ได้อ่านถอดความวิสัยทัศน์จากคำปราศรัยเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาได้เป็นอภิมหาเจ้าสัวไทย เป็นที่พึ่งพาของรัฐบาลที่เคยอยู่นานๆ หลายคณะ อีกทั้งเป็นคุณูปการแก่ราชบัลลังก์
แน่ละ เจ้าสัวพูดเรื่องถนัด การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนไทย-จีนที่ยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นผู้จัด เขาว่า จีน “มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทุกๆ วัน มีสตาร์ตอัพเกิดใหม่นับไม่ถ้วน”
ข้อสำคัญ “จีนไม่มีกฎหมายที่เป็นอุปสรรค” ต่อการพัฒนาใหม่ๆ ต่างกับไทย “ยังมีกฎหมายล้าหลังที่ยังใช้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายอาชีพสงวนที่โบราณ ไม่ทันต่อสถานการณ์” เขาจึง “ไม่อยากให้คนไทยคิดว่าจีนเป็นคู่แข่ง”
เรื่องสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย เสี่ยธนินท์อยากให้คิดอีกมุมว่าจีนมีประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน เขาผลิตของมาขายคนไทยได้อย่างมากที่สุดก็ ๗๐ ล้านคน แต่ถ้าคนไทยผลิตไปขายจีนบ้างจะได้ตั้ง ๑,๔๐๐ ล้านคน “โอกาสเป็นของเรามากกว่า”
ไม่แน่ใจนะว่านี่เป็นตรรกะที่ถูกต้อง เมื่อเจ้าสัวบอกว่า “เป็นโอกาสของไทยที่จะร่วมมือ เอาความเก่งของจีนมาผลิตสินค้าที่ไทย แล้วส่งออกไปขายอเมริกา ยุโรป” ในเมื่อธนินท์เองบอกว่า “จีนถูกสหรัฐและยุโรปกีดกันทางการค้า” ถ้าไทยผลิตให้จีนแทน เขาจะเลิกกีดกันหรือ
อีกเรื่องเกี่ยวกับพลังงานเจ้าสัวมองว่า “พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญ เพราะนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และอีกเรื่องที่ผมยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร คือ เรื่องพลังงานน้ำมันและก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา”
เจ้าสัววกเอาเรื่องพลังงานไปเจอกันตรงนั้น พื้นที่ทับซ้อนซึ่งกำลังเป็นกระดานร้อนของรัฐบาลลูกสาวทักษิณ ที่เขาชมว่า “เป็นคนมีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง...รู้วิธีที่จะช่วยนำมาใช้ในการพัฒนา
ผลักดันให้ไทยขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แทนที่ฮ่องกง สิงคโปร์” ได้ เขาวกไปต่อที่เรื่องการค้า ว่าสมัยนี้ไม่ใช่แข่งกันด้านราคา แต่ต้องแข่งกันลดต้นทุน และเพิ่มจำนวน (ปริมาณ) การขาย จึงวนกลับไปที่การผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ
เข้าร่องข้อเสนอใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า แต่ว่าทราบกันดีอยู่ทุกวันนี้ว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยมีมากเกินไปจนเหลือใช้ แล้วยังฝืนผลิตเพิ่มเพื่อเอื้อแก่นักลงทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะด้วยพลังน้ำจากเขื่อน ที่สร้างกันเป็นว่าเล่นตั้งแต่รัชกาลที่แล้ว
มันมีข้อสรุปอยู่แล้วว่า ไฟฟ้าไทยไม่ยอมถูกลงง่ายๆ เพราะกลุ่มนายทุนพลังงานเป็นปึกแผ่นแน่นหนากับรัฐบาล เจ้าสัวธนินท์จะยังให้ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซในพื้นที่พิพาททับซ้อนอีกเพื่อประโยชน์ของใคร
เพียงแต่ว่าต้องรีบนำขึ้นมาใช้ เพราะอีก ๑๐ ปีข้างหน้า...คนจะไม่ได้ใช้ก๊าซกันแล้ว พลังตรงนั้นจะไร้ค่า” ไม่ใช่เหตุผลที่มีคุณค่าต่อประชาชนผู้บริโภคนะทั่น