เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai
10h ·
[ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ]
.
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration จัดกิจกรรมเสวนา “อนาคตศาลรัฐธรรมนูญ: แก้ปัญหาหรือตัวปัญหา” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ดำเนินรายการโดย อันเจลโลว์ ศตายุ สาธร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
.
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน โดยเทวฤทธิ์กล่าวว่า ในการทำงานตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ มี 16 คดีสำคัญที่ชี้ให้เห็นภาพรวมของคำวินิจฉัยศาล ซึ่งสะท้อนถึงความไม่คงเส้นคงวา ฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอำนาจรัฐมักจะไม่รอด แต่สำหรับคนที่อยู่ข้างเดียวกันแล้วก็มักจะรอด เช่น กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รอดถึง 2 ครั้ง
.
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังกลายเป็นผู้สร้างระบอบใหม่ผ่านคำวินิจฉัย สามารถชี้ว่าสิ่งใดเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองและสิ่งใดไม่เป็นได้ เช่น การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือการเสนอแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล สังเกตได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จากตัดสินยุบพรรคเชิงเทคนิคเพราะคุณสมบัติไม่ครบ มาสู่การตัดสินเชิงอุดมการณ์ในข้อหาปฏิปักษ์และล้มล้างการปกครอง เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังตัดสินว่าอะไรคือระบอบการปกครองด้วย
.
ด้านณัชปกร ให้ความเห็นว่า ช่วงที่ตนรู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาคือหลังปี 2549 ที่เกิด "ตุลาการณ์ภิวัฒน์" และการล้มการเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตุลาการภิวัฒน์นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งที่ตามมาด้วยการรัฐประหาร ไล่เรียงตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ สมัคร สุนทรเวช ยุบพรรคพลังประชาชน วนมาจนถึงการล้มเลือกตั้งและรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ต่อด้วยการยุบพรรคอีกหลายครั้ง
.
อำนาจตุลาการภิวัฒน์มี 4 ลักษณะ คือ 1. กำจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการตัดสิทธิ์และยุบพรรค 2. ทำลายความชอบธรรมขององค์กรจากการเลือกตั้ง เช่น ล้ม พรบ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งศาลให้ความเห็นส่วนตัวว่าให้ทำถนนลูกรังให้เสร็จก่อน หรือตีความว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง 3. สร้างสุญญากาศทางการเมืองด้วยการล้มการเลือกตั้ง 2549 และ 2557 และ 4. ปกป้องและขยายเขตแดนอำนาจของศาลเอง ทั้งด้วยการยื้อ เช่น ห้ามแก้หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนกว่าจะทำประชามติก่อน และการยับยั้ง เช่น ห้ามการแก้ที่มาของ สว. ซึ่งเป็นการแทรกแซงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
.
ขณะที่ศุภณัฐ ระบุจุดยืนว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้นิยามลักษณะเฉพาะของการเมืองไทย และเป็นผู้กำหนดว่าอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไทยใดที่ห้ามไม่ให้เป็นแบบสากล ซึ่งดูได้จากคำวินิจฉัยต่าง ๆ ตั้งแต่การไล่เลียงในคดี การให้เหตุผลทางกฎหมายในประเด็นแห่งคดี และที่สำคัญที่สุดคือการอธิบายเชิงพรรณานอกประเด็นแห่งคดี เช่น การอธิบายความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคมไทยเพื่อคัดค้านการแก้ ม.112 ซึ่งเป็นการเผยอุดมการณ์หรืออัตลักษณ์ทางการเมืองของศาลได้อย่างชัดเจนว่า เป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับเสรีประชาธิปไตย เน้นพระพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์เหนือเสรีภาพ นิติรัฐ และประชาธิปไตย ซึ่งคุณค่าข้างหลังนี้หากขัดแย้งกับคุณค่าข้างต้นก็จะถูกยกเว้นเป็นการชั่วคราว
.
