วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2567
หลายหลากความคิด ควรรวม 112 ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
iLaw
11h ·
ข้อถกเถียงสำคัญในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ จะนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาใดบ้าง และจะนิรโทษกรรมให้กับคดีในข้อหาอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นที่ความเห็นยังแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คือ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำลังมีคดีความดำเนินอยู่กว่า 300 คดี และเป็นข้อหาที่ทำให้คนติดคุกเป็นจำนวนมาก โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่นิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112
ขณะที่ในช่วง 20 ปีมานี้ คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีและต้องถูกคุมขังด้วยมาตรานี้ก็เป็นผู้สนับสนุน สส. และคนทำงานในพรรคเพื่อไทยเอง พรรคแกนนำรัฐบาลจึงอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่เร่งรัดที่จะดำเนินการใดๆ อย่างจริงจัง
ในระหว่างที่ยังมีความเห็นแตกต่าง ความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ในแวดวงการเมืองหลายคนมองว่า คดีความจากความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ส่วนมากเป็นความผิดตามมาตรา 112 รวมไปถึงปัญหาของการใช้มาตรา 112 ที่ถูกมองว่านำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง และบางส่วนมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยความสุจริตใจไม่ใช่เรื่องที่ผิดในประเทศประชาธิปไตย https://www.ilaw.or.th/articles/48192
.
วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วีระได้ให้ความเห็นไว้ในรายการ “101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย” ว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 หลายคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ถูกเหมารวม ตีความให้เข้าข่าย อยู่ในชั้นตำรวจตั้งข้อหา เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
“ในความเห็นผม ผมก็เห็นด้วยนะว่าต้องเสนอ (นิรโทษกรรมแบบรวม 112) เพราะว่าทางฝ่ายนั้นยังกล้าเสนอนิรโทษกรรม แล้วทางฝ่ายประชาชนจะเสนอให้นิรโทษให้คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 ก็เสนอเข้าไปได้นี่ครับ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร ฝ่ายที่เขาจะเสนอให้นิรโทษพวกที่ทุจริต เค้ายังเสนอเข้าได้เลยครับ… “
https://www.youtube.com/live/2ofbLowGELA?si=Kqe5wyL2G-AQhpJQ
.
เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
เหวง กล่าวผ่านรายการ ”101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย“ เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รุ่งเรือง แต่กฎหมายดูหมิ่นกษัตริย์ในสมัยนั้นมีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 3 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีโทษสูงสุด 7 ปี และในสมัยปรีดี พนมยงค์ หากการกระทำนั้นทำไปเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็จะยกความผิด ส่วนกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดโทษขั้นสูงสุด 15 ปีนั้น เพิ่งมาจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจในสมัย 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสมัยที่เกลียดและใส่ร้ายคนเห็นต่างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงปี 2563 ฝ่ายขวาจัดก็ใช้มาตรานี้อย่างจ้าละหวั่น เพราะสามารถฟ้องโดยผู้ใดก็ได้
“น้องๆ หรือลูกหลานไม่เห็นมีใครบอกว่าจะเปลี่ยนระบอบ ไม่เห็นมีใครบอกว่าต้องการสร้างระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังเป็นประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกมิได้ แล้วทําไมคุณไปเกลียดชังพวกเขาเข้ากระดูกดํา”
“ถ้าคิดอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ ก็ควรนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย แต่ผมดูแล้วความหวังริบหรี่เต็มแก่ แต่ถ้าไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ความคุกรุ่นทางการเมืองก็จะไม่จบ กรุณาอย่าก่อกรณี 6 ตุลา ซ้ำเดิมอีกเลย”
https://www.the101.world/amnesty-bill-policy-forum/
.
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน อดีตทนายความคดีมาตรา 112 หลายคดี
ศศินันท์กล่าวผ่านรายการ ”101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย“ ว่า หากกระบวนการนิรโทษกรรมตัดความผิดมาตรา 112 ออกไป ก็เหมือนกับทิ้งการชุมนุมปี 63 ไปเกือบ 80-90 % เพราะว่าคดีตอนปี 2563 เป็นกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องจากคดีมาตรา 112
”ถ้าคุณปัด 112 ทิ้ง มันคือการที่เราปัดคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นช่วงเวลาทางการเมืองช่วงหนึ่งคือหลังปี 63 ทิ้งไปเยอะมากเลยนะคะ เพราะ 112 มันจะไปแทรกอยู่แทบทุกคดีที่ทางตำรวจฟ้องมาเลย เพราะฉะนั้นแจมมองว่า ถ้าเราจะต้องการนิรโทษกรรมเพื่อคลายความขัดแย้งของสังคมจริงๆ เพื่อเป็นทางออกจริงๆ เนี่ย ถ้าคุณจะนิรโทษกรรมแค่คนบางคนกลุ่ม แล้วทิ้งคนอีกกลุ่ม แจมว่ายังไงมันก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว”
https://www.youtube.com/live/2ofbLowGELA?si=Kqe5wyL2G-AQhpJQ
.
อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
อมร กล่าวไว้ในเสวนานิรโทษกรรมว่า เขาค่อนข้างเห็นด้วยว่าการที่จะข้ามพ้นความขัดแย้งแล้วให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้กฎหมายนิรโทษกรรมมีความจำเป็นและเห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคก้าวไกลที่จะให้มีคณะกรรมการมาคัดกรองว่าจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ แล้วเรื่องที่แกนนำจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ก็จะได้ถกเถียงกัน เพราะการฟันธงว่าจะให้นิรโทษกรรมใครบ้างก็จะเกิดจะเป็นปลายปิดแล้วเกิดปัญหาตามมา
“…แต่ในวันนี้ผมก็เห็นว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาร่วมของสังคมที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหา ถ้าไม่คลี่คลายเยาวชนลูกหลานเราก็จะติดกับวังวนของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นแนวคิดผมสนับสนุนว่าก่อนที่จะมีเนื้อหาก็มีกรรมการมานั่งคุยกัน แต่ปลายทางคือต้องปลดล็อกทางสังคมเพื่อที่จะเริ่มเดินหน้า”
https://prachatai.com/journal/2023/11/106966
.
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
ณัฐวุฒิ ให้ความเห็นไว้ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอว่า “…ผมเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เพราะหากนิรโทษให้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย แต่คงเหลือผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยไว้ ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวเยาวชน สิ่งที่จะเกิดคือคู่เผชิญหน้าเดียวในสังคมในการเมือง คือ คนรุ่นใหม่กับประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว และขณะนี้แต่ละคนที่โดนมา 20-30 คดี บางคนเกิน 50 คดี ประสบการณ์ผมสู้มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันนี้คดีเก่ายังสู้ไม่จบและไม่รู้ไปจบเมื่อไร เด็กๆ วันนี้ที่โดน 40-50 คดีอาจจะต้องสู้คดีตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ ยี่สิบกลางๆ จนถึงอายุ 60 ปี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซ้ำไปเรื่อยๆ ผมว่าแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครฝ่ายไหนหรอก มิสู้ว่าให้นิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ด้วย แล้วให้เริ่มต้นกันใหม่”
https://www.youtube.com/watch?v=RNmiYBURx34
.
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.มุนินทร์ ให้ความเห็นไว้ในงานเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน: หนทางสู่ความปรองดอง หรือ ปมความขัดแย้งครั้งใหม่ว่า “โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ค่อนข้างจะมีปัญหา มีคำถามมีข้อสงสัยเยอะมาก ต้องบอกอย่างงี้ว่าในความเห็นของผมในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ปี ’49 มา มันมีกระบวนการยุติธรรมอยู่สองส่วน ซึ่งดูเหมือนกับว่ามันกลายเป็นสภาวะยกเว้นในกระบวนการยุติธรรมหรือระบบกฎหมายของไทยก็คือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในช่วงเวลาที่มันมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายฉุกเฉิน คดีเหล่านี้พอขึ้นไปสู่ศาลแล้วมันจะมีรูปแบบหรือกระบวนพิจารณาที่ค่อนข้างจะแปลกและก็ผิดปกติ … แต่ว่าพอเป็นคดี 112 มันมักจะมีความไม่ปกติในเกือบทุกกระบวนการของกฎหมาย มันสามารถมีคนหยิบยกคำถามขึ้นมาได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการจับกุม การให้ประกันตัว การสืบพยานในศาล การตีความกฎหมายกว้างแคบแค่ไหน”
“แม้กระทั่งบางคดี 112 อาจจะมีเรื่องที่มันเกินเลยไปบ้าง แต่ถ้าเมื่อพิจารณาถึงบริบทในภาพรวมทั้งหมด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นแล้วมันก็เข้าใจได้ว่าเราควรจะให้อภัยกับการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งแยกว่าเฮ้ยมันเกินไปมากเกินไปแค่ไหน”
https://www.ilaw.or.th/articles/18495?swcfpc=1
.
สิรภพ อัตโตหิ ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง
สิรภพ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า “ที่ผ่านมาก็โดนคดีกันแบบไม่ชอบธรรมกันเยอะ ตั้งแต่ ม.112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าเกิดเอา wave 2563 เป็นต้นมา เราก็จะเห็นว่า การใช้กฎหมายมันก็โฟกัสที่ผู้ชุมนุมเป็นหลัก ถ้ามันได้รับการนิรโทษกรรม มันก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แล้วก็สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันควรจะไปถึงด้วยก็คือ มาตรา 112 เพราะว่าเราก็เห็นว่าจริงๆ แล้ว 112 ที่โดนกัน หนึ่งคือโทษร้ายแรง มันยังมีคำถามอยู่มากมายที่เกี่ยวกับกระบวนการฟ้อง กระบวนการการดำเนินคดี โทษต่างๆ อะไรอย่างนี้ การให้ประกันตัว และมันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเยอะ ในการแบบที่ใครจะฟ้องใส่ใครก็ได้อะไรอย่างนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า มันก็ควรจะถูกรวมอยู่ในการนิรโทษกรรม“
https://www.youtube.com/watch?v=qz3uJYYN6LI
.
