iLaw was live.
9 hours ao
·
กลไกสหประชาชาติ จะเป็นช่องทางสู่ความยุติธรรมได้หรือไม่?
กลไกระหว่างประเทศ โดยใช้ช่องทางการส่งจดหมายไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ จะเป็นช่องทางสู่ความยุติธรรมได้หรือไม่?
ร่วมฟังความเห็นจาก
๐ อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรม-นักศึกษา
๐ อัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
๐ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw
ดำเนินรายการโดย ชยพล ดโนทัย iLaw
https://www.facebook.com/iLawClub/videos/1252204602491410
.....
iLaw
6 hours ago
·
กลไกพิเศษ UN อีกหนึ่งช่องทางส่งเรื่องสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
ภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ต้องเข้าเรือนจำเพิ่มขึ้นในทุกๆ เดือนจากข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ กลไกภายในประเทศอย่างศาลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่า “บังคับใช้” กฎหมายที่เขียนอยู่ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรที่พยายามเสนอแก้ไขกฎหมายก็ถูกสั่งห้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญ กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศยังเป็นที่พึ่งพาของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทยได้อยู่บ้างหรือไม่
.
19 ตุลาคม 2567 iLaw จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “กลไกสหประชาชาติ เป็นช่องทางสู่ความยุติธรรมได้หรือไม่” ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นกลไกทางการส่งจดหมายไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) จะยังคงมีประโยชน์ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือไม่ คนไทยจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์กลไกเหล่านี้ได้อย่างไร กับอันนา อันนานนท์ นักกิจกรรม-นักศึกษา อัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ดำเนินรายการโดย ชยพล ดโนทัย iLaw
.
ประชาชนพบสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้กลไกพิเศษ UN ส่งเรื่องได้
.
อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Procedures) ที่ดำเนินงานโดยผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs) มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีวิธีการทำงานหลักๆ สองรูปแบบ คือ
.
1) ติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย (Communications) เช่น ส่งหนังสือมายังกระทรวงต่างประเทศเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม
.
2) ตรวจเยี่ยม (Country Visit) เพื่อศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้
.
โดยประชาชนทั่วไปสามารถรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกพิเศษ เพื่อให้ทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ สื่อสารกับรัฐบาลไทยได้ โดยมีขั้นตอน คือ
.
1) เขียนคำร้อง บรรยายสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ลำดับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในเว็บไซต์ https://spsubmission.ohchr.org/ มีแบบสำหรับคำร้องไว้ว่าต้องระบุข้อมูลใดบ้าง
.
2) ส่งคำร้อง สามารถส่งได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://spsubmission.ohchr.org/
.
3) หลังจากส่งคำร้องไปแล้ว ก็จะมีการเผยแพร่เอกสาร Communications
.
เมื่อทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้รับรายงานแล้ว ก็อาจจะทำหนังสือเพื่อสอบถามมายังรัฐบาลไทยเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม
.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw เสริมว่า สหประชาชาติ (United Nations : UN) ไม่ได้มีอำนาจในการออกคำสั่งให้ประเทศใดประเทศหนึ่งปฏิบัติตามได้ ไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศได้ แต่กลไกของสหประชาชาติเป็นอีกช่องทางหนึ่งส่งเรื่องรายงานการละเมิดสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เมื่อผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติทำหนังสือสอบถามมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็จะสอบถามข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้หน่วยงานรัฐระมัดระวังมากขึ้น
.
ยิ่งชีพยกหนึ่งตัวอย่างของกรณีที่ใช้กลไกนี้ ปี 2557 มีนักโทษคดีมาตรา 112 คือ สิรภพ กรณ์อรุษ ถูกจับขึ้นศาลทหารและปฏิเสธไม่รับสารภาพมาตลอด จนทาง UN ส่งจดหมายมาสอบถามรัฐบาลไทยว่าการคุมขังกรณีนี้ถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทางเจ้าหน้าที่ศาลทหารโทรมาแจ้งทนายความให้มายื่นประกัน และจากนั้นสิรภพก็ได้รับการประกันตัวทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยยื่นไปแต่ไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่กลไกพิเศษของ UN แก้ไขปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้
.
อัครชัย ยกข้อดีของกระบวนการนี้ คือ หนึ่ง กระตุ้นให้รัฐบาลใส่ใจ ไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน สอง ทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสามารถทำข้อเสนอแนะให้เลิกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และสาม เป็นการบันทึกว่ามีสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น
.
จากข้อมูลสถิติ นับแต่ช่วงการรัฐประหาร 2549 จนถึง 1 มกราคม 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติส่งหนังสือกลับมาถามรัฐบาลไทยทั้งหมด 111 ครั้ง ในจำนวนดังกล่าวมี 104 ครั้งที่เป็นประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก หรือคิดเป็น 93.7% โดยในจำนวนดังกล่าว มี 23 จากทั้งหมด 111 เรื่อง หรือคิดเป็น 20.7% ที่มีเนื้อหาสอบถามมายังรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
เสียงจากนักกิจกรรมที่เคยใช้กลไกพิเศษ UN
.
อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและนักศึกษา ซึ่งเคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการถูกจับกุมขณะนั่งรับประทานอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันนาเล่าในฐานะผู้เคยใช้กลไกพิเศษนี้ว่า ตอนที่ตนใช้กลไกพิเศษนี้ส่งคำร้องไป ยังเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี รู้สึกว่าการใช้กลไกส่งคำร้องใช้ค่อนข้างยาก แต่หลังจากส่งไปแล้วและได้รับการตอบรับ ก็รู้สึกมีความหวังขึ้นมานิดหนึ่งและอยากเห็นคำตอบจากทางรัฐบาลไทย เพราะก่อนหน้านั้น เวลาไปยื่นหนังสือทวงถามถึงหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตนถูกละเมิดสิทธิ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คำตอบที่ได้รับมาไม่ได้อิงอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนเลย
.
สำหรับคำตอบที่ได้รับจากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ อันนารู้สึกว่าคำตอบที่ได้รับค่อนข้างโอเคและได้เห็นการ take action และหลังจากนั้นก็ได้รับการติดต่อจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เคยไปยื่นหนังสือไว้ ทั้งๆ ที่ส่งไปนานมากจนลืมไปแล้วว่าเคยยื่นหนังสือ ในแง่ดีคือเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐพยายามตอบกลับโดยนำหลักการสิทธิมนุษยชนเข้ามาใส่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตอบตามที่ทางสหประชาชนถามโดยตรง โดยทางหน่วยงานรัฐไทย ตอบกลับไปว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทำการไปด้วยความหวังดี (good intention) จนทางผู้รายงานพิเศษออกแถลงว่าน่าเสียดายที่รัฐบาลไทยตอบไม่ตรงคำถาม
.
.
.
https://www.ilaw.or.th/articles/46748