ขุ่นพระ! กรุงเทพฯ 7 ปี คนกรุงสูดพิษ PM2.5 ไปถึง 2,171 วัน
ไทยรัฐออนไลน์
ราว 6-7 ปีก่อน คือช่วงที่คนไทยเริ่มคุ้นชื่อฝุ่น PM2.5 และหาซื้อหน้ากากกันฝุ่น N95 กันจ้าละหวั่น จนขาดตลาดและราคาอัพแพงสูงลิ่ว เราเริ่มตระหนักถึงอันตรายต่อชีวิต เมื่อฝุ่นอนุภาคเล็กแทรกซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนเลือดของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราเริ่มเห็นตัวเลขการตายของผู้คนทั่วโลก เฉพาะ 2564 ปีเดียว สูญเสียไปแล้ว 8.1 ล้านคน หรือเฉพาะแค่คนไทย มีอัตราเสียชีวิตราว 70,000 คนต่อปี ซึ่งสูงกว่าการตายจาก Covid-19 เสียอีก
มันคือความจริง ที่คนไทยสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้หายใจในอากาศที่สะอาดไปแล้ว
ว่ากันตามตรง เราใช้เวลากันนานมาก กว่าจะเริ่มทำความเข้าใจและชำแหละต้นตอของ PM2.5 เพื่อหาทางรับมือแก้ไขอย่างตรงจุด อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้มาไกลพอสมควร หากนับจากวันที่เราแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำไปในอากาศ สู่การผลักดันการแก้ปัญหาฝุ่นพิษขึ้น ผ่านการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ของภาครัฐ เอกชนประชาสังคม เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาฝุ่น รวมถึงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน
ไทยรัฐออนไลน์ สำรวจสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ เพื่อดูว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ กว่า 10 ล้านคน สูดอากาศที่ดีวัน, เดือนไหนของแต่ละปีที่อากาศเลวร้ายที่สุด ไปจนถึงว่า 7 ปีผ่านไป … พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เดินทางไปถึงไหนแล้ว
กรุงเทพฯ ย้อนหลัง 7 ปี สูด 'อากาศดี' กี่วัน
อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า ย้อนหลังไป 7 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 - 14 พ.ย. 2567 (2,509 วัน) คนกรุงเทพฯ ได้สูดอากาศดีที่ (อยู่ในเกณฑ์สีเขียว 0-50 AQI) แค่ 338 วัน คิดเป็น 13.7% เท่านั้น ดังนี้
ปี 2561
● อากาศดี 20 วัน
● อากาศปานกลาง 240 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 82 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 13 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2561 คือวันที่ 22 มกราคม มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 183 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทว่าเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด กลับเป็นเดือน 'กุมภาพันธ์’ ที่มีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 131.86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ไม่มีสักวันเดียวที่กรุงเทพฯ มีอากาศในเกณฑ์ที่ดี
ปี 2562
● อากาศดี 34 วัน
● อากาศปานกลาง 241 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 75 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 22 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2562 คือวันที่ 30 มกราคม มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 177 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด ก็เป็นมกราคมอีกเช่นกัน โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 135.32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนนี้ ไม่มีสักวันเดียวที่กรุงเทพฯ มีอากาศในเกณฑ์ที่ดี และมีวันที่ค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกิน 100 AQI ถึง 26 วันเลยทีเดียว
ปี 2563
● อากาศดี 71 วัน
● อากาศปานกลาง 211 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 68 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2563 คือวันที่ 10 มกราคม มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด คือเดือนกุมภาพันธ์ มีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 125.24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนนี้ ไม่มีสักวันเดียวที่กรุงเทพฯ มีอากาศในเกณฑ์ที่ดี แต่จากตัวเลขพบว่า ในปีนี้อากาศมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีวันที่อากาศดีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37 วัน และมีวันที่อยู่ในเกณ์สีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ลดลง 8 วัน
ปี 2564
● อากาศดี 90 วัน
● อากาศปานกลาง 202 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 12 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2564 คือวันที่ 22 มกราคม มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด คือเดือนกุมภาพันธ์ มีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 128.18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนนี้ ไม่มีสักวันเดียวที่กรุงเทพฯ มีอากาศในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ดี ในปี 2564 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดีถึง 90 วัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีที่สุดในช่วง 7 ปี
ปี 2565
● อากาศดี 49 วัน
● อากาศปานกลาง 261 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 52 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 3 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2565 คือวันที่ 9 เมษายน มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด คือเดือนเมษายน โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 93.70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนนี้ มี 2 วันที่จัดอยู่ในเกณฑ์ ‘อากาศดี’
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดีลดน้อยลงจากปีก่อนหน้าถึง 41 วัน แต่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) แค่ 3 วัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ดีที่สุดในช่วง 7 ปี อีกทั้งเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดของปี ยังมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดในช่วง 7 ปีสำรวจอีกด้วย
ปี 2566
● อากาศดี 31 วัน
● อากาศปานกลาง 243 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 77 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 วัน
วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2566 คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 182 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด คือเดือนเมษายนเช่นเดียวกัน โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 115.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในเดือนนี้ ‘ไม่มีสักวันเดียว’ ที่คนกรุงเทพฯ ได้หายใจในอากาศที่ดี
ปี 2567 (1 ม.ค.-14 พ.ย.)
