ไม่น้อยหน้า ‘ขาบันเทิง’ ต้องยกให้ทัพบกเค้า ต่างกับสมัยก่อนคงจำได้ ‘วิทยุยานเกราะ” ตัวแสบ ปลุกฆาตกรเพื่อบัลลังก์ได้เป็นร้อยเป็นพัน สมัยนี้ไม่มีแบบนั้น แต่ก็ยังออนแอร์เกือบ ๒๐๐ สถานี ส่วนมากขาดทุน ก็ยังตะบันทำกันอยู่ได้
หนึ่งในรายการเปิดเบิ่งภารกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ เด็ดสะระตี่ก็นี่ ททบ.๕ ถนัดบันเทิงด้านโทรทัศน์ทั้งอานาล็อกและดิจิตอล ทำกำไรได้ถึงปี ๒๕๖๐ “แต่หลังจากนั้น ก็ขาดทุนมาตลอด และไม่ทราบว่าขาดทุนเพราะอะไร”
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เสนอรายงาน พบ “ใช้คลื่นโทรทัศน์และวิทยุไม่คุ้มค่า หนี้มหาศาล บริหารก็ไม่โปร่งใส” เฉพาะทีวีดิจิตอลมีใบอนุญาตถึง ๒๐๐ ใบ “มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ที่มีหน้าที่ประกาศข่าวทางราชการถึงสองเท่าตัว”
พูดในรายการตามหาขุมทรัพย์กองทัพที่ มธ.ท่าพระจันทร์ สุภลักษณ์บอก ททบ. ๕ มีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่นคงแต่ไม่ตอบโจทย์ความมั่นคง เพราะ “ทำเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงแค่ ๘% ของรายการทั้งหมด” ซ้ำได้เรตติ้งสุดอัปลักษณ์
“ต่ำมากเป็นอันดับ ๑๙ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทั้งหมด และมีคนดูเฉลี่ยในช่วงเวลาหนึ่งแค่ ๘,๐๐๐ กว่าคน เข้าถึงคนดูได้ ๗ ล้านคน” จึงขาดทุนอยู่ทุกปีเฉลี่ยปีละ ๑๐๐ ล้านบาท ทั้งๆ ที่ได้รับค่าจ้างถ่ายทอดสัญญาน MUX ประมาณ ๘๒๒ ล้านบาท
“เรื่องนี้มีความผิดปกติมากมายหลายอย่างที่ผู้แทนทั้งจาก ททบ.๕ และกองทัพบกมาชี้แจงว่า ททบ.๕ เป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพบก แต่พอขอดูรายได้ของ ททบ.๕ จากกองทัพบก เขาก็บอกว่าดูไม่ได้เพราะไม่ได้รวมบัญชีกัน”
ปฏิเสธแบบตะหานง้ายง่ายอย่างนี้ ไม่ต้องชักแม่น้ำปิงวังยมน่านเหมือนตะลาการพ่องตัวดี ททบ.๕ ก่อตั้งเมื่อต้นปี ๔๐ “มีชื่อนายพลจากกองทัพบกถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่และยังมีนายพลคนหนึ่งที่มีชื่อเป็นตัวแทนถือหุ้นแทนกองทัพบก”
ถึงปี ๔๓-๔๔ มีรายงานการตรวจสอบบัญชี ก็ขาดทุนไปแล้ว ๑,๔๐๐ ล้านบาท พอเดือนพฤษภาคมปีนั้นเอง มีการตั้งบริษัท RTA entertainment มารับช่วงดำเนินการ ก็คือ ททบ.๕ นั่นละ แค่เปลี่ยนชื่อเป็นเอกชน ใช้ภาษาฝรั่ง โอนบัญชีและหนี้สินไปหมด
ททบ.๕ ก็ลอยตัวแต่ยังรับผลประโยชน์อยู่ (ไม่รับหนี้) ด้วยการให้อาร์ทีเอ “เช่าเวลาทำการตลาดต่อเนื่อง ๓๐ ปี ต่ออายุได้คราวละ ๑๐ ปี โดยไม่มีเงื่อนไข” ในเมื่ออึมครึมขนาดนี้จึงมีการยื่นเรื่องให้ ปปช.วินิจฉัย ปปช.ใช้เวลา ๑๙ ปี ตัดสินตีตกคำร้อง
เค้าเหนียวขนาดไหน เห็นไหม ย้อนกลับไปเรื่องคลื่นวิทยุทีเด็ดไม่ด้อยกว่ากัน เฉพาะที่กองบัญชาการทัพบกจัดทำเอง ๑๔ คลื่น เมื่อปี ๕๙ รายได้ ๗๐ ล้านบาท เดี๋ยวนี้สัก ๔ หรือ ๕ ล้านก็ดีถมไป แต่ขนาดนั้นก็ยังทำคุณแก่กองทัพ
เงินรายได้ที่ว่าเอาไปใช้จ่ายในหมวดดำเนินกิจการวิทยุ “กลับเป็นนำไปบริจาคให้สมาคมแม่บ้านและชมรมทหารอาวุโส ไปซื้อของขวัญอีก ๖ ล้านบาท มันจะทำให้สถานีวิทยุเจริญก้าวหน้าแบบไหนถ้าใช้จ่ายกันมากขนาดนี้” คนตรวจสอบก็ได้แต่ถอนใจ