ต่อคำถามที่ว่า เห็นอย่างอย่างไรกับคดีล้มล้างการปกครองหรือการยุบพรรคการเมืองเพราะเสนอแก้ ม.112 ณัชปกร ตอบว่าข้อเสนอให้แก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่การยกเลิกแต่เป็นการปรับให้เข้ากับหลักสากลที่เสรีภาพในการพูดได้รับการคุ้มครอง แม้จะพูดผิดก็ตาม กฎหมายต่างประเทศคุ้มครองถึงการเข้าใจผิดหรือสำคัญผิดด้วยซ้ำ แต่ศาลกลับคิดเอาเองว่าการแก้ไขคือการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย คำวินิจฉัยส่วนหนึ่งแทบจะเป็นคำอาเศียรวาท ทั้ง ๆ ที่ผู้พิพากษาต้องวินิจฉัยคดีไปตามกฎหมาย ไม่ใช่แข่งกันแสดงความจงรักภักดี เอาอุดมการณ์ของตนมาสอดแทรก ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่ศาลอ้างก็ผิด นอกจากจะล่วงละเมิดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติแล้วยังจะเขียนประวัติศาสตร์ชาติใหม่ด้วย
.
ด้านศุภณัฐชี้ว่า รัฐสภาเป็นการรวมตัวของผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาต่อรองกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลหรือศาลก็อาจลงโทษคนเหล่านี้ได้ รัฐสภาจึงมีเอกสิทธิ์และการคุ้มกัน เป็นที่หลบภัยในทางกฎหมายของสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ซึ่งจะไม่ถูกทั้งคดีอาญาและคดีทางรัฐธรรมนูญ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันมีทั้งในแง่บุคคลและองค์กร เวลาสมาชิกรัฐสภากล่าวอะไรในสภาทั้งคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรจะไม่สามารถถูกดำเนินคดีได้ รวมถึงในร่างกฎหมายที่เสนอต่อสภาด้วย หากสมาชิกรัฐสภาไม่ได้รับความคุ้มกันเมื่อเสนอกฎหมายก็จะไม่กล้าเสนออะไร คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้จึงทำลายดุลอำนาจของศาลกับรัฐสภาอย่างร้ายแรง คำวินิจฉัยเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และต้องถูกล้มล้างไปเพื่อคืนสมดุลให้รัฐสภากลับมาทำหน้าที่ได้อีกครั้ง เมื่อประชาชนมีความคิดเห็นอะไรก็ไปเลือกตั้ง สส. ให้ สส. ไปทำหน้าที่ของตนตามเจตนารมณ์เพื่อผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งโดยไม่ต้องกังวล
.
ขณะที่เทวฤทธิ์ ให้ความเห็นว่า การแก้กฎหมาย ม.112 ผ่านรัฐสภาจะแสดงออกถึงการปรับตัวของสถาบันผ่านรัฐสภาได้ดีที่สุด อย่างไรเสีย สส. 151 คนก็จะเห็นด้วยและที่เหลือก็จะไม่เห็นด้วยอยู่แล้วก็จบกันไป ม.112 ในปัจจุบันเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หลังการปราบปรามนักศึกษาวันที่ 6 ตุลา 2519 มีการรัฐประหารแล้วเพิ่มโทษ ม.112 ให้หนักขึ้น เมื่อ ม.112 มาจากระบอบเผด็จการ การเก็บกฎหมายลักษณะที่แก้ในปี 19 นี้ไว้ในปัจจุบันทำให้สงสัยว่าไทยอยู่ในระบอบการปกครองอะไร
.
ศาลรัฐธรรมนูญมีการวางวิสัยทัศน์ปี 66-70 ว่าจะเป็นสถาบันชั้นนำที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญในระดับสากล ดังนั้นที่ว่าระดับสากลคงไม่ใช่การยึดเพียงระบบคุณค่าแบบไทย ๆ แต่สถาบันทางการเมืองหนึ่งเดียวที่รอดจากการฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2557 คือศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นคุณต่อ “รัฐพันลึก” และไม่เป็นคุณต่อผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ
.
