วันพุธ, ตุลาคม 30, 2567
ข้อความที่เก็ทอยากบอกกับทุกคนโดยใช้กระดาษด้านหลังเนื้อเพลง “หัวใจเสรี”
Get Surariddhidhamrong
12 hours ago
·
ข้อความที่เก็ทอยากบอกกับทุกคนโดยใช้กระดาษด้านหลังเนื้อเพลง “หัวใจเสรี”
.
.
"ทุกคนมีเจตจำนงเสรีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เรื่องชนชั้นวรรณะเป็นเรื่องที่อุปโลกกันขึ้นมาเอง แท้จริงแล้วทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไง ถ้าเราไม่สามารถพูดกันได้อย่างจริงใจ ไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ในเมื่อกษัตริย์อยู่ร่วมกันกับคนในสังคม เราก็ควรจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ สังคมที่เคารพความเป็นคนและเป็นประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างนั้น การที่โดน 112 อย่างนี้นับวันก็ยิ่งชัดว่าเป็นปัญหา“
-โสภณ, 29 ตุลาคม 2567
.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9 hours ago
·
ศาลอาญาจำคุก “เก็ท” โสภณ คดี #ม112 เพิ่มอีก 2 ปี ปราศรัยชุมนุม #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ด้านเก็ทถอดเสื้อแถลงต่อศาล ปรากฏรอยกรีดเลข 112 ที่หน้าอก
.
29 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในข้อหา #มาตรา112 และ #พรบเครื่องขยายเสียงฯ เหตุปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ แต่เนื่องจากทนายจำเลยคัดค้านการอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการนับโทษต่อหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ จำเลยยังยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนเมื่อถูกนำตัวมาที่ศาล ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าวก่อน จึงให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกมา
.
ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ โดยให้นับโทษต่อในคดีส่วนของศาลอาญา ส่วนศาลอื่นนั้นไม่ได้นับโทษต่อ
.
ส่วนการใส่ชุดนักโทษและเครื่องพันธนาการ ศาลเห็นว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่มีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว
.
.
ทบทวนคดี: หลังปราศรัยในวันแรงงานปี 65 ถูกแจ้งข้อหา 112 ในเรือนจำ ก่อนถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่ม เก็ทต่อสู้คดียืนยันสิ่งที่ปราศรัยเป็นข้อเท็จจริง
.
ย้อนไปในวันเกิดเหตุ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยแนวร่วม เช่น สหภาพคนทำงาน, สหภาพไรเดอร์และแรงงานข้ามชาติ รวมตัวกันที่หน้าบ้านพิษณุโลกเพื่อเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลเนื่องในวันแรงงาน แต่ตำรวจได้ปิดสะพานชมัยมรุเชฐ ทำให้ผู้ชุมนุมหยุดทำกิจกรรมที่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์แทน
.
ภายในงานมีการปราศรัยจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ และการทำโพลถามเรื่องการลดงบประมาณกลาโหมและสถาบันกษัตริย์ และสิทธิแรงงานในรัฐธรรมนูญ ในวันดังกล่าวโสภณได้ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
.
คดีนี้มี ร.ต.อ.ทองธาดา การะเกด รองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 โสภณถูกพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
.
หลังจากนั้นในวันที่ 3 มี.ค. 2566 โสภณเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งยื่นฟ้องโสภณต่อศาลอาญาในทั้งสองข้อหา
.
โสภณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 5 นัด ในระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย และ 2-3 ก.ค. 2567 ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ถ้อยคำปราศรัยของโสภณเป็นการใส่ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังรู้สึกเกลียดชัง และทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
.
ส่วนฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่ปราศรัยล้วนเป็นข้อเท็จจริง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงโควิด โดยมีเจตนาเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งการปราศรัยถึงเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีไม่ผิดมาตรา 112 เนื่องจากไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง นอกจากนี้ ประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจที่กษัตริย์ถือหุ้นได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
.
หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2567 แต่ในวันดังกล่าว ทนายความได้แถลงคัดค้านการที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ ในส่วนของรายละเอียดหมายเลขคดีแดงในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว
อีกทั้งยังมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เป็นตัวแทนยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ของจำเลย,ครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 6 ฉบับ เพื่อขอให้ศาลยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยข้อคัดค้านและคำร้องดังกล่าว จึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้
.
.
