21/11/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
19 พ.ย. 2567 ครบรอบ 4 ปี หลังการกลับมาบังคับใช้ กฎหมายอาญา มาตรา 112 จากอดีตสู่ปัจจุบันชวนทบทวนผลกระทบที่ผ่านมา ภายในงาน “4 ปี ใต้เงา ม.112 (Under Section 112)” โดยมีการจัดกิจกรรมพูดคุยในประเด็นจากวงเสวนา “นิรโทษกรรม 112 เอายังไงต่อ?” ณ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
19 พ.ย. 2567 ครบรอบ 4 ปี หลังการกลับมาบังคับใช้ กฎหมายอาญา มาตรา 112 จากอดีตสู่ปัจจุบันชวนทบทวนผลกระทบที่ผ่านมา ภายในงาน “4 ปี ใต้เงา ม.112 (Under Section 112)” โดยมีการจัดกิจกรรมพูดคุยในประเด็นจากวงเสวนา “นิรโทษกรรม 112 เอายังไงต่อ?” ณ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่ใช่วาทกรรม คือความจำเป็นที่ต้องทำ
พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนพูดคุยในประเด็นที่มักมีข้อโต้แย้งว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นเพียงวาทกรรม โดยชี้ให้เห็นว่า จะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ พิจารณาจากมูลเหตุจูงใจของการกระทำ ว่ามีมูลเหตุมาจากการเมือง หรือมีการดำเนินคดี เพราะสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ เมื่อพูดถึงความเป็นคดีการเมืองแล้ว คดีมาตรา 112 ถือว่ามีความเด่นชัดมากที่สุด เมื่อเทียบกับความผิดฐานอื่น ๆ การบังคับใช้มาตรา 112 มีความผันผวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ยกตัวอย่าง คดีมาตรา 112 ในช่วงแรก เช่น คดีคุณดา ตอร์ปิโด ที่มีการลงโทษจำคุก 6 ปี ต่อมาหลังการรัฐประหารปี 2557 คดีมาตรา 112 ถูกประกาศให้เป็นคดีที่พลเรือนต้องขึ้นพิจารณาที่ศาลทหาร และเกิดการลงโทษจำคุกเฉลี่ยกระทงละ 8-10 ปี และต่อมาช่วงปี 2561-2563 การบังคับใช้มาตรา 112 ก็หยุดลงชะงักลงไป เช่น คดีคุณทอม ดันดี ศาลยกฟ้อง โดยที่จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
พูนสุข กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวไม่ได้เริ่มต้นในปี 2563 ที่แม้จะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา แต่สิ่งที่น่ากลัวเริ่มตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้แบบกลับหน้ามือเป็นหลังมือ มันแสดงให้เห็นว่า มีอำนาจที่เหนือกว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ก่อนเพิ่มเติมถึงกรณีการประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา นัยยะก็คือ ใช้มาตรา 112 กลับมา โดยจากสถิติของศูนย์ทนายฯ 4 ปี ที่ผ่านมา มีจำนวนคดีอย่างน้อย 307 คดีแล้ว
พูนสุข อธิบายในประเด็นที่มีการโต้แย้งว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีอาญา เกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นคดีอาญาร้ายแรง โดยระบุว่า ทุกคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมต่างเป็นคดีอาญาทั้งสิ้น ส่วนเรื่องความมั่นคง เมื่อเทียบกับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงอื่น ๆ เช่น มาตรา 113 ล้มล้างการปกครอง หรือ มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าเข้าข่าย มาตรา 113 ซึ่งมีโทษสูงสุดที่การประหารชีวิต แต่ก็นิรโทษกรรมตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ดังนั้นการบอกว่าเป็นคดีความมั่นคงและเป็นคดีอาญาร้ายแรงนิรโทษกรรมไม่ได้ จึงไม่เป็นความจริง แต่หากพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของโทษคดีมาตรา 112 ในทางสากล ถือว่าเป็นโทษที่มีความรุนแรงเกินกว่าการกระทำ และไม่ได้สัดส่วน
ในประเด็นถัดมา หากนิรโทษกรรมจะสร้างวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด กลับมากระทำผิดซ้ำหรือไม่ พูนสุข มีความเห็นว่า ตั้งแต่เริ่ม คดีมาตรา 112 ถือเป็นคดีที่ไม่ควรมีการถูกดำเนินคดีมากไปกว่าคดีประเภทอื่น ๆ เสียด้วยซ้ำ ด้วยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีโทษสูงเกินไปไม่ได้สัดส่วน ทั้งยังมีความแปลกประหลาดในระหว่างการดำเนินคดี ดังนั้นหากโต้แย้งเรื่องการกระทำผิดซ้ำ ก็ต้องดูอีกด้านว่า การนิรโทษกรรมมาตรา 113 หรือมาตรา 116 ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่มีการกระทำผิดซ้ำอีก
พูนสุข ได้ชวนพูดคุยในประเด็น การดำเนินคดีมาตรา 112 มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อทุกคน ควรเป็นเรื่องที่แม้จะถูกดำเนินคดี แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็ควรเป็นสิ่งที่พูดคุยกล่าวถึงได้ เพื่อเป็นการนำความจริงมาสู่สังคม
