได้”
เธอยังเรียกร้องให้แฮร์ริส ซึ่งยังสงวนจุดยืน ให้ก้าวขึ้นมา “เพื่อแสดงความเป็นผู้นำในการสร้างแรงเหวี่ยงจากปีที่ผ่านมา และกระตุ้นให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่รายอื่น ๆ เร่งดำเนินการ”
ความเป็นผู้นำด้านมนุษยธรรม
“ผลของการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีความสำคัญมหาศาล เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ยากจะหาใครเปรียบ และหาใช่เพียงด้านกำลังทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้วยอำนาจทางศีลธรรมบนเวทีโลก” มาร์ติน กริฟฟิธส์ ผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ที่เพิงเข้าดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการมนุษยธรรมและผู้ประสานงานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน กล่าว
เขาเห็นแสงสว่างอันยิ่งใหญ่กว่าหากแฮร์ริสเข้าสู่ทำเนียบขาว “ตำแหน่งประธานาธิบดีของแฮร์ริสเป็นตัวแทนของความหวังนั้น” เขากล่าว ในทางกลับกัน “การหวนคืนสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีของทรัมป์ผู้โดดเดี่ยวและมีลักษณะป็นผู้นำเดี่ยว ไม่ได้ให้อะไรนอกจากความไม่มั่นคงและความสิ้นหวังของโลกที่เพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดให้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2022 สหรัฐฯ สร้างสถิติบริจาคถึง 18,100 ล้านดอลลาร์ (610,630 ล้านบาท)
แต่ในวาระแรกของทรัมป์ เขาตัดเงินทุนสำหรับหน่วยงานของสหประชาชาติหลายแห่งและถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้บริจาครายอื่น ๆ จึงต้องดิ้นรนหาเงินมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ต้องการให้เกิดขึ้น
แต่ กริฟฟิธส์ เน้นย้ำถึงความสิ้นหวังที่เพิ่มขึ้นในชุมชนด้านมนุษยธรรมและอื่น ๆ และวิพากษ์วิจารณ์ความ “ลังเล” ของรัฐบาลไบเดนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในตะวันออกกลาง ผู้บริหารองค์กรให้ความช่วยเหลือต่างประณามการโจมตีอันโหดร้ายของกลุ่มฮามาสต่อพลเรือนชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำอะไรมากกว่านี้เพื่อยุติความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของพลเรือนในฉนวนกาซาและเลบานอน
ป้ายในเตหะรานปรากฏภาพประธานาธิบดีอิหร่าน และผู้นำกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ยืนตรงข้ามกับไบเดนและเนทันยาฮู
ไบเดนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซา ซึ่งบางครั้งก็พอช่วยได้ แต่บรรดานักวิจารณ์กล่าวว่า ความช่วยเหลือและแรงกดดันเหล่านั้นยังไม่เพียงพอ คำเตือนล่าสุดที่ว่าการให้ความช่วยเหลือทางทหารที่สำคัญ ๆ บางส่วนอาจถูกตัดออกไป ทำให้ต้องตัดสินใจเรื่องนี้หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ
“ความเป็นผู้นำที่แท้จริงจะต้องมาจากการแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมด้วยความชัดเจนในหลักศีลธรรมอย่างไม่สั่นคลอน โดยให้การปกป้องชีวิตมนุษย์เป็นรากฐานของการทูตและภารกิจของสหรัฐฯ บนเวทีโลก” นี่คือสิ่งที่นายกริฟฟิธส์กล่าว
แต่ถึงกระนั้นเขายังเชื่อว่า อเมริกาเป็นพลังที่ขาดไม่ได้ “ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทั่วโลก โลกปรารถนาให้สหรัฐฯ ลุกขึ้นเผชิญกับภาวะท้าทายของผู้นำที่รับผิดชอบและมีหลักการ... เราต้องการมากขึ้น เราสมควรได้รับมากขึ้น และเรากล้าที่จะหวังมากขึ้น”
https://www.bbc.com/thai/articles/crr90ddgx4zo