29 ต.ค. 2567
ไทยรัฐออนไลน์
ผ่านมา 4 วันแล้ว หลัง ‘คดีตากใบ’ เหตุการณ์ที่มีคนตายถึง 85 ศพ และพิการอีกนับ 10 คน หมดอายุความลงไป เหตุเพราะไม่มีจำเลยและผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมารายงานตัวเลยแม้แต่คนเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเหล่าจำเลยยศสูง อย่างอดีตแม่ทัพภาคที่ 4, อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5, อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ, อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และผู้ต้องหาอีก 8 คนที่ประกอบด้วยพลขับ และผู้ควบคุมขบวนรถขนย้ายผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้เกิดคนตายถึง 85 ศพ
ล่าสุด มีรายงานว่า วิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม อดีตพลขับ ที่ขับรถบรรทุกขนย้ายผู้ชุมนุมตากใบเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้กลับมาปฏิบัติราชการหลังหนีหายไปกว่า 10 วัน จนคดีหมดอายุความ โดยเจ้าตัวพักราชการไป
ในสายตาของ ฮารา ชินทาโร่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู รู้สึกเป็นเรื่องน่าอายและอดสู เพราะจำเลยและผู้ต้องหาเหล่านี้ คือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย รักษากฎหมาย ที่ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคคลทั่วไปในการธำรงความยุติธรรม
“แต่ความเป็นจริง กลายเป็นพวกเขาเองที่ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม หนีหาย และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติหลังคดีหมดอายุความ”
มุมมองของอาจารย์ฮารา สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องตลกร้ายของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่น้อย เมื่อเทียบกับการที่ชาวบ้านถูกต้องสงสัย ปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุม ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความว่องไวด้วยสารพัดยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ผู้เก่งกาจ ซึ่งตรงกันข้ามกับคดีตากใบโดยสิ้นเชิง
ไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงถึง อาจารย์ฮารา ในฐานะที่อ่านสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่มายาวนาน และในฐานะผู้แปลแถลงการณ์ภาษามลายูของขบวนการ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-BRN) เป็นภาษาไทย เพื่อประเมินท่าทีและสถานการณ์อันคุกรุ่นที่ทั้งประชาชนและผู้มีอำนาจรัฐต่างมีความกังวลที่ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามหลังจากนี้
ท่าที ‘บีอาร์เอ็น’ หลังคนผิดลอยนวล
อาจารย์ฮารา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่มีการสื่อสารจากบีอาร์เอ็นโดยตรง แต่เขาเชื่อว่า เป็นไปได้อย่างมากที่บีอาร์เอ็นจะสื่อสารและตอบโต้การกระทำของรัฐในคดีตากใบ ด้วยการใช้ความรุนแรง
“ผมขอเน้นย้ำความเป็นจริงที่ว่า บีอาร์เอ็นไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อการร้าย และการก่อการร้ายไม่ใช่เป้าหมายของเขาเหมือนกับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง แต่บางทีพวกเขาก็ต้องใช้ความรุนแรง นั่นเพราะการต่อสู้ในระบบถูกปฏิเสธอย่างชัดเจน”
เขาอธิบายว่า บีอาร์เอ็น เป็นองค์กรที่มักอ้างว่าต่อสู้เพื่อแก้ไขและรับมือกับความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่บีอาร์เอ็นพึงระมัดระวังมากที่สุด นั่นคือความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง
“ผมขอพูดตรงๆ ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีตากใบนี่แหละ จะผลักดันให้เกิดความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของบีอาร์เอ็น”
ในทางกลับกัน หากจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีตากใบ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรายงานตัวต่อศาล และต่อสู้ในระบบยุติธรรมดังที่ควรจะเป็น บีอาร์เอ็นก็จะไม่มีความชอบธรรมในการตอบโต้ด้วยความรุนแรง
ทว่า คดีตากใบจบลงด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เขาจึงอนุมานว่า บีอาร์เอ็นอาจอาศัยเหตุการณ์นี้ตอบโต้รัฐไทยที่ปฏิเสธความเดือดร้อนของประชาชน ที่ยากจะประเมินได้ถึงวิธีการ
“คดีนี้มีคนตายถึง 85 ศพ และมีคนพิการอีกหลายสิบคน มันไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ และเมื่อความเดือดร้อนทุกข์ทรมานของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยวิธีของเขา ถ้าผมเป็นบีอาร์เอ็น ผมก็รับไม่ได้ว่ะ” อาจารย์ฮาราตอบ
‘อำนาจนิยม’ รากเหง้าของความรุนแรง
การจะวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นกับตากใบ อาจารย์ฮารา มองว่า ควรวิเคราะห์ถึงบริบทต่างๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริบทของประเทศ และบริบทการต่อสู้ของคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ดังนี้