วันนี้ (29 ต.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 มีประชาชนและนักกิจกรรมเดินทางมารอให้กำลังใจ “เก็ท” โสภณ สำหรับการอ่านคำพิพากษา พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ องค์กรภาคประชาสังคม สื่อพลเมือง นักกิจกรรม ครอบครัว และประชาชนจำนวนมาก มานั่งจนเต็มห้องพิจารณาคดี และหน้าห้องมีตำรวจศาลดูแลความปลอดภัยประมาณ 2 คน ในเวลาต่อมาโสภณถูกนำตัวมาถึงห้องพิจารณาคดี จึงได้ทักทายกับผู้ที่มารอให้กำลังใจได้พักหนึ่ง
.
ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 09.36 น. และก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โสภณเดินเข้ามาบริเวณคอกพยาน และถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เผยให้เห็นรอยกรีดที่บริเวณหน้าอก เป็นตัวเลข 112 ก่อนที่จะขออนุญาตศาลแถลงในประเด็นเกี่ยวกับความผิดปกติในกระบวนการพิจารณาคดีมาตรา 112
.
ตอนหนึ่งโสภณได้กล่าวว่า ในสิ่งที่ตนถอดเสื้อและใช้มีดกรีดอก อาจเป็นเรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่ผิดปกติยิ่งกว่าคือการที่มีคนถูกจับเข้าคุกไปดำเนินคดีมาตรา 112 สำนักพระราชวังหรือกษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดี บางคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว บางคนโดนถอนประกันตัว และอยากให้คำตัดสินของศาลในวันนี้สั่งสอนโสภณและรวมถึงประชาชนที่มาสังเกตการณ์ในวันนี้ด้วย
ในขณะที่โสภณกำลังแถลงต่อศาล ได้มีตำรวจศาล และ รปภ. ศาล จำนวน 5 คน มาดูแลความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี
.
กรณีจำเลยยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนออกศาล ศาลยกคำร้อง ชี้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หลังจากนั้น ศาลจึงเริ่มอ่านคำร้องที่จำเลยยื่นขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวน ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ดังนี้
.
ในประเด็นที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ยุติการใส่โซ่ตรวนจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ พ.ศ. 2565 ศาลยกคำร้อง โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำควบคุมจำเลยมาศาลด้วยชุดนักโทษพร้อมกุญแจเท้าที่ขาสองข้างขึ้นห้องพิจารณาคดี และในระหว่างพิจารณาคดี ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 บัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ ใน (4) ผู้ต้องขังต้องถูกควบคุมตัวออกไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่ควบคุม เห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือป้องกันเหตุอื่นที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งกุญแจเท้าทั้งสองข้างก็ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะและขนาดแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และผู้ต้องขังอื่นก็มีการปฎิบัติลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นตามสมควร ในการควบคุมดูแลและผู้ต้องขังภายนอกเรือนจำ ซึ่งมีจำนวนหลายคนที่มีการพิจารณาในแต่ละวัน
.
การใส่ชุดนักโทษและเครื่องพันธนาการ จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 (4) เมื่อการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว แต่ถ้าหากจำเลยเห็นว่ากฎหมายหรือการกระทำดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ให้ไปดำเนินการต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
.
ศาลเห็นว่าจำเลยกล่าวถึงชื่อ ร.10 เมื่อพิจารณาโดยรวมกับคำปราศรัยเห็นว่าเป็นการใส่ความกษัตริย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือ 2 ปี
.
ในส่วนคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปศาลเห็นว่ามีเรื่องที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็นคือ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และ ข้อหามาตรา 112
.
ในข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
.
เห็นว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ผู้ที่จะทำการโฆษณา (หรือผู้จัด) โดยใช้เครื่องขยายเสียงและกำลังไฟฟ้า จะต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานก่อน แต่ทางนำสืบโจทก์ได้ความเพียงว่ามีการใช้รถยนต์ที่มีเครื่องขยายเสียง ไม่มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าบุคคลใดเป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีการโฆษณาและจัดหารถยนต์ติดเครื่องเสียง
.
อีกทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยไม่ปรากฏว่าเป็นแกนนำหรือผู้มีส่วนสั่งการในกลุ่มดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง จึงให้ยกฟ้องในข้อหานี้
.
ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และในมาตรา 6 วรรคแรก บัญญัติว่ากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องระบอบการปกครองของไทย
.
ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หากผู้ใดกระทำผิดต้องรับโทษตามกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และรองรับหลักการระบอบการปกครองของประเทศไทยปกครอง เพื่อรักษาเกียรติยศของกษัตริย์และรักษาคุณลักษณะสำคัญของระบอบการปกครอง ซึ่งมีที่มาทางประวัติศาสตร์ชาติไทย
.
สำหรับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ต้องตีความตามนัยยะเดียวกันกับข้อหา “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 326 และต้องตีความโดยเคร่งครัดตามหลักการทางอาญา การกระทำที่เป็นความผิดต้องเป็นการกระทำต่อกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ ส่วนรัชทายาท หมายถึงทายาทของกษัตริย์ที่จะสืบทอดราชสมบัติและสืบสันติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลฯ
.
เมื่อพิจารณาถ้อยคำปราศรัย จะเห็นได้ว่าจำเลยกล่าวถึงชื่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาโดยรวมกับที่ปราศรัยเรื่องวัคซีนที่ไม่เป็นธรรม และพาดพิงถึงบุคคลในราชวงศ์ ย่อมสื่อความหมายได้ว่ารัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่วัคซีน Aztrazeneca มีส่วนในการทำให้เครือข่ายได้รับวัคซีน ในขณะที่ประชาชนยังไม่ได้รับ เป็นการกล่าวหาหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัชกาลที่ 10 ขโมยสวัสดิการและอำนาจอธิปไตยจากประชาชน
.
อีกทั้งยังเป็นการกล่าวปราศรัยต่อหน้าสาธารณชน ผู้ฟังอาจเชื่อและคล้อยตามว่ารัชกาลที่ 10 มีส่วนในการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ทั้งที่ความจริงไม่ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ประกอบกับในภายหลังก็ปรากฏว่ามีการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนจนเกินไปและเกินความต้องการภายในประเทศ ลักษณะคำพูดของจำเลยจึงเป็นการแสดงความเห็นที่มีอคติ เป็นการใส่ความต่อรัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย
.
ส่วนที่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐมีการบัญญัติแตกต่างกันตามสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน และในประเทศไทยมีการบัญญัติให้กษัตริย์ทรงดำรงฐานะพิเศษต่างจากบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นประมุขของรัฐ และศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาแตกต่างกันกับรัฐอื่น
.
ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงต้องได้รับความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป หากจำเลยประสงค์จะเรียกร้องสิทธิในการได้รับวัคซีนก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวในลักษณะเช่นนั้น การพูดของจำเลยเป็นการใส่ความต่อกษัตริย์ตามมาตรา 112 อีกทั้งบทบัญญัติไม่มีให้ยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษเหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป การปราศรัยของจำเลยจึงไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112
.
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จำเลยให้การว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ในส่วนคดีของศาลอาญา หลังนำสำนวนมาตรวจสอบ เห็นว่าเป็นดุลพินิจที่จะนับโทษต่อได้ ส่วนในคดีของศาลอื่นไม่อาจนับโทษจำคุกต่อได้
.
สมพร ศรีกฤษณ์ และ วรชาติ เกลี้ยงแก้ว ผู้พิพากษาในคดีนี้
.
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว โสภณแถลงต่อศาลว่า “สักวันหนึ่งสังคมก็ต้องเปลี่ยน แต่มันไม่ได้เปลี่ยนเพราะเวลา มันเปลี่ยนเพราะคน” และหันหลังจากนั้นประชาชนที่มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ก็ร่วมกันร่วมให้กำลังใจ และมีการร้องเพลง “หัวใจเสรี” ของวงไททศมิตร
หลังจากนั้นโสภณถูกนำตัวลงไปคุมขังที่ห้องเวรชี้ ก่อนที่จะต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยโทษจำคุกใน 3 คดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเป็น 8 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์ จนถึงวันนี้ (29 ต.ค. 2567) เขาถูกขังมาแล้วถึง 433 วัน
.
กรณีของโสภณนั้น ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 มาแล้วทั้งสิ้น 3 คดี
ในคดีแรก กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์
ในคดีที่สอง กรณีปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และลงโทษปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 200 บาท และคดีที่สาม ในวันนี้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี
.
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 พ.ย. 2567 นี้ เก็ทยังจะถูกเบิกตัวไปที่ศาลแขวงพระนครใต้เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีปรับพินัย ในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปงาน APEC2022 ยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในไทย
.
.
อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/70800