● อากาศดี 43 วัน
● อากาศปานกลาง 221 วัน
● มีผลต่อผู้สัมผัสไวต่อมลพิษ 47 วัน
● มีผลกระทบต่อสุขภาพ 8 วัน
สำหรับปี 2567 ไทยรัฐออนไลน์สำรวจโดยเริ่มวันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ย. พบว่า วันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปีคือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ นั่นเอง โดยมีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด คือเดือนมกราคม โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 119.87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สูงขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย) โดยในเดือนมกราคมปีนี้ ‘ไม่มีสักวันเดียว’ ที่คนกรุงเทพฯ ได้หายใจในอากาศที่ดี และมีวันที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมงต่ำกว่า 100 เพียง 5 วันเท่านั้น
จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 7 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่คุณภาพอากาศปานกลาง (51-100 AQI) มากที่สุด ถึง 1,619 วัน คิดเป็น 64.53% ที่ถึงแม้คุณภาพอากาศปานกลางจะไม่ได้ส่งอันตรายต่อคนทั่วไปมากนัก แต่สำหรับผู้ที่มีความไวต่อมลพิษทางอากาศ เช่น กลุ่มสตรีมีครรภ์ เด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ก็ถือว่าต้องเผชิญมากกว่าคนปกติ และควรหลีกเลี่ยงการทำออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง
6 ปี การเดินทางของ พ.ร.บ. อากาศสะอาด
เท้าความสั้นๆ ‘พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ’ มีชื่อเต็มว่า พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.…. โดยร่างกฎหมายนี้ เป็นเหมือนความหวังของคนไทย ในการช่วยลดปัญหา PM2.5 ฝุ่นพิษอยู่คู่ลมหายใจของเรามานานหลายปี ผ่านการผลักดันของภาคประชาชน ประชาสังคม เอกชน และภาครัฐ โดยปัจจุบัน คนไทยก็ยังรอคอยให้กฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาอย่างใจจดใจจ่อ แม้จะรอมานานร่วม 5-6 ปีแล้วก็ตาม
ย้อนกลับไปในปี 2562 รัฐบาลได้กำหนดให้ ‘การแก้ปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยติดตามเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ เพื่อป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศ (ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย-Polluters Pay Principle)
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายเช่นนั้น โดยเว็บไซต์ Rocket Media Lab ได้นำแผนแม่บทดังกล่าวมาคลี่รายมาตรการเพื่อมาติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน พบว่า มีหลายมาตรการที่ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ เช่น การออกกฎหมาย PRTR (รายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี) เนื่องจากถูก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกร่างไปในปี 2564 โดยปัจจุบัน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นรายชื่อเสนอร่าง PRTR สู่สภาฯ อีกครั้งในปีเดือนกุมภาพันธ์ 2567
นอกจากนี้ ในแผนแม่บทนี้ยังได้บรรจุการผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ไว้ด้วย วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์จึงอยากพาผู้อ่านมาดูการเดินทางของ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ จากปี 2562 - ปัจจุบัน หรือราว 6 ปี ว่าตอนนี้อากาศสะอาดของคนไทย ใกล้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วหรือไม่ (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Policy Watch)
6 ปี การเดินทางของ พ.ร.บ. อากาศสะอาด
2562
● มาตรการผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
2563
● 13 ก.ค. 63 กลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ สภาหอการค้าไทย สภาลมหายใจ เสนอกฎหมายอากาศสะอาด ด้วยรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 12,000 ราย ต่อรัฐสภา แต่ความพยายามครั้งนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะถูกชี้ว่า เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง กระบวนการจึงยุติโดยปริยาย ● พรรคก้าวไกล ยื่น ร่าง พ.ร.บ. PRTR เข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ถูกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตีตกไป
2564