ต่อการแสดงความคิดเห็นของอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคก้าวไกล เทวฤทธิ์เห็นว่า ต้องตั้งคำถามว่าเป็นการเยาะเย้ยหรือการแสดงอคติหรือไม่ มีนักวิชาการหลายคน เช่น ธงทอง จันทรางศุ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่เห็นเช่นนี้ สภาผู้แทนฯ ก็อภิปรายเรื่องนี้และส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ตอบกลับมาว่าการกระทำของอุดมเป็นการตอบคำถามทางวิชาการ ไม่ใช่การเสียดสีหรือประชดประชัน ไม่ใช่อคติ ไม่เสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตนถามว่าถ้าครูที่ตรวจข้อสอบเราทำแบบนั้นจะถือว่าเป็นกลางหรือไม่
.
ต่อคำถามที่ว่า ประเทศไทยควรมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศุภนัฐเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สมควรอยู่ในระบบกฎหมายไทยอีกต่อไป เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยสากลหลายครั้ง ให้การชุมนุมขัดขวางประชาธิปไตยเป็นสิ่งถูก แต่การแก้ไขกฎหมายตามระบอบรัฐสภาเป็นสิ่งผิด ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบองค์กรทางการเมือง ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจรัฐจริง รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนก็จะชอบธรรม รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งตัวบุคคลในองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสามเหล่านั้นจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนเสมอ ไม่ว่าจะเป็น สส. ครม. หรือศาลต่าง ๆ และการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ก็จะต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย
.
หากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในร่องในรอยก็จะทำให้สภาตรากฎหมายโดยไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญจากประชาชน มีองค์กรต่าง ๆ และบุคลากรจากประชาชนซึ่งทำหน้าที่อย่างเหมาะสม เขตอำนาจอื่นของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม เช่น การยุบพรรคการเมืองหรือการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรให้เป็นเรื่องความรับผิดทางการเมือง ให้รัฐสภาอภิปรายและให้ประชาชนลงโทษผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งทำให้การเมืองบิดเบี้ยว ถ้าจำกัดอำนาจศาลรัฐธรมนูญไว้ได้ก็สมควรมีอยู่ต่อ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญลุแก่อำนาจและตรวจสอบไม่ได้ในระยะสั้นก็ควรยุบไปแล้วค่อยมาออกแบบใหม่
.
ศุภณัฐกล่าวต่อว่า การตรวจสอบรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญต่อประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ที่มาจะต้องสอดคล้องกับประชาชน ตนเห็นว่าตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก็พอแล้ว ด้านการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ควรให้ประชาชนตรวจสอบถ่วงดุล ถอดถอน และวิจารณ์ได้ และประมวลจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม เหมือนประมวลจริยธรรมนักการเมือง
.
ด้านณัชปกรระบุว่า ปัจจุบันไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะดีกว่า แต่ถ้าจะมีต้องมีการออกแบบใหม่ ในเรื่องสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และอำนาจของศาลที่ปัจจุบันมีอำนาจมากเกินไป ส่วนเรื่องที่มาอาจมีทางเลือกในการออกแบบคือ ปลอดการเมือง เสนอมาจากฝ่ายตุลาการอย่างเดียว หรือเสนอมาจากฝ่ายการเมือง หรือต่างฝ่ายต่างเสนอ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบปิด ประชาชนไม่มีส่วนร่วม นอกจากนี้ ควรออกแบบกลไกการตรวจสอบใหม่ ตั้งแต่น้อย คือ ตรวจสอบกันเองภายใน ปานกลาง คือ ตรวจสอบโดยรัฐสภาหรือคณะกรรมการ มาก คือ ให้ประชาชนตรวจสอบและยื่นเรื่องถอดถอนได้
.
ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้แสดงทางการเมืองหนึ่ง ที่มาจึงควรมาจากแหล่งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการมารวมกัน วิธีการที่ชอบธรรมมีหลายแบบ ทั้งเลือกตั้งตรง เสนอทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน และเสนอจาก 3 อำนาจ ซึ่งบางครั้งก็ต้องระวังจะเกิดการกินรวบ ยังไม่มีสูตรสำเร็จและต้องคิดให้ละเอียด ตนไม่อยากให้เป็นเรื่องของนักกฎหมายและนักวิชาการไม่กี่คน เลือกในห้องปิดหรือลอยมาจากสวรรค์ให้คนสงสัยว่าหมอนี่เป็นใคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ ไม่ใช่แค่ยื่นใบสมัครงานให้องค์กรสัมภาษณ์ แต่ต้องให้สาธารณชนรับรู้ด้วย ที่ทุกวันนี้คนอยากให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญก็เพราะรู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงกับประชาชน
.