“กลไกของกฎหมายในปัจจุบันไม่มีช่องว่างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ โอกาสที่จะมีคนกระทำผิดซ้ำมีหรือไม่ ก็อาจจะมี เพราะปัญหายังไม่ถูกแก้ไข ซึ่งเราเสนอเรื่องนี้เพื่อให้มีการคลี่คลายบรรยากาศของความขัดแย้งที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ และเพื่อสร้างโอกาสในการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไปได้จริง ๆ ว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไรภายใต้สังคมนี้ ภายใต้สถานะอำนาจของบุคคลที่ยังไม่เท่ากัน ณ ตอนนี้” พูนสุข ระบุ
สำหรับการนิรโทษกรรมควรจะเป็นอย่างไรต่อไป พูนสุข มีความเห็นว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ประชาชนไม่ได้แพ้ คะแนนเสียงฝั่งประชาธิปไตยเราชนะ มีคนฝันถึงสังคมที่ดีกว่าเพิ่มขึ้น นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ปัญหาและความขัดแย้งไม่สามารถจบได้โดยการใช้อำนาจกดปราบ หรือซุกปัญหาไว้ใต้พรม การกลับมาคุยกัน คือสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นทางออกที่ดีที่สุด ปัญหานิรโทษกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องทำ ถ้ามองในระยะยาวการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จะเป็นประโยชน์มากกว่า
พูนสุขทิ้งท้ายเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนิรโทษกรรม โดยเมื่อคำนึงถึงประโยชน์สังคม และ ประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ต้องทำ
.
ในวันที่กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางอำนาจ
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยายาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) พูดคุยถึงบริบทของมาตรา 112 ที่ถูกใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองในการต่อรองทางอำนาจกับประชาชนหรือไม่ โดยได้หยิบยกเอาประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ The Prince โดยผู้เขียน Machiavelli (นักปรัชญาชาวอิตาเลียน) เกี่ยวกับการปกครองอย่างไรของผู้ปกครองเพื่อให้ปกครองประชาชนได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองต้องเข้าใจประชาชนของเขา
ย้อนกลับไปในเหตุการณ์เมื่อครั้ง 14 ตุลา 2516 ที่มีการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนนำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา จากนักศึกษาเพียงไม่กี่คน แต่เพราะความเข้าใจว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร ผนวกกับปัญหาที่สะสมในสังคมขณะนั้น ทำให้สิ่งที่นิสิตนักศึกษาพูด “จี้จุด” และสามารถเรียกผู้คนออกมาได้อย่างมหาศาล ซึ่งฝั่งผู้ปกครองไม่ได้นิ่งเฉย จนมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อันเป็นการหยุดขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างชะงัก
ต่อมาถึงช่วงการรัฐประหารของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ปี 2534) ที่ขบวนการนักศึกษาซบเซาลง สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป จนมาสู่หลังการรัฐประหารปี 2557 ที่นักศึกษากลับมาเคลื่อนไหว ช่วงปี 2563 เป็นช่วงที่ ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่สวยงามมาก” การเข้าถึงข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่อาจควบคุม หรือเลือกใช้เหตุการณ์เช่นเดียวกับ 6 ตุลา ได้อีก จึงเลือกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแทน และดูเหมือนว่าเครื่องมือชิ้นนี้จะได้ผลในที่สุด
ลัดดาวัลย์ มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 ที่มีการลุกฮือของนักศึกษา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผนวกกับการกระตุ้นของสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลิกประวัติศาสตร์การเลือกตั้งปี 2566 ลัดดาวัลย์เห็นว่าครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สะอาดที่สุด จนผู้มีอำนาจตระหนักได้ว่า อำนาจกำลังจะเปลี่ยนมือ และมีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือจนมาสู่การยุบพรรคการเมืองในที่สุด
ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงให้ข้อสังเกตถึงการมองบริบทสังคมที่กว้างขึ้น โดยการเคลื่อนไหวในประเด็นที่จะเข้าถึงใจประชาชนได้ พร้อมทั้งคำนึงถึงองค์ประกอบด้านอื่น ๆ ประกอบกัน
.