● เครือข่ายอากาศสะอาด (CAN) ริเริ่มล่ารายชื่อประชาชนยื่นร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ มีผู้ลงนาม 22,251 คน ● พรรคก้าวไกล ยื่น ร่าง พ.ร.บ. PRTR โดยกฎหมายฉบับนี้เน้นไปที่การมลพิษและสารเคมีอื่นๆ ● พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตก ร่าง พ.ร.บ. การรายงานปล่อย และเคลื่อนย้ายสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR
2565
● 21 ม.ค. เครือข่ายอากาศสะอาด (CAN) ยื่นรายชื่อ เพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เข้าสู่สภาฯ ● 28 ม.ค. มูลนิธิสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณนิเวศ กรีนพีซประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาชน เสนอร่างกฎหมาย PRTR
2566
▶ 4 ก.ค. 66 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ. PRTR ต่อประธานสภาฯ เพื่อล่า 10,000 รายชื่อ
● 27 ก.ย. 66 สส. พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างกฎหมายอากาศสะอาด เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา
● 26 ต.ค. 66 สส. พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมยื่นร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา
● 30 ต.ค. 66 ป.ย.ป. โดย บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และผู้แทนจากภาครัฐ จัดประชุมพิจารณา มาตรการป้องกันและรับมือ PM 2.5 และ ร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด (ฉบับคณะทำงาน)
● 31 ต.ค. 66 ครม. มีมติเห็นชอบที่ นายกฯ เสนอว่ารัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ PM 2.5
● 28 พ.ย. 66 ครม. เคาะร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับรัฐบาล ที่เสนอโดย ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมร่าง กม.ลูก 22 ฉบับ
2567
● 9 ม.ค. 67 ครม. เห็นชอบพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
2567
● 9 ม.ค. 67 ครม. เห็นชอบพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
● 11 ม.ค. 67 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามคณะรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
● 17 ม.ค. 67 ที่ประชุมสภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ และฉบับอื่นรวม 7 ฉบับ พร้อมตั้งกมธ. พิจารณารายละเอียด
● 14 ก.พ. 67 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นร่างกฎหมาย PRTR ที่ประชาชนร่วมลงชื่อ 12,165 รายชื่อ ที่รัฐสภา
● 20 ก.พ. 67 คลิปนักเรียนโรงเรียน จ.ลพบุรี หลายร้อยคนวิ่งหนีอลหม่าน หลังควันไฟจากการเผาอ้อยปกคลุมทั่วบริเวณ กลายเป็นไวรัลถูกพูดถึงเชื่อมโยงถึงมาตรการแก้ปัญหาและเร่งเดินหน้า พ.ร.บ
● 31 พ.ค. 67 จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธาน กมธ.อากาศสะอาดฯ ย้ำ รับฟังทุกฝ่าย พร้อมแจงข้อกังวลเครือข่ายสหพันธ์แรงงาน หวั่น กลุ่มทุนแทรกแซง คัดค้านตั้ง “กองทุนอากาศสะอาด”
● 5 ก.ค. 67 กมธ.อากาศสะอาดฯ ประชุมครั้งที่ 22 มีการเพิ่มส่วนที่ 2 หน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการอากาศสะอาด โดยระบุหน้าที่ใน มาตรา 9 ให้รัฐเคารพ ปกป้อง ทำให้สิทธิในอากาศสะอาดเกิดขึ้นจริง
● 14 ส.ค. 67 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ ถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ชี้ ควรกระจายอำนาจและงบประมาณให้อำนาจท้องถิ่น
● ม.ค. 67- ต.ค. 67 กมธ.อากาศสะอาดฯ และอนุ กมธ.ฯ มีประชุมรวม 114 ครั้ง เพื่อแปรญัตติและปรับปรุงเนื้อหา ● 30 ต.ค. 67 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....รายงานความคืบหน้าและขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย
● 11 พ.ย. 67 กมธ.อากาศสะอาดฯ ประชุมครั้งที่ 40 พิจารณาหมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด
คาดว่า
● กลางเดือนธันวาคม 2567 เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ● ปลายเดือนธันวาคม 2567 เสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ● ปลายปี 2568 หากไม่มีการแก้ไขร่างเพิ่ม จะนำได้ทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้กฎหมาย
https://www.thairath.co.th/news/local/2825222
คาดว่า
● กลางเดือนธันวาคม 2567 เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ● ปลายเดือนธันวาคม 2567 เสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ● ปลายปี 2568 หากไม่มีการแก้ไขร่างเพิ่ม จะนำได้ทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้กฎหมาย
https://www.thairath.co.th/news/local/2825222