วันอังคาร, พฤศจิกายน 05, 2567

คนไทยควรเลิกพูดเรื่อง #เกาะกูด เป็นพื้นที่ทับซ้อน เพราะทุกอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่คนไทยก็ต้องยอมรับว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเป็นเรื่องจริง มีอยู่จริง ไม่ใช่เส้นไทยถูกกฎหมายคนเดียวแล้วเส้นของกัมพูชาผิดกฎหมายคนเดียว ดังนั้นถ้าจะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องเจรจา



thaiarmedforc @ThaiArmedForce

คนไทยควรเลิกพูดเรื่อง #เกาะกูด เป็นพื้นที่ทับซ้อน เพราะทุกอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่คนไทยก็ต้องยอมรับว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเป็นเรื่องจริง มีอยู่จริง ไม่ใช่เส้นไทยถูกกฎหมายคนเดียวแล้วเส้นของกัมพูชาผิดกฎหมายคนเดียว ดังนั้นถ้าจะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องเจรจา
----------------
ขยายความคือ

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 มีสาระสำคัญคือ สยามยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือมณฑลบูรพาอันได้แก่เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดและเกาะทั้งหลาย ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดให้กับสยาม ยกเว้นปัจจันตคิรีเขตรที่ยังอยู่กับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ทำพิธีส่งมอบคืนเมืองตราดและเมืองด่านซ้ายให้กับสยามในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 (1907)

เมื่อฝรั่งเศสให้เอกราชกัมพูชา เขตแดนของสยาม-ฝรั่งเศสก็แปลงสภาพเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งอ้างอิงตามสนธิสัญญานี้
ดังนั้นมีความชัดเจนมาโดยตลอดว่าเกาะกูดเป็นของสยามหรือไทย ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องอย่าเอามาปนกัน
----------------

ในทางกลับกัน เขตแดนทางทะเลเกิดขึ้นโดยอ้างอิงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลหรือ United Nations Convention on the Law of the Sea เรียกย่อ ๆ ว่า UNCLOS โดยกำหนดว่ารัฐชายฝั่งจะมีทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) กว้างไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลเมื่อวัดจากเส้นฐาน ถือเป็นเขตที่รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตย และมีเขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) โดยวัดจากเส้นฐานไป 24 ไมล์ทะเลหรือวัดจากเส้นทะเลอาณาเขตไป 12 ไมล์ทะเล โดยรัฐชายฝั่งมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การตรวจคนเข้าเมือง และสาธารณสุข

ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย ซึ่งไม่ใช่อำนาจอธิปไตย แต่ให้อำนาจเพียงการสำรวจ การแสวงประโยชน์ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร รวมถึงการก่อสร้างต่าง ๆ

เมื่อรัฐชายฝั่งวัดตาม UNCLOS ในหลายกรณีจะเกิดพื้นที่ทับซ้อนกัน เพราะทะเลหลายพื้นที่ไม่ได้กว้างเกิน 400 ไมล์ทะเล เช่นในอ่าวไทย ดังนั้นทุกฝ่ายสามารถลากเส้นตามสิทธิที่ UNCLOS ให้ได้ แต่ถ้าทับกันก็ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งไทยก็ไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา ในขณะที่กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับเส้นของไทย ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ UNCLOS กำหนดให้เจรจากัน และก็เป็นที่มาของการทำ MoU ปี 2544
----------------

ดังนั้นเราจะบอกว่าเส้นกัมพูชาผิดกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ เพราะกัมพูชาก็ลากเส้นตาม UNCLOS แบบเดียวกับไทย หรือจะบอกว่าเส้นกัมพูชาไม่มีผลเพราะไทยไม่ยอมรับ ก็ต้องบอกว่าถ้าใช้ตรรกะนี้เส้นของไทยไม่มีผลเพราะกัมพูชาไม่ยอมรับเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ เพราะทั้งสองเส้นพยายามอ้างอิงสิทธิสูงสุด (Maximum Claim) ที่ UNCLOS ให้ ดังนั้นมันถูกกฎหมายทั้งคู่ แต่ในเมื่อมันทับกันก็ต้องเจรจากัน