แม้การนิรโทษกรรมไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่เป็นสิ่งต้องทำ
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปรียบเทียบกระบวนยุติธรรมเสมือนตะแกรงที่ผุกร่อน เกรอะกรัง คาดหวังสิ่งใดไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาในเรื่องโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม
ในความคิดเห็นของ กฤษฎางค์ การนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่อาจสำเร็จได้ภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่า พรรคการเมืองต่างไม่ได้รับผลประโยชน์อันใดจากการนิรโทษกรรม จึงไม่มีเหตุผลให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งแตกต่างกันเมื่อเทียบกับการนิรโทษกรรมในอดีตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของสถานการณ์การเมืองขณะนั้น โดยแม้การนิรโทษกรรมอาจไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่
การที่จะทำให้เกิดการนิรโทษกรรมได้ ต้องเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง ไม่ใช่เพียงข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อรอง กฤษฎางค์จึงเสนอแนวทางว่า อาจเป็นการลงชื่อประชาชนเพื่อยื่นกฎหมาย กระบวนการอาจไม่นำมาซึ่งชัยชนะ แต่ประชาชนจะมีโอกาสได้พูดคุยในประเด็นต่าง ๆ
.
.
เชื่อว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว อยากให้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา
นิราภร อ่อนขาว ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เล่าถึงความรู้สึกของตนว่า รู้สึกหมดหวังกับการนิรโทษกรรม แม้ตนควรจะเป็นผู้ที่มีความหวังต่อการนิรโทษกรรมมากที่สุดก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ความหวังริบหรี่ลงเรื่อย ๆ เหมือนเดินในอุโมงค์ที่ทั้งยาวและมืดมิด แม้ยังพอมองเห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ แต่ต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน แรงกายแรงใจ สิ่งที่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ คือ ทุก ๆ คนที่ยังอยู่ด้วยกัน คนที่เชื่อและฝันถึงสังคมเดียวกัน พร้อมทั้งเชื่อว่า กำลังใจ และการช่วยเหลือกัน คือ สิ่งที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยยังเดินต่อไปได้
นิราภร มองว่า สังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถพูดเรื่องสถาบันพระมหาษัตริย์ เรื่องการยกเลิก 112 ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด อย่างที่สังคมไทยไม่เคยมีมาก่อน เหลือที่ว่าเราจะต่อกรกับผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่ถือกฎหมายตอนนี้อย่างไร แต่เราเชื่อว่าสักวันการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สุดท้าย นิราภร ได้กล่าวว่า ในประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกัน อยากให้มีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เหนือสิ่งอื่นใดในการถกเถียงอยากให้คำนึงถึงว่า ในฐานะที่ไทยได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ควรรับรองการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และมองว่าการดำเนินดคีโดยใช้มาตรา 112 เป็นการขัดต่อหลักการเรื่องเสรีภาพเป็นอย่างมาก และอยากให้ผู้มีอำนาจคำนึงถึงหนังสือร้องเรียงจากทาง UN เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกให้มากขึ้น
.
https://tlhr2014.com/archives/71188