วันจันทร์, พฤศจิกายน 04, 2567

‘ภูมิธรรม’ ยักไหล่ ‘เกาะกูด’ ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การโหมของกลุ่มขวาสุดโต่ง อาจนำไปสู่ชาตินิยมลุ่มหลง เหมือนคดีเขาพระวิหารอีกได้

ว่าไปแล้วการรุกเร้าทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ต่อรัฐบาล อุ๊งอิ๊ง เพื่อไทย มีแรงโหมกระทบทางการเมืองมากกว่า การอภิปรายติติงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโดยพรรคประชาชน แกนนำฝ่ายค้าน อย่างเช่นเรื่อง เกาะกูด

แม้นว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะนำประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนี้มาพูด เตือนให้รัฐบาลรีบสร้างความกระจ่างว่าจุดยืนเอาอย่างไร ขณะที่ฝ่ายขวาสุดโต่งยิ่งประโคมโหมว่า การจะเป็นในแบบคดีเขาพระวิหาร ที่ไทยต้องเสียดินแดนส่วนนั้นหายไปกับตา

ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม และรองนายกฯ ที่มีบทบาทเป็นหลังพิงให้ น.ส.แพทองธาร มากกว่าใครอื่น ก็ยังวางเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นมากนัก แหล่งข่าวบอกว่ากระแสวิจารณ์ทำให้เกิดการสับสนไปเอง รัฐบาลยังถือเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส

แต่ถ้าลมพัดโหมแรงนัก ไม้ก็หักโค่นได้ วันนี้จะมีการประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งภูมิธรรมว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องเกาะกูด สุดแล้วแต่จะมีใครยกประเด็นขึ้นมา ทว่าในวันพรุ่งนี้ (๕ พฤศจิกา) จะมีการชุมนุมประท้วง

กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นัดไปปักหลักประท้วงกันที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล ในหัวข้อ “รวมพลคนคลั่งชาติ ปกป้องเขตแดน ไม่เอาผลประโยชน์ทับซ้อน” หลังจากที่วันนี้มีการชุมนุมของกลุ่ม คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม ปกป้องแบ๊งค์ชาติ

สุรชาติ บำรุงสุข ให้ข้อคิดทางรัฐศาสตร์ต่อกรณีนี้ว่า การเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล เต็มไปด้วยความซับซ้อน เพราะเป็นการใช้ค่าสมมุติของเส้นรุ้งเส้นแวงมาวินิจฉัย ไม่มีรูปธรรมชัดเจนเห็นแจ้งเหมือนเขตแดนทางบก ดังนั้นจะง่ายถ้ามีใครบิดเบือนประเด็น

ฝ่ายที่ระดมโจมตีบอกว่า เอ็มโอยู ๔๔ นั้นเขียนว่า การแบ่งเขตแดนทางทะเลต้องทำควบคู่ไปกับกรณีนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ “ยังไม่ทันได้แบ่ง เราก็ยกอาณาเขตทะเลไทยให้เขมรตามที่เขาลากเอาไว้แล้ว มันอยู่ในแผนที่แนบท้าย”

ผู้ดำเนินรายการอ้างว่าแผนที่แนบท้ายของฝ่ายไทย มีการแลเงาบริเวณพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทเขตแดนต่อไปได้ เพียงเพื่อให้เห็นแจ้งว่าเป็นพื้นที่ยังไม่ต้องเจรจา เก็บไว้ก่อน ไปเจรจาเรื่องแบ่งปันทรัพยากรทางทะเลเสียก่อนดีกว่า

สุรชาติยกตัวอย่างคดีเขาพระวิหารว่า การปลุกระดมในปี ๒๕๕๑ ทำให้ศาลโลกย้อนไปดู “ประวัติศาสตร์เส้นพรมแดนไทย” แล้วนำไปสู่คำตัดสินให้ไทยพ่ายแพ้ ต้องยกเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชาในที่สุด สุรชาติชี้ว่าการเน้นแต่เส้นเขตแดนอาจไม่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศก็ได้

แม้การประกาศเขตไหล่ทวีปซึ่งทั้งสามประเทศรายรอบผืนน้ำส่วนนี้ เวียดนามในปี ๒๕๑๔ กัมพูชาในปี ๒๕๑๕ และไทยในปี ๒๕๑๖ และการเจรจาปัญหาทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เคยมีมาสามครั้ง (ปี ๒๕๑๓ ปี ๒๕๓๘ กับปี ๒๕๔๔) ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

เอ็มโอยู ๔๔ ซึ่งเกิดจากการเจรจาครั้งล่าสุด ตกลงใช้ละติจูดที่ ๑๑ เป็นเส้นหลัก ก็ยังมีรายละเอียดต่างๆ ซับซ้อน ในเรื่องไหล่ทวีป และทรัพยากรใต้ทะเลต้องถ้อยทีถ้อยเจรจากันอีกมาก เกินกว่าจะปักปันเขตแดนได้อย่างใจ

(https://x.com/sunaibkk/status/1853286532284899530, https://x.com/B2F8o3/status/1852690604033245469 และ https://www.nationtv.tv/politic/378950905=PhpDPhrlriRGZM3g)