ขณะที่เทวฤทธิ์เสริมว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เราอาจละเลยไปและตนได้อภิปรายไปแล้วคือหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุดที่ 12 ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้บริหาร ตุลาการ โรงพยาบาล และกลุ่มทุนซึ่งส่วนใหญ่คือทุนพลังงาน มีงานวิจัยของนวลน้อย ตรีรัตน์และภาคภูมิ วาณิชกะเมื่อปี 56 ที่ศึกษาหลักสูตรหรือเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษลักษณะทำนองนี้ว่าหลักสูตรเหล่านี้ไม่ต่างจากการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์ หรือหาพวกเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตน กล่อมเกลาเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นเชื่อในเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งอาจสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเมืองได้
.
ตนเห็นว่าควรปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ล้มล้าง ควรมีอำนาจตีความกฎหมายว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และตีกรอบอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจอื่น ๆ จะต้องแก้ไข รวมทั้งอำนาจยุบพรรคที่อยู่ใน พรป. พรรคการเมืองก็ควรตัดออกไป การสูญสลายไปของพรรคการเมืองควรเกิดจากการที่ประชาชนไม่เลือก หรือหากยังอยากคงมาตรการยุบพรรคก็ต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย และข้อหาการล้มล้างการปกครองของพรรคจะต้องเกิดจากการใช้กำลัง การวินิจฉัยของศาลต้องเป็นธรรม ความผิดจากการตัดสินใจส่วนบุคคลต้องลงโทษตัวบุคคลไม่ใช่ทั้งพรรค และควรส่งเสริมให้ตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายไม่ใช่ยุบพรรค
.
เรื่องมาตรฐานจริยธรรม กรณีเศรษฐาตนเห็นว่าเกินไปมาก มาตรฐานนี้ออกโดยองค์กรอิสระแต่กลับเอามาใช้กับนักการเมือง ซึ่งขัดแย้งกันเองและต้องแก้ไข หากประชาชนต้องการร้องเรียนพรรคการเมืองก็ไปที่ ปปช. ได้ และ สส. ก็มี กมธ. จริยธรรมตรวจสอบอยู่แล้ว กลไกรัฐสภาต้องกระตือรือร้นในการตรวจสอบ ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่มีคดีติดตัวลาไปต่างประเทศจนหมดอายุความ เพราะถ้าทำเช่นนี้ประชาชนก็จะหันไปหาองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งส่งผลเสียต่อประชาชนเอง ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญเองประชาชนก็ตรวจสอบเองไม่ได้ ได้แต่ร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตัวเอง ไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนยื่นถอดถอนได้ ศาลรัฐธรรมนูญ ควรเปิดรับฟังประชาชนเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล และดำรงอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
.
(ทีมงาน)
.....
เสวนา “อนาคตศาลรัฐธรรมนูญ: แก้ปัญหาหรือตัวปัญหา”
Prachatai
Streamed live on Nov 25, 2024
เสวนา “อนาคตศาลรัฐธรรมนูญ: แก้ปัญหาหรือตัวปัญหา”
.
ถึงเวลาปฎิรูปหรือยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง? แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชวนสังคมไทยตั้งคําถามต่อศาลรัฐธรรมนูญ
1. ศาลรัฐธรรมนูญทํางานได้ดีพอแล้วหรือย้ง
2. เรายังมีความจำเป็นในการมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
3. ในอนาคต เราควรปฎิรูปหรือยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
.
พบกับ
๐ เทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
๐ ณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ(CALL)
๐ ศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า
📍ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
⭐️ ในวันจันทร์ 25 พฤศจิกายน 2567
ตั้งแต่ 17.00 - 20.00 น.
(https://www.youtube.com/watch?v=CrTiQvD60Ag)