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทนายความคดีมาตรา 112 หลายคดี
กฤษฎางค์ มองว่า ทัศนคติที่เห็นว่าหากให้นิรโทษกรรมแล้วก็จะไปทำผิดซ้ำอีกนั้น ไม่มีเหตุผล เพราะการนิรโทษกรรมเป็นการยกโทษให้กัน เพื่อให้สังคมสามัคคีมากขึ้น ในอดีตนักศึกษาในธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายมกุฎราชกุมาร ซึ่งถ้าเป็นจริงก็หนักหนาสาหัสกว่าคดีในปัจจุบัน แล้วทำไมถึงยังนิรโทษกรรมให้กันได้โดยที่ไม่กลัวว่าเขาจะกลับไปทำความผิดอีก แล้วคนที่ได้รับนิรโทษกรรมก็อยู่ในสภา หรือในคณะรัฐมนตรี
“การนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 มันเป็นคนละส่วนกัน ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีเมตตาอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าการแย่งกันแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ให้รวมคดีในมาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย”
https://www.ilaw.or.th/articles/47113?swcfpc=1
.
ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.เข็มทอง กล่าวในงานเสวนา “จับตานิรโทษกรรม ยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง” ว่า ในระยะยาว หากไม่ได้มีการวม ม.112 ไว้ในการนิรโทษกรรม ผู้คนก็จะเริ่มสูญเสียศรัทธาในกระบวนการประชาธิปไตยในระบบตัวแทน และมองว่านักการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ได้ คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน และมองว่านักการเมืองไทยคือปัญหา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กลุ่มพันธมิตร สามารถต่อต้านรัฐบาลได้โดยที่มีอำนาจข้าราชการประจำหนุนหลัง ในขณะที่ม็อบปัจจุบันไม่มีเส้นสาย เข็มทองจึงให้คำนิยามถึงสภาวะนี้อย่างติดตลกว่า หากไม่มีการรวม 112 ไว้ในการนิรโทษกรรมก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์สลิ่มที่น่าสงสารที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“คือผมกังวลเรื่องนี้นะ เพราะว่าเรื่องการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งคือคนมันเริ่มรู้สึกว่า กระบวนการประชาธิปไตยมันไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง นิรโทษก็นิรโทษแบบหลอก ๆ แบบราชการ คือติดป้าย ยิงพลุหนึ่งทีว่านิรโทษ แต่ไม่รวม 112 เพราะงั้นวิธีเดียวที่จะรอดจากตรงนี้ ให้ประเทศรอดจริงๆ คือคุณต้องทำในสิ่งที่คนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ คือนิรโทษ 112 ให้ดู อันนี้คือมันจะเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกรอบเลย แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยคุยได้ ยินดีที่จะต่อรอง ยินดีที่จะให้อภัย ยินดีที่จะเปลี่ยนทิศทาง ทำอะไรที่เป็นการปฏิรูป คือถ้าเป็นแบบนันมันก็จะเป็นอีกอย่างนึงเลย“
https://www.youtube.com/live/Ao5eq-BToyg?si=Y1gYjsI0dde6-mCD
.
วรชัย เหมมะ อดีตสส. พรรคเพื่อไทยผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในปี 2556 อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
วรชัย กล่าวในรายการ นิรโทษกรรมทางออกประเทศไทย? ทางช่อง Top News ว่า “…112 ต้องมีนิรโทษกรรมด้วย เราจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา ยุคไหนที่มีคดีมากที่สุด แล้วคนที่มีความคิดต่างกับรัฐบาลยุคนั้น ผิดนิดเดียวก็โดน 112 แล้ว เพราะง่าย ฐานความผิดอะไรบ้าง เข้าข่ายอะไรบ้าง เอาเลย 112 เพราะฉะนั้นคนเลยโดนคดีนี้เยอะ 112 อะ มันไม่เป็นธรรมเลย เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นอย่างนี้ ผมว่าถ้าไปพิจารณาแต่ละคดี แต่ละราย แต่ละฐานความผิด มันยาวไหม ความต้องการของเรา คือต้องการให้ประเทศสงบใช่ไหม เดินหน้าได้ใช่ไหม เอากันให้เป็นให้ตาย ผลที่สุดบ้านเมืองก็แย่อยู่อย่างนี้ นิรโทษกรรมเรื่องมูลเหตุแรงจูงใจ ผมว่ามันมาจากความคิดที่ต่าง เพราะฉะนั้นเนี่ย ต้องทำให้จบทีเดียว ถ้าไม่จบทีเดียวนะครับ มันก็ยาวไปอีก”
https://www.youtube.com/live/8QFF4U0rqX0?si=XqHB49_3DtlTR30E
https://www.facebook.com/photo?fbid=977635891076697&set=a.625664036273886