วันจันทร์, ตุลาคม 28, 2567

รัฐไทยยังคงก้าวย่ำต่อไปอีกคดี ฟ้อง ๙ นักกิจกรรม ๓ จังหวัดใต้ ชวนแต่งกายอัตลักษณ์มลายู ข้อหาแรง ยุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ซ่องโจร

ขณะ ตากใบยังไม่หายร้อน แม้จะหมดอายุความ รัฐไทยยังคงก้าวย่ำต่อไปด้วยอีกคดีที่เอาเรื่องอัตลักษณ์สามจังหวัดใต้ มาเป็นความผิดข้อหา “ภัยคุกคามความมั่นคง” ที่ กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป้นธรรม เตือนระวังจะเป็น ล่าแม่มด

๒๙ ตุลาคมนี้จะมีนักกิจกรรมชาวใต้ ๙ คน โดนฟ้องด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา ๑๑๖ และต่อด้วยอั้งยี่ซ่องโจร มาตรา ๒๐๙ และ ๒๑๐ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๖๕ ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี” เมื่อบุคคลทั้งเก้าจัดงานขึ้น

เพื่อเป็นการแสดง อัตลักษณ์ชาวมลายู“โดยชวนให้คนเข้าร่วมแต่งชุดมลายู เพื่อชื่นชมในคุณลักษณะ ความเป็นชาติพันธุ์เชื้อสายมลายู ด้วยการแต่งกายและประกาศตัวว่า จะทำความดีเพื่อสังคมตามหลักการ” กัณวีร์บอกว่าประโยคนี้แหละ

“ผมพูดแค่นี้ ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยจะตีกลับอย่างไม่ได้ตรึกตรอง ถึงความสละสลวยของความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสาย เชื้อชาติ ศาสนา วิถีการดำรงชีวิต ภาษา ฯลฯ เพราะความเชื่อเรื่องนึงที่รู้สึกได้ คือความหวั่นไหวต่อเรื่องความหลากหลาย”

เขาชวนให้คิดนอกกรอบกันสักหน่อยว่า “ปัจจุบันเราก้าวข้ามมาอยู่ศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย และความเข้าใจในบริบทของความหลากหลายนั้นต่างหาก ที่จะสร้างความเป็นเอกภาพ และจะเป็นพื้นฐานของสันติภาพและการพัฒนา”

เขารับว่าคดีนี้มีความหมิ่นเหม่อยู่สองประเด็น หนึ่ง มีผู้ร่วมงานเอาธง บีอาร์เอ็นและธงปาเลสไตน์ไปโบกในงาน สอง มีการใช้ภาษา “นายู หรือมลายูท้องถิ่น ที่ทางหน่วยงาน (ความมั่นคง) แปลแล้วมันไปทางยุยง” มันจึงถูกตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม

ว่า “เจ้าหน้าที่เองมีความเข้าใจในภาษาอย่างลึกซึ้งหรือไม่ บางครั้งในแต่ละประโยคไม่สามารถแปลแบบตรงๆ ได้ เพราะเป้นประโยคที่มีการอุปมาอุปมัย อาทิคำว่า ‘Bangsa’ ถูกแปลว่า ‘ชาติ’ ซึ่งไม่ถูกทั้งหมด” เพราะ บังซาสามารถหมายถึงเชื้อชาติและชาติพันธุ์ได้

กัณวีร์เปรียบเทียบสองคดี ตากใบกับอัตลักษณ์มลายู ว่าเสมือนคดีของประชาชนต่อรัฐ กับคดีโดยรัฐต่อประชาชน เขาชี้ว่า “ข้อหาที่น่าเกลียด และความไม่เข้าใจในบริบทของการสร้างสันติภาพ...น่าจะนำความโกลาหลและบรรลัย มาสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ” ได้

(https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/LXxWwZiXe)