หนึ่ง - ประเทศไทยมีเหตุการณ์สังหารประชาชนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาทมิฬ, ตากใบ, ล้อมปราบเสื้อแดง ฯลฯ โศกนาฏกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง หากพิจารณาดีๆ เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนมีรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือความเป็นอำนาจนิยมของรัฐไทย
สอง - ในอดีต เราจะเห็นคนอย่างหะยีสุหลง, หะยีอามีน โต๊ะมีนา (ลูกชายหะยีสุหรง) อดุลย์ ณ สายบุรี (อดีต สส. นราธิวาส) คนเหล่านี้เคยเลือกต่อสู้ในระบบการเมืองปกติ เพื่อเรียกร้องให้ชาวมุสลิมมลายูสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามอย่างสันติวิธีและประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องลงเอยด้วยการถูกอุ้มหาย ติดคุก หลบหนี และจับปืนสู้กับรัฐไทย
“ในคดีตากใบ หลังศาลรับฟ้องเป็นคดีและออกหมายเรียกแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คนที่เป็นจำเลยหนีไป ไม่มีสักคนเลยที่มารายงานตัวที่ศาล ศาลจึงออกหมายจับแต่ก็ไม่เจอตัวสักคนเดียว”
“น่าสนใจนะ ทำไมจับไม่ได้สักคนเลย แล้วถ้าเทียบกับสถานการณ์ในพื้นที่ แม้แต่ผู้ต้องสงสัยที่ไม่แน่ใจว่าเป็นจำเลย เจ้าหน้าที่ยังหาตัวได้ ปิดล้อมตรวจค้นบ้านประชาชน ใช้วิธีการทุกอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จับได้ จับไวด้วย”
สำหรับเขา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยพยายามเรียกร้องให้ชาวบ้านต่อสู้ในระบบยุติธรรมไทย แต่พอถึงเวลา เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับหนีออกจากระบบไปหมด ทั้งที่พวกเขาควรที่จะมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป และควรให้ความเคารพกับกระบวนการยุติธรรมของชาติ
“กรณีนักกิจกรรมในพื้นที่เมื่อถูกเรียกตัว เขาก็ไปรายงานตัวเพื่อสู้ในระบบรัฐไทย ผมภูมิใจกับพวกเขานะ”
ยิง ตาย จ่าย มันไม่จบ
22,737 คือจำนวนเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
21,906 คือจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายทั้งหมด
14,274 คือจำนวนผู้บาดเจ็บ
7,632 คือจำนวนผู้เสียชีวิต
บทความ ชายแดนใต้/ปาตานี 2547-2564: ก้าวเข้าปีที่สิบเก้า สันติภาพจะเดินหน้าไปถึงไหนในปี 2565? โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ฉายภาพให้เห็นถึงแนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ที่แม้ช่วงหลัง ดูเหมือนข่าวและเหตุการณ์จะเบาบางลง ราวกับว่าปัญหาลดลงแล้ว แต่ในความเป็นจริง ปัญหาความรุนแรงก็ยังไม่หายไป เพียงแต่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันประทุอีกครั้ง
แม้สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงจะดูลดลง นับตั้งแต่ปี 2556 ที่เริ่มมีการพูดคุยพูดคุยสันติภาพ แต่น่าสนใจว่า เมื่อปี 2564 มีผู้บาดเจ็บล้มตายรวมทั้งสิ้น 303 ราย จำแนกออกเป็นบาดเจ็บ 190 ราย และเสียชีวิต 113 ราย เพิ่มขึ้นจากในปี 2563 ที่มีอยู่ 277 ราย ถึง 9%
นอกจากนี้ ความถี่ของเหตุการณ์ไม่สงบรายเดือน ตั้งแต่ปี 2560-2564 ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพพื้นที่และปัญหาเชิงนโยบายที่แก้ไม่ตก โดยเฉพาะเหตุการณ์หลัง Covid 19 รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับบีอาร์เอ็นได้ประกาศยุติการเคลื่อนไหวชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้ในปี 2563 เหตุการณ์ความไม่สงบจึงลดจำนวนลงมาก ทว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ยังดำเนินต่อไป เกิดการปิดล้อมตรวจค้นและปฏิบัติการทางยุทธวิธีหลายจุด มีการวิสามัญฆาตกรรมหลายกรณี จนทำให้ปฏิบัติการความรุนแรงทั้งสองฝ่ายสูงขึ้นนับในปี 2564 แทบจะทุกเดือน
กล่าวได้ว่าที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพของรัฐไทยเพื่อสยบความรุนแรง คือการทุ่มกำลังทหารเข้าควบคุม ปิดล้อม บุกค้น และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ มากกว่าการสร้างความยุติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ให้สิทธิท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
นั่นทำให้ปัญหาที่แท้จริงไม่เคยหายไป และสันติภาพที่หวังไว้ก็ไม่มีทางบังเกิด
“นักวิชาการแทบทุกคนมองการใช้ความรุนแรงของบีอาร์เอ็นว่าเป็น Political violence หรือการใช้ความรุนแรงเชิงการเมืองเป็นวิธีการสื่อสาร ถามว่าตอนนี้บีอาร์เอ็นกำลังสื่อสารอยู่ไหม ผมว่าเขากำลังสื่อสารแล้วโดยใช้คาร์บอม เพราะนี่คือการสื่อสารของเขาที่มีพลังมากที่สุด เป็นวิธีการที่เขาถนัดมากที่สุด”
อาจารย์ฮารา ทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า “เราไม่จำเป็นต้องไปพยายามสร้างสันติภาพหรือสันติสุขเลย ถ้ารัฐให้ความยุติธรรม สันติภาพจะเกิดขึ้นเอง”
อ้างอิง
ชายแดนใต้/ปาตานี 2547-2564: ก้าวเข้าปีที่สิบเก้า สันติภาพจะเดินหน้าไปถึงไหนในปี 2565?
https://www.thairath.co.th/news/local/2822634