ซึ่งการเจรจามีทั้งการปักปันเขตแดนให้ลงตัวเลยแบบไทยกับหลายประเทศที่เส้นเขตแดนทางทะเลชัด หรือละการปักปันเขตแดนเอาไว้ยังไม่ต้องตกลงกันถ้าตกลงกันไม่ได้ แต่ร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ใช้งานทรัพยากรทางทะเลได้แบบพื้นที่ JDA ไทยกับมาเลเซีย ซึ่งไทยกับมาเลเซียตกลงแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นใน JDA กันฝ่ายละ 50% โดยสถานะของพื้นที่นั้นยังเป็นพื้นที่ทับซ้อน ยังไม่ต้องสนใจว่าพื้นที่นั่นจะเป็นของใคร

และการลากเส้นของกัมพูชา ถ้าดูในเอกสารอย่างละเอียด จะพบว่ากัมพูชามักจะวงเล็บเกาะกูดว่าเป็นของไทย หรือมีการลากเส้นอาณาเขตทางทะเลอ้อมเกาะกูดออกไป ดังนั้นมันก็ชัดเจนอยู่แล้วในเอกสาร หลักฐาน และสนธิสัญญาจำนวนมากว่าเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไทยของไทย

หรือถ้าดูเส้นของกัมพูชาที่ประกาศในปี 1972 เส้นบางส่วนก็น้อยกว่าเส้นระยะห่างที่เท่ากันระหว่างทั้งสองฝั่ง (Equidistance Line) หรือถ้าไปดูเส้นของไทย ก็เป็นเส้นที่ลากล้ำเข้าไปเกินกว่าเส้นระยะทางเท่ากันตั้งเยอะ เพราะทั้งสองฝ่ายลากจากการอ้างอิงสิทธิสูงสุด

ปัญหาถ้าจะมี ก็อยู่ที่การอ้างอิงและลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนทางบกไทยกัมพูชา และเป็นต้นกำเนิดของเส้นเขตแดนทางทะเลของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องมีการตกลงกันอีกครั้งว่าการลากเส้นแบบใดจะถือว่าได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ว่าจะตกลงอย่างไร ไม่มีจุดไหนที่จะกระทบกับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด
----------------

ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเจรจากับฝ่ายกัมพูชาเพื่อร่วมพัฒนาและทำ JDA แบบไทยมาเลเซียก็สามารถทำได้ และไม่กระทบกับอธิปไตยของฝ่ายใดทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นการพักเรื่องอาณาเขตเอาไว้ก่อน เปลี่ยนมาเป็นการร่วมพัฒนา

และเช่นกัน MoU ปี 44 เป็นการอ้างอิงเพื่อเจรจาปัญหาเขตแดนและพัฒนาพื้นที่ในทะเล ไม่ใช่พื้นที่ทางบก ดังนั้นไม่เกี่ยวกับเกาะกูดใด ๆ ทั้งสิ้น

การปั่นกระแสชาตินิยมโดยเอาเกาะกูดมาเกี่ยวกับ MoU 44 นอกจากจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหลักกฎหมายจนเอาสองเรื่องมาร่วมเป็นเรื่องเดียวแล้ว ยังส่งผลเสียต่อไทย เพราะตอนนี้หลายกลุ่มในไทยที่ออกมาพูดเรื่องเกาะกูดเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่พูดเรื่องนี้ ทำให้เกาะกูดกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งที่มันไม่เคยทับซ้อน

ส่วนเรื่องอาณาเขตทางทะเล ย้ำอีกครั้งว่าเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด การลากเส้นและปักปันเกิดขึ้นตาม UNCLOS ซึ่งด้วยกายภาพทำให้มีพื้นที่ทับซ้อน การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางะเลไม่ได้นำไปสู่การเสียดินแดนใด ๆ ทั้งสิ้น

ถ้าตราบใดเรายังไม่เลิกใช้กระแสชาตินิยมแบบผิด ๆ แบบนี้ เราก็จะไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาได้เลย และยิ่งเมื่อเกิดจากความไม่เข้าใจกฎหมายและความสับสนของหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ การวิจารณ์กลับส่งผลเสียต่อประเทศไทยมากกว่าอยู่เฉย ๆ เสียอีก

ดังนั้นขอให้ทุกคนพยายามเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจและยังพูดเรื่องเกาะกูดเอามารวมกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกันอยู่กันแบบนี้ จากที่ไม่มีปัญหาก็จะมีปัญหาบานปลายไปหมด



https://www.facebook.com/thaiarmedforce/videos/